Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน21 มีนาคม 2548
ตลท.ส่งซิกรับ"ช้าง"เข้าตลาด             
 


   
www resources

โฮมเพจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

   
search resources

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.
Food and Beverage




บอร์ดตลาดหุ้นเผยแนวโน้ม ให้ธุรกิจแอกอฮอล์เข้าจดทะเบียนได้ บอร์ดชุด" อมเรศ" เคยอนุมัติแล้ว 23 มีค.ทบทวนอีกที เผยเหตุผล มีประโยชน์กับเศรษฐกิจ รัฐเก็บภาษีได้เพิ่ม สังคมตรวจสอบได้ ประชาชนได้ร่วมลงทุน ผู้บริหารเบียร์ช้างแฉคู่แข่งต่างชาติอยู่เบื้องหลังการต่อต้าน หวังสกัดช้างขยายตัว-ปิดทางโกอินเตอร์ รองอธิการฯมหามกุฎ เผยพระต่อต้านเพราะรู้สึกอึดอัด หวั่นเมรุเผาศพจะเพิ่มขึ้น “ดำรง” ระบุผู้ประสบอุบัติเหตุดื่ม เบียร์ช้างมากที่สุด ส่วนกิตติรัตน์ออกตัว ยังไม่ตัดสินใจ แต่ชี้ต้องหาคำตอบ ทำไมคนไทยกินเหล้าเยอะ “จำลอง-ผ่อง” โต้ไม่เคยรับเงินต่างชาติ

ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีวาระสำคัญในการพิจารณาเรื่องการรับธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ท่ามกลางการคัดค้านขององค์กรฆราวาสและสงฆ์ ซึ่งไม่ต้องการให้กลุ่มเบียร์ช้างในนามบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) (CHANG) เข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่ขณะนี้นั้น แหล่งข่าวซึ่งเป็นกรรมการตลท.รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ไม่มีปัญหาในการรับไทยเบฟเวอร์เรจส์ เข้าจดทะเบียน เนื่องจากคณะกรรมการตลท.ชุดที่นายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานฯ เคยอนุมัติให้รับธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้

สำหรับการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 23 มี.ค.ไม่ใช่การพิจารณาเรื่อง การรับธุรกิจแอลกอฮอล์ และบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ เป็นบริษัทจดทะเบียน แต่จะเป็นการนำหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับหลักทรัพย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาทบทวน ตั้งแต่นโยบายการรับหลักทรัพย์ธุรกิจใดที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้บ้าง และอะไรที่ไม่ได้

"บอร์ดต้องการทราบว่าอะไรที่ต้องห้ามและทำไมถึงห้ามไม่ให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีตลาดหลักทรัพย์ได้เคยอนุญาตให้ธุรกิจน้ำตาล และธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ยกเว้นโรงเรียน กับ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่อนุมัติ "

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามกำหนดเดิม บริษัทเบียร์ช้างจะยื่นให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาฐานะในเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการคัดค้านเกิดขึ้นและมีการทบทวนหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับหลักทรัพย์จึงมีการพิจารณาเรื่องธุรกิจแอลกอฮอล์ใหม่

สำหรับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีใครสามารถแทรกแซงและสั่งได้ การพิจารณาจะเป็นไปตามกระบวนการปกติ

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า ในกรณีของธุรกิจแอลกอฮอล์ ประเด็นที่จะพิจารณากัน ก็คือ ธุรกิจนี้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่

" เท่าที่ดูกันแล้วในส่วนของเศรษฐกิจไทยพบว่าได้ประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว "

นอกจากนั้น ยังช่วยขยายขนาดของตลาดหุ้นไทยให้ใหญ่ขึ้นสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะเมื่อเข้าตลาดหุ้นก็จะมีระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานสากล

ส่วนประเด็นที่มองว่าปัจจุบันเจ้าของเบียร์ช้างรวยอยู่แล้ว หากสนับสนุนให้เข้ามาระดมทุนเพิ่มจะเพิ่มความรวยนั้น กรรมการตลท. รายนี้ กล่าวว่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เบียร์ช้างเมื่อเข้าตลาดหุ้น ประชาชนที่เข้าลงทุนก็จะมีโอกาสได้ผลกำไรจากการลงทุนเช่นกัน

"ก็เท่ากับว่าต่อไปจะไม่ได้รวยคนเดียว"

การจัดอันดับเศรษฐีโลกที่มีสินทรัพย์เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยนิตยสารฟอร์บฉบับล่าสุด ระบุว่านายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง มีสินทรัพย์ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือติดอันดับ 194 แต่ก็เป็นอันดับแรกของคนไทย

ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงกันว่า สังคมจะได้รับผลกระทบหากให้เบียร์ช้างเข้าตลาดนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่าเคยมีการพิจารณา กันมาก่อนแล้วว่า การเข้าตลาดหุ้นของเบียร์ช้างเท่ากับว่าทำให้ธุรกิจนี้จะถูกตรวจสอบจากมหาชนหรือประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่สามารถทำอะไรที่จะกระทบต่อสังคมได้

**ช้างแฉต่างชาติลงขันต้าน

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงกลุ่มเบียร์ช้างเปิดเผยถึงการคัดค้านในครั้งนี้ว่า กลุ่มผู้ผลิตเหล้าและเบียร์ต่างชาติ ซึ่งเป็นคู่แข่งในธุรกิจแอลกอฮอล์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว โดยสนับสนุนด้านการเงินและค่าใช้จ่ายให้ผู้ที่เป็นแกนนำ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญในครั้งนี้มาจากงบประมาณการตลาดของบริษัทที่ร่วมลงขัน

"การเคลื่อนไหวหรือจัดม็อบต้องใช้เงิน ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา พระกว่า 5,000 รูป ไปที่ตลาดหุ้น รถบัส 60 คัน ต้องเช่า และจริงๆ แล้วมีเพียงพระไม่กี่รูปเท่านั้นที่เป็นแกนนำและรู้เรื่อง พระส่วนใหญ่คงงงว่าทำไมต้องมายืนถือป้ายผ้าที่มีข้อความประท้วงให้นักข่าวถ่ายรูป"

แหล่งข่าวกล่าวว่า คู่แข่ง ต่างชาติที่เข้ามาในไทยไม่ต้องการให้เบียร์ช้างเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการสกัดการขยายธุรกิจทั้งในประเทศที่ตลาดเหล้าและเบียร์ยังโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันถ้าต่อต้านสำเร็จ จะเป็นการสกัดคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ช้างกำลังโกอินเตอร์ การระดมทุนเพื่อขยายกิจการในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่ง ช่วงที่ผ่านมาคู่แข่งในธุรกิจแอลกอฮอล์ คาดไม่ถึงว่ากลุ่มเบียร์ช้างจะขยายตัวเร็วมาก

ส่วนจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือมีบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่แน่ใจและของยืนยันว่ากลุ่มเบียร์ช้างไม่เล่นการเมืองแต่สนับสนุนพรรคการเมืองและรัฐบาลทั้งหมด

ปัจจุบันตลาดเหล้าและเบียร์ในประเทศมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท เฉพาะตลาดเบียร์ กลุ่มช้างมีส่วนแบ่งมากกว่า 50% ส่วนตลาดเหล้าแม้ยังไม่ถึง 50% แต่แนวโน้มมีการขยายตัวมากขึ้น

ปัจจุบัน ยักษ์ใหญ่ในวงการเหล้าและเบียร์ต่างชาติในไทย ได้แก่ บริษัท ดิเอจิโอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของริชมอนเด้ เจ้าของแบรนด์วิสกี้ตระกูลจอห์นนี่ วอล์คเกอร์กับสเปย์ รอยัล,เพอร์น็อต เจ้าของแบรนด์ชีวาส รีกัล และฮันเดรด ไพเพอร์ส,ซานมิเกล ยักษ์ใหญ่จากฟิลิปปินส์,ไทเกอร์ เจ้าของเบียร์รายใหญ่จากสิงคโปร์ และอาซาฮี จากญี่ปุ่น เป็นต้น


**ร่วมสัมมนาต้านช้างคึกคัก

วานนี้ ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ที่มีนายผ่อง เล่งอี้ ส.ว.กทม. เป็นประธาน จัดการสัมมนาเรื่อง “สังคมไทยได้หรือเสียเมื่อบริษัทเบียร์-เหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์” โดยผู้ร่วมสัมมนาประกอบไปด้วย พระเทพวิสุทธิกวี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มหามกุฎราชวิทยาลัย นายดำรง พุฒตาล ส.ว.กทม. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ มีผู้เข้าฟังประมาณ 300 คน ทั้งประชาชน พระสงฆ์ ชาวมุสลิม กลุ่มชาวบ้านจากชุมชนสันติอโศก และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำการเคลื่อนไหวคัดค้านฯ

นายกิตติรัตน์เชื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าทำไมสังคมไทยถึงบริโภคสุราในอัตราสูง และไม่ว่าการคัดค้านการนำบริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหุ้นจะสำเร็จหรือไม่ ก็ควรจะรณรงค์ไม่ให้คนดื่มสุราต่อไป แม้ในตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศนั้นมีบริษัทเหล้า-เบียร์อยู่จริง แต่ไม่จำเป็นจะต้องทำตามด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าเพราะเขามี เราจึงต้องมี

อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะกรรมการตลาดหลักทรัพย์คนหนึ่ง ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้บริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะแม้จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับโทษภัยทางสังคมด้วยว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตนก็กำลังฟังความเห็นของหลายฝ่ายอยู่ และอยากใช้ความคิดเห็นของตนเองอย่างรอบคอบโดยจะไม่ตัดสินใจตามกระแสหรือการชุมนุมใดๆ

“การต่อสู้เพื่อความดีงามทางสังคม มีอยู่สองแง่มุม คือ หนึ่ง ป้องกันปิดกั้น และสอง สร้างสรรค์แข่งขัน เราต้องดูว่าสังคมโลกที่ให้สิ่งที่ไม่มีประโยชน์มีโอกาสสร้างสรรค์แข่งขันนั้นดูแลสังคมได้อย่างไร เมื่อเราต้านไม่ให้บริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว เราดูแลเยาวชนของเราอย่างไร ” กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การให้โอกาสบริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์จะทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถระดมทุนได้ นำไปสู่การมีระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน หากมีความเบี่ยงเบน เช่น เลี่ยงภาษี ก็ถือว่ามีความผิดทางอาญา อาจใช้กลไกภาษีสรรพสามิตมาช่วย นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญคือ บริษัทดังกล่าวจะทำงานเพื่อสังคมหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัทดังกล่าวจะสร้างผลเสียทางสังคมให้น้อยกว่าที่เป็นอยู่

**เผยห้ามช้างเข้าตลาดได้บุญใหญ่หลวง

พระเทพวิสุทธิกวีกล่าวว่า สุรานั้นสร้างความเสื่อมทำให้ด้อยปัญญา การสนับสนุนบริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ทางศาสนารู้สึกอึดอัด เพราะเป็นการสร้างกำไรบนความหายนะของประชาชน อีกทั้งการสร้างสิ่งมึนเมายังก่อให้เกิดมิจฉาทิฐิ และก่อผลเสียให้สุขภาพของคน ดังนั้น การปิดโอกาสไม่ให้บริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์จึงถือเป็นการสร้างบุญใหญ่หลวง นอกจากนี้ยังควรทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้ธุรกิจดังกล่าวขยายตัวเกินไป ส่วนถ้าบริษัทเหล้า-เบียร์ของไทยจะไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศอื่นนั้น ก็ไม่เห็นด้วย เพราะสุดท้ายก็จะเป็นการสร้างบาปเหมือนกัน

“ถ้าบริษัทเหล้า-เบียร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ เราอาจได้อะไรเยอะ เช่น เราอาจได้เหล้ามากที่สุดในโลก ราคาเหล้าอาจถูกลง คนไทยอาจบริโภคเหล้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นประเทศแรกของโลก อาจมีการสร้างอุตสาหกรรมภายในวัดเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ เมรุเผาศพ ส่วนที่ใครบอกว่าต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจนั้น ความจริงทางพุทธศาสนาระบุว่าไม่ต้องศึกษา แต่ควรป้องกัน ในสภาพที่มีอบายมุขเต็มไปหมดเช่นนี้ ก็เหมือนกับการที่มีน้ำท่วมประเทศ ซึ่งเราคงจะวิดน้ำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างเขื่อนป้องกันน้ำด้วย ทั้งนี้ บริษัทที่ผลิตอบายมุขเลวร้ายก็ไม่ควรมีอยู่ และขอสนับสนุนผู้คัดค้านเรื่องนี้ทุกท่าน” รองอธิการบดีมหามกุฎราชวิทยาลัยกล่าว

**ชี้เบียร์ช้างแชมป์ก่ออุบัติเหตุ

นายดำรง ในฐานะประธานมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยว่า 1 ใน 3 ของคนไทยวัยเลย 15 ปีเป็นนักดื่ม ชายไทยร้อยละ 55.9 และหญิงไทยร้อยละ 9.8 เป็นผู้ดื่มสุรา โดยที่วัยเริ่มทำงาน 25-29 ปี เป็นวัยที่ดื่มสุราชุกที่สุด และอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับก็เกิดมากที่สุดกับคนวัยนี้ นอกจากนั้นนักเรียน ม.ปลาย-อุดมศึกษา ประมาณ 2 ใน 3 ยังยอมรับว่าตนเองดื่มสุรา ทั้งนี้คนไทยดื่มสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยปริมาณ 13.59 ลิตรต่อคน ส่วนสถานการณ์การบริโภคสุราในไทยนั้น ใน 1 ปี จะมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2.6 แสนคน ในช่วงปี 2530-2540 มีปริมาณการดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น 6 เท่า และระหว่างปี 2534-2542 ยอดขายสุราเพิ่มเกือบเท่าตัว

“ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ คนไทยใช้เงินซื้อเหล้าเฉลี่ยครั้งละ 100-300 บาท หรือปีละ 4.68 หมื่นล้านบาท และในปี 2545 มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางจราจรเท่ากับ 122,400-189,040 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.25-3.48 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศอื่นสูญเสียประมาณร้อยละ 1-2 ของจีดีพี แต่การสูญเสียทางเศรษฐกิจก็ยังไม่เท่ากับการสูญเสียโอกาส เช่น ลูกที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยซึ่งถูกคนเมาขับรถชนจนตาย ก็เสียโอกาสที่จะได้ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นต้น” ส.ว.กทม.กล่าว

นายดำรงเปิดเผยว่าเบียร์ช้างถือเป็นสินค้าเบียร์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในปี 2543 ด้วยจำนวนเงิน 317.82 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจที่พบว่า เบียร์ช้างคือเบียร์ที่ผู้บาดเจ็บดื่มก่อนประสบอุบัติเหตุมากที่สุด

สำหรับมาตรการควบคุมการบริโภคสุราของไทย มีอยู่แล้วหลายมาตรการ แต่ปัญหาของการควบคุมการบริโภคสุราในไทยก็มีอยู่หลายประการ ได้แก่ การขาดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีการทำงานในหลายส่วนแต่ขาดเป้าหมายร่วม การขาดกลไกที่จะประสานนโยบายและปฏิบัติการ กฎหมายที่มีอยู่ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนยังมีน้อย และการโฆษณาและส่งเสริมการขายของธุรกิจแอลกอฮอล์มีความเข้มแข็ง


**จำลองโต้ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง

ผู้ดำเนินการสัมมนายังได้เชิญพล.ต.จำลองเข้ามาร่วมพูดบนเวที โดยพล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลเด่นชัดที่จะนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ อยากยกตัวอย่างว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียมีบริษัทเหล้า-เบียร์อยู่ได้นั้น ก็เพราะคนของเขาเคร่งในศาสนาอิสลาม แต่คนไทยเราไม่เคร่งจริง เพราะแค่พระให้ศีล 5 ก็แทบไม่รับกันแล้ว

“ผมไม่ได้อยู่เบื้องหลังพระสงฆ์ 5,000 รูป ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะช่วงเวลานั้น ผมกำลังสอนนักศึกษาของโรงเรียนผู้นำอยู่ในถ้ำ ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าพระสงฆ์ยังนิ่งเฉยกับเรื่องนี้ บ้านเมืองก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ส่วนที่กล่าวกันว่า คนที่ต่อต้านเรื่องนี้รับเงินต่างชาติมานั้น อยากบอกว่า ทุกคนทุกองค์กรมาเพราะจิตสำนึก ส่วนตนนั้น กินข้าวแค่วันละมื้อ ดังนั้นจะรับเงินต่างประเทศมาทำลายประเทศของตัวเองทำไม ต้องถามอีกฝ่ายสิ ว่าทำไมเขาถึงนิ่งเฉยอย่างนี้” พล.ต.จำลองกล่าว

นายผ่องกล่าวว่า ไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเช่นกัน อย่านึกถึงแต่เงินอย่างเดียว เรื่องนี้แม้ไม่มีใครอยู่เบื้อง พวกพระสงฆ์ก็ต้องออกมาทักท้วงอยู่แล้วเพราะถ้านิ่งเฉยอาจจะถูกนายทุนเบียร์เหล้านำไปอ้างได้ว่าแม้แต่ พระก็ยังนิ่งเฉยแสดงว่าให้การสนับสนุน

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า รับเงินจากผู้ผลิตเหล้าเบียร์ต่างประเทศ จ้างให้มาคัดค้าน นายผ่องกล่าวว่า เป็นการ พูดที่ไร้ความรับผิดชอบ คนที่กล่าวหาเช่นนี้ไม่พาลก็ต้องเมาเบียร์ ตนไม่คิดจะรับเงินใครเพราะ ได้ตั้งสัจวาจาไว้แล้วว่า จะไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ตลอดชีวิต

“ผมขอยืนยันว่าไม่เคยรู้จักใครในวงการผลิตสุราเลยแม้แต่คนเดียวและไม่เคยคิดที่จะสนับสนุนอยู่แล้วใครจะคิดแบบนั้นก็ได้แต่ผมไม่ทำแน่นอนแม้แต่ช่วงมีตำแหน่งมีหลายคนจะทราบดีว่าถ้าเอาเหล้ายามาให้ผมจะได้รับการปฏิเสธกลับไปหมด” นายผ่องกล่าวและว่า คณะกรรมาธิการจะนำผลสรุปการสัมมนาครั้งนี้มอบให้กับนายกรัฐมนตรี และเรื่องนี้ควรรีบออกมารับผิดชอบพูดให้ชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้ธุรกิจเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากยังมีการผลักดันเข้าตลาดหุ้นอีก พวกตนก็จะเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us