Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2541
จัดบ้านเสร็จรายแรกภัทรธนกิจเตรียมเดินหน้ารุกธุรกรรมแก้ปัญหาตลาดทุนไทย             
 


   
search resources

ภัทรธนกิจ, บง.




ภัทรธนกิจจัดบ้านเสร็จเรียบร้อยรับมือภาวะเศรษฐกิจยุค IMF กำหนดชะตากรรมชาติไทย แยกธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกันพร้อมเคลียร์ภาพชัดเจน เงินทุนใช้นโยบายเพิ่มทุนโดยการขายหุ้นให้ ธ. กสิกรไทย ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญงวดเดียว 6,000 กว่าล้านบาท ไม่หวั่นเรื่องขาดทุนสะสมเพราะยังมีผลกำไรเก็บตุนอยู่มาก คาดใช้เวลา 2 ปีตัดขาดทุนสะสมได้หมด ส่วนหลักทรัพย์ ก็เป็นบริษัทที่สะอาดปลอดภัย ไม่มีสินเชื่อมาร์จิน ทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท และกำลังเล็งหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจ ภายใต้กรอบกติกาของโลกใหม่ที่ "มหัศจรรย์แห่งเอเชีย" ได้กลายเป็นฝันร้ายของนักลงทุน

ในท่ามกลางภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ล้มระเนระนาดกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปสถาบันการเงินหรือ ปรส. ได้ประกาศปิดกิจการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำนวน 56 แห่งและอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้เพียง 2 แห่ง รวมกับเดิมที่ไม่ได้ถูกประกาศปิดกิจการ 33 แห่ง เท่ากับมีบริษัทไฟแนนซ์เปิดดำเนินงานอยู่ตอนนี้ 35 แห่ง

มากกว่าครึ่งหนึ่งต้องหายไปจากระบบสถาบันการเงินของไทย แน่นอนพวกเขามีหนี้และธุรกรรมต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในระบบจำนวนไม่น้อย ซึ่งขณะนี้ ปรส. โดยคณะกรรมการชุดใหม่ที่อมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานฯ จะเข้ามาทำหน้าที่แยกสินทรัพย์ดี-ไม่ดี ออกจากกันและนำไปประมูลขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป

ในบรรดาไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินงานอยู่นั้น ต่างคนต่างพยายามที่จะเคลียร์ปัญหาภาระหนี้สินและการเพิ่มเงินกองทุน (recapitalization) รวมทั้งอัตราส่วนต่างๆ เพื่อให้เห็นความมั่นคงของบริษัทและให้เป็นไปตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จัดแจงปัญหาเหล่านี้ได้เรียบร้อยก่อน ย่อมมีความได้เปรียบในการเริ่มทำธุรกรรมภายใต้กรอบกติกาใหม่ที่ IMF เป็นผู้กำหนด

เริ่มจัดบ้านมานานเป็นปี ตอนนี้เรียบร้อยก่อนใคร

บงล. ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้มีการแยกกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกันอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยกิจการเงินทุนยังใช้ชื่อเดิมว่า บง. ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ขณะที่กิจการหลักทรัพย์ใช้ชื่อ บล. ภัทรจำกัด และ บง. ถือหุ้นใน บล. 100%

ศรีภพ สารสาส กรรมการผู้จัดการ บง. ภัทรธนกิจกล่าวว่า "ความจริงตั้งแต่ปี 2539 ที่เริ่มมีข่าวลือเกี่ยวกับไม่มั่นคงของสถาบันการเงิน เราก็เริ่ม brain storm ภายในกันเอง ครั้งหนึ่งเราเคยประกาศเป็นแกนเพื่อควบรวมตั้งธนาคาร แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่มีคนเข้าใจว่าการเป็นแกนตั้งธนาคารนั้นเป็นการเปลี่ยนระบบธนาคารของประเทศ แต่กลับมองกันว่าอันนี้คือราคา คือใบอนุญาตที่มีราคาแพงมาก และพยายามที่จะให้ยากๆ มันก็ไม่เกิด

แม้ในปัจจุบัน แกนทั้ง 5 แกนก็ยังไม่มีใครควบรวมกับใคร ยกเว้นธนชาติที่รวมกับเอกชาติ ซึ่งเป็นการรวมกันเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เท่ากับว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นเราจึงเปลี่ยนแผนมาเป็นซูเปอร์ไฟแนนซ์"

ทั้งนี้ ภัทรธนกิจอยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอขอเป็นซูเปอร์ไฟแนนซ์ โดยที่เจ้าตัวยังไม่รีบร้อนนัก คาดว่าจะยื่นในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหรืออาจจะเป็นต้นเดือนมกราคมนี้

ด้านความแข็งแรงของสถานะของบริษัทนั้น ศรีภพเปิดเผยว่าบริษัทมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 60,000 ล้านบาท และมีการตั้งสำรองในอัตรา 10% ของวงเงินนี้ ก็คือประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นการสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่มีลักษณะอนุรักษ์อย่างมาก เพราะโดยปกติการตั้งสำรองได้ถึง 3% ของวงเงินให้กู้ยืมทั้งหมดได้ก็ถือเป็นสุดยอดของมาตรฐานสากลแล้ว

ศรีภพเล่าว่า "แบงก์ชาติต้องการให้พิจารณาลูกค้าเป็นรายๆ ไป ซึ่งที่เราทำนั้น beyond จากที่แบงก์ชาติคิด คือเราดูทุก account และเราก็ดู possibility ของลูกค้าที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการตั้งอันนี้จะเป็นการตั้งที่มากกว่าความเป็นจริง คือเราได้เตรียมตัวไว้แล้วว่าในอนาคตหากลูกค้ามีปัญหาเราก็ไม่ต้องมาตั้งสำรองกันใหม่"

การตั้งสำรองในวงเงินที่สูงเช่นนี้ แม้จะดูเป็นนโยบายแบบอนุรักษ์ที่ป้องกันความเสียหายก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง แต่วงเงินสำรองนี้จะมีผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทแน่นอน ซึ่งแม้ว่าภัทรธนกิจจะมีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจในช่วง 11 เดือนแรกของปีถึง 1,301 ล้านบาท (ดูตารางงบการเงิน) แต่บริษัทก็มีผลการขาดทุนสุทธิในช่วงเวลาเดียวกันถึง 6,021 ล้านบาท รายการหลักมาจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในงวดนี้ทั้งก้อน และขาดทุนจากการลงทุนอีก 1,304 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ศรีภพ ไม่ใคร่กังวลใจในเรื่องนี้มากเท่าใดนัก เพราะเมื่อใช้ยาขนาดหนักในครั้งนี้แล้ว สิ่งที่ได้รับหลังจากหายไข้ก็คือผลกำไร เขากล่าวว่า "หากเราสามารถเก็บเงินได้ จากหนี้สงสัยจะสูญหรือหนี้ที่เราตั้งสำรองไว้แล้ว ทุกบาทที่ได้คืน จะเป็นกำไรสุทธิไม่ต้องเสียภาษี"

หลังจากที่กรมสรรพากรออกประกาศยอมให้บริษัท ที่มีรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษีได้ ซึ่งในกรณีของสถาบันการเงินหากไม่มีตัวนั้น ก็อาจจะเอาการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญนี้มาทำได้เหมือนกัน โดยบริษัทสามารถสะสมค่าใช้จ่ายด้านภาษีตัวนี้ไปนานถึง 5 ปี "นั่นหมายความว่ารายได้ที่บริษัทได้รับไม่ต้องเสียภาษี เพราะมันไปชดเชยได้ อันนี้เป็นพระราชกำหนดใหม่ที่ออกมา"

ดังนั้นสิ่งที่ได้เห็นกันก็คือการประกาศขาดทุนกันเป็นจำนวนมากในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา และนี่ก็คือวัตถุประสงค์ของแบงก์ชาติ คือต้องการให้สถาบันการเงินประกาศเพิ่มทุน โดยใช้วิธีให้หยุดรับรู้รายได้จากลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระเงิน (ดอกเบี้ย) ได้ และให้ตั้งสำรองแรงๆ คือ 100% "เมื่อต้องตั้งสำรองมากๆ กำไรก็จะไม่เหลือ ซึ่งก็ต้องเพิ่มทุน เพราะทุนไม่พอทำธุรกิจ"

ด้านภาระหนี้ต่างประเทศของบริษัทนั้น เดิมบริษัทมีการก่อหนี้ถึงประมาณ 67,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้บริษัทได้จ่ายหนี้ออกไปมากแล้ว ศรีภพเปิดเผยว่า "ในสิ้นปีนี้ เราอาจจะเหลือหนี้ต่างประเทศจริงๆ ก็ประมาณ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น" ซึ่งในวันที่มีการสัมภาษณ์ในปลายเดือนธันวาคมนั้น ภัทรธนกิจก็ชำระหนี้ไปจำนวน 108 ล้านเหรียญ ทั้งนี้บริษัทได้มีการซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับ 30 บาท (รวมค่าธรรมเนียมต่างๆ) ซึ่งเป็นอัตราที่ได้เห็นก็ในช่วงไม่กี่วันหลังแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 เท่านั้น และหลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เห็นอีกเลย

หนี้ต่างประเทศที่เหลือของภัทรธนกิจเป็นหนี้ระยะยาว มีกำหนดชำระในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทก็ได้มีการซื้อ forward cover ไว้ในอัตราใกล้เคียงกัน เป็นเงินสกุลเยน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า บริษัทได้จัดบ้าน ซ่อมแซมแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ได้เรียบร้อย ในเวลาที่รวดเร็วกว่าคนอื่น ทั้งด้านเงินกองทุน การสำรองหนี้ การชำระหนี้ต่างประเทศ

จุดที่บริษัทได้รับผลกระทบจากการซ่อมแซมครั้งนี้คือ เกิดขาดทุนสะสมประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ ศรีภพกล่าวว่า "ตามระเบียบเราจ่ายไม่ได้ จนกว่าจะล้างขาดทุนสะสมหมด ซึ่งในปี 2540 นั้นเราเกิดขาดทุนสะสมจากการตั้งสำรองจำนวน 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งผมคาดว่าหากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เราคงใช้เวลาปีกว่าๆ ในการล้างขาดทุนสะสมตัวนี้ได้หมด แต่จะให้ดีก็คงใช้เวลาสัก 2 ปีจึงจะสามารถจ่ายได้อีก ทั้งนี้ในยามเศรษฐกิจดีๆ นั้น เราเคยกำไรหลังจ่ายภาษีประมาณ 2,000 กว่าล้านบาททีเดียว"

เตรียมซื้อสินทรัพย์ good-bad asset

หลังจากจัดบ้านเรียบร้อย ขั้นต่อไปที่ภัทรธนกิจสนใจคือ เรื่องการเข้าซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการ ซึ่งในตอนนี้ ปรส. กำลังแยกสินทรัพย์ที่ดีและไม่ดีออกมากอง เพื่อให้ผู้สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาประมูลซื้อ โดยคาดหมายกันว่า bad asset นั้นมีมูลค่าประมาณ 700,000 ล้านบาท ด้าน good asset นั้นก็ต้องเสนอขายออกมาเช่นกัน

ศรีภพมองว่าภัทรธนกิจมีความพร้อมทุกด้านในการดำเนินบทบาทนี้ "เมื่อถึงตอนที่มีการประมูลนั้น ใครจะเป็นคนที่มีกำลังซื้อได้ มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ ผมเชื่อว่ากำลังซื้อจากในประเทศมีน้อยมาก เพราะว่าแต่ละคนก็เหนื่อยเรื่องการ convince ผู้ฝากเงิน เรื่องเจ้าหนี้ต่างประเทศในตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมานี้

นอกจากนี้ก็มีเรื่องการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งสถาบันการเงินต้องใช้กฎเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ non-performing loan (NPL) ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2541 ซึ่งต้องจำแนกสินเชื่อตัวนี้ออกมาและหลายแห่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่บริษัทต่างๆ จะทำเรื่องนี้เสร็จ รวมถึงเรื่องการเพิ่มทุนด้วยนั้น "เราโชคดีที่ทำเรื่องต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว"

ความได้เปรียบของภัทรธนกิจหลังจัดบ้านเรียบร้อยคือ "เรารู้ว่าอะไรคือ bad asset อะไรคือ good asset เรารู้ว่าพอร์ตโฟลิโอที่เราจะซื้อนั้นเราจะให้น้ำหนักอย่างไร เรารู้ว่าเราจะหาเงินมาซื้อในระยะสั้นยาวขนาดไหน และขณะเดียวกันเราก็เตรียมคนที่จะดูแล account ซึ่งซื้อมาแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ ต้องมาเรียกเก็บหนี้ให้ได้ คือทำให้มันเสร็จ

ขณะเดียวกัน ภัทรธนกิจก็มีการเจรจากับบริษัทต่างประเทศเพื่อการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ โดยวาง position ภัทรฯ เป็นทั้งตัวกลางและผู้ซื้อเอง ศรีภพกล่าวว่า "ฝรั่งสนใจมากนะครับซื้อของถูก ค่าเงินถูกและยังได้ราคา discount อีก เราจึงมีการเจรจากับต่างประเทศในลักษณะ form ทีมที่จะซื้อและ operate ต่อ"

เนื่องจากสถาบันต่างประเทศยังติดปัญหาเรื่องการถือครอง "เขาต้องดูว่าใครอยู่ในสถานะที่เขาจะสามารถทำมาค้าขายด้วยได้ เราก็อยู่ในสถานะที่เขาน่าจะอยากมาร่วมด้วย เพราะเรามีฐานะดีพอ"

ศรีภพมีมุมมองเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จะมีการขายในครั้งนี้ว่า "เรื่อง good bank นั้น ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี คุณไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มี good bank ในโลก คำว่า good bank นี่ก็คือคุณ discount เท่าไหร่ ถ้าน้อยเรียกว่า good asset ถ้า discount มากเรียกว่า bad asset"

นอกจากเตรียมเรื่องการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ภัทรธนกิจรอเวลา 3 เดือนเพื่อที่จะดูว่าภาวะการเงินของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะในช่วง 3 เดือนนี้ ศรีภพมองว่าเป็นช่วงที่สำคัญยิ่ง "หากไม่มีอะไร (มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมของรัฐบาลต่อปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน - ผู้เขียน) ที่ชัดเจนออกมา ก็คงจะแย่แน่" บริษัทฯ ระงับการปล่อยสินเชื่อทุกประเภทโดยสิ้นเชิงในช่วง 3 เดือน นี้ เพื่อรอดูว่าจะเป็นอย่างไร สภาพต่างๆ จะกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือไม่ ซึ่งได้แก่ เรื่องค่าเงิน เรื่องสภาพคล่องในระบบ ซึ่งเป็น 2 เรื่องที่ไปด้วยกัน หากค่าเงินนิ่งก็ควรจะมีเงินไหลเข้ามาในประเทศพอสมควร สภาพการลงทุนก็เกิด

"เมื่อสภาพคล่องในประเทศกลับมาสู่ภาวะที่พอจะไปได้ มันก็จะมีกิจกรรมให้เราทำ ไม่ต้องมานั่งเก็บเงินไว้เพื่อคืนเจ้าหนี้หรือผู้ฝากเงินอย่างเดียว" ศรีภพ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงลิ่วขนาดนี้ อินเตอร์แบงก์เราตกอยู่ในอัตรา 25% (ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี) บวกกับความเสี่ยงอีกร้อยแปดในการปล่อยสินเชื่อบริษัทไฟแนนซ์ ก็ยังมีทางเลือกที่ดีในการลงทุน คือเข้าไปซื้อขายในตลาดพันธบัตรหรือ Repurchase market ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยสูงและมีหลักประกันซึ่งรัฐบาลค้ำประกัน ดอกเบี้ยอยู่ในอัตรา 25%-26% กล่าวได้ว่าช่วงนี้ไฟแนนซ์ไม่ต้องหาธุรกรรมอะไรทำ "มีเงินเหลือก็ลงทุนใน Repo ซึ่งตอนหุ้นปกติยังไม่ได้อัตราเท่านี้เลย" ศรีภพ กล่าว

การลงทุนในตลาด Repo เวลานี้ให้ผลตอบแทนดีที่สุดก็ว่าได้ แม้แต่การลงทุนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในระยะหลังก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 14% ก็ยังถือว่าไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีเท่า

ด้านการทำธุรกิจเงินทุนนั้นภัทรธนกิจวางบทบาทของตัวเองไว้ในตลาดผู้กู้รายใหญ่ คือ wholesale banking และการกู้จำพวก project finance ไม่ลงไปเล่นในตลาดลูกค้ารายย่อยหรือ retail market

ศรีภพ กล่าวว่า "เราเน้นลูกค้ารายใหญ่เพราะเราไม่มีสาขา เราไม่มีเครือข่าย facilities ต่างๆ ที่ให้ลูกค้านั้นเราก็มีไม่ครบ" อย่างไรก็ดี หากบริษัทได้รับอนุญาตให้เป็นซูเปอร์ไฟแนนซ์ได้แล้ว บริษัทก็จะได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้มากขึ้น และเหมือนแบงก์แทบจะทุกเรื่อง ยกเว้นการเปิดบัญชีประเภทกระแสรายวันหรือ current account และการออกเช็คเท่านั้นที่ไม่สามารถทำได้

แม้ว่าจะได้ใบอนุญาตใหม่ๆ มา แต่ในจังหวะที่ตลาดการเงินทั่วภูมิภาคเอเชียยังมีความผันผวนเรื่องค่าเงิน เรื่องทุนสำรอง ภาระหนี้ นานาปัญหาเหล่านี้คงทำให้การทำธุรกรรมใหม่ๆ จากใบอนุญาตเป็นไปด้วยความยากยิ่ง

หลักทรัพย์ก็จัดทัพ เล็งหาผู้ร่วมทุน ทำธุรกิจในตลาดโลกไร้พรมแดน

บล. ภัทร ซึ่งเป็นโฉมใหม่ของกิจการหลักทรัพย์ของภัทรธนกิจ มีทุนจดทะเบียนประเดิม 2,500 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินธุรกิจประมาณ 500 ล้านบาท มีเงินลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ต่างๆ ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 1,700 ล้านบาทฝากไว้กับสถาบันการเงิน

วีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บล. ภัทร กล่าวว่า "เราสามารถให้ความมั่นใจกับลูกค้าของเราได้อย่างดี จากการที่โครงสร้างการดำเนินธุรกิจของเรามีความชัดเจน มีสถานะการเงินที่แข็งแรงมาก เราไม่มีสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือ margin loan เราไม่มีพอร์ตฯ ที่มีการลงทุนที่เสียหาย และขณะเดียวกันเราก็มีเงินฝากอยู่ 1,000 กว่าล้าน ฉะนั้นในส่วนนี้เราแสดงให้เห็นสภาพคล่อง และความสามารถในการให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าค่อนข้างสูง"

ธุรกิจหลักทรัพย์มี 3 ธุรกิจหลักคือ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ส่วนที่สองคือธุรกิจ วาณิชธนกิจ ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของกิจกรรม corporate finance เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน การแก้ไขปรับปรุงหนี้ของบริษัทซึ่งตอนนี้จะมีเยอะมากเพราะทุกคนมีปัญหาเต็มไปหมด การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การควบรวมกิจการเหล่านี้อยู่ในขอบข่ายของงานคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์

ส่วนที่สามเป็นธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล หรือ private fund ซึ่งวีรวัฒน์มีความเชื่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจในส่วนนี้จะมีอัตราการเติบโตที่สูงในอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเวลานี้ประเทศขาดการออม ฉะนั้นการออมที่มีผู้จัดการดูแลรักษาผลประโยชน์ที่เป็นมืออาชีพจำเป็นยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าที่ผ่านมาการลงทุนโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนรายย่อยจะแพ้นักลงทุนที่เป็นมืออาชีพ เพราะว่าตราสารทางด้านการเงินเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมาก จึงไม่เหมาะที่นักลงทุนทั่วๆ ไปจะเข้าไปลงทุนเอง

ด้านรายได้หลัก คาดว่าใน 3-4 ปีแรก รายได้หลักคงจะมาจากทางด้านของ broking และ corporate finance ซึ่งสอง areas นี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้ภัทรฯ มีความโดดเด่นในแง่ของ local firm ที่มีความสามารถเทียบเท่า foreign firm

หัวใจสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ในตลาดทุนก็คืองานวิจัย ซึ่งภัทรฯ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยภัทรมาหลายปี และพัฒนาขึ้นจนมีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยแทบทุกด้าน วีรวัฒน์กล่าวว่า "ที่ภัทรฯ วันนี้เรามีปัญหาน้อย สามารถอยู่รอดได้ก็เพราะคุณภาพของงานวิจัยของเรา และเราระวังตัวมาตลอด"

สัดส่วนรายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ค่าธรรมเนียมประมาณ 70%-80% โดยค่าธรรมเนียมจากกิจกรรมคอร์ปอเรทไฟแนนซ์จะต่ำมาก เพราะดีลต่างๆ ทำได้ลำบาก ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ยังเป็นรายได้หลัก แม้ว่าปริมาณการซื้อขายในปีนี้จะลดลงต่ำมากก็ตาม

ในส่วนของงานวาณิชธนกิจ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นจะมีกิจกรรมหลักคือ การเป็นอันเดอร์ไรต์นำหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต่อจากนี้ไปต้องมีการปรับกลยุทธ์ "จากการขายของก็เปลี่ยนมานั่งดูว่ามีอะไรถูกๆ ดีๆ น่าซื้อบ้าง และไปหาคนมาซื้อ ซึ่งก็คือการควบรวมกิจการนั่นเอง" วีรวัฒน์ กล่าว

งานอีกเรื่องคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งภัทรฯ ก็มีดีลอยู่ในมือหลายราย แต่การที่จะเอาหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คงต้องรอภาพของตลาดทุนและเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะว่าเงินที่จะมาลงทุนหุ้นพวกนี้ส่วนใหญ่หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างประเทศ

งานอีกด้านที่ภัทรฯ จะมีลูกค้าเยอะมากคือ การเป็นที่ปรึกษาแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัท ซึ่งวันนี้ 70%-80% ก็ต้องปรับตัวกัน เพื่อให้สามารถรองรับกับเหตุการณ์หรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

วีรวัฒน์เล่าว่า "ตอนนี้เรามีดีลที่อยู่ในมือที่เตรียมจะทำ IPO อยู่เยอะมาก กรณีการควบกิจการก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีในช่วงนี้ เช่น ไอบีซี-ยูทีวี ก็เป็นตัวอย่างที่ดี คือในสถานการณ์ที่ประเทศทั้งประเทศเจอภาวะที่เรียกว่า over capacity ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการรวมกิจการกัน ลดการแข่งขัน ลดค่าใช้จ่ายรักษาสภาพคล่องให้ผู้ถือหุ้น"

ด้าน private fund วีรวัฒน์ อธิบายว่า "เนื่องจากความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีอยู่ ตลาดที่น่าสนใจ มีความเสี่ยงต่ำกว่าและมีผลตอบแทนสูงกว่า คือตลาดเงินฝาก (cash market) และอีกอันที่น่าจะมีศักยภาพดีคือ ตลาดตราสารหนี้หรือ debt market ตอนนี้บอนด์จะให้ผลตอบแทนสูงมาก แต่คนกลัวเรื่องของ default แต่เราก็สามารถเลือกได้ว่าอันไหนดีน่าลงทุน ดังนั้นการลงทุนของเราตอนนี้จะเน้นไปที่สองตลาดนี้เป็นหลักคิดเป็น 95% ของเงินลงทุนองเรา"

ภัทรเพิ่งเริ่มทำ private fund ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี่เอง และเริ่มมีลูกค้าแล้ว โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในตลาดเงินกับตลาดตราสารหนี้ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น บง. ภัทรธนกิจเป็นผู้บริหารมีมูลค่ากองทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งแม้ตอนนี้บริษัทจะร่วมทุนอยู่แล้วกับโกลด์แมน แซค ในส่วนของสถาบันวิจัยภัทร โดยเป็น strategic alliance มีข้อตกลงที่จะพัฒนาระบบข้อมูลจากการทำวิจัยร่วมกัน วีรวัฒน์มีมุมมองเรื่องนี้ว่า "เราต้องเข้าใจ ถึงแม้เราจะมีคนดี คนเยอะ แต่ต้องเข้าใจว่าฝรั่งทำธุรกิจตลาดทุนมานานตั้ง 200 ปีแล้ว ภัทรฯ ทำมาเต็มที่ก็ 10 ปีเท่านั้น เรายังห่างเขาอยู่ ฉะนั้นถ้าเราอยากจะเร่งอัตราการพัฒนาของเราก็ต้องไปร่วมธุรกิจกับคนอื่น ซึ่งเราต้องยอมรับว่าฝรั่งเก่งกว่าเรา และเราเชื่อว่าโกลด์แมน แซคเป็น global firm ในโลกนี้ก็มีแค่ 5-6 รายเท่านั้น"

การร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่างชาติครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและตัดสินใจเรื่องรูปแบบ แต่มีหลักการว่าสิ่งที่ต้องการคือความเชี่ยวชาญทาง network ที่ต่างชาติมีมากกว่าคนไทยเพราะใช้เวลาสร้างมานานกว่า

ส่วนวิธีการร่วมทุนนั้นมี 2 รูปแบบ คือร่วมทุนเฉพาะส่วนของงานวิจัย หรือว่าร่วมทุนในทุกส่วน คือให้เข้ามาถือหุ้น

วีรวัฒน์ให้ความเห็นว่า "ในส่วนของการบริหารกองทุนนั้น ผมเชื่อว่าในแง่ของวิธีการบริหาร ต่างประเทศเขามีประสบการณ์มากกว่าเรา แต่ในแง่ของความเข้าใจในธุรกิจท้องถิ่น เขาน่าจะแพ้เรา มันต้องเป็นส่วนผสมกันระหว่างโนว์ฮาวของเขาในต่างประเทศกับความรู้จักท้องถิ่นของเรา ก็คือขาดขาหนึ่งขาใดไม่ได้"

หากจะมีการร่วมทุนกันนั้น ก็สามารถทำได้สะดวก เพราะตอนนี้มีการแยกธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากเงินทุนแล้ว ส่วนการที่จะเปิดให้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของบริษัทต่างชาติและผู้ถือหุ้นภัทรฯ ซึ่งตอนนี้หุ้นใหญ่คือธนาคารกสิกรไทย

อย่างไรก็ดี "เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนพอควร เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่เราต้องปัดกวาดบ้าน แต่งตัวเพื่อประสิทธิภาพ ให้สามารถอยู่รอดได้" วีรวัฒน์กล่าว

ภัทรธนกิจได้ชื่อว่าเป็น local firm ที่เยี่ยมที่สุดรายหนึ่ง ซึ่งหลังจากปรับตัวจัดการปัญหาภายในต่างๆ จบสิ้นแล้ว ก็มีความพร้อมความได้เปรียบในการหาแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาใหม่ต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us