ยักษ์ใหญ่เครื่องสุขภัณฑ์ อเมริกันสแตนดาร์ด ประกาศแผนรุกตลาด เล็งยึดไทยฐานผลิต
ออกแบบ และพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมทั้งส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ทั่วโลก หลังจากที่บอสใหญ่จากอเมริกาเยือนไทยและเชื่อมั่นในศักยภาพ
ทั้งยังได้รับผลดีจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว เผยหากรัฐบาลช่วยเหลือด้านแผนลงทุน
พร้อมลุยจัดตั้งศูนย์ทันทีในไตรมาสสามปีนี้
นายศรชัย จาติกวณิช ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เครื่องสุขภัณฑ์
อเมริกันสแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์
อเมริกัน สแตนดาร์ด เปิดเผยว่า บริษัทแม่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบายที่จะใช้ไทย
เป็นฐานการผลิตและส่งออก , การออกแบบและพัฒนาคุณภาพเครื่องสุขภัณฑ์ เพื่อผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลก
ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะมีการลงทุนจัดตั้งศูนย์การผลิต
ส่งออก ออกแบบและพัฒนาคุณภาพสินค้าได้ในช่วงไตรมาสสามหรือไตรมาสสี่ปีนี้
ขณะนี้ บริษัทแม่และบริษัทในไทยได้ข้อสรุปในแผนการลงทุนแล้ว และมีความเป็นไปได้ถึง
80% ที่จะลงทุนในไทย และอยู่ระหว่างพิจารณาดูว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง
เช่น ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งโครงสร้างภาษีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์
หากรัฐบาลสร้างแรงจูงใจและให้ความช่วยเหลือในด้านการลงทุน บริษัทก็มีความพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนทันที
เพราะเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานการลงทุน ทั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์
รวมถึงการผลิตและส่งออกไปทั่วโลก
“เหตุผลสำคัญที่บริษัทแม่จะเลือกไทยเป็นฐานดังกล่าว เนื่องจากว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ประธานใหญ่จากอเมริกามาเยือนไทย และเห็นว่าแบรนด์อเมริกัน สแตนดาร์ด มีความแข็งแกร่งอย่างมากในไทยและภูมิภาคนี้
รวมทั้งตลาดก็มีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงฟื้นตัว
เริ่มมีการลงทุนในโครงการใหม่ ทำให้ความต้องการใช้เครื่องสุขภัณฑ์มีมากขึ้นด้วย
และหากบริษัทแม่ลงทุนในไทยจะช่วยสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในประเทศอื่น”นายศรชัยกล่าว
ปัจจุบันบริษัทแม่มีศูนย์ดังกล่าวอยู่แล้วตั้งอยู่ที่อเมริกา แต่ถ้าแผนการลงทุนในไทยประสบความสำเร็จ
บริษัทอาจจะพิจารณายกเลิกการใช้ฐานที่อเมริกา และใช้ไทยเป็นฐานแทน เนื่องจากการลงทุนในไทยจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างมาก
ทั้งด้านต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าการใช้แรงงานในอเมริกาถึง 3 เท่า นอกจากนี้
ตลาดในไทยและประเทศใกล้เคียงยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพอีกด้วย ดังนั้นการลงทุนในไทยจะช่วยสร้างผลตอบแทนกลับเข้าบริษัทได้มากขึ้น
นายศรชัย กล่าวอีกว่า หากไทยเป็นฐานการออกแบบ พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผลิตและส่งออก
บริษัทในไทยก็จะมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างมาก แต่ทั้งนี้การพิจารณาประเมินผลจากบริษัทแม่
ก็จะต้องพิจารณาจากยอดขายและการทำตลาดด้วย ซึ่งจะพิจารณาจากตัวเลขของยอดขายเป็นสำคัญ
ไม่ใช่ดูจากยอดผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น จากการผลิตในศูนย์ใหม่
ดังนั้น บริษัทจึงต้องเร่งขยายตลาดต่อไป ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
ด้านแผนการทำตลาดในประเทศนั้น มีแผนที่จะออกสินค้าในดีไซน์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งในช่วงนี้ ได้ออกผลิตภัณฑ์แบบเข้าชุด
ได้แก่ ชุดสุขภัณฑ์ที่มีโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำกับก๊อกน้ำ
รวม 6 ชุด ในราคาระดับกลางขึ้นไป
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฝารองนั่ง “คลีนซีท” (Clean Seat) ที่มีส่วนผสมของสาร
ไมโครแบน มีคุณสมบัติหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังและทางเดินอาหาร
ราคาขายตั้งแต่ 100-1,000 บาท ซึ่งถือเป็นรายแรกในวงการเครื่องสุขภัณฑ์ที่พัฒนาสินค้าประเภทดังกล่าว
โดยบริษัทจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว และเซ็นสัญญากับเจ้าของสารดังกล่าวนาน
3 ปี
ด้านการทำตลาด บริษัทยังจะใช้วิธีการสร้างความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์แบบเข้าชุดที่นำเสนอนั้น
ไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่คิด เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ตั้งราคาไว้ในระดับปานกลางขึ้นไป
ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับกลางสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เข้าชุดได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัทจะพยายามสร้างความเข้าใจให้ลูกค้าเห็นว่า ห้องน้ำไม่ใช่เพียงแค่ห้องน้ำ
แต่ผู้ใช้สามารถมีความสุขสบายและมีความสุขได้หากอยู่ในห้องน้ำ ด้วยการออกแบบห้องน้ำให้มีสีสันและนำกลิ่นและเสียงดนตรีเข้ามาอยู่ในห้องน้ำด้วย
รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องด้วย
ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น บริษัทจะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ เช่น อังกฤษ
อิตาลี และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ปัจจุบันบริษัทมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ญี่ปุ่น ฮ่องกง และกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ส่วนตลาดรองคือ พม่า อินเดีย และเอเชีย
ซึ่งตั้งเป้ายอดขายจากการส่งออกประมาณ 20%
สำหรับสภาพตลาดของเครื่องสุขภัณฑ์นั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลดีจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว
เห็นได้จากมีการลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรแห่งใหม่ รวมถึงบ้านเก่าที่ต้องปรับปรุงใหม่อีกจำนวนมาก
ทำให้ความต้องการใช้เครื่องสุขภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายศรชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2544 ว่า มีรายได้รวม 1,525
ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2543 จำนวน 85 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตขึ้น 6%
กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 47 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโต 50%