Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2541
คนกับสัตว์เลี้ยงยุคเศรษฐกิจซบ รพ.สัตว์ก็ยอดตกเหมือนกัน             
 


   
search resources

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ




ทัศนคติที่ดีและความผูกพันมากขึ้น ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลรักษาสัตว์เติบโตขึ้นมาก แต่กระนั้นธุรกิจนี้ก็อาจไม่รอดพ้นผลกระทบในเชิงลบ จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ได้ เมื่อคนมีรายได้ลดลง เม็ดเงินที่จะเจียดแบ่งมาดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงก็หดลดลงไปด้วย กิจการโรงพยาบาลสัตว์ก็ต้องประคองตัวให้รอดเหมือนธุรกิจอื่นๆ ด้วยการหันมาเน้นฐานลูกค้าเดิม และหยุดการขยายกิจการเป็นการชั่วคราว เพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

ครอบครัวเราเพิ่งได้สมาชิกใหม่เข้ามา และกลายเป็นขวัญใจของทุกคนตั้งแต่แรกเห็น มันฉลาด แสนรู้ และขี้ประจบเอาการหลานชายตัวแสบตั้งชื่อทันทีว่า "เจ้ากิ๊ฟ" พร้อมกับอธิบายอย่างฉาดฉานว่าเพราะมันเป็นของขวัญปีใหม่ที่ถูกใจที่สุดในโลก จากนั้นเจ้ากิ๊ฟก็กลายเป็นประหนึ่งองครักษ์ที่ติดตามตัวเจ้านายตัวน้อยอยู่ไม่ห่าง ยกเว้นยามที่เขาไปโรงเรียน

ภาพความสัมพันธ์ของคนกับสัตว์เลี้ยงในทุกวันนี้แตกต่างไปจากเดิมมาก จากที่มนุษย์เคยเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน เลี้ยงแมวไว้จับหนู เดี๋ยวนี้พวกมันกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ได้รับความเอาใจใส่ดูแลมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้รับความรักจากมนุษย์มากขึ้น ถึงขนาดที่เคยมีบทเพลงประกาศความรักว่า "Love me love my dog" - รักฉันรักหมาของฉันด้วย

ที่ประเทศอังกฤษ มีอาชีพหนึ่งที่นักเรียนไทยหลายคนใฝ่ฝันที่จะทำขณะว่างจากการศึกษาก็คือการ "จูงหมาไปเดินเล่น" เพราะระหว่างที่พาสุนัขแสนสวยที่เจ้าของบำรุงเลี้ยงอย่างดีเหล่านี้ ไปเดินออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ผู้คนที่พบเห็นมักจะมองมาด้วยแววตาชื่นชม เขาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครคือเจ้าของหมาตัวจริง คนจูงก็ยืดอกรับกันไปเต็มๆ

"โก้อย่าบอกใครเลยพี่ แถมบางทีผมยังใช้เจ้าพวกนี้เป็นหัวข้อสนทนาได้ ในยามที่ต้องการจะรู้จักแหม่มสาวสักคน ที่จูงหมามาเดินเล่นเหมือนกัน" รุ่นน้องจอมกะล่อนอรรถาธิบาย แม้อาชีพนี้จะมีข้อดีมากมาย คือได้ยืดแล้วยังได้ตังค์ใช้ซะอีก แต่ข้อเสียที่รุนแรงของมันก็คือ อังกฤษมีกฎหมายไว้อย่างชัดเจนว่า หากหมาถ่ายในที่สาธารณะ เจ้าของจะต้องรับผิดชอบทำความสะอาดให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะถูกปรับกันอ่วมอรทัย เรื่องเหม็นๆ อย่างนี้ทำเอานักเรียนไทยบางคนก็รับไม่ได้ จนถึงขั้นโบกมือลาขอกลับไปล้างจาน หั่นผัก รับออร์เดอร์ ในร้านอาหารไทยอย่างเดิมจะสบายจมูกกว่า

แม้สังคมไทยยังไม่ถึงขั้นสังคมในยุโรป หรืออเมริกา คนไทยยังไม่ใส่ใจที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงมากมายขนาดนั้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และนั่นคือจุดหนึ่งที่ทำให้ น.สพ. บุญชู ทองเจริญพูลพร เปลี่ยนรูปแบบจากคลินิกสัตวแพทย์เล็กๆ มาเป็นโรงพยาบาลสัตว์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 3 ปีก่อน โดยใช้ชื่อตามสถานที่ตั้งว่าโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ "เราทำคลินิกมา 12-13 ปี ก็มองว่าธุรกิจนี้ไปได้ เพราะคนมีรายได้มากขึ้น สามารถจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น และทัศนคติของคนก็เปลี่ยนไปจากที่เลี้ยงสัตว์ไว้เฝ้าบ้าน ก็เป็นเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน มีความผูกพันกัน สัตว์เลี้ยงมันไม่เคยเสแสร้ง"

ในต่างประเทศโรงพยาบาลสัตว์จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก และกระจายกันออกไปหรืออยู่ตามมหาวิทยาลัย ในเมืองไทยก็มีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีจุดประสงค์คือให้บริการและเพื่อการศึกษาของนิสิต แต่จะมีข้อจำกัดตรงที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้คิดค่าบริการถูกคนก็ไปใช้มาก จึงไม่สามารถให้บริการได้สะดวกรวดเร็ว โรงพยาบาลเอกชนก็จะเข้ามาทดแทนในส่วนนี้

ด้วยทำเลที่ตั้งในซอยทองหล่อ ย่านคนมีอันจะกิน ทำให้โรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้มีลูกค้าถึง 7,000 กว่าราย ประกอบกับการให้บริการที่ดี มีอุปกรณ์ตรวจรักษาครบ และเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าประมาณ 50% จึงแวะเวียนพาสัตว์เลี้ยงของตนมาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ "เราพยายามสร้างจุดต่างกับคลินิก โดยจะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมกว่า รวมทั้งทีมงานเราก็พยายามสร้างทีมงานสัตวแพทย์เฉพาะทางขึ้นมา โดยไปเชิญศาสตราจารย์เฉพาะโรค เช่น โรคตา โรคไต โรคผิวหนัง ของสัตว์เลี้ยงมาประจำที่นี่ และเราเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายหรอก แต่ก็เป็นการบริการสังคม และยังมีโอกาสได้ลูกค้าจากที่อื่น ซึ่งเขาไปที่ไหนก็ปิดหมดแล้ว ก็จะมาหาเรา ถ้าเป็นเคสยากๆ เขาก็จะเห็นว่าเรามีเครื่องมือพร้อม ต่อไปมีเคสยากๆ อีก เขาก็จะมาหาเรา"

3 ปีที่ผ่านมายอดรายได้จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 12 ล้านบาทในปีแรกเป็น 20 ล้านบาทในปีถัดมา และ 26 ล้านบาทเมื่อปีก่อน อย่างไรก็ดีธุรกิจนี้ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปีที่ผ่านมายอดรายได้ในครึ่งปีหลังตกลงกว่า 20% สำหรับปีนี้ น.สพ. บุญชูคาดว่ารายได้อาจจะลดลง หรือถ้าจะขยายตัวได้ก็คงจะไม่เกิน 10% ซึ่งหมายถึงว่าระยะเวลาในการคืนทุนของธุรกิจนี้จะต้องเลื่อนออกไปอีก แม้ว่าทุกวันนี้ธุรกิจจะสามารถเลี้ยงตัวได้และมีกำไรพอสมควรแล้วก็ตาม

เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อรายได้ของผู้คนน้อยลง ทุกคนก็พยายามที่จะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น การเสริมสวย ตัดขน ตัดเล็บสัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งการตรวจสุขภาพประจำปีก็ลดน้อยลงไปมาก ทุกวันนี้สัตว์เลี้ยงที่มาถึงโรงพยาบาล มักมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องรักษาแล้วแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อตัวเองยังเอาตัวไม่ค่อยรอดอยู่แล้ว จะให้มาเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงมากมายเหมือนเดิม คงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตามความรักความผูกพันของคนต่อสัตว์เลี้ยงก็ยังตัดไม่ขาด เมื่อมันเจ็บป่วยมาเจ้าของก็พร้อมที่จะจ่ายเงินจำนวนนับพันนับหมื่นเพื่อมันได้ นอกเสียจากจ่ายไม่ไหวจริงๆ ซึ่งก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นมากขึ้นคือลูกค้าไม่มีเงินจ่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลก็พยายามแก้ปัญหา โดยมีการแจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาก่อน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะรับไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ควรพาไปโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งถูกกว่า แต่หากรับไหวก็จะเก็บเงินค่ามัดจำก่อน หรือพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป

"บางคนมาถึงบอกว่าให้รักษาเต็มที่เลยนะ เราก็รักษาไปตามขั้นตอนซึ่งพอเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง สุดท้ายเขาก็มีปัญหาจะไม่จ่าย เราก็เลยต้องพยายามชี้แจงก่อนแต่ก็ต้องระวังเรื่องความเข้าใจผิดเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวเขาจะหาว่าเราไปดูถูกเขาอีก" น.สพ. บุญชู กล่าว

สำหรับค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงนั้น เคสที่ใหญ่จริงๆ อย่างมากจะไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเดิมทีนั้น ถ้ารักษาสุนัขตัวหนึ่งราคา 5,000 บาทก็ถือว่าสูงแล้ว แต่ระยะหลังๆ นี้ เจ้าของส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะจ่ายกัน เพราะทัศนคติของคนที่มีต่อสัตว์เลี้ยงดีขึ้น

กระนั้นก็ตามผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์ตามแฟชั่น โดยไม่ได้มีความรักความผูกพันกับมันอย่างจริงจังก็ยังมีอยู่มาก น.สพ. บุญชู เล่าว่า "ลูกค้าบางคนจะมองสัตว์เป็นเหมือนสิ่งของ เช่น ซื้อมา 5,000 บาท ถ้าจะต้องรักษามันโดยมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาท เขาก็จะไม่ยอมจ่ายแล้ว เพราะมองว่าซื้อใหม่ยังถูกกว่า"

สิ่งนี้เองทำให้ น.สพ. บุญชู ไม่มีนโยบายที่จะเพาะพันธุ์สัตว์ขาย เขาไม่ต้องการให้คนมองว่าสัตว์เลี้ยงคือสินค้า ซึ่งจะเป็นคนละจุดมุ่งหมายกับธุรกิจโรงพยาบาลที่ทำอยู่ ธุรกิจนี้อยู่ได้เพราะคนมองว่าสัตว์เลี้ยงคือเพื่อนเล่น เป็นสิ่งมีชีวิตเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว และมีความรักความผูกพันกัน

"ถ้าจะขยายธุรกิจเรามีแผนจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับสัตว์มากกว่า เช่น แชมพู น้ำยาเช็ดหู อาหารเสริม ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่ผู้ผลิตทั่วไปทำไม่ได้ เพราะถ้าเราไปทำสินค้าทั่วไปจะคู่แข่งเยอะ และเราคงสู้เขาไม่ได้ ฉะนั้นทำในสิ่งที่เราถนัดดีกว่า"

แผนการขยายธุรกิจดังกล่าวได้มีการศึกษาและเตรียมการแล้ว มีโนว์ฮาว และการตลาดก็พร้อมแล้ว เหลือแต่การผลิตเท่านั้น คาดว่าคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นก็มีแผนที่จะขยายสาขาโรงพยาบาลออกไปยังชานเมือง และทำโรงพยาบาลเป็นแนวราบมากขึ้น มีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ดีแผนนี้คงยังไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีนี้เพราะต้องรอดูภาวะเศรษฐกิจก่อน

"เดิมเราคาดว่าภายใน 4-5 ปีที่นี่จะรับไม่ไหวแล้ว เพราะเต็มกำลัง เราก็จะขยายสาขาออกไป แต่พอเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ยอดขายก็ลดลงไปมาก ก็คงต้องรอดูกันไปก่อน"

ในระหว่างนี้ น.สพ. บุญชู จึงต้องงัดตำราการตลาดออกมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งเดิมทีแต่ละปีโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อจะมีการเชิญชวน ให้ลูกค้าพาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนในราคาพิเศษในช่วงเดือนธันวาคม แต่สำหรับปีนี้ในช่วงเดียวกัน โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีโปรแกรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงครึ่งราคา ลดค่าบริการต่างๆ 10% เช่น ค่าอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เอกซเรย์ อุลตร้าซาวด์ ยกเว้นค่าแพทย์ อาหาร และสินค้าสัตว์เลี้ยง รวมถึงการร่วมมือกับซัปพลายเออร์จัดขายสินค้าราคาพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีการทำบัตรสมาชิกสำหรับลูกค้าเป็นเวลา 1 ปี (2541) โดยจะลดค่าบริการต่างๆ ให้ในอัตรา 5% เพื่อเป็นการกระตุ้นลูกค้าเก่าให้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

น.สพ. บุญชู มีแผนที่จะดึงลูกค้าที่ไม่ค่อยมาใช้บริการให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย "เท่าที่เราวิเคราะห์ออกมา เรามีฐานลูกค้าประมาณ 7,000 กว่าราย ซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งไม่ค่อยมาใช้บริการนัก เพราะบางครั้งก็เป็นลูกค้าจากที่อื่นมาใช้บริการชั่วคราวเนื่องจากเรามีอุปกรณ์ครบ เราจึงทำโครงการบัตรสมาชิกขึ้นมาเพื่อกระตุ้นคนเหล่านี้ด้วย ถ้าทุกรายมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องเพียงปีละ 3 ครั้งต่อราย เราก็เต็มแล้ว ทำกันไม่ทัน"

ปัจจุบันรายได้ของโรงพยาบาลมาจากค่ารักษาประมาณ 70% การเสริมสวยและขายสินค้าสัตว์เลี้ยงอีก 30% โดยสัตว์เลี้ยงที่เข้ารับการบริการส่วนใหญ่เป็นสุนัข 70% แมว 20% และอื่นๆ อีก 10%

น.สพ. บุญชู เชื่อว่าปีนี้ยอดขายคงจะปรับตัวลงไปอีกตามรายได้ของลูกค้า เพราะธุรกิจนี้จะดีได้ต่อเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น สามารถจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น และที่สำคัญคือทัศนคติของคนที่มีต่อสัตว์เลี้ยงดีขึ้น มองมันเป็นสิ่งมีชีวิตย่อมมีโอกาสเจ็บป่วยได้ และมีความรักความผูกพันกับมันเหมือนเป็นสมาชิกของครอบครัว

อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะทำได้ในยามนี้ก็คือการพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ พร้อมๆ กับหาลูกค้าใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งไม่แตกต่างไปจากธุรกิจอื่นๆ ในยามนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us