ตลาดหุ้นไทยใน พ.ศ. ใหม่นี้ยังคงผันผวนอย่างหนัก หุ้นแต่ละกลุ่มเกิดอาการซวนเซ
ไร้ข่าวดีที่จะเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ตามยังมีหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีความน่าสนใจลงทุน
เพราะเป็นหุ้นมีอนาคต แต่ก่อนที่จะเข้าไปเลือกซื้อ นักลงทุนต้องยึดคติ 'ตรวจสอบให้รอบคอบมั่นใจเสียก่อน'
ท่ามกลางผันผวนทางเศรษบกิจ ที่ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศขยายตัวลดลง
คณะอนุกรรมการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า ได้ทบทวนประมาณการตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วง
15 ปีข้างหน้าใหม่ โดยคิดจากประมาณการเดิมลดต่ำลงประมาณ 6% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
พร้อมชะลอโครงการโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกไปอย่างต่ำ 1 ปี
การปรับลดดังกล่าวนี้จึงเป็นผลให้มีการชะลอการประมูลโครงการไฟฟ้าเอกชน
(IPP) รอบ 2 ออกไปและมีการลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก 4,000 เมกะวัตต์ เหลือเพียง
2,300 เมกะวัตต์ หรือลดลง 42.50% นอกจากนี้ยังลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
(SPP) จากเดิม 3,200 เมกะวัตต์ เหลือ 2,000 เมกะวัตต์ หรือลดลง 37.50%
อย่างไรก็ตามการลดลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ามากนัก
เนื่องจากในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 กฟผ. มีนโยบายเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองเป็น
25% จากปัจจุบันที่สำรองอยู่ในระดับต่ำเพียง 15% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
สำหรับการเสื่อมค่าลงของเงินบาททำให้ผู้ประกอบการกลุ่มไฟฟ้าทั้ง IPP และ
SPP จะมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งต้นทุนพลังงานและต้นทุนทางการเงิน เพราะโดยปกติแล้วต้นทุนพลังงาน
(น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) จะถูกปรับตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถูกคำนวณอยู่ในสูตรราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าพลังงานไฟฟ้า
(Energy Payment) แต่ต้นทุนทางการเงินเป็นอัตราคงที่และไม่สามารถปรับตาม
จะถูกคำนวณอยู่ในค่าพลังงานไฟฟ้า (Capacity Payment) ซึ่งจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดังกล่าว
ปัจจุบัน กฟผ. ได้ข้อสรุปโดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มไฟฟ้าโดยรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากกว่า 27 บาท และจะมีการปรับราคาค่าไฟฟ้าให้ลอยตัวตามการลอยตัวของค่าเงินบาท
"โดยปกติแล้วผู้ประกอบการกลุ่มไฟฟ้าจะมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยประมาณ
25-26 บาท ดังนั้นจึงยังคงส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
แต่ผลกระทบเหล่านี้จะไม่ทำให้อัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) เปลี่ยนแปลงไปมากนัก"
นักวิเคราะห์กล่าว
อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อ IPP และ SPP เห็นได้ชัดเจน เนื่องจากโครงการทั้ง
2 เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าโครงการละ 5,000
ล้านบาท และหลายๆ โครงการต้องพึ่งเงินกู้จากต่างประเทศ ดังนั้นจากการเสื่อมค่าเงินบาทย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการมีหนี้เงินกู้เพิ่มขึ้น
และทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้น ซึ่งการมีหนี้สูงขึ้นทำให้มีความลำบากในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ประกอบกับโครงการผลิตไฟฟ้ามีระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างยาว และมีผลตอบแทนโครงการไม่สูงเพราะมีกำไรต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ
"ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง IPP และ SPP แล้ว IPP จะไม่มีปัญหาเพราะผลิตมาเท่าไหร่
กฟผ. รับซื้อหมด แต่ SPP ค่อนข้างมีความเสี่ยงซึ่งส่วนหนึ่งต้องไปหาตลาดเอง
ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ก็มีบ้างที่ภาคเอกชนจะลดการซื้อไฟฟ้าลง แต่ถ้าดูโดยรวมแล้วไม่น่าจะกระทบมากนัก"
นักวิเคราะห์กล่าว
กลุ่มพลังงานยังสดใส
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงตลาดหุ้นก็พลอยรับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตั้งแต่ต้นปี 2540 เป็นต้นมาโดยรวมแล้วดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 350-400 จุด และเหลือมูลค่าการซื้อขายเพียงวันละไม่กี่พันล้านบาท
ขณะเดียวกันราคาหุ้นของแต่ละบริษัทลดลงอย่างมาก ยิ่งเมื่อประกาศผลประกอบการออกมาขาดทุนเกือบทุกบริษัท
อย่างไรก็ตามยังมีหุ้นกลุ่มพลังงานที่ยังคงเป็นที่นิยมของนักลงทุนอยู่
โดยเฉพาะนักลงทุนชนิดกองทุน หรือนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้อนาคตยังสดใส
เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะธุรกิจที่ดำเนินการเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค
เป็นความต้องการของประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ถ่านหิน น้ำมัน
จากภาพรวมผลประกอบการหุ้นกลุ่มพลังงานในไตรมาส 3 ปี 2540 ปรากฏว่ามีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นประมาณ
40.47% และมีกำไรสุทธิก่อนบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 41.60%
แต่หลังจากหักผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนแล้วกำไรสุทธิลดลง 588.37%
อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2541 ทุกบริษัทจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง โดย บมจ. ปตท.
สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1,212.35 ล้านบาท บมจ.
เดอะโคเจนเนอเรชั่น (COCO) มีกำไรสุทธิ 632.86 ล้านบาท บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCOMP)
มีกำไรสุทธิ 1,501.88 ล้านบาท บมจ. บ้านปู (BANPU) มีกำไรสุทธิ 769.90 ล้านบาท
บมจ. ลานนา ลิกไนต์ (LANNA) มีกำไรสุทธิ 310.71 ล้านบาท และ บมจ. บางจาก
ปิโตรเลียม (BCP) มีกำไรสุทธิ 505.74 ล้านบาท
PTTEP-COCO
จากผลประกอบการของ PTTEP ไตรมาส 3 ปี 2540 ที่มีรายได้จากการขาย 1,808.31
ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2539 มีรายได้จากการขาย 1,399.89 ล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้น 29.18% โดยมีการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นประมาณ 7%
และยังคงเป็นการผลิตจากโครงการบงกชและโครงการสิริกิติ์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการรับรู้รายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์
ส่วนค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 3 ปี 2540 มีจำนวน 1,267.08 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี
2539 มีจำนวน 985.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.62% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงถึง
127.98% และต้นทุนด้านสำรวจที่เพิ่มขึ้น 89.11%
"เป็นผลมาจากการที่บริษัทต้องลงทุนและใช้เงินลงทุนในโครงการต่างๆ
มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องจัดหาเงินลงทุนเพื่อลงทุนในโครงการดังกล่าว
รวมทั้งภาระของดอกเบี้ยจ่ายเนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง" นักวิเคราะห์ให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม PTTEP สามารถบันทึกกำไรจากการดำเนินงานหลังจากได้เรียกคืนภาษีเพิ่มขึ้น
278.10% จาก 284.69 ล้านบาท ในงวดไตรมาส 3 ปี 2539 มาเป็น 1,076.43 ล้านบาท
ในงวดไตรมาส 3 ปี 2540 แต่บริษัทก็มีผลขาดทุนสุทธิ 1,711.61 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิต่อหุ้น
5.50 บาท เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวน 2,788.05
ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปี 2539 มีกำไรสุทธิ 284.69 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น
0.92 บาท
ปัจจุบัน PTTEP มีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากการมีเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน
134 ล้านเหรียญสหรัฐ และหุ้นกู้ทั้ง Yankee Bond จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
และ Samurai Bond จำนวน 197 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงคาดว่าในปี 2541 บริษัทจะมีดอกเบี้ยจ่ายประมาณ
1,003 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถบันทึกบางจำนวนไว้ในส่วนของสินทรัพย์ได้
ในกรณีที่โครงการยังไม่เริ่มดำเนินการผลิตและผลการออกหุ้นกู้ Samurai Bond
ทำให้เงินลงทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้นถึง 109% จากไตรมาส 2 ปี 2540 และสภาพคล่องในระยะสั้นดีขึ้น
เห็นได้จากอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (current ratio) ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.50
เท่า เป็น 3.53 เท่า อีกทั้งผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้สินต่อทุน
(D/E ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 2.24 เท่า จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 1.79 เท่า และมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเหลือ
4.15 เท่า ส่งผลกระทบต่อการจัดหาแหล่งเงินลงทุนในอนาคต
"คาดว่าการระดมเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการ B12/27, บงกช,
ยานาดา หรือ JDA ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,000 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้วิธีเพิ่มทุน"
นักวิเคราะห์กล่าว
ส่วนการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาวของประเทศไทย โดย Moody's
และ S&P ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับหนี้ระยะยาวของ PTTEP คาดว่าจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ PTTEP
มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยเพียง 7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่า
13%
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็ยังให้ความสนใจต่อการเข้าไปลงทุนในหุ้น PTTEP
อยู่เสมอ แม้ว่าโอกาสที่บริษัทจะเพิ่มทุนมีสูงซึ่งอาจจะกระทบทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง
แต่นั่นเป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น ดังนั้นถ้าราคาหุ้นปรับตัวลดลงย่อมที่จะยั่วน้ำลายของบรรดานักลงทุน
ด้านหุ้น COCO ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในระบบพลังงานร่วม (Cogeneration) นักวิเคราะห์ต่างเทคะแนนให้เป็นหุ้นที่น่าลงทุนเช่นกัน
แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2540 จะออกมาไม่ประทับใจเท่าไหร่ โดยมีรายได้จากการขาย
1,125.13 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปี 2539 มีรายได้จากการขาย 572.72
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.46% โดยมีต้นทุนขาย 821.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี
2539 จำนวน 53.01% และมีกำไรสุทธิก่อนบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 111.54
ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปี 2539 มีกำไรสุทธิจากส่วนนี้ 153.50 ล้านบาท
และหลังบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ทำให้ขาดทุนสุทธิ 1,679.68
ล้านบาท และขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 6.30 บาท ขณะที่งวดเดียวกันของปี 2539 มีกำไรสุทธิ
153.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.52 บาท
"ปัจจุบัน COCO มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ 10,277.80 ล้านบาท และมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงไว้บางส่วนประมาณ
75% ดังนั้นจากการคำนวณผลขาดทุนที่ระดับ 36.25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น
616.67 ล้านบาท" นักวิเคราะห์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือ และจะให้มีการปรับราคาค่าไฟฟ้าขึ้นประมาณ
30 สตางค์ จึงทำให้ผู้ประกอบการไฟฟ้ารวมถึง COCO ไม่มีผลกระทบมากนักจากค่าเงินบาทที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้
ส่วนสิ่งที่ COCO สร้างความอิจฉาให้กับบรรดาผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้แก่
การประกาศเพิ่มทุนท่ามกลางเศรษฐกิจขาลงจำนวน 2,810 ล้านบาท จากเดิม 3,000
ล้านบาท เป็น 5,810 ล้านบาท โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะนำไปขยายโครงการโรงไฟฟ้าระยะ
3 คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2542 จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้เกิด
Dillution effect ทำให้กำไรต่อหุ้นในปี 2541 ลดลงเหลือเพียง 0.85 บาท ขณะที่ปี
2540 มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 2.92 บาท ส่วนผลกระทบกับราคาหุ้นคาดว่าราคาหุ้นจะถูก
Dilute ลงไปที่ระดับประมาณ 31 บาท (คำนวณจากราคา 52 บาท) และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ
(NPV) จากเดิมอยู่ที่ 67.62 บาท/หุ้น ลดลงเหลือ 51.32 บาท/หุ้น
"การเพิ่มทุนของ COCO จะกระทบต่อระดับราคาหุ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น
และเรายังคงยืนยันให้ "ซื้อ" ทั้งนี้จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทผันผวน
ดังนั้นการกู้เงินโดยไม่สามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงได้ จึงไม่สามารถกระทำได้
เป็นเหตุให้เขาตัดสินใจใช้ทางเลือกอื่น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงการระยะ
3 ซึ่งจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่มีนาคม 2540 เป็นต้นไป" นักวิเคราะห์อธิบาย
ด้านหุ้น EGCOMP ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า จากการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส
3 ปี 2540 ออกมามีรายได้จากการขาย 1,869.48 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปี
2539 มีรายได้ส่วนนี้ 2,062.07 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพร้อมจ่ายไฟฟ้า
(Availability Factor) มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง
ส่วนต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 14.42% จาก 629.58 ล้านบาท เป็น 720.35 ล้านบาท สืบเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุง
ส่งผลให้กำไรขั้นต้น (Gross margin) ลดลงจาก 69.47% เหลือ 61.47% ขณะเดียวกันดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น
8.53% และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 29.80 ล้านบาท และขาดทุนจากการลงทุนในหน่วยลงทุนและหุ้นกู้
83.47 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง 48.96% จาก 576.21 ล้านบาท เหลือเพียง
294.09 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทเดียวในหุ้นกลุ่มนี้ที่มีกำไรในช่วงที่ผ่านมา
"ปัจจุบัน EGCOMP มีหนี้ต่างประเทศ 15,209 ล้านบาท และหลังจากลดค่าเงินบาททำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นเป็น
3,592 ล้านบาท แต่จากนโยบายบันทึกผลขาดทุนแบบ amortize ทำให้ไตรมาส 3 ปี
2540 จึงมีตัวเลขเข้ามาเล็กน้อย" อย่างไรก็ตาม การบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
จะส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทลดลงเรื่อยๆ โดยดูได้จากอัตราส่วนหมุนเวียนที่ลดลงจาก
7.03 เท่า เหลือ 4.88 เท่า ขณะที่ D/E ratio เพิ่มขึ้นจาก 1.73 เท่าเป็น
2.58 เท่า
"ดังนั้นถ้าระดับราคาหุ้นยังไม่ต่ำกว่า 49 บาท หุ้นตัวนี้จึงไม่น่าเข้าไปลงทุน"
อีกทั้งในอนาคตหลังจากรายได้จากโรงไฟฟ้าขนอมเริ่มเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
นั่นจะทำให้ EGCOMP จะไม่มีรายได้ใหม่ๆ เข้ามาอีกต่อไป ยกเว้นจาก SPP ในปีนี้แต่ก็มีเพียงเล็กน้อย
จึงคาดว่าต่อไปการเติบโตของรายได้จะไม่มีหรืออาจจะลดลง ส่วนการลงทุนในโครงการต่างๆ ก็ชะลอออกไปบ้าง ขณะที่โครงการ IPP ซึ่งเป็นตัวที่จะดึงรายได้ให้ดีขึ้นก็ยังไม่เกิด
"ทำให้หุ้นไม่มีความน่าสนใจเลย" นักวิเคราะห์กล่าว
BANPU-LANNA-BCP รอลุ้นหลังฟ้าใส
แม้ว่า BANPU จะได้รับผลบุญจากการถือหุ้นใหญ่ใน COCO ก็ตาม แต่ธุรกิจหลักของ
BANPU คือ ทำเหมืองถ่านหิน และปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวซบเซาไปตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อต้มไอน้ำ
ปัจจุบันอัตราการเติบโตแทบจะไม่มี ดังนั้น BANPU จึงรับผลกระทบไปเต็มๆ
จากผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2540 (สิ้นสุด 30 กันยายน) มีรายได้จากการขาย
1,946.38 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปี 2539 มีรายได้ส่วนนี้ 1,533.47 ล้านบาท
เพิ่มขึ้น 26.92% โดยเป็นการรับรู้รายได้จากถ่านหิน/ลิกไนต์ และจากวิศวกรรมบริการประมาณ
40% และรายได้จากสาธารณูปการประมาณ 60% ส่วนต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 27.68% จาก
1,154.76 ล้านบาท เป็น 1,474.43 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้น (Gross margin)
เหลือประมาณ 24.2% ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการขายและบริการและดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น
82.59% และ 81.38% ตามลำดับ เป็นผลให้มีกำไรก่อนบันทึกจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง
13.54%
นอกจากนี้บริษัทได้บันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแบบตัดจ่ายเป็นเวลา
5 ปี ไตรมาสละ 59 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 1,182 ล้านบาท ในขณะที่ COCO บันทึกการขาดทุนแบบครั้งเดียว
ทำให้ BANPU ต้องบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น 1,856 ล้านบาท
จึงส่งผลให้มีผลขาดทุนสิทธิในไตรมาส 1 ปี 2540 ทั้งสิ้น 902.84 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น
17.23 บาท
"จากผลประกอบการแสดงให้เห็นถึงอัตราผลตอบแทนจากธุรกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด
และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อ เนื่องจากความต้องการถ่านหินลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ"
นักวิเคราะห์กล่าว
ทางด้าน LANNA เป็นบริษัทที่ทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ก็เป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ซบเซาตามเศรษฐกิจ
ดูได้จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2540 มีรายได้จากการขายลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปี
2539 และลดลง 28% จากไตรมาส 2 ปี 2540 โดยเป็นรายได้จากถ่านหิน/ลิกไนต์ 98%
ของรายได้ทั้งหมด อีก 2% เป็นรายได้จากหินแกรนิต และถ้าดูอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์
(ROA) ของธุรกิจถ่านหินจะลดลงเหลือ 65.6% เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่มีสูงถึง
91% สาเหตุมาจากความต้องการถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการขายได้
ส่วนต้นทุนขายลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปี 2539 และมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง
12.7% รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 183 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี
2540 LANNA ขาดทุนสุทธิ 108.7 ล้านบาท
"ผลประกอบการไตรมาส 3 เป็นเครื่องยืนยันถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ลดลงมาก
ความต้องการปูนซีเมนต์ขยายตัวต่ำทำให้ความต้องการถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลงตามไปด้วย"
ทั้งนี้ LANNA มีลูกค้ารายใหญ่เป็นปูนซีเมนต์นครหลวง (เป็นผู้ถือหุ้นใน LANNA
ด้วย) โดยขายให้เป็นสัดส่วนสูงถึง 70%, 20% ขายให้ กฟผ. และอีก 10% ขายให้อุตสาหกรรมกระดาษ
ด้านการลงทุนของบริษัทนั้นล่าสุดได้เลื่อนการผลิตลิกไนต์ที่ประเทศอินโดนีเซียออกไป
ส่วนโครงการ SPP จะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาส 4 ปี 2541 อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนจากโครงการจะลดลงจากเดิมเล็กน้อย
เป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น
"หุ้นตัวนี้จะดึงดูดนักลงทุนได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในช่วงขาขึ้น
เราจึงแนะนำให้รอเศรษฐกิจฟื้นก่อนที่จะเข้าไปลงทุน" นักวิเคราะห์กล่าว
สำหรับ BCP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งจากการแข่งขัน ความผันผวนของราคาและต้นทุนสูงขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา BCP
ยังพอที่จะแข่งขันได้ เพราะความต้องการน้ำมันในประเทศยังมีอยู่มาก แต่หลังจากมีโรงกลั่นเพิ่มขึ้น
ความต้องการจึงล้นตลาด ทำให้บริษัทต้องส่งออกน้ำมัน แต่ margin อยู่ที่ระดับเพียง
2-3% เท่านั้น
จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2540 BCP มีรายได้จากการขาย 9,491.88 ล้านบาท
ขณะที่งวดเดียวกันปี 2539 มีรายได้ส่วนนี้ 6,498.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.07%
เป็นผลมาจากการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มจาก 163 แห่งเป็น 1,133 แห่ง ขณะที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น
35% และมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 29% และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 5% เป็น 6%
รวมทั้งราคาขายน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12% จาก 8.84 บาท เป็น 9.96 บาท
ด้านต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 39.49% จาก 6,022.91 ล้านบาท เป็น 8,401.89 ล้านบาท
มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 129% และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 11%
ขณะเดียวกันดอกเบี้ยจ่ายลดลง 44.76% เนื่องจากการคืนเงินกู้บางส่วนทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น
237% จาก 224.72 ล้านบาท เป็น 757.32 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
2,970.81 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,214.17 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น
4.24 บาท
นักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องกันว่าหุ้น BCP ไม่น่าเข้าไปลงทุน โดยพิจารณาจากผลประกอบการในอนาคตที่คาดว่าจะลดลง
เนื่องจากภาวะแข่งขันสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของธุรกิจน้ำมัน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความผันผวนของค่าเงินบาท
ซึ่งบริษัทต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันลง เป็นผลให้ไม่เกิดการประหยัดต่อขนาดอีกต่อไป
(Economy of Scale)
นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทยังคงเป็นปัญหา และเป็นผลต่อเนื่องไปถึงการขยายการลงทุนในอนาคต
เช่น การลงทุนในโรงไฟฟ้า SPP และการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมันด้วยเงินลงทุน
5,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะต้องถูกชะลอออกไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองหุ้นกลุ่มพลังงานโดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นที่หมายปองของบรรดานักลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
แต่จากสภาพตลาดหุ้นโดยรวมในปัจจุบัน ที่อยู่ในช่วงขาลงย่อมส่งผลกระทบต่อนักลงทุนพอสมควร
นักวิเคราะห์ได้แนะนำว่า สถานการณ์เช่นนี้ควรดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทให้ดี
ถ้าดูไม่ดีแล้วอาจจะติดเบ็ดนักฉวยโอกาสก็ได้