Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543
ช่วงปีแรกของชีวิตสมรสระหว่าง เดมเลอร์-เบนซ์ กับ ไครสเลอร์             
 





มันเป็นข้อตกลงทางธุรกิจที่ดังกึกก้องไปรอบโลก ในเดือนพฤษภาคม 1998 แผนการควบรวมกิจการที่มีมูลค่าน่าตื่นตะลึงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์ ถูกประกาศออกมาโดย เดมเลอร์-เบนซ์ ผู้ผลิตรถยนต์ระดับหรูสัญชาติเยอรมัน กับ ไครสเลอร์ คอร์ป บริษัททำรถยนต์อเมริกันพันธุ์แท้ที่โด่งดังในเรื่องรถมินิแวนและรถจิ๊ป การแต่งงานกันของเดมเลอร์กับไครสเลอร์ ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก และก็น่าจะกลายเป็นบทเรียนศึกษาสำหรับการรวมกิจการระหว่างประเทศที่มีขนาดมหึมาชนิดเป็นตำนาน

ทว่าการสมรสกันคราวนี้กลับปรากฏผลว่า มิได้เป็นการครองคู่กันอย่างเลิศล้ำดุจเทพอุ้มสมเลย เมื่อฝุ่นที่ตลบฟุ้งอยู่ค่อยจางลงไป ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เดมเลอร์คือฝ่ายที่ควบคุมไครสเลอร์เอาไว้อย่างมั่นคง และคลื่นแห่งความตระหนกก็กำลังสะท้อนถ่ายทอดเนื่องหนุนออกไปทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก บริษัทอเมริกันจะสูญเสียความเป็นอิสระของตัวเอง ส่วนยักษ์ใหญ่เยอรมันจะเติบโตยิ่งขึ้นทั้งในด้านอำนาจและอิทธิพล เจอร์เกน อี. ชเรมป์ บิ๊กบอสของเดมเลอร์ คือผู้กุมบังเหียนของเดมเลอร์ไครสเลอร์ ขณะที่ รอเบิร์ต เจ. อีตัน ประธานร่วมของเขาซึ่งมาจากฝ่ายไครสเลอร์นั้น กลับต้องไปนั่งอยู่ที่เบาะหลัง และ ธอมัส ที. สตอลแคมป์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไครสเลอร์ ถูกหนีบอยู่ระหว่างกลาง

ความคาดหวังอันเลิศลอยทั้งของฝ่ายบริหาร ลูกจ้างพนักงาน และผู้ถือหุ้น จะถูกทำลายยับไปเพียงในปีแรกของการก่อกำเนิดเดมเลอร์ไครสเลอร์ ความขัดแย้งท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ณ การประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกของคณะผู้บริหารจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนภายหลังข้อตกลงควบรวมกิจการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้ว

ผู้บริหารระดับอาวุโสของเดมเลอร์ไครสเลอร์จากทั่วทุกมุมโลกทุก ๆ คน ต่างบินไปยังเมืองเซวิลล์ ประเทศสเปน เพื่อเข้าร่วม "การประชุมผู้บริหารระดับท็อป" ครั้งแรก ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 1998 ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายเยอรมันมีมากกว่าฝ่ายอเมริกันในราวสองต่อหนึ่ง เจอร์เกน ชเรมป์ ประธานร่วมวัย 54 ปีของบริษัทใหม่ หวังให้การพบปะที่เซวิลล์เป็นการชุมนุมปลุกขวัญสร้างกำลังใจ เป็นโอกาสที่จะปลูกสร้างจิตใจอันฮึกเหิมที่เขารู้สึกต่อเดมเลอร์ไครสเลอร์ให้แก่กองกำลังของเขา

เจ้าหน้าที่บริหารเหล่านี้ต่างดื่ม รับประทาน คลุกคลีรวมตัวกัน และก็เล่นแข่งขันกันเป็นเวลา 2 วัน ฝ่ายเยอรมันเข้าร่วมกับฝ่ายอเมริกันในกลุ่มอภิปรายกลุ่มต่าง ๆ โดยที่มีสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการจัดการ (อันเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดของบริษัท) เป็นหัวหน้าของแต่ละโต๊ะงานที่แต่ละทีมได้รับมอบหมายให้ทำ คือต้องสามารถเสนอคำถามชนิดยั่วยุท้าทายหนึ่งข้อให้แก่อีตันและชเรมป์ การสนทนารายล้อมอย่างไม่สิ้นสุดอยู่กับประเด็นปัญหาขนาดมหึมาที่เผชิญหน้าธุรกิจมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์แห่งนี้อยู่ นั่นคือ ประสิทธิภาพการผลิต , คุณภาพ , การใช้จ่ายด้านเงินทุน , และค่าใช้จ่ายในการชดเชย เมื่อถึงรอบของโต๊ะของเขา บัด ลีบเลอร์ ประธานฝ่ายการตลาดของไครสเลอร์ ลุกขึ้นพูดว่า "ผมไม่ทราบเลยว่าเราจะทำให้อะไรต่ออะไรเสร็จไปได้ยังไง" ลีบเลอร์กล่าวกับผู้คนที่อยู่กันเต็มห้อง "เราพูดกันถึงเรื่องความเร็ว แต่ทั้งหมดที่ผมได้ยินได้ฟังกลับเป็นเรื่องคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า"

ชเรมป์ผลุนผลันขึ้นไปบนเวที เขาทิ่มแทงนิ้วมือไปในอากาศ จากนั้นก็ชี้ตรงไปยังลีบเลอร์ "เราจะไม่ทำให้อะไรชักช้าลงหรอก" เขาตะโกนก้อง "ถ้าคุณสามารถยกตัวอย่างอะไรสักอันของเรื่องที่มันชักช้าลงได้ละก้อ คราวหน้าที่เราเจอกัน ผมจะซื้อไวน์ขวดที่ดีที่สุดซึ่งคุณเคยกินเลี้ยงคุณเอง"

หลังจากวาระของการระเบิดพูดโพล่งดังกล่าวและอาหารเย็นแล้ว โรงแรมก็เปลี่ยนไปเป็นงานเลี้ยงค็อกเทลรูปแบบอิสระขนาดยักษ์ ของผู้ที่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นคนแปลกหน้ากันอย่างสิ้นเชิง ไวน์สเปนและเบียร์เยอรมันไหลระรื่นขณะที่อเมริกันสรวลเสปนเปกับเยอรมันและข้ามเส้นแบ่งทางวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่บริหารของไครสเลอร์ซึ่งอ่อนเพลียจากการนั่งเครื่องบินนาน ๆ และเวลาที่เปลี่ยนไป จำนวนไม่น้อยล่าถอยกลับห้องพักภายหลังงานเลี้ยงอาหารค่ำไม่นานนัก ยิ่งยามราตรีคืบคลานผ่านไป เสียงภาษาเยอรมันก็ยิ่งดังอึกทึกอยู่ในอากาศมากขึ้น พนักงานอเมริกันกลุ่มเล็ก ๆ แต่คอแข็งแข่งขันดื่มกับเพื่อนร่วมงานใหม่ของพวกเขากันชนิดแก้วต่อแก้ว เมื่อบรรยากาศเข้าสู่ช่วงสนุกครึกครื้นเต็มที่ ธอมัส เอฟ. กิลแมน ผู้บริหารฝ่ายการเงินคนหนึ่งของไครสเลอร์ เริ่มเล่นเปียโนที่บาร์ แล้วทั้งอเมริกันและเยอรมันก็โก่งคอร้องเพลงคลอร่วมกันตั้งแต่ "Jingle Bells" เพลงประกอบภาพยนตร์ ไปจนถึงเพลงของซินาตรา

ไม่มีใครที่ร้องดังกว่า นานกว่า และด้วยความเริงร่ายิ่งไปกว่าชเรมป์ เขาเป็นทั้งผู้นำของก๊วนและของกลุ่มร้องประสานเสียง "นี่คือคนที่คุณต้องการให้อยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณในมหาวิทยาลัย" โทนี เซอร์โวน ผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์คนหนึ่งของไครสเลอร์กล่าวด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ ชเรมป์ยิ่งเอะอะมะเทิ่งและยิ่งตลกขบขันเพิ่มขึ้นตามการล่วงเลยของเวลาราตรี ยกแก้วของเขาขึ้นชวนดื่มครั้งแล้วครั้งเล่า ตะโกนขอเพลงโปรดอีกเพลงแล้วก็อีกเพลง ตบหลังตบไหล่ใครต่อใครไปทั่ว และระเบิดเสียงหัวเราะกัมปนาท

เน็กไทและเสื้อนอกถูกถอด ส่วนแขนเสื้อเชิร์ตก็ถูกม้วนพับขึ้นมา ชเรมป์และกลุ่มดังกล่าวตะเบ็งร้องเพลงไม่หยุดหย่อนจนกระทั่งย่างเข้าวันใหม่ ประธานร่วมชาวเยอรมันนำร้องประสานเสียงเพลง "Bye,Bye, Miss American Pie"เป็นเพลงสุดท้าย จากนั้น ด้วยประกายเถื่อน ๆ ในดวงตา ชเรมป์คว้าตัว ลิเดีย ไดนิงเกอร์ ผู้ช่วยซึ่งปรากฏตัวอยู่ใกล้เขาตลอดเวลา ยกตัวเธอขึ้นมาและโยนมาไว้ที่บนบ่าของเขา เสียงหัวเราะระเบิดดังก้องไปทั้งห้องขณะที่ชเรมป์ฉวยเอาแชมเปญขวดหนึ่งด้วยมืออีกข้างที่ยังว่างอยู่ เขายกมันชูขึ้นและตะโกนพร้อมกับยิ้มแสยะว่า "แล้วเจอกันใหม่ เด็ก ๆ " ครั้นแล้วเขาก็แบกเธอออกไป โดยไม่มีใครพบเห็นอีกเลยตลอดคืนนั้น

อีตัน ซึ่งอยู่ในวัย 58 ไม่ได้อยู่ที่นั่นคอยส่งชเรมป์ เขาไปนอนก่อนนานแล้ว

ผู้บริหารบางคนของไครสเลอร์มีทัศนะต่อชเรมป์ต่างออกไปจากเดิมเล็กน้อย ภายหลังเห็นเขาปล่อยเนื้อปล่อยตัว ตอนที่เขาโผล่เข้าไปในที่ประชุมช่วงเช้า ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างเต็มอกเต็มใจ อีกทั้งระเบียบวาระก็เต็มแน่น ชเรมป์ก็ดูรู้สึกแน่ใจว่าไม่มีเสื้อผ้าชุดไหนเลวร้ายจนเกินกว่าที่จะนำมาสวมใส่

ถึงแม้ชเรมป์กับอีตันมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันมาก แต่ทั้งคู่ก็มีมิตรไมตรีจิตต่อกันตอนอยู่ที่เซวิลล์ ชเรมป์ตระหนักอย่างชัดเจนในเรื่องภาพลักษณ์และการสะท้อนกลับในทางลบที่เขาอาจต้องประสบจากเหล่านักการเมืองและนักลงทุนสหรัฐฯ หากการควบรวมถูกมองไปว่าเป็นการเข้าเทคโอเวอร์ของฝ่ายเยอรมัน นอกจากนั้น ชเรมป์ยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอีตันในเรื่องที่ยอมทำข้อตกลงกับเขา ทั้งคู่ต่างมีความรู้สึกร่วมกันต่อความสำเร็จซึ่งเกิดขึ้นมาชนิดที่ไม่มีใครคนอื่นจะสามารถตระหนักซาบซึ้งได้ขนาดนั้น มันเป็นเป็นการรวมตัวอย่างผิดธรรมดาที่สุดของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 2 คน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก ของบุรุษซึ่งแตกต่างกันมหาศาล 2 คน ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์

ชเรมป์วางแผนเอาไว้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้เขากับอีตันได้รับเวลาเท่า ๆ กันในการครอบครองไมโครโฟนที่เซวิลล์ และอีตันจะได้เป็นผู้กล่าวปิดการประชุม ในคำปราศรัยของอีตัน เขาพูดเกี่ยวกับการเสียสละ การเสียสละความเป็นอิสระของบริษัทของพวกเขา การเสียสละพื้นที่สะดวกสบายที่พวกเขาเคยได้ทำงานกันมา การเสียสละปัจจุบันเพื่ออนาคต เขาบอกว่าไม่มีใครเลยซึ่งเสียสละมากไปกว่าเขาเพื่อการควบรวมนี้ อีตันเคยพูดอย่างเปิดเผยแล้วว่า เขาจะเกษียณอายุในเวลา 3 ปีหรือก่อนนั้นอีก และส่งมอบบริษัทให้แก่ชเรมป์ ด้วยการยอมถอนตัวลงจากตำแหน่งหน้าที่ของเขาเช่นนี้ เขาได้บรรลุถึงขั้นสูงสุดของการยอมเสียสละแล้ว ซึ่งผู้บริหารเยอรมันและอเมริกันทั้งหมดต่างจะต้องเสียสละกันทั้งนั้น หากจะให้เดมเลอร์ไครสเลอร์สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางของตนได้ "ขอให้ลองคิดดู" อีตันกล่าว "ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันกันหน่อย"

ผู้บริหารไครสเลอร์บางคนตระหนักได้ว่ามันกำลังจะเกิดขึ้น อีตันตาพร่าและหน้าแดงในตอนแรก ๆ จากนั้นก็หายใจขัด เสียงของเขาขาดห้วง อีตันกำลังร้องไห้นั่นเอง เขายกมือขึ้นมาที่ใบหน้าเพื่อปาดน้ำตาออกไป แต่เขาไม่สามารถหยุดน้ำตาไม่ให้ไหลได้ เขาถูกอารมณ์เต็มตื้นเข้าครอบงำ และปล่อยโฮออกมาต่อหน้าผู้บริหารทั้ง 300 คน ทั้งเยอรมันและอเมริกันต่างลุกขึ้นยืน ปรบมือลั่นเพราะแรงกระทบจากการเปลือยวิญญาณของอีตัน

เยอรมันบางคนหันมาหาเพื่อนร่วมงานใหม่ชาวอเมริกันเพื่อขอคำอธิบาย "เขากำลังทำอะไรนะนี่" ชเรมป์ถามสตอลแคมป์ผู้นั่งอยู่ข้างหน้าเขา "ผมรู้ ! เขากำลังจะประกาศลาออก!" สตอลแคมป์เกือบจะหัวเราะออกมา "ไม่ใช่ ไม่ใช่ คุณไม่เข้าใจ" สตอลแคมป์พูด "เขาเพียงแค่รู้สึกตื้นตันเท่านั้น" "ไม่นะ" ชเรมป์บอก "เขาเพิ่งยอมรับออกมาว่าเขาจะลาออกเดี๋ยวนี้แล้ว เขาเล่นยืนต่อหน้าลูกน้อง ทุกคนต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ทุกคนต่างรู้สึกสงสารเขา อย่างนี้แล้วเขาจะไม่ลาออกได้ยังไง"

"เชื่อผมเถอะ เขาเพียงแค่สร้างบรรยากาศให้อบอุ่นเท่านั้น" สตอลแคมป์กล่าว "เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว เขาไม่ได้จะบอกว่าเขาจะลาออกหรอก" ชเรมป์มองไปที่อีตันซึ่งกำลังร้องไห้ แล้วก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง "เขาไม่ได้จะลาออกรึ" ชเรมป์กังขา

หลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ฝ่ายอเมริกันก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประธานร่วมคนใหม่ชาวเยอรมันของพวกเขากันมากขึ้น ชเรมป์ดูเหมือนกับอยู่เลยไปข้างหน้าก้าวหนึ่งเสมอ และวางแผนเดินหมากตาต่อไปของเขาขณะที่ทุกคนยังกำลังพยายามคาดกันว่าหมากตาที่แล้วมาของเขาหมายความว่าอย่างไร มีเจ้าหน้าที่ไครสเลอร์เพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้นที่เคยมีโอกาสใช้เวลาอยู่กับชเรมป์หรือได้เห็นเขาในเวลาลงมือปฏิบัติการ อากัปกิริยายื่นปากยื่นคางของเขาและคำปราศรัยอันเร้าอารมณ์ สร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแม้แต่กับพวกมือเก่าซึ่ง"เห็นมาหมดทุกอย่างแล้ว"ของไครสเลอร์

ชเรมป์ไม่ยอมรับขีดจำกัด เขาปีนภูเขาแอลป์ช่วงที่อยู่ในอิตาลีกับ เรนโฮลด์ เมสเนอร์ นักปีนเขาคนแรกซึ่งไต่ขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ เขาเล่นหมากรุกกับแชมเปี้ยน แกรี คัสปารอฟ ในการแข่งขันหลายครั้งที่สำนักงานใหญ่ของเดมเลอร์ บุรุษผู้มีหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยผู้นี้ เริ่มทำงานกับเดมเลอร์ในตำแหน่งวิศวกรเมื่ออายุได้ 23 ปี แต่ในปี 1974 ความใฝ่ฝันที่จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากพรมแดนเขตชนบทแถบภาคใต้ของเยอรมนี ทำให้เขาโยกย้ายไปอยู่แอฟริกาใต้พร้อมภรรยาและบุตรชายวัยเยาว์อีก 2 คน

ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความกระตือรือร้นต่อชีวิตของชเรมป์ได้ดีเท่ากับความรักของเขาซึ่งมีกับแอฟริกาใต้ เขาเติบโตขึ้นจนได้เป็นประธานกิจการของเดมเลอร์ที่นั่น และในทศวรรษ 1980 ก็ได้สร้างสายสัมพันธ์กับ เนลสัน แมนเดลาโดยผ่านการเจรจาอันตึงเครียดกับสภาแห่งชาติแอฟริกัน ซึ่งเป็นองค์การการเมืองของแมนเดลา ในเรื่องเกี่ยวกับโรงงานของบริษัทเยอรมันแห่งนี้ อีกหลายปีต่อมาหลังจากชเรมป์ก้าวขึ้นเป็นซีอีโอของเดมเลอร์แล้ว เขายังจะกลับไปแอฟริกาใต้อยู่บ่อย ๆ เพื่อปีนสู่ยอดเขาตั้งตระหง่านเหนือมหาสมุทร เดินเท้าผ่านไปตามท้องทุ่งหญ้า โดยมีปืนพกโกล็กขนาด 9 ม.ม.เหน็บอยู่ที่สะโพกเพื่อป้องกันตัว เขาชอบดื่มในท่ามกลางกลิ่น เสียง และสีสันของทิวทัศน์ดิบเถื่อนรอบ ๆ เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เขาซื้อหาไว้และขนานนามว่า "ครอกโคไดล์ เฮาส์" หลังจากวันแห่งความเบินบานสำราญใจ ชเรมป์จะบ่ายหน้าไปยังภัตตาคารโปรดของเขาในเมืองเคปทาวน์ พบปะสรวลเสกับเพื่อนเก่าในเดมเลอร์ และร่ำสุรากับศิลปินและนักผจญภัย โดยจบลงในคลับสไตล์ฟังกี้ที่มีดนตรีแจ๊สเล่นกันจนถึงยามอรุโณทัย

ชเรมป์บริหารเดมเลอร์ไครสเลอร์ด้วยการผสมผสานระหว่างท่าทีวางโตมั่นอกมั่นใจกับการรวมศูนย์จับจุดโฟกัสอย่างมุ่งมั่นทุ่มเททำนองเดียวกันนี้แหละ อาวุธลับของเขาคือ "คณะรัฐมนตรีในห้องครัว"ของเขา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารผู้ซื่อสัตย์ภักดี เอกคาร์ด คอร์เดส หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของชเรมป์ , กับ อเล็กซานเดอร์ ดีเบลิอุส วาณิชธนกรคนหนึ่งของ โกลด์แมน แซคส์ แอนด์ โค คือผู้จัดทำข้อตกลงต่าง ๆ รือดิเกอร์ กรูเบ ผู้ช่วยคนสำคัญเป็นผู้ดูแลทีมงานผนวกบริษัทเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันช่วงหลังควบรวมกันแล้ว และก็รับผิดชอบเรื่องยุทธศาสตร์ภายในบริษัท คริสตอฟ วอลเธอร์ เกาะกุมข่าวคราวต่าง ๆ แบบไม่มีปล่อยในฐานะประธานฝ่ายการติดต่อสื่อสารของเดมเลอร์ ผู้บริหารระดับรองคนหนึ่ง คือ คอร์เนลิอุส บรอนเดอร์ โยกย้ายมายังสำนักงานใหญ่ของไครสเลอร์ที่เมืองออเบิร์น ฮิลส์ รัฐมิชิแกน เพื่อทำหน้าที่เป็นตาและหูของชเรมป์ภายในอาณาจักรไครสเลอร์เก่า

พวกผู้บริหารของไครสเลอร์ตระหนักถึงความเป็นจริงได้ในไม่ช้าว่า ลิเดีย ไดนิงเกอร์ เป็นอะไรมากกว่าเลขานุการและเพื่อนของชเรมป์นักหนา ผู้หญิงตัวเล็กผมสีคล้ำผู้นี้เข้าร่วมในการประชุมระดับสูงทุกอย่าง ทำหน้าที่จดบันทึก จัดทำเอกสาร และส่งบุหรี่มาร์ลโบโรไปที่มือของชเรมป์เมื่อเขาโบกไม้โบกมือด้วยท่าทางที่รู้กัน ไดนิงเกอร์เป็นผู้จัดตารางเวลานัดหมายให้ชเรมป์ และโทรศัพท์ที่มาถึงชเรมป์ต้องผ่านเธอก่อน อิทธิพลของเธอที่มีต่อชเรมป์เป็นสิ่งที่ไม่อาจดูเบาได้ ถึงแม้ความสนิทสนมของทั้งคู่ทำให้อเมริกันบางคนรู้สึกไม่สบายใจ พวกผู้บริหารในออเบิร์น ฮิลส์ เพียงรู้สึกไม่คุ้นเคยกับการที่ซีอีโอซึ่งแต่งงานแล้วยังคงรักษาความสัมพันธ์กับผู้ช่วยทรงเสน่ห์ของเขาเอาไว้ต่อไปอย่างเปิดเผย "มันเป็นเรื่องประหลาด" สตอลแคมป์บอก "มีบางคนบอกว่ามันเป็นธรรมเนียมของพวกภาคพื้นยุโรป แต่มันไม่ใช่ความประพฤติในวงการธุรกิจที่เหมาะสมหรอก"

นั่นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งแห่งความแตกต่างทางวัฒนธรรม เยอรมันกับอเมริกันมีวิธีทำธุรกิจซึ่งแตกต่างกันมาก ช่วงเวลาที่แตกต่างห่างกันอยู่ 6 ชั่วโมงยิ่งไม่ช่วยลดความผิดแผกเหล่านี้เลย ตอนที่อเมริกันเริ่มวันทำงานของพวกเขานั้น เยอรมันรับประทานอาหารกลางวันกันไปแล้ว ชตุทท์การ์ทดูมักจะเริ่มต้นล่วงหน้าไปก่อนออร์เบิร์น ฮิลส์เสมอ

สมาชิกคณะกรรมการจัดการของฝ่ายเยอรมัน มีผู้ช่วยผู้บริหารคอยตระเตรียมเอกสารแสดงจุดยืนรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาเรื่องใดก็ตาม ฝ่ายอเมริกันไม่ได้มีผู้ช่วยซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่เช่นนี้ และตัดสินใจด้วยการไปพูดคุยหารือโดยตรงกับพวกวิศวกรหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอื่น ๆ การตัดสินใจของฝ่ายเยอรมันเป็นวิธีทำงานแบบผ่านไปตามระบบราชการแล้วให้ระดับบนสุดอนุมัติในขั้นสุดท้าย จากนั้นมติเรื่องนั้นก็ถือว่าต้องเป็นไปตามนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายอเมริกันกลับยินยอมให้พนักงานระดับกลางผลักดันความริเริ่มของพวกเขาเอง บางครั้งโดยไม่ต้องรอขออนุมัติจากระดับบริหารก่อนด้วยซ้ำ

ฝ่ายเยอรมันสูบบุหรี่และดื่มไวน์ในเวลาอาหารกลางวัน และทำงานกันดึกดื่น โดยสั่งให้คนหาพิซซ่าและเบียร์มาส่งถึงโต๊ะทำงาน ไครสเลอร์เก่ากลับห้ามการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน ฝ่ายอเมริกันทำงานคร่ำเคร่งไม่หลับไม่นอนเพื่อให้เสร็จทันกำหนดเส้นตาย แต่ไม่นิยมอยู่ดึกดื่นกันเป็นกิจวัตร การระเบิดยิงใส่กันบังเกิดขึ้นจนได้ "คุณอาจจะทำงานดึกดื่น แต่คุณไม่ได้ทำงานอย่างฉลาดเลย" เซอร์โวน ประธานฝ่ายติดต่อสื่อสารภายในของไครสเลอร์ ตะคอกสวนกลับเพื่อนร่วมงานของเขาในชตุทท์การ์ท

พวกผู้บริหารรถเมอร์ซีเดส เบนซ์ ต้องการให้การประกาศรับคืนผลิตภัณฑ์สืบเนื่องจากข้อบกพร่องใดก็ตาม เอ่ยอ้างถึงเพียงแค่แบรนด์ของยวดยานดังกล่าว เป็นต้นว่า ดอด์จ หรือ พรีมัธ ไม่ใช่ระบุถึงชื่อบริษัท คือ เดมเลอร์ไครสเลอร์ "แต่คุณพูดไม่ได้หรอกว่าดอด์จประกาศรับคืนรถ" เซอร์โวนเย้ยเยาะความคิดดังกล่าว "บริษัทต่างหากคือผู้ประกาศรับคืนรถ" ฝ่ายเยอรมันยังไม่สามารถเข้าใจได้เช่นกันว่า ปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์บางปัญหานั้นเป็นเรื่องเกินกำลังที่พวกเขาจะสามารถควบคุมบงการได้ โรแลนด์ ไคลน์ ผู้ช่วยระดับท็อปของวอลเธอร์ วันหนึ่งเกิดหัวเสียอย่างรุนแรงเมื่อทนายความนักทำคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนบุคคลผู้หนึ่ง จัดการประชุมแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข่าวคดีที่เขาฟ้องเดมเลอร์ไครสเลอร์คดีหนึ่ง "เราจะยอมให้คนอย่างนี้จัดการประชุมแถลงข่าวไม่ได้" ไคลน์อาละวาด การเดือดดาลดังกล่าวทำให้เซอร์โวนขบขันมาก "คุณไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้หรอกว่าเมื่อไหร่จึงจะมีพวกทนายเศษสวะจัดการเรียกประชุมแถลงข่าวกัน" เขาตอกกลับ

ฝ่ายอเมริกันรู้สึกสะดุ้งตกใจกันมาก เมื่อเห็นสิ่งที่พวกเขากลัวเกรงกันมากที่สุดกลายเป็นความจริงขึ้นมา อีตันกำลังถอยฉากออกไปอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ เขาปลีกตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ยอมทำอะไร เขาหายตัวไปจากที่ทำงานคราวหนึ่ง ๆ หลาย ๆ วัน เขาพูดจากับชเรมป์น้อยครั้งมาก โดยมักจะใช้คอร์เดส หรือไม่ก็ มานเฟรด เกนซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของเดมเลอร์ไครสเลอร์ เป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้มีตำแหน่งเป็นประธานร่วมกับตัวเขา

ชเรมป์มิได้ข่มขู่คุกคามอีตันจริง ๆ หรอก เขาเปล่งบารมีจนอีตันรู้สึกตัวลีบต่างหาก อีตันก็ไม่ได้หวาดเกรงจนหงอ เขายอมสละเก้าอี้เอง อีตันมองบทบาทของเขาว่าเป็นผู้สร้างทีม "ผมคิดว่ามรดกของผมคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและการสร้างทีมงานซึ่งแข็งแกร่งขึ้นมา มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผมไม่อยู่ตรงนั้น" แต่ผู้บริหารของเขาเองบางคนไม่สามารถข้ามผ่านกำแพงที่อีตันสร้างขึ้นมาได้ สตอลแคมป์เคยหวังไว้ว่า ฝ่ายไครสเลอร์จะสามารถใช้อีตันเป็น "กระสุนสังหาร" ที่จะใช้ยิงออกไปในยามวิกฤตเพื่อเพิ่มน้ำหนักในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ให้เอนเอียงมาทางฝ่ายพวกเขา แต่เรื่องอย่างนี้ไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้เลยหากอีตันไม่พร้อมที่จะเล่นด้วย

อีตันทราบดีว่าผู้บริหารของไครสเลอร์บางคน โดยเฉพาะ รอเบิร์ต อี. ลุซ บุรุษหมายเลข 2 ในเวลานั้น ไม่พอใจในเรื่องที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้กุมบังเหียนของไครสเลอร์เมื่อปี 1992 ในช่วงที่บริษัทเพิ่งฟื้นตัวจากประสบการณ์ที่ถึงขั้นใกล้ตายของตัวเอง อีตันไม่เคยย่างเหยียบเข้าไปในโรงงานหรือสำนักงานของไครสเลอร์สักแห่งเดียวเลย ก่อนที่จะถูกดึงตัวจากบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ให้มาเป็นผู้เตรียมตัวเป็นทายาทสืบตำแหน่งของลี ไออาค็อกคา หลังจากที่ไครสเลอร์ได้นิรมิตตัวเองขึ้นมาใหม่ ด้วยการลบล้างกำแพงที่เคยขวางกั้นระหว่างงานออกแบบ , งานวิศวกรรม, โรงงานผลิต, และงานจัดซื้อ บริษัทแห่งนี้ในตอนนั้นก็กำลังจะเริ่มเข้าสู่ระยะเปิดตัวรถยนต์และรถบรรทุกรุ่นใหม่ ๆ เป็นขบวน เข้าสู่ตลาดรถยนต์อเมริกันที่กำลังบูมมาก

อีตันยอมรับอย่างจริงใจว่า คุณูปการของเขาที่มีต่อความสำเร็จอันสะท้านสะเทือนไปทั่วของไครสเลอร์นั้นจัดว่าเป็นส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้น เขาเพียงเปล่งคุณสมบัติของการมองโลกในแง่ดีอย่างง่าย ๆ ชนิดที่ติดอยู่ในตัวเขาตั้งแต่วัยเด็กเติบโตขึ้นมาในเมืองอาร์คันซอส์ซิตี้ รัฐแคนซัส เมื่อพิจารณาจากที่เขาเป็นบุตรชายของบิดาซึ่งมีอาชีพเป็นคนขับรถไฟผู้มีนิสัยเก็บตัวเงียบขรึมแล้ว อีตันจัดว่าแสดงความสนใจในรถยนต์มาตั้งแต่อายุน้อยทีเดียว กล่าวคือ ตอนที่อายุเพียง 11 ปี เขาก็ไปซื้อรถยนต์เชฟโรเล็ต 2 ประตูรุ่นปี 1933 ที่เพลาหลังหลุดหายไปมาคันหนึ่ง อีตันศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคนซัส พอสำเร็จการศึกษาในปี 1963 ก็เข้าทำงานกับจีเอ็ม เขาจะอยู่ที่บริษัทนั้นถึง 29 ปี ไต่เต้าขึ้นจนเป็นวิศวกรใหญ่ของรถเอ็กซ์คาร์ ที่เป็นรถรุ่นใหม่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า และก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจีเอ็ม ยุโรป หลังจากเศรษฐกิจในภาคพื้นยุโรปพุ่งแรงในช่วงปลายทศวรรษ 1980 อีตันก็ได้รับเลือกให้มาบริหารไครสเลอร์ งานของเขาคือการรักษาทิศทางเอาไว้ ปรับปรุงกันในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และขัดแต่งส่วนที่ยังหยาบกร้านของบริษัทให้เรียบร้อยเงางาม

ฝ่ายเยอรมันบางคนมองเห็นอีตันอย่างที่เขาเป็นอยู่ นั่นคือ เป็นวิศวกรผู้หนักแน่นมั่นคง , ผู้จัดการผู้ไม่อวดโอ่, และบุคคลผู้รู้การควรไม่ควร เปรียบเทียบกับชเรมป์แล้ว นั่นยังไม่เพียงพอหรอก ชเรมป์มีความรักการผจญภัยอยู่ในสายเลือด และมีจิตวิญญาณที่ทรหดชอบการแข่งขัน แต่กระนั้นเขาก็หวั่นไหวไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้กดดันให้อีตันต้องทำตามเจตนารมณ์ของเขา หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นเป็นผู้บังคับให้เขาลาออกไป 8 เดือนหลังการประกาศควบรวมกัน ชเรมป์ยังคงไม่ได้ไปกล่าวปราศรัยกับลูกจ้างพนักงานที่สำนักงานใหญ่ของไครสเลอร์เก่าในเมืองออเบิร์น ฮิลส์เลย โดยสัญชาตญาณแล้ว เขาย่อมต้องการที่จะติดต่อเสวนากับพวกเขา แต่ก็ถอยหลังกลับเพราะกลัวเป็นการล่วงล้ำอาณาจักรของอีตัน

มันเป็นตัวอย่างคลาสสิกจริง ๆ ของการเกิดสถานการณ์แบบไม่มีผู้ใดเลยเป็นผู้ชนะ จากการไม่ปรากฏตัวให้กองกำลังของเขาได้พบเห็น ชเรมป์ก็ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานึกคิดเกี่ยวกับตัวเขาโดยผ่านข่าวกระซิบ ข่าวลือ และรายงานข่าวของสื่อ สิ่งที่น่าประหลาดพอ ๆ กันคือ อีตันเองก็ไม่พูดจาปราศรัยกับพวกผู้จัดการระดับกลางของเขาเช่นเดียวกัน หน้าที่นั้นถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของสตอลแคมป์ "คุณดูเรื่องงานภายใน" อีตันบอกเขาอย่างนั้น สตอลแคมป์เป็นผู้เรียกประชุมใหญ่ผู้จัดการในระดับต่าง ๆ หลายสิบครั้ง และลงมือตอบอีเมล์ประจำวันที่ส่งมาจากทั่วทั้งเครือไครสเลอร์ เขาบริหารสั่งการงานปฏิบัติการ ขณะเดียวกันก็รับหน้าที่ในการผนวกสองบริษัทเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีการบ่งบอกชัดเจนแน่นอนว่าต้องทำอะไรบ้าง

สตอลแคมป์รู้สึกว่าฝ่ายอเมริกันเสียเปรียบทั้งเรื่องกำลังคนและการจัดตั้ง กรูเบและสตาฟฟ์ของเขาจัดเตรียมสรุปฐานะจุดยืนต่าง ๆ ในทุกเรื่องทุกประเด็นที่มองเห็นกันได้ และชเรมป์ก็เข้าประชุมคณะกรรมการจัดการ โดยได้รับการสรุปมาอย่างดี และพรักพร้อมที่จะฉีกทะลวงให้เป็นไปตามระเบียบวาระที่เขาต้องการ ฝ่ายไครสเลอร์นั้นกลับแทบไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับการตัดสินใจบางประการในกิจการส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรถยนต์ของเดมเลอร์เก่า

ตัวอย่างชิ้นเอกของความเป็นไปเช่นนี้ได้แก่กรณีของแอดทรานซ์ กิจการขนส่งทางรถไฟซึ่งกำลังดิ้นรนเอาตัวรอด เดมเลอร์เป็นเจ้าของแอดทรานซ์ร่วมกันกับกลุ่มเอบีบีของสวิส บริษัทแห่งนี้จมอยู่ในภาวะขาดทุนและจำเป็นอย่างสาหัสที่จะต้องปรับโครงสร้าง สตอลแคมป์เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการครั้งหนึ่งว่า ควรปล่อยให้แอดทรานซ์ล้มละลายไปเสีย ชเรมป์สวนกลับด้วยการถลึงตาอย่างเย็นชา "คุณไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้" ชเรมป์บอก "นี่คือยุโรป การล้มละลายไม่ใช่เรื่องดีสำหรับที่นี่หรอก" แล้ววิธีแก้ปัญหาของชเรมป์ล่ะ? ซื้อหุ้น 50%ของเอบีบี ซึ่งเดมเลอร์ไครสเลอร์ทำอย่างนั้นจริง ๆ ในเดือนมกราคมด้วยราคา 472 ล้านดอลลาร์

สตอลแคมป์เคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ มอบหมายให้นักวางแผนทางออเบิร์น ฮิลส์ทีมหนึ่ง เป็นผู้จัดเตรียมเอกสารฐานะจุดยืนสำหรับสมาชิกฝ่ายอเมริกันในคณะกรรมการจัดการ ถ้าแอดทรานซ์หรือเรื่องอะไรอื่นถูกเสนอขึ้นบนโต๊ะประชุม เขาก็ต้องการเตรียมตัวพรักพร้อมที่จะรับมือ

สตอลแคมป์และฝ่ายอเมริกันคนอื่น ๆ พยายามตื่นตัวระแวดระวังอยู่แล้ว ทว่าแม้กระทั่งพวกเขาเองก็ยังคิดไม่ถึงกับหมากตาเดินต่อไปที่สุดห้าวของชเรมป์ นั่นคือ การเสนอเข้าเทคโอเวอร์บริษัทนิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งติดหนี้สินรุงรัง ชเรมป์คบคิดเรื่องนี้กับแกรี ซี. วาลาเด ประธานฝ่ายจัดซื้อระดับทั่วโลกของเดมเลอร์ไครสเลอร์ และ ธอมัส ซี. เกล ประธานฝ่ายออกแบบของไครสเลอร์ ทั้งสามคนเชื่อว่าเดมเลอร์ไครสเลอร์สามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ถึงแม้ภายในบริษัทมีปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม ตลอดจนมีโครงสร้างที่เทอะทะและมีผู้บริหารระดับบนมากเกินไปอยู่แล้ว ทว่าการเพิ่มนิสสันเข้ามาในส่วนผสมนี้อีก อันย่อมหมายถึงต้องแบกรับปัญหาต่าง ๆ ของคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างเลว หลายคนเห็นว่ามันกลายเป็นเรื่องหนักหนาเกินกว่าจะยอมกันได้

มันไม่ใช่ภาระหนี้สินหรอกที่พวกเขาหวาดหวั่น แต่สิ่งที่ยังไม่ทราบอย่างชัดเจนต่างหากซึ่งพวกเขาวิตก วาลาเดคาดการณ์ว่าจะต้องประสบปัญหายุ่งเหยิงใหญ่โตกับพวกซัปพลายเออร์ของนิสสัน เพื่อลดต้นทุน นิสสันได้บังคับให้ซัปพลายเออร์ต้องหั่นราคาชิ้นส่วนกันแหลกลาญ โดยที่ทางบริษัทเองถือหุ้นอยู่ในบริษัทซัปพลายเออร์เหล่านั้นจำนวนมาก ดังนั้น หากพวกเขาล้มถลาลงไป เดมเลอร์ไครสเลอร์ก็คงจะต้องช่วยเข้าไปประคองอยู่ดี ฝ่ายอเมริกันพยายามโน้มน้าวให้ชเรมป์พิจารณาข้อตกลงขนาดย่อมลงมาและเสี่ยงภัยน้อยกว่า นั่นคือการจับมือกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ป สตอลแคมป์จัดร่างบันทึกความยาว 3 หน้าส่งให้แก่คณะกรรมการจัดการ "นิสสันกำลังจะล้มละลาย และก็จะอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นด้วยซ้ำหากล้มละลายไปเสียได้" สตอลแคมป์เขียนไว้เช่นนั้น "โลกนี้ไม่ได้ต้องการมันเลย"

นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชเรมป์ต้องการได้ยินได้ฟังเอาเสียเลย เขาปรารถนาที่จะได้กิจการแถบเอเชียซึ่งแข็งแกร่ง เข้ามาเสริมกับความแข็งแรงในตลาดยุโรปของเดมเลอร์ และมัดกล้ามในสหรัฐฯของไครสเลอร์ และนี่ก็มีผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่นกำลังเขิญชวนอยู่ต่อหน้าให้เห็นกันจะจะ

คณะกรรมการจัดการของเดมเลอร์ไครสเลอร์ประชุมกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ณ โรงแรมโอเต็ล โบว์-ริวาจ นอกนครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกือบ 1 ปีเต็มหลังจากวันที่อีตันกับชเรมป์มาเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการกันในโรงแรมเดียวกันนี้ ชเรมป์ดูร้อนอกร้อนใจ เขาพร่ำบ่นว่ายังไม่ทันลงมติในเรื่องนิสสันกัน แต่สมาชิกคณะกรรมการบางคนกลับตัดสินใจไปตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะนั่งลงในโต๊ะประชุมเสียอีก ทว่าตลอดการประชุมครั้งนั้น ชเรมป์วางตัวอยู่เหนือการโต้เถียงขัดแย้ง ปล่อยให้ละครเล่นไปกันเอง และถอยห่างไม่ชี้นำการอภิปรายให้มุ่งไปทางหนึ่งทางใด นี่เป็นการตัดสินใจที่เขาไม่สามารถบังคับเอากับคณะกรรมการของเขาได้ มิฉะนั้นแล้ว เขาก็จะเป็นผู้ทำลายภาพลวงตาใด ๆ ที่มีอยู่ในเรื่องความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายเยอรมันกับฝ่ายอเมริกัน

หลังจากอาหารมื้อกลางวันซึ่งประกอบด้วยไส้กรอกเยอรมัน, มันฝรั่ง, และไวน์ ชเรมป์ก็ลุกขึ้นยืน เขาบอกให้บรรดาผู้ช่วยออกจากห้องประชุมและปิดประตู สมาชิกคณะกรรมการแต่ละคนมีเวลา 10 นาทีที่จะแสดงความคิดเห็นของตน พวกเขาพูดสิ่งที่คิดอยู่ในใจกันทีละคน ๆ มานเฟรด บิโชฟฟ์ ประธานกิจการด้านการบินและอวกาศของเดมเลอร์ไครสเลอร์ วิตกว่าพวกผู้จัดการระดับกลางของนิสสันจะผละหนีไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากผู้จัดการของฝ่ายเยอรมันและอเมริกัน เคิร์ต เจ. เลาค์ หัวหน้าใหญ่ด้านรถบรรทุกหนักของเมอร์ซิเดสโต้แย้งว่า การบริหารจัดการนิสสันเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ความเสี่ยงทางการเงินต่างหากซึ่ง"เป็นไปไม่ได้ที่จะระบุขนาดขอบเขต" ทางฝ่ายอเมริกันตั้งแต่ตัวอีตันลงมา ต่างพูดคัดค้านแผนการนี้ "มันเป็นดีลที่ดีแต่มาในจังหวะที่เลว" ธีโอดอร์ อาร์. คันนิงแฮม นายใหญ่ด้านการขายระหว่างประเทศของไครสเลอร์กล่าว "เรายังไม่พร้อมที่จะเข้าแบกรับการท้าทายนี้ เพราะเรายังไม่ได้แก้ไขปัญหาของเราเองเลย"

สตอลแคมป์เพิ่มน้ำหนักเข้ามาอีกด้วยการอ่านความตั้งใจแท้จริงของนิสสันในลักษณะที่ค่อนข้างแดกดันเย้ยหยัน บางทีนิสสันอาจเพียงต้องการให้เดมเลอร์ไครสเลอร์เข้าไปช่วยชีวิตเท่านั้น ใครจะไปรู้ว่านิสสันมีความจริงใจหรือไม่ที่จะยอมรับฝ่ายเยอรมันและอเมริกันไปเป็นหุ้นส่วนพันธมิตร "คุณรู้ไหม คุณย่อมกระวนกระวายจริง ๆ เลย อยากให้มีหมอมาช่วยคุณในเวลาที่คุณป่วย" เขาบอก "แต่ทันทีที่คุณหาย คุณก็ไม่ได้ต้องการหรอก ที่จะให้หมอมาทุกวันเพื่อดูว่าคุณเป็นยังไงมั่ง"

ชเรมป์ได้ยินได้ฟังมาพอแล้ว ไม่มีใครเลยหรือเห็นด้วยกับแผนยุทธศาสตร์ของเขาในการเข้าคุมคู่แข่งชาวเอเชียรายมหึมาด้วยราคาที่ถูกมาก? ไม่มีใครเลยหรือที่คิดว่าพวกเขาสามารถที่จะจัดการกับนิสสันได้? ฝ่ายอเมริกันคนหนึ่งกระทั่งตั้งคำถามว่า ทางญี่ปุ่นปรารถนาจริงหรือไม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ เดมเลอร์ไครสเลอร์นิสสัน? "โอเค" ชเรมป์พูดโพล่งออกมา "เราได้ตัดสินใจกันไปแล้ว ตอนนี้ผมจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปญี่ปุ่น ผมจะบอกพวกเขาตรง ๆ ซึ่งหน้าถึงการตัดสินใจของเรา ดีกว่าปล่อยให้พวกเขาฟังจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง"

ชเรมป์มีอาการเดือดปุด ๆ ระหว่างการเดินทาง 17 ชั่วโมงจากสวิตเซอร์แลนด์ไปญี่ปุ่น เนื่องจากได้ใช้เวลาเจรจาหลายชั่วโมงกับ โยชิกาซุ ฮานาวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของนิสสัน เพื่อพยายามทำข้อตกลงกันให้ได้ ชเรมป์จึงรู้สึกว่าเขาเป็นหนี้ฮานาวะ จนจำเป็นต้องมาอธิบายให้ฟังกันแบบซึ่งหน้า เขาไม่สามารถซ่อนความผิดหวังในเรื่องที่คณะกรรมการจัดการปฏิเสธข้อเสนอของเขา "ถ้าพวกเขาบอกว่า เอ้า ลองดูหน่อย ผมคงทำสำเร็จไปแล้ว !" ชเรมป์ตะโกนก้อง "แต่นี่ผมหันไปดูรอบ ๆ ไม่มีกองกำลังสักคนตามผมมาเลย" อีก 3 สัปดาห์หลังจากนั้น เรโนลต์ก็ตกลงเข้าซื้อหุ้นนิสสัน 37% ในราคา 5,400 ล้านดอลลาร์ และส่ง คาร์ลอส โกสน์ ผู้บริหารของเรโนลต์ที่ขึ้นชื่อเรื่องใช้คำพูดแรง ๆ มารับผิดชอบนิสสัน ข้อตกลงที่เดมเลอร์ไครสเลอร์ทอดทิ้งไปกลับตกลงมาอยู่บนตักของฝ่ายฝรั่งเศสเสียนี่

ทัศนะของสาธารณชนที่มองเดมเลอร์ไครสเลอร์ว่าเป็น "การควบรวมกันของกิจการที่ทัดเทียมกัน" เริ่มที่จะสั่นคลอนแล้ว พวกนักลงทุนสหรัฐฯพากันผละหนีจากหุ้นตัวนี้ภายหลังบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส คอร์ป ถอนมันออกจากดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ของตน เพราะเดมเลอร์ไครสเลอร์มิได้เป็นกิจการซึ่งจดทะเบียนในอเมริกาอีกต่อไปแล้ว เมื่อถึงปลายเดือนามีนาคม อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นสหรัฐฯได้ตกลงจาก 43%ในวันแรกของการควบรวมกัน มาเหลือ 25% การแปรพักตร์ที่กลายเป็นข่าวเกรียวกราวของผู้บริหารไครสเลอร์ ยิ่งกลายเป็นเชื้อเพิ่มพูนภาพลักษณ์ที่ว่าฝ่ายเยอรมันเข้าควบคุมบริษัทเอาไว้แล้ว นั่นคือกรณีของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 คน ได้แก่ คริส ธีออดอร์ นายใหญ่ฝ่ายวิศวกรรม กับ ชาเมล ที. รัชวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต ลาออกไปทำงานกับบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ การย้ายค่ายของพวกเขาย่อมไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวกับกับอิทธิพลของฝ่ายเยอรมัน ทว่าสื่อมวลชนอเมริกันต่างประโคมข่าวเรื่องนี้ในฐานะเป็นหลักฐานซึ่งแสดงถึงการที่ฝ่ายเยอรมันเข้าครอบงำเหนือเดมเลอร์ไครสเลอร์

ในทางส่วนตัวนั้น พวกผู้บริหารฝ่ายอเมริกันต่างโมโหการเสนอข่าวทำนองนี้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธเต็มปากว่ามันไม่ถูกต้อง ยุทธศาสตร์ของการป่าวประกาศว่าเดมเลอร์ไครสเลอร์เป็นการควบรวมกันระหว่างฝ่ายที่เท่าเทียมกันนั้น เป็นเรื่องผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น และก็เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงด้วย "เราไม่ควรเรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น 'การควบรวมกันของกิจการที่ทัดเทียมกัน' ลีบเลอร์กล่าว "มันเป็นการซื้อกิจการกัน แต่พอไปเรียกมันเป็นอย่างอื่น เราก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกรู้สึกสับสนกันไปหมด"

การผนวกรวมเข้าด้วยกันในทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งกำลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่ลื่นไหลหาความแน่นอนไม่ได้เอาเลย ช่องว่างด้านเงินเดือนซึ่งห่างกันชนิดต้องอ้าปากหวอคือมูลเชื้อโหมฮืออยู่ข้างใต้กระแสความตึงเครียดไม่พึงพอใจ ฝ่ายอเมริกันมีรายได้เป็น 2, 3, และในบางกรณีกระทั่ง 4 เท่าของเพื่อนร่วมงานทางฝั่งเยอรมัน แต่รายจ่ายของพนักงานฟากสหรัฐฯถูกควบคุมเอาไว้อย่างเข้มงวดมากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบของทางเยอรมัน พนักงานฝ่ายเดมเลอร์ไม่คิดอะไรเลยในการบินไปยังปารีสหรือนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมที่กินเวลาเพียงครึ่งวัน จากนั้นก็ส่งท้ายการไปเยือนด้วยดินเนอร์ตื่นตาตื่นใจและค้างคืนในโรงแรมแพงระยับ ขณะที่ฝ่ายอเมริกันตัวซีดตัวสั่นเมื่อเจอความหรูเลิศขนาดนั้น

การเดินทางแบบนี้เริ่มสร้างความแตกร้าวขึ้นภายในคณะกรรมการจัดการของบริษัท ในเดือนเมษายน ชเรปม์ย้ายสถานที่ประชุมไปที่นิวยอร์กเป็นการถาวร สิ่งที่กระทำกันจนเป็นแบบแผนคือ สมาชิกคณะกรรมการจะไปยังโรงแรมเซนต์รีจิส หรือไม่ก็ วอลดอร์ฟ-แอสโตเรีย เช็คอินเข้าพักในห้องชุดของใครของมัน จากนั้นจึงไปประชุมกันที่ห้องประชุมใหญ่ การพูดคุยถกเกียงกันมักกินเวลาไปจนตลอดช่วงดินเนอร์ ซึ่งชเรมป์ยืนยันอยู่บ่อยครั้งว่าการรับประทานอาหารค่ำร่วมกันเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผูกสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด สตอลแคมป์เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการจัดประชุมขนาดนี้ฟุ่มเฟือยเกินไป ทำไมผู้บริหารทุกคนจึงต้องเข้าพักในห้องชุดคืนละ 500 ดอลลาร์ของโรงแรมระดับท็อป ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้นอนค้างด้วยซ้ำไป เขาคำนวณออกมาว่าค่าใช้จ่ายในการจองห้องและดินเนอร์นั้นตกในราวปีละระหว่าง 3-5 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

สตอลแคมป์รู้สึกหงุดหงิดในเรื่องที่ค่าใช้จ่ายเช่นนี้จะส่งผลกระทบขนาดไหนหากทราบไปถึงหูของเหล่าลูกจ้างพนักงาน โดยเฉพาะพวกผู้จัดการทางฝั่งไครสเลอร์ซึ่งเดินทางกันด้วยรถโดยสาร และพักค้างคืนระหว่างทางกันตามโรงแรมแค่ระดับฮอลิเดย์ อินน์ สตอลแคมป์ออกหนังสือเวียนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งทำเอาชเรมป์เต้นเร่าทันทีทันควัน เขาตำหนิสตอลแคมป์ว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ใช่เป็นรายการประจำบ่อย ๆ ที่ไหน และในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกิจการไครสเลอร์ สตอลแคมป์ควรใช้เวลาในการทำงานด้านการควบรวมกิจการกันให้มากขึ้นกว่านี้ แทนที่จะไปเหน็ดเหนื่อยอย่างไม่มีความหมายกับรายละเอียดเรื่องห้องพักโรงแรมหรือราคาเหล้าไวน์

เมื่อถูกสั่งสอนหนักหน่วงแบบนี้ สตอลแคมป์ก็ถอยกรูด ทว่าการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ชเรมป์ยังตามเล่นงานสตอลแคมป์ในเรื่องการก่อตั้งทีมของไครสเลอร์เพื่อจัดเตรียมรายงานทางยุทธศาสตร์ให้กับผู้บริหารฝ่ายอเมริกัน ชเรมป์ขอคุยกันเป็นการภายในเฉพาะสมาชิกทั้ง 8 คนของคณะกรรมการผนวกรวมกิจการซึ่งขึ้นกับประธานร่วมทั้ง 2 อันได้แก่ ชเรมป์, คอร์เดส, เจอร์เกน ฮับบาร์ต, เกนซ์, และ เลาค์จากฝั่งเยอรมัน อีตัน, สตอลแคมป์, และวาลาเด ที่เป็นตัวแทนฝ่ายอเมริกัน เมื่อสมาชิกคณะกรรมการจัดการอีก 9 คนออกไปจากห้องประชุมแล้ว ชเรมป์ชูบันทึกแผ่นหนึ่งขึ้นมา มันเป็นบันทึกที่ยืนยันว่าทีมงานให้คำปรึกษาภายในบริษัทของฝ่ายไครสเลอร์ดังกล่าวมีอยู่จริง "แล้วไอ้บันทึกว่านี่มีปัญหาอะไรล่ะ" สตอลแคมป์กังขา "มันแสดงให้เห็นว่าฝ่ายพวกคุณมีการตกลงตั้งป้อมกันก่อนเพื่อออกเสียงให้เป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุม" ชเรมป์กล่าวหา

มีการตกลงตั้งป้อมกันก่อนเข้าประชุมหรือ ? ชเรมป์คิดว่าทีมงานวางแผนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้ฝ่ายอเมริกันสามารถออกเสียงเป็นอย่างเดียวกันหรือ ? "นี่ไม่ใช่การตั้งป้อมเลย" สตอลแคมป์คัดค้าน "พวกเราไม่มีผู้ช่วยคอยทำงานให้เลย ผมไม่มีใครเลยที่ขึ้นตรงต่อผมทำหน้าที่เป็นสตาฟฟ์ทำงานให้ ผมมีเลขานุการอยู่คนเดียว แล้วมันก็แค่นั้นแหละ พวกเราไม่สามารถศึกษาเตรียมตัวให้ดีเพื่อประจันหน้ากับพวกคุณได้ เพราะพวกคุณมีทีมงานผู้ช่วยกันเยอะแยะ"

"คุณพูดถูก คุณพูดถูก" ชเรมป์กล่าว "คุณจำเป็นต้องมีสตาฟฟ์คอยช่วย แต่คุณไม่จำเป็นต้องมาตกลงตั้งป้อมกันเลย ทุกคนในคณะกรรมการจัดการเป็นตัวของเขาเอง และเราจะต้องไม่มีการแอบตกลงตั้งป้อมกันก่อน" "ผมไม่เคยพูดเลยว่ามีการตกลงตั้งป้อมกัน" สตอลแคมป์แย้ง แล้วการลงมติในเรื่องนิสสันล่ะ นั่นไม่ใช่การแอบไปตกลงตั้งป้อมกันมาก่อนหรือ ? "เรื่องนั้นมันงี่เง่า" สตอลแคมป์ระเบิดโพล่ง "พวกเราต่างคนต่างก็คิดว่ามันเป็นความคิดที่โง่มาก"

สตอลแคมป์มองไปทางอีตันเพื่อขอความสนับสนุน ทว่าไม่ได้รับเลย ระหว่างการโต้เถียงกันอีตันนั่งนิ่งเป็นเบื้อ สตอลแคมป์ไม่เชื่อเลยว่ามันจะออกมาอย่างนี้ การไม่ใส่ใจมันก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่อีตันเหมือนกับไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดการต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายอเมริกันบางคนกำลังออกหน้าเพื่อปกป้องอิทธิพลของไครสเลอร์เอาไว้ ฝ่ายเยอรมันมองเห็นชัดเจนถึงความผิดหวังของสตอลแคมป์ ถึงการที่เขาปฏิบัติต่ออีตันราวกับว่าอีตันได้อำลาจากตำแหน่งประธานร่วมไปแล้ว ฝ่ายเยอรมันซึ่งมีความสำนึกมากกว่าในเรื่องลูกพี่ลูกน้องและโครงสร้างของบริษัท เกิดความสงสัยข้องใจว่าความกราดเกรี้ยวเพิ่มขึ้นทุกทีที่สตอลแคมป์แสดงออกต่อเจ้านายของเขานั้น มันแผ่ลามขยายตัวไปแค่ไหนแล้วในฝั่งไครสเลอร์

แต่ความอดทนของชเรมป์ต่อการบริหารในลักษณะประธานร่วมที่โง่เขลาและน่าเบื่อหน่ายนี้ก็กำลังลดน้อยลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน เขาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อได้ยินแนวความคิดที่ว่า ถึงอย่างไรไครสเลอร์ก็เป็นฝ่ายเจ็บตัวหรือเป็นฝ่ายถูกรุกรานจากแผนการควบรวมกิจการ เขาเองก็ต้องเสียผู้บริหารไปหลายคนเหมือนกัน รวมทั้งที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของเขาด้วย เขายังต้องรับมือกับพวกผู้จัดการและคนงานฝ่ายเยอรมันซึ่งวิตกว่ากำลังจะถูกแปรไปเป็นแบบบริษัทอเมริกันแล้ว

ตลอดชีวิตการทำงานของเขา ชเรมป์เล่นบทเสี่ยงเสมอมา เขาตะลุยไปข้างหน้าและพร้อมรับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาเดิมพันอนาคตเอาไว้กับก้าวเดินซึ่งเขาเชื่อว่าถูกต้อง ฝ่ายอเมริกันเข้าใจไหมว่าการก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่หมายถึงการต้องต่อสู้ฟันฝ่า ? ชเรมป์เองปลดคนลดงานไปหลายพันตำแหน่งในเยอรมนี และเผชิญกับเสียงวิพากษ์กราดเกรี้ยว เขาปล่อยให้ฟอกเกอร์ บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติดัตช์ล้มละลายไป และแบกรับแรงกดดันหนักหน่วง เขานำเมอร์ซิเดส-เบนซ์มาควบรวมเข้ากับเดมเลอร์ และต่อสู้กับการตำหนิวิจารณ์

เหล่าสายสืบของเขาในออเบิร์น ฮิลส์บอกกับชเรมป์ว่า สตอลแคมป์ใช้เวลากับการสาธยายปกป้อง "วิธีการแบบไครสเลอร์" ให้คนของเขาฟัง มากเสียยิ่งกว่าการส่งเสริมให้เกิดการผนวกรวมตัวกันตามแผนควบรวมกิจการอันยิ่งใหญ่นี้ นี่ไม่ใช่ไครสเลอร์แบบที่ชเรมป์คิดว่าเขาได้ซื้อไปเลย ภาพลักษณ์ของไครสเลอร์ในสายตาของเขาคือ กระด้างตึงตังแต่พรักพร้อม ฮึกห้าวและเหิมหาญ ทว่าแทนที่จะเป็นเช่นนั้น ฝ่ายอเมริกันกลับทำตัวแบบขี้ขลาดตาขาวหรือผิวบางหยิบโหย่ง และมุ่งแต่จะหาทางให้ได้ความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนคอยปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาเอง "คาวบอย"ไครสเลอร์ที่ชเรมป์เคยอ่านเจอมามากเล่ามันอยู่ที่ไหนแล้ว ?

เขารู้ว่าจะหาคาวบอยอย่างน้อยก็รายหนึ่งได้ที่ไหน ในเดือนพฤษภาคม ชเรมป์ไปที่โรงแรมริซ-คาร์ลตัน ชานเมืองเดียบอร์น รัฐมิชิแกน เพื่อพบกับบุรุษผู้ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของไครสเลอร์เก่า หากจะมีใครสามารถวิเคราะห์แยกแยะเรื่องนี้ให้เขาฟังได้ คน ๆ นั้นต้องเป็น บ็อบ ลุซ อดีตรองประธานไครสเลอร์ผู้เกษียณออกไปด้วยการผลักไสของอีตัน ลุซได้งานใหม่เป็นประธานของ เอ็กซายด์ คอร์ป บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก

พวกเขาพูดคุยกันระหว่างจิบมาร์ตินี "ในออเบิร์น ฮิลล์ไม่เห็นมีความเป็นผู้นำหลงเหลืออยู่เลย" ชเรมป์บ่นพึม "คนที่กล้าพูดสิ่งที่พวกเขาคิดอยู่ในใจ คนที่กล้าตัดสินใจหายไปไหนกันหมดแล้ว ? " "เจอร์เกน" ลุซพูด "บริษัทไครสเลอร์ที่คุณซื้อเอาไว้นั้น เมื่อมองจากจุดยืนทางด้านบุคลากรแล้ว มันไม่ใช่บริษัทไครสเลอร์เดียวกันกับที่สร้างสมเกียรติภูมิของมันขึ้นมาหรอก คนที่เป็นแกนหลัก 3 คนถูกโยกย้ายออกมาเสียแล้ว" นั่นก็คือ อดีตประธานฝ่ายการผลิต เดนนิส พาวลีย์ , บอสใหญ่ด้านวิศกรรม ฟรองซัวส์ กาสแตง , และตัวลุซเอง "คุณไม่สามารถดึงเอา 3 ตัวแกนแห่งการเปลี่ยนแปลงออกมา แล้วหวังว่ามันยังจะเหมือนเดิมหรอก"

ลุซบอกว่า สตอลแคมป์เป็นต้นหนนำทางผู้ยิ่งใหญ่ ทว่าไม่ใช่นักบินที่สามารถมอบหมายการบังคับบัญชาให้ ชเรมป์เห็นด้วยเต็มประตู แต่ควรจะมอบให้ใครเป็นผู้บริหารที่ออเบิร์น ฮิลล์ล่ะ ? ใครที่สมควรขึ้นเป็นผู้นำ ? "ทำไมคุณไม่เอาคนเยอรมันดีที่สุดของคุณเข้ามาและมอบหมายให้ทำงานนี้ล่ะ" ลุซถาม ชเรมป์ตอบว่าเขาไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน เพราะมันจะกลายเป็นความหายนะ "โฮลเดนมีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ" ลุซบอก ซึ่งหมายถึง เจมส์ พี. โฮลเดน ประธานฝ่ายขายของไครสเลอร์ "ไม่เคยมีคำถามขึ้นมาเลยว่าเขาต้องการไปทางไหน"

ชเรมป์เคยจับตามองโฮลเดนอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่โฮลเดนไม่ค่อยพูดบ่อยนักในการประชุมคณะกรรมการจัดการ ชเรมป์ก็กลับสังเกตเห็นถึงความมีชั้นเชิงของเขา ความเป็นเซลสแมนของเขา ซึ่งจะไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถูกลบหลู่ เขาทราบดีว่าโฮลเดนเคยลุกขึ้นตอบโต้กับ ดีเตอร์ เซตเช หัวหน้าใหญ่ฝ่ายขายของเดมเลอร์ ในการประชุมครั้งแรก ๆ ของฝ่ายขาย และได้เห็นเขาต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ชเรมป์ไว้วางใจการวินิจฉัยของลุซ

สำหรับสตอลแคมป์ "ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก" มาถึงพร้อมกับตัวเลขรายได้ของเดมเลอร์ไครสเลอร์ระยะ 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมันคือใบคะแนนแสดงผลของการควบรวมที่วิเศษเหมาะเจาะเหมือน"เทพอุ้มสม"คราวนี้ ตลาดรถยนต์สหรัฐฯกำลังอยู่ในช่วงปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ คำถามอยู่ที่ว่าบริษัทจะโชว์อะไรและโชว์อย่างไร พวกบริษัทอเมริกันนั้นจะเฝ้าติดตามตัวเลขประมาณการรายได้รายไตรมาสที่นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทเป่าเสกกันออกมาอย่างใกล้ชิด และคอยปล่อยข่าวไปถึงนักวิเคราะห์เหล่านี้อย่างลับ ๆ หากตัวเลขจริงของบริษัทจะไปไม่ถึงคำพยากรณ์ของพวกเขา แต่บริษัทและผู้ถือหุ้นทางเยอรมันกลับพุ่งความสนใจไปที่ผลประกอบการของทั้งปี ถ้าจะให้ดีคือไปเร่งกันในไตรมาสสี่เพื่อทำให้ตัวเลขออกมาแข็งแกร่งสวยงาม เกนซ์ซึ่งเป็นผู้ยึดติดเหนียวแน่นกับวิธีแบบเยอรมัน เรียกร้องว่าคำแถลงที่แจกจ่ายแก่สื่อมวลชนควรต้องย้ำที่ตัวเลขของรอบ 6 เดือน และลดความสำคัญของผลประกอบการรอบไตรมาสให้เหลือเนื้อที่เพียงแถวเดียวในรายการรายละเอียดทางการเงิน

ฝ่ายอเมริกันต่างอกสั่นขวัญแขวน เพราะคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าทำแบบนี้ไม่ได้ผลหรอก เรื่องที่แย่หนักขึ้นไปอีกก็คือ ตัวเลขที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในตารางทางการเงินนั้นใช้หน่วยเป็นยูโรดอลลาร์ ซึ่งต้องแปลงกลับให้เป็นยูเอสดอลลาร์ พวกนักวิเคราะห์พากันโกรธเกรี้ยว แถมตัวเลขก็ต่ำลงกว่าคาดหมายมโหฬาร รายรับของเดมเลอร์ไครสเลอร์เพิ่มขึ้น 10%ในรอบไตรมาสสอง เป็น 38,500 ล้านดอลลาร์ ทว่าผลกำไรกลับยังคงเป็น 1,530 ล้านดอลลาร์เท่ากับปีที่แล้ว บริษัทเคยให้สัญญาไว้ว่ากำไรจะต้องเติบโตรวดเร็วกว่ารายรับ มันเป็นความไม่ประทับใจที่ใหญ่โตและราคาแพงลิ่ว

ราคาหุ้นของเดมเลอร์ไครสเลอร์หล่นวูบจาก 85 ดอลลาร์ต่อหุ้นเหลือ 72 ดอลลาร์ในชั่วเวลาเพียง 2 วัน เท่ากับมูลค่าของบริษัทหล่นหายไปกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เดมเลอร์ไครสเลอร์กำลังขายรถจิ๊ปและรถเบนซ์ได้เพิ่มขึ้น ทว่ากลับไม่สามารถทำเงินกำไรสูงขึ้นได้ และพวกนักวิเคราะห์ก็โจมตีกันอย่างไร้ปรานี "เดมเลอร์ไครสเลอร์กำลังเหมือนกับบริษัทรถยนต์ใหญ่ ที่น่าเกลียดและขึ้นลงตามวัฏจักรมากยิ่งขึ้นทุกที" นักวิเคราะห์คนหนึ่งซัดเข้าให้เต็มหมัด

ช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ไม่เพียงจบสิ้นลงเท่านั้น ตอนนี้ถ้วยโถโอชามยังเริ่มบินปลิวว่อนอีกด้วย สตอลแคมป์ด่าแหลกถึงความงี่เง่าที่ไม่เกริ่นให้นักวิเคราะห์เตรียมตัวรับความผิดหวังอย่างมโหฬารขนาดนี้กันก่อนเลย เกนซ์ประณามกลับและยั่วยุให้สตอลแคมป์โกรธ "การคาดการณ์ช่วงที่เหลือของปีที่คุณทำออกมานั้นไม่ดีเลย" เกนซ์พูด ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของสตอลแคมป์ "เรากำลังวุ่นเลยเพราะต้องปรับตัวไปตามเทคนิคการคาดการณ์ของคุณ"เกนซ์ออกลูกตาม สตอลแคมป์ทนไม่ไหวแล้ว "ผมไม่จำเป็นต้องฟังคุณเรื่องการคาดการณ์หรอก ผมรู้ดีว่าผมกำลังอยู่ตรงไหน แต่คุณเป็นถึง ซีเอฟโอ (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) คุณกลับไม่รู้แม้กระทั่งว่าเรามีเงินสดอยู่เท่าไหร่"

สตอลแคมป์เขียนจดหมายความยาว 1 หน้า โดยใช้หัวเรื่องว่า "ความผิดหวังส่วนตัว" และส่งไปถึงชเรมป์กับอีตัน เขาระบายเรื่องที่อัดอั้นออกมาจนหมดสิ้น ไม่มีการวิเคราะห์ทางการเงินกันเลย โครงสร้างคณะกรรมการจัดการจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง วิธีทางบัญชีต้องปรับปรุงให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น บทบาทของเขาในฐานะประธานการผนวกรวมตัวกันควรจะต้องมีการอธิบายขยายความให้ชัดเจนขึ้น "ผมใคร่ที่จะขอพูดคุยกับพวกคุณแต่ละคน" สตอลแคมป์เขียนไว้เช่นนั้น "ในเรื่องที่ว่าจริง ๆ แล้วพวกคุณคาดหวังหรือกำลังต้องการให้ผมแสดงบทบาทอะไรในบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการผนวกรวมตัวกัน ...ผมไม่ได้คับข้องใจ เพียงแต่สงสัยว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางไหนกันแน่" เขาไม่เคยได้รับตอบเลย

ฝ่ายเยอรมันหยุดพักผ่อนช่วงฤดูร้อนกันเกือบตลอดทั้งเดือนสิงหาคม ชเรมป์บินไปเมืองเคปทาวน์ และกว่าจะกลับก็คงอีก 2 สัปดาห์ พวกผู้บริหารในออเบิร์น ฮิลส์ก็หยุดงานไปอยู่บ้านพักตากอากาศหลังใหญ่ของพวกเขาซึ่งอยู่แถบทะเลสาบทางตอนเหนือของรัฐมิชิแกน

สตอลแคมป์กลับมาในวันที่ 10 สิงหาคม หลังจากลาหยุด 2 สัปดาห์ไปอยู่บ้านที่เขาเพิ่งสร้างเสร็จในเขตพัฒนาอันหรูหราของเบย์ ฮาร์เบอร์ ซึ่งมองลงมาเห็นวิวทะเลสาบมิชิแกน วันแรกที่เขามาที่ทำงาน แมรี แอนน์ เดมสกี้ เลขานุการของอีตัน ก็โทรศัพท์เรียกตัวเขา "คุณอีตันกำลังจะขึ้นเหนือไปตรวจดูบ้านใหม่ของท่าน และท่านอยากจะพบคุณที่นั่น" เธอบอก "โอเค ได้เลย" สตอลแคมป์ตอบ

อีตันเชื้อเชิญสตอลแคมป์เข้าบ้านทางประตูหน้า และพวกเขานั่งกันในห้องนั่งเล่น ครั้นแล้ว อีตันก็ดึงเศษกระดาษเขียนข้อความเอาไว้แผ่นหนึ่งออกมา และเริ่มอ่านเนื้อหาซึ่งระบุถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่สตอลแคมป์ควรไปเสียจากเดมเลอร์ไครสเลอร์

อีตันคงจะไม่ยอมระบุออกมาอย่างเปิดเผยถึงสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ สำหรับตัวสตอลแคมป์นั้น คงจะต้องเก็บรายละเอียดในคำสนทนาของพวกเขาเอาไว้ "คุณมองอะไรในแง่ลบจนเกินไป และผลก็คือทั้งทีมงานของคุณ คนที่รายงานโดยตรงต่อคุณ ต่างก็คิดกันว่าคุณมองในแง่ลบเกินไปและสงสัยข้องใจมากเกินไป" อีตันพูดด้วยการอ่านทุกคำจากในแผ่นกระดาษ "เพราะเหตุนี้ คุณจึงไม่สามารถนำได้อีกต่อไป"

อะไรนะ สตอลแคมป์ใจหล่นลงถึงตาตุ่ม "คุณไม่มีความสุข" อีตันกล่าว น้ำเสียงของเขาสั่นเครือ "คุณกลายเป็นคนมองอะไรแง่ลบไปหมด" "คุณไปพูดกับใครมาบ้าง ?" สตอลแคมป์พยายามค้นหาความจริง "คุณหมายความว่ายังไง คนที่รายงานตรงต่อผม" อีตันบอกว่าเขาได้พูดกับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายอเมริกันคนอื่น ๆ มาแล้ว "ผมวินิจฉัยได้ด้วยตัวเองว่าคุณไม่ได้รับความสนับสนุนจากพวกเขาแล้ว และไม่สามารถนำได้อีกต่อไป" อีตันพูดเสียงแข็ง

สตอลแคมป์ไม่รู้ว่าควรจะตอบโต้อย่างไรดี โดยสัญชาตญาณ เขาปกป้องตัวเองไว้ก่อน "คิดดูนะ บ็อบ ผมกำลังเสนอประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการผนวกรวมบริษัท" สตอลแคมป์ปล่อยหมัดแย็ป "คุณไม่ได้สนับสนุนผมในประเด็นพวกนั้นเลย อย่างเรื่องการประหยัด ไครสเลอร์ประหยัดกันถึงขนาดไหนแล้ว ดูความฟุ่มเฟือยของฝ่ายเยอรมันเปรียบเทียบกับฝ่ายเราดูซี่ เราไม่สามารถขอให้คนของเราประหยัดหรอกถ้าคนอื่นยังเดินทางด้วยเครื่องบินคองคอร์ดกันอยู่ เราไม่สามารถประหยัดได้ถ้าเรายังคงเข้าพักห้องชุดที่เซนต์รีจิส ทั้งที่จริงเราไม่ได้ค้างคืนที่นั่นเลย พวกเขาให้ห้องพักชั่วคราวแก่คุณ แต่มันเป็นห้องชุดนะ มันบ้าบอสิ้นดี เมื่อผมถามคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณก็เลี่ยงไป เอ้อ นี่มันอะไรกัน ?"

อีตันยังคงพูดอึก ๆ อัก ๆ จากข้อความในแผ่นกระดาษที่เตรียมมา "ผมถูกไล่ออกรึ ?" สตอลแคมป์ถามตรง "ไม่หรอก" อีตันตอบ "ถ้าผมต้องการให้คุณไป ผมก็จะขอให้คุณไปเสียตั้งแต่ตอนนี้ คุณไปลองคิดดูแล้วกลับมาบอกผมพร้อมทางเลือกสัก 2-3 อย่างว่าคุณต้องการทำอะไรบ้าง"

สตอลแคมป์ขบคิดอย่างรวดเร็ว ถ้าเขาถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มันก็มีอะไรต้องเดิมพันอยู่แยะ ถ้าเขาถูกลดตำแหน่งหรือถูกไล่ออกโดยไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง เงื่อนไขในสัญญาการเข้าทำงานของเขาจะทำให้เขาได้เงินค่าชดเชย 5.4 ล้านดอลลาร์ นั่นเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในข้อตกลงควบรวมกิจการ "คุณหาเรื่องไล่ผมนี่" สตอลแคมป์โวยวาย "ไปคุยกับ (บิลล์) โอไบรอันดีกว่า" อีตันโพล่งออกมา คุยกับทนายความของบริษัทรึ ? สตอลแคมป์ถึงจุดระเบิด "นี่มันเรื่องห่าเหวอะไรกันนะ" เขาพูด ด้วยเสียงที่ดังเกินไป

มือของอีตันสั่นสะท้าน ท่าทางอัดอั้นพูดไม่ออก สตอลแคมป์คิดว่าอีตันกำลังทำท่าจะร้องไห้ เรื่องนี้ประหลาดมาก สตอลแคมป์พูดกันตัวเอง ผมต่างหากที่ควรจะแสดงอารมณ์ออกมา ไม่ใช่เขาเลย

เมื่อเขากลับมายังออเบิร์น ฮิลส์ สตอลแคมป์เผชิญหน้ากับโฮลเดน เขาถามว่าโฮลเดนเป็นคนจัดการเรื่องทั้งหมดนี่หรือเปล่า "เราจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป" โฮลเดนตอบ "เราทั้งหมดนั่นแหละ"

ในวันที่ 24 กันยายน หลังการหารืออย่างตึงเครียดที่เมืองแฟรงเฟิร์ต คณะกรรมการที่ปรึกษาก็ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ คณะกรรมการจัดการจะถูกลดทอนจำนวนสมาชิกลงจาก 17 เหลือ 13 โดย 8 คนมาจากฝ่ายเยอรมัน และอีก 5 จากฝั่งอเมริกัน นอกจากนั้นยังมีการประกาศใช้โครงสร้างทางธุรกิจขึ้นใหม่ โดยจะมีเสาหลักทางกิจการรถยนต์ที่เท่าเทียมกันขึ้นมา 3 เสา ฮับแบร์ตเป็นหัวหน้าทางด้านรถเมอร์ซิเดส-เบนซ์ , โฮลเดนดูแลไครสเลอร์, เซตเชรับงานด้านรถบรรทุกหนัก สำหรับสตอลแคมป์ทำตามข้อตกลงเรื่องเงินชดเชยของเขา โดยกล่าวในคำแถลงต่อสื่อมวลชนระบุว่า เขาขอปลดเกษียณตัวเอง

ที่ออเบิร์น ฮิลส์ พวกเขาเรียกมันว่า วันศุกร์ทมิฬ คำแถลงต่อสื่อมวลชนแพร่ออกไปในเวลา 6:36 น.ตามเวลาดีทรอยต์ อีก 1 ชั่วโมงหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายอเมริกันไปชุมนุมกันที่สำนักงานใหญ่ของไครสเลอร์เก่าเพื่อรับฟังคำอธิบายของอีตัน พวกเขาส่วนใหญ่ต่างพกพาความโกรธมาด้วย เมื่ออีตันลุกขึ้นยืนต่อหน้าพวกเขาและพูดว่าสตอลแคมป์ต้องการปลดเกษียณ ที่ชุมนุมก็ปั่นป่วนวุ่นวาย "เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อเลย" แกรี แอล. เฮนสัน ประธานฝ่ายการผลิตบอก "สตอลแคมป์ไม่เคยพูดเรื่องอยากปลดเกษียณ พวกคุณไม่มีความน่าเชื่อถือหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ทำไมคุณไม่บอกให้เราทราบก่อนหน้านี้ล่ะ" อีตันอยู่ในอาการตื่นเต้น เมื่อเขาอ้างว่าคันนิงแฮมต้องการก้าวลงจากคณะกรรมการจัดการ คันนิงแฮมก็กระโจนพรวดขึ้นมาจากหมู่คนฟังและปฏิเสธเรื่องนี้

สตอลแคมป์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมประจำปีผู้บริหารระดับท็อปครั้งที่ 2 ของเหล่าผู้บริหารเดมเลอร์ไครสเลอร์ อันเป็นการประชุมต่อจากครั้งเซวิลล์ ทว่าเขาไม่ได้ไป และแทนที่จะเดินทางไปยังสถานตากอากาศในสเปนสักแห่งหนึ่ง ผู้บริหาร 300 คนของเดมเลอร์ไครสเลอร์กลับมาชุมนุมกันที่โรงแรมเชอราตัน พรีเมียร์ ณ ไทสันส์ คอร์เนอร์ รัฐเวอร์จิเนีย ใกล้กับช็อปปิ้งมอลล์ขนาดยักษ์นอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขบวนรถเก๋งเมอร์ซิเดส-เบน เอสคลาส สีดำและสีเงินนำพวกเขามาส่งที่ประตูหน้า การรักษาความปลอดภัยดูเข้มงวดกว่าปกติ โดยมียามรักษาการณ์ในเครื่องแบบเดินตรวจตราอยู่รอบบริเวณ อีกทั้งหน่วยกู้ระเบิดก็อยู่ในอาการเตรียมพร้อม

ความปลาบปลื้มและความสนิทสนมไว้วางใจกันที่เคยปรากฏในเซวิลล์ ดูจะกลายเป็นความทรงจำอันห่างไกลไปเสียแล้ว รายการประชุมต่าง ๆ น่าเบื่อด้วยหัวข้อทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง เปียโนบาร์ก็เงียบเหงาราวกับหลุมฝังศพ

ทุกวันนี้ เดมเลอร์ไครสเลอร์ยังคงไม่สามารถทำเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ ราคาหุ้นซื้อขายกันที่ระดับใกล้เคียงกับราคาต่ำสุด ณ 53 ดอลลาร์ ลดลงราว 33%จากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1998 นิสสันซึ่งอยู่ในการนำพาของเรโนลต์ รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่าในปีงบประมาณที่ผ่านมาขาดทุนไป 6,300 ล้านดอลลาร์ ในที่สุดแล้วชเรมป์ก็สามารถวางรากฐานในเอเชียจนได้ด้วยการซื้อหุ้น 34%ของมิตซูบิชิในราคา 2,100 ล้านดอลลาร์ ปีที่แล้ว เขากับภรรยาซึ่งอยู่กินกันมา 35 ปีได้แตกหักกัน ชเรมป์บอกว่าเขาต้องเลือกระหว่าง "งานหรือชีวิตคู่" และเขาก็เลือกงาน

อดีตผู้บริหารไครสเลอร์ต่างไปตามทางของพวกเขา สตอลแคมป์ไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอ็มเอสเอ็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ อันเป็นบริษัทให้บริการด้านวิศวกรรม และในเดือนมกราคม อีตันยืนต่อหน้าผู้จัดการฝ่ายอเมริกัน 350 คน และบอกกับพวกเขาว่า เขาจะปลดเกษียณในวันที่ 31 มีนาคม "ผมจะคิดถึงพวกคุณ และขอบคุณพวกคุณอยู่เงียบ ๆ ทุก ๆ วันตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของผม" เขาพูดเช่นนั้น

เรื่องย่อชิ้นนี้แปลจากนิตยสาร บิสซิเนส วีก ฉบับ 5 มิถุนายน 2000 โดยบรรณาธิการของนิตยสารฉบับนั้นแจ้งว่า ได้ตัดตอนและปรับปรุงจากหนังสือเรื่อง "Taken for a Ride : How Daimler-Benz Drove Off With Chrysler" เขียนโดย บิลล์ วลาซิก (Bill Vlasic) กับ แบรดลีย์ เอ. สเตอร์ซ (Bradley A. Stertz) วลาซิกเป็นอดีตผู้สื่อข่าวของบิสซิเนส วีก และเวลานี้ทำข่าวให้กับ ดีทรอยต์ นิวส์ เขาเป็นผู้ติดตามเสนอข่าวของไครสเลอร์มาตั้งแต่ปี 1994 สำหรับ สเตอร์ซ ทำข่าวสายอุตสาหกรรมรถยนต์ และเวลานี้ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของ ดีทรอยต์ นิวส์ หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยอาศัยการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ มากกว่า 200 คน ในจำนวนนี้มีทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของเดมเลอร์-เบนซ์ และ ไครสเลอร์ ตลอดจนบุคคลวงในอุตสาหกรรมรถยนต์คนอื่น ๆ คำสนทนาที่ตีพิมพ์ไว้นี้เขียนขึ้นโดยยึดการบอกเล่าของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เดมเลอร์ไครสเลอร์ได้ออกคำแถลงพูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือนี้ "สะท้อนความคิดเห็นและการตีความข้อเท็จจริงของตัวผู้เขียนทั้งสองเอง"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us