ภาคการส่งออกในยามนี้จะมีบทบาทเป็น "ฮีโร่ขี่ม้าขาว" มาช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจไทยในทศวรรษนี้
เหมือนเช่นที่เคยมีบทบาทในทศวรรษที่ผ่านมาได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่หาคำตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก
แม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากการลดค่าเงินบาทในรอบนี้อย่างมาก
แต่โครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเดิม บวกกับปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่แผ่ขยายไปยังทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
ทำให้ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งผนึกกำลังทุกวิถีทางช่วยผู้ส่งออก โดยมุ่งหวังโกยรายได้สกุลเงินต่างประเทศ
ดูเหมือนว่าทุกยุคทุกสมัยของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะอยู่ในภาวะผงกหัวขึ้น หรือกำลังดิ่งลงเหวเฉกเช่นปัจจุบัน
ภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยก็จะเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยประเทศชาติทุกครั้งไป
แต่วิกฤติการณ์ในวันนี้ "การส่งออก" จะทำหน้าที่พระเอกได้มากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องรวมพลังกันพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย
ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในยุคใหม่ได้ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ดร. นิตย์ จันทรมังคละศรี รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI)
ได้เสนอ 3 มาตรการหลักที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการแรกคือ มาตรการฉุกเฉิน สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของการผลิต
ของทั้งภาคอุตสาหกรรมการส่งออก เพื่อให้ผู้ดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้
นอกจากนั้น รัฐกับเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปัจจุบันเช่น
เรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวดเร็วทัดเทียมประเทศคู่แข่ง การพัฒนาองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจของไทยได้มาตรฐาน ISO มากขึ้น รวมทั้งต้องร่วมมือกันวางกลยุทธ์ในการส่งออกเชิงรุกในตอนนี้ให้ได้
เพื่อให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถเข้าไปช่วงชิงตลาดอื่นให้ได้มากขึ้น
มาตรการระยะต่อไปเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการฉุกเฉิน
เพียงแต่ไม่เร่งด่วนเท่า ซึ่งในระยะต่อไปนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกจะต้องได้รับการพัฒนา
ให้มีความเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเข้าใจในเงื่อนไขกติกาใหม่ของการค้าและการผลิต
ขณะเดียวกันผู้ส่งออกของไทยต้องมองภาพของตลาดรวมทั้งโลก เพื่อจะเข้าไปช่วงชิงและแข่งขันให้ได้มากกว่าเดิมที่มองหาเพียงตลาดเล็กเท่านั้น
มาตรการในระยะนี้นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวแล้ว ภาครัฐเองก็ต้องปรับด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนุบสนุนการส่งออก เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
มิฉะนั้นภาครัฐก็จะกลายเป็นตัวถ่วงแก่ภาคเอกชน
มาตรการสุดท้ายคือ มาตรการระยะยาวภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องมีการปรับโครงสร้าง
เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต
"ประเทศไทยต้องพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางที่อาศัยข้อได้เปรียบทางทรัพยากร
เพื่อการพัฒนาไปสู่ข้อได้เปรียบทางปัญญา คือต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงขึ้น
พร้อมกันนั้นก็ต้องพัฒนาคนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหากเราหยุดชะงักในการพัฒนาคน
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและการสร้างความเข้มแข็งในการผลิตก็จะไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ประเทศอื่นเขาแซงเราไปหมดแล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุน
ให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาช่วยพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรของเราให้มากขึ้น"
ดร. นิตย์ ขยายความ
สำหรับระยะเวลาของการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่รัฐและเอกชนควรจะทำนั้น ดร.
นิตย์กล่าวว่า
"เราต้องฉกฉวยโอกาสที่เราเข้าขั้นโคม่านี้ เร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงโดยเร็วและถ้าเราสามารถฟื้นได้
เราก็ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นท่ามกลางกระแสการค้าที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้
เราจะต้องมีแผนงานที่เป็นระบบไม่ใช่แผนฉาบฉวย และต้องทำอย่างจริงจัง ต้องสร้างคนให้เปลี่ยนจากพ่อค้ามาเป็นนักธุรกิจ
นักอุตสาหกรรมยุคใหม่ และรัฐเองก็ต้องมีการปรับตัวอย่างมโหฬารด้วย ซึ่งมาตรการฉุกเฉินนั้นผมให้เวลาไม่เกิน
6 เดือนนับจากนี้ที่เราจะต้องทำให้ได้
ส่วนแผนระยะต่อไป เราก็ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งอาจจะไปบรรลุผลในอีก
2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการปรับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ
รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เป็นนักธุรกิจต้องใช้เวลานานหลายปี
และแผนระยะยาว ซึ่งคือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบเพื่อสร้างรากฐานการแข่งขันในระยะยาว
ก็ต้องเริ่มคิดเริ่มทำตั้งแต่ปัจจุบัน ซึ่งกว่าจะเห็นผลจริงจังก็อีกประมาณ
3-5 ปี หรือภายใน 3-5 ปีนี้อาจจะไม่เห็นผลอะไรเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจริงจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แต่ถ้าภายใน 5 ปีข้างหน้านี้เรายังไม่ได้ทำในสิ่งสุดท้ายที่ผมพูด ประเทศไทยก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว
เพราะประเทศอื่นเขามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และเขาก็พร้อมที่จะเหยียบข้ามเราไป"
"การส่งออก" ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทย
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) ได้เสนอสัญญาณภาวะถดถอยของภาคการผลิตและการลงทุนของไทย
ซึ่งส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 โดยพิจารณาจากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ
6 ปี อีกทั้งดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์การขยายตัว
ซึ่งคาดว่าจะยังคงตกต่ำต่อไปอีกจนอยู่ในระดับต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปี
2541 ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เคยเกิดมาแล้วในช่วงปี 2528-2529 ทำให้การลงทุนโดยรวมลดลง
นอกจากนั้นในส่วนของภาครัฐบาลก็มีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายในปี' 41 ลงเป็นจำนวนมาก
รวมเป็นวงเงินที่ถูกตัดทั้งสิ้น 203,080 ล้านบาท หรือภาครัฐจะเหลืองบประมาณรายจ่ายในปี'
41 เพียง 805,000 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขของ IMF
ที่กำหนดให้งบประมาณในปี' 41 เกินดุลร้อยละ 1 ของ GDP ซึ่งกรณีนี้จะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนหดตัวไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การส่งออกจึงเป็นความหวังเดียวที่จะเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้อยู่รอดได้ในเวลานี้
โดยอาศัยความได้เปรียบจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
"ก่อนการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว หลายคนบอกว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก
เพราะเรายังนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ แต่หากพิจารณากันจริงๆ แล้วมีหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้แก่
อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและผลิตสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ตัวเลขอัตราการเติบโตของการส่งออกสูงขึ้น
และจะเห็นผลได้ชัดเจนประมาณ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า ตอนที่เราลดค่าเงินบาทเมื่อปี
1984 ต้องใช้เวลาทั้ง 3 ไตรมาสกว่าที่จะเห็นผลประโยชน์อย่างชัดเจน"
ดร. ธีระ อัชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ IFCT ชี้แจง
นอกจากนี้เขายังเสนอผลของการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่เกิดจากการที่ค่าเงินอ่อนตัวต่ออุตสาหกรรมของไทยด้วย
PROFIT MARGIN INDEX ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ถึงผลต่างของผลประโยชน์ที่ได้จากการส่งออกกับต้นทุนจากการขายในประเทศ
พบว่า PROFIT MARGIN ในหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แม้ว่าโครงสร้างการผลิตของไทยในช่วงที่ผ่านมา
ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงอยู่
อุตสาหกรรมที่มี PROFIT MARGIN สูงขึ้นอย่างชัดเจนได้แก่ สินค้าส่งออกหมวด
ยางพารา สับปะรดกระป๋อง และของเล่นพลาสติก โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 30%
ส่วนสินค้าในหมวดเครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ พัดลม เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
รองเท้าและชิ้นส่วนอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15-30%
ขณะที่หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตลับลูกปืนอิเล็กทรอนิกส์ แผ่นวงจรพิมพ์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน
และแผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นประมาณ 10-14%
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี' 40 นี้ ผลของการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อตัวเลขของการส่งออกที่ชัดเจนขึ้น
โดยคาดว่าการส่งออกโดยเฉลี่ยทั้งปี' 0 นี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4.1%
(ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 25.4% (ในรูปเงินบาท) ซึ่งตัวเลขส่งออกในช่วง
9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2% (ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ
14% (ในรูปบาท) และคาดว่าประมาณการการขยายตัวของการส่งออกในช่วงปี' 41 น่าจะอยู่ในระดับประมาณ
15% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 39% ในรูปบาท ขณะที่การนำเข้าโดยรวมลดลงประมาณ
8% และเพิ่มขึ้นประมาณ 5.3% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ในปี' 40 และปี' 41 ตามลำดับ
หรือในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้นประมาณ 9.5% และ 28.9% ในปี' 40 และปี' 41
ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากร้อยละ 8.1 ของ GDP เป็นร้อยละ
3.6 และ 1.2 ในปี' 40 และปี' 41 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามที่ IMF ได้กำหนดว่า
ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี' 41 จะต้องไม่เกิน 3% ของ GDP
"ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะบูมสุดขีดโดยเฉพาะในรูปของเงินบาท
แต่ก็จะทำให้ตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้นเอง
เนื่องจากในช่วงก่อนเดือนกรกฎาคมคือ ก่อนที่จะมีการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว
ตัวเลขการส่งออกของเราอยู่ในข่ายโคม่าทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นตลอดทั้งปี
ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเราคงอยู่ที่ประมาณ 9-10% แน่นอน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ทาง
IMF กำหนดไว้อีก" ดร. ธีระกล่าว
กระนั้นก็ตาม ดร. ธีระได้ให้ความเห็นว่า การผลักดันการส่งออก โดยอาศัยเพียงข้อได้เปรียบจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียวนั้น
อาจจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่นัก เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการผลิตและภาวะการแข่งขันในต่างประเทศ
เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงของการปรับตัว ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
เพื่อหลีกหนีคู่แข่งที่กำลังไล่ตามมาติดๆ ซึ่งประเทศเหล่านั้นมีค่าแรงที่ถูกกว่าแรงงานไทย
ยิ่งกว่านั้นการที่ตลาดหลักของสินค้าส่งออกของไทยอยู่ในแถบอาเซียน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในขาลงเช่นเดียวกัน
จึงทำให้กำลังซื้อในประเทศเหล่านี้ลดน้อยลงไปด้วย
ดังนั้น การขยายตัวของการส่งออกไทยโดยรวม ในระยะสั้นนี้น่าจะอยู่ในระดับปานกลางไม่สูงเหมือนดังเช่น
10 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในช่วงร้อยละ 20-30 (ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) และในระยะยาวสินค้าส่งออกหลักของไทยก็ยังคงเผชิญอยู่กับข้อจำกัดที่ควรเร่งแก้ไข
เช่น ประสิทธิภาพในการผลิต คุณภาพแรงงาน ความสามารถในการเสริมสร้างตลาด ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
หรือแม้แต่ระบบการเมือง ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญและจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถยืนหยัดสู้กับคู่แข่งในตลาดโลกได้
"แน่นอน การส่งออกเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจเราไม่ตาย แต่ต่างประเทศเขาไม่สนใจหรอกว่าตัวเลขส่งออกเราจะดีแค่ไหน
หรือดุลการค้าเราจะเป็นอย่างไร ตอนนี้เขาสนใจแต่ว่า เขาเอาเงินมาให้เรากู้แล้วจะไม่ได้คืน
ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว เมื่อความเชื่อมั่นในการใช้หนี้ของไทยกลับคืนมาแล้ว
เขาถึงจะหันมาดู REAL SECTOR ของเรา ฉะนั้นรัฐต้องแสดงให้เวทีโลกเห็นว่า
รัฐบาลไทยจริงจังและจริงใจกับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราแสดงว่าเราช่วยตัวเองอย่างเต็มที่ก่อน
การขอความช่วยเหลือจากเวทีโลกก็จะง่ายขึ้น" นี่คือความเห็นของนักวิชาการค่าย
IFCT
กรมส่งเสริมการส่งออกไม่อยู่เฉย เร่งสนับสนุนการส่งออกไทยทุกวิถีทาง
กรมส่งเสริมการส่งออก สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย
ได้ตระหนักถึงปัญหาที่บรรดาผู้ส่งออกของไทยเผชิญอยู่เป็นอย่างดี และได้พยายามหาทางที่จะบรรเทาปัญหาเหล่านั้น
โดยปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือ ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของผู้ส่งออก
ซึ่ง จันทรา บูรณฤกษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกได้เปิดเผยถึงแนวทางที่ทางกรมส่งเสริมฯ
ได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย
และธนาคารพาณิชย์ ในการหารือกันเพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของผู้ส่งออก
โดยทางกรมส่งเสริมฯ ได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ผลิตเพื่อการส่งออกจำนวนกว่า
1,000 ราย ผ่านทางสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสำรวจและรวบรวมรายชื่อผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาทางการเงิน
โดยกรมส่งเสริมฯ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดให้ผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาได้พบกับหน่วยงานธนาคารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา
จากผลการสำรวจ สามารถแบ่งผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องออกเป็น
3 กลุ่มคือ กลุ่มทุนขาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางธนาคารน่าจะอนุมัติวงเงินกู้ได้ทันที
แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากผู้ส่งออกไม่มีหลักประกันเพียงพอ กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ
53% ของจำนวนที่สำรวจได้ประมาณ 300 ราย คิดเป็นวงเงินที่ต้องการทั้งสิ้นประมาณ
5,000 ล้านบาท กรมส่งเสริมฯ ก็ได้ประสานงานกับทางเอ็กซิมแบงก์ เพื่ออนุมัติเงินกู้ส่วนนี้ให้กับกลุ่มทุนขาวในทันที
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มทุนเทา กลุ่มนี้มีปัญหาติดขัดบางประการที่ต้องได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
กลุ่มนี้มีประมาณ 37% ของจำนวนที่สำรวจได้ คิดเป็นวงเงินที่ต้องการทั้งสิ้น
4,900 ล้านบาท ทางกรมส่งเสริมฯ ก็ได้หารือกับทางแบงก์ชาติ ถึงวงเงินที่เหลืออยู่ประมาณ
20,000 ล้านบาทที่จะให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีปัญหาภายในองค์กรเอง กลุ่มนี้ทางกรมส่งเสริมฯ
จะไม่เสนอให้ได้รับการอนุมัติเงินกู้ เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียสูงมากจนมองไม่เห็นหนทางที่จะนำรายได้มาชำระได้
กลุ่มนี้มีเพียง 7 รายเท่านั้น หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของที่สำรวจได้
ทั้งนี้ ตัวเลขนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่ทางกรมส่งเสริมฯ
สามารถสำรวจได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น
นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ส่งออกมีการใช้ EXPORT
CREDIT INSURANCE กับทางเอ็กซิมแบงก์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ส่งออกไม่มี
LC ค้ำประกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการค้ำประกันในรูปแบบของ PRESHIPMENT INSURANCE
เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจว่าจะได้รับการชำระหนี้ตามเวลา และทางเอ็กซิมแบงก์ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการให้กู้สำหรับผู้ส่งออกที่มีหนี้เดิมอย
ู่โดยการให้กู้จะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อควบคุมไม่ให้ผู้ส่งออกนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
และเมื่อใดที่ผู้ส่งออกได้รับเงินค่าสินค้าแล้วให้นำมาชำระคืนเงินกู้ใหม่
พร้อมทั้งแบ่งส่วนกำไรที่ได้นำมาชำระคืนหนี้เดิมประมาณ 20%
สำหรับปัญหาเรื่องโครงสร้างภาษีที่ไม่สอดคล้องกันทั้งระบบ รองอธิบดีกรมส่งเสริมฯ
ได้เปิดเผยถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ว่า
"กรมส่งเสริมฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและกรมศุลกากร
ซึ่งล่าสุดได้มีการผลักดันให้กลุ่มผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยประกาศเป็นพระราชกำหนดของกระทรวงการคลังเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา"
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
แต่กรมส่งเสริมฯ มิได้มีหน้าที่เพียงเท่านั้น บทบาทที่สำคัญของกรมส่งเสริมฯ
อีกด้านหนึ่งคือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาตลาดให้กับผู้ส่งออกไทย ซึ่งปัจจุบันกรมส่งเสริมฯ
มีโครงการมากมายที่จะรองรับการรักษาตลาดเก่าและขณะเดียวกันก็มองหาตลาดใหม่ด้วย
"ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเรามีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกันประมาณ
21% ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 จากปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดรองลงมาคือตลาดอเมริกาที่เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ
19% และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 19 แต่สิ่งที่อยากจะเน้นให้ผู้ส่งออกทราบคือ
ในที่สุดแล้วเกมการค้าระหว่างประเทศ เราจำเป็นต้องพึ่งพาการค้าขายซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกด้วยกันเอง"
รองอธิบดีกรมส่งเสริมฯ กล่าว
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมฯ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการและเป็นตัวประสานระหว่างภาครัฐและเอกชน
ในการวางกลยุทธ์การส่งออกทั้งระยะสั้นและระยะยาว
"มาตรการในระยะสั้นที่เราต้องทำอย่างรวดเร็วคือ การเชิญผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อกับผู้ส่งออกของเราโดยตรง
นอกจากนั้น เราก็มีการย้ายสำนักงานของเราในประเทศคู่ค้าเดิมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
ไปยังประเทศที่มีศักยภาพที่สูงกว่า ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดตั้งสถาบันอาหาร
สถาบันสิ่งทอ สถาบันเครื่องหนัง และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ โดยมีการให้ข้อมูลข่าวสารการฝึกอบรมและการสัมมนา
เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งเรายังมีโครงการส่งเสริมธุรกิจบริการซึ่งน่าจะทำรายได้เข้าประเทศเราได้มาก
ได้แก่ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจร้านอาหารไทย ธุรกิจสุขภาพความงาม ธุรกิจการแพทย์
และธุรกิจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อีกด้วย
ส่วนมาตรการระยะกลาง เราก็พยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตสินค้า โดยพยายามจะผลักดันในเรื่องของการลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็น
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และพยายามผลักดันและแก้ไขการคืนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ล่าช้า"
รองอธิบดีกรมส่งเสริมฯ กล่าวชี้แจง
นอกจากนี้ทางกรมส่งเสริมฯ ยังมีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการประสานงานระหว่างสำนักงานในต่างประเทศและในประเทศไทยให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัย
และอีกประการที่สำคัญคือ กรมส่งเสริมฯ มีนโยบายที่จะสนับสนุนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย และยังไม่เคยส่งออกให้ฉกฉวยโอกาสในช่วงนี้กระจายสินค้าของตนไปยังต่างประเทศ
โดยให้ทางสถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมฯ จัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการรู้ถึงกระบวนการส่งออกตั้งแต่ขั้นต้น
และกรมส่งเสริมฯ ยังมีนโยบายที่จะสนับสนุนสินค้าไทยที่ใช้แบรนด์เนมเป็นของตัวเองด้วย
ทั้งนี้ ปัญหาต่างๆ ที่ผู้ส่งออกประสบอยู่ในปัจจุบันจะสามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับนโยบายและการดำเนินงานที่จริงจังและถูกทิศทางของทั้งภาครัฐ และเอกชนเองก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวให้สู้กับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้
มิฉะนั้น ประเทศไทยก็จะไม่เหลือฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยอีกต่อไป