การส่งออกถือเป็นหัวใจการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ
ซึ่งหากภาครัฐมีการสนับสนุนผู้ส่งออกให้สามารถก้าวไปยืนบนเวทีการค้าโลกได้อย่างมั่นคง
ย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึงเม็ดเงินที่จะนำกลับเข้ามาพัฒนาประเทศสืบต่อไป อย่างไรก็ตาม
ณ
วันนี้โลกการค้าได้เปลี่ยนไปสู่แนวการค้าในระบบพาณิชย์อิเล็ก-ทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซ
ซึ่งถือเป็นเวทีการค้ายุคใหม่ที่บรรดาผู้ส่งออกไทยยังไม่คุ้นเคย และดำเนินการปรับเปลี่ยน
เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกยุคไซเบอร์อย่างเช่นในปัจจุบัน
ที่ผ่านมาผู้ส่งออกหลายรายสนใจการค้าขายระบบอี-คอมเมิร์ซ แต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายสูง
และผู้ส่งออกบางรายคาดหวังที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัททันทีทันใด
จนนำไปสู่การเปิดเว็บไซต์และโปรโมตเว็บไซต์ ทั้งหมดต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
และในตลาด อินเทอร์เน็ตปัจจุบันนับเป็นเรื่องยากกับการโปรโมตให้กระจายได้ทั่วโลก
ประกอบกับภาวะการแข่งขันในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ลงทุนด้านนี้ปิดตัวเองไปเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้การค้าในระบบอี-คอมเมิร์ซของไทยที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายเมื่อปี
2541
ประมาณ 22,099.25 ล้านบาท ถัดมาในปี 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 22,500 ล้านบาท
สำหรับปี 2544 มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ากว่า 23,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ
4.4
ส่วนใหญ่เป็นการค้าภายในประเทศร้อยละ 80.56 ส่วนการค้าระหว่างประเทศมีเพียงร้อยละ
19.44 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นการส่งออกสินค้า ไทยไปต่างประเทศเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ส่วนที่เหลือจะเป็นการค้าในลักษณะอื่นๆ เช่นการค้าระหว่างบริษัทสาขาในประเทศไทยและบริษัทแม่ในต่างประเทศ
แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ระบบอี-คอมเมิร์ซ
กลายเป็นช่องทาง การค้าสำคัญ และเป็นสิ่งที่ต่างประเทศใช้เป็นเงื่อนไขกับประเทศคู้ค้า
สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ที่มีหน้าที่หลักในการผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดโลก
เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันสร้างเวทีการค้าใหม่ให้กับผู้ส่งออก โดยการผนึกกับกรมส่งเสริม
การส่งออก
สภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้า ทางเรือแห่งประเทศ
จัดเวทีเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานทางด้านพาณิชย์
อิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะเป็น ผู้นำในการกระตุ้นให้ผู้ส่งออก
สนใจการดำเนินธุรกิจการส่งออกผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอ-นิกส์เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาส
และตลาดการส่งออกสินค้า และบริการจากประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกอีกทางหนึ่ง บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่ในการนำระบบการค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ให้เกิดความกว้างขวางที่สุดนี้
ถือได้ว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของโลกกำลังฟื้นตัว ประกอบกับในประเทศไทยเอง
ได้มีการออกกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฉบับแรกของประเทศ และประกาศใช้เมื่อวันที่
3 เมษายน 2545
เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้เป็นอย่างดี
อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์จะทำ
ให้การค้าภายในประเทศปรับเข้าสู่การค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะทำให้เกิดการค้าในรูปแบบของธุรกิจกับธุรกิจ
หรือ B2B และธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ B2C ซึ่งเป็นแนวทางเดียว
กับการค้าต่างประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นกระทรวงพาณิชย์เตรียมที่จะเร่งรัดให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดส่งสินค้า
การชำระเงินค่าจัดซื้อสินค้า และระบบอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีกฎหมายรองรับให้ประสานกัน
ตามแผนของกระทรวงพาณิชย์นั้น ในขั้นต่อไปจะมีการจัดทำ Master Action Plan
เป็นลักษณะ Workshop
ให้กับนักธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค โดยจะจัดที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในราวต้นเดือนมิถุนายน
"เรามีเป้าหมายที่ผลักดันในการสร้างเวทีการค้ายุคใหม่ให้กับผู้ประกอบไทยสู่อี-คอมเมิร์ซ
ภายใน 6 เดือนจะมีบริษัทผู้ส่งออกทำการค้าด้วยระบบอี-คอมเมิร์ซได้จำนวนไม่ต่ำกว่า
6,000 ราย และภายใน 2 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ราย"
และในการผลักดันให้เกิดระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นรูปธรรมเร็วที่สุดนั้น
รัฐบาลนอกจากจะเป็นผู้กำหนดนโยบายแล้ว ตามแผน ภาครัฐจะต้องนำมาปฏิบัติด้วย
โดยจะมีการเร่งปรับระบบภาครัฐไปสู่การเป็น e-government ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้าสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
"ทุกวันนี้อี-คอมเมิร์ซไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปิดเว็บไซต์ขายของ
แต่จะครอบคลุมถึงกลไกการทำธุรกิจผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สื่อ ไปทั่วโลก
สามารถติดต่อลูกค้าโดยตรงเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
ที่สามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้แต่จากอดีตที่ผ่านมา"
ด้านสุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สนับสนุนความจำเป็น
ที่ผลักดันให้ผู้ส่งออกเข้าสู่ระบบการค้าใหม่ในรูปแบบของอี-คอมเมิร์ซ ว่าขณะนี้ยอดการซื้อขายผ่านระบบนี้ในปัจจุบันเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
หากมองยอดซื้อขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซของสหรัฐฯพบว่าในปี
2543 มียอดซื้อขายประมาณ 604 ล้านเหรียญ แต่การคาดการณ์บ่งบอกว่าในปี 2547
จะมียอดซื้อขายสูงถึง 6,335 ล้านเหรียญ หมายความว่าระบบนี้โตขึ้นกว่า 10
เท่า
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมศึกษาแนว ทางการเชื่อมโยงโครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ของกรมส่งเสริมการส่งออก เข้ากับโครงการอินเทอร์เน็ตตำบล
เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้เข้าสู่ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
โดยมีไทยตำบลดอทคอม ภายใต้การบริหารงานศูนย์ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นผู้บริหารงานภายในปี 2546 โดยจะศึกษาแนวในการสร้างตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์
(อี-มาร์เก็ต) ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเข้า สู่ระบบ
โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำสุด
ซึ่งรัฐอาจจะบริหารโครงการเอง หรือจะให้เอกชนมาบริหาร อย่างไรก็ตาม หากสามารถเชื่อมโยงโครง
การของกรมส่งเสริมการส่งออกกับอินเทอร์เน็ตตำบลได้
ก็จะช่วยให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตในประเทศ ภายใต้โครงการอินเทอร์เน็ตตำบลกับผู้ประกอบการส่งออก
ภายใต้กรมส่งเสริมการส่งออกขึ้น
"ขณะนี้เรามีกฎหมายที่มารองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการส่งออกหันมาใช้ระบบอินเทอร์เน็ต
เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายสินค้า
จากปัจจุบันคาดว่าสัดส่วนการส่งสินค้า ออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังน้อยกว่า
5% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ และตั้งเป้าภายใน 1 ปีนี้ จะต้องขึ้นเป็น
10%"
ในการผลักดันของกระทรวงพาณิชย์ระลอกใหม่ในครั้งนี้ นับเป็นความพยายามต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา
โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้กำหนดโครงการส่งเสริมการส่งออกในระบบอี-คอมเมิร์ซ
เพื่อเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ ในการผลักดันผู้ส่งออกไทยสามารถ ค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเข้าเป็นสมาชิกผ่านทาง
web provider ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรม
ส่งเสริมการส่งออกให้เป็นผู้รวบรวมสมาชิกในแต่ ละกลุ่มสนับสนุนเผยแพร่ไปยังผู้ซื้อทั่วทุกมุมโลก
web provider แต่ละรายจะมีหน้ารับผิดชอบผู้ส่งออกแตกต่างกันไป ประกอบด้วย
กลุ่มไทยแลนด์ดอทคอมรับผิดชอบผู้ส่งออกสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร กลุ่มพี
สแควร์เน็ตเวิร์ก รับผิดชอบผู้ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์
สิ่งพิมพ์ เครื่องหนัง รองเท้าและเครื่องกีฬา
กลุ่มวีไทยดอท รับผิดชอบผู้ส่งออกสินค้าสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
เคมีภัณฑ์และพลาสติกและผลิตภัณฑ์ กลุ่มอินเตอร์เน็ต เวนเจอร์ จะรับผิดชอบ
ผู้ส่งออกสินค้าในหมวดของขวัญ
ของตกแต่งบ้าน หัตถกรรม อุปกรณ์ก่อสร้าง และสินค้าในครัวเรือน กลุ่มสามารถ
อินเตอร์เน็ตรับผิดชอบผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยา
เครื่องสำอาง ของเด็กเล่น
และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ตามการผลักดันภายใต้กรมส่งเสริมการส่งออกนี้
ส่งผลให้ผู้ส่งออกหันมาใช้ระบบพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้ส่งออกที่มีธุรกรรมผ่านทางอี-เมลกว่า
7092 ราย และผู้ส่งออกที่ทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์กว่า 5403 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อยอยู่หากจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ที่อาศัยอี-คอมเมิร์ซกันอย่างแพร่หลายในประเทศ สร้าง"ไทยแลนด์แบรนดิ้ง"
ในโลกการค้าอี-คอมเมิร์ซ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ได้กล่าวว่าการผลักดันของกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างอี-คอมเมิร์ซเพื่อเป็นเวทีการค้ายุคใหม่
ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำหนดเป็นยุทธ-ศาสตร์เชิงรุก
ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าในโลกปัจจุบันและอนาคต
โดยนำการค้ามาผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
กับการซื้อขายสินค้า และบริการผ่านอินเทอร์เน็ตกับลูกค้าทั่วโลก
"เรื่องนี้เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องผลักดันผู้ส่งออก
พร้อมทั้งสร้าง ความเข้าใจกับภาคเอกชน รวมทั้งประสานงานกับกระทรวงอื่นให้เกิดความได้เปรียบในด้านการ
แข่งขันกับตลาดต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด" ภาพในโลกปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโ
ดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศมาก
เพราะมันคือการตัดตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ในอดีตไม่สามารถ
เข้าถึงผู้บริโภค สามารถนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้สามารถสอดแทรกตลาด
จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ด้วย "ผู้ส่งออกจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจในการมุ่งไปสู่การค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซพยายามสร้าง
ให้เกิดไทยแลนด์แบรนดิ้งในเวทีการค้ายุคใหม่ให้ได้
โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้นำในการจูง มือภาคเอกชนสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ เพราะหากวันนี้ภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวตามกระแสโลกใหม่ได้
จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปไม่ทันประเทศอื่น"