Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2541
ธุรกิจขนาดย่อมทางรอดเศรษฐกิจยุคเผาจริง             
 

   
related stories

อานันท์ ปันยารชุน "ถึงเวลาที่เราต้องกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า พื้นฐาน"
กู้เงินที่ไหนดี?

   
search resources

กันตนากรุ๊ป, บมจ.
น้ำพริกแม่ศรี
โทเท็มส์
ซอฟต์สแควร์ 1999
ก.เกริกไกร ฟุตแวร์
SMEs




ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าสถาบันการเงิน สื่อสาร พลังงาน ปิโตรเคมี รถยนต์ ที่ล้วนแต่เคยเป็น "ฟันเฟือง" สำคัญของเศรษฐกิจต้องได้รับบาดเจ็บจากพิษค่าเงินบาทกันไปถ้วนหน้า และบางรายอาจถึงขั้นล่มสลาย

แต่ทุกวิกฤติการณ์ย่อมมีโอกาส ภายใต้ทฤษฎีของการกลับสู่ยุคเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน

"ธุรกิจขนาดย่อม" หน่ออ่อนเล็กๆ ของเศรษฐกิจ หลายแห่งไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเหล่านี้ ด้วยขนาดและเงินทุนที่ย่อมเยา ใช้วัตถุดิบในประเทศ หนำซ้ำยังสามารถทำเงินดอลลาร์เข้าประเทศได้ด้วย

กองทัพมดเหล่านี้กำลังกลายเป็นคำตอบสำหรับการเอาตัวรอดในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในอนาคตก็ว่าได้

"แม่ศรี" ส่งออกน้ำพริกไทย ถึงไม่โตฮวบฮาบ แต่ยอดไม่มีตก

น้ำพริกแม่ศรี มีต้นกำเนิดที่ตลาดบน ใจกลางจังหวัดนครปฐม เมื่อราวปี พ.ศ. 2513-2514 นับถึงวันนี้เกือบครบ 30 ปี ที่มีชื่อน้ำพริกแม่ศรีอยู่ในตลาดธุรกิจน้ำพริกไทยรวมทั้งผู้บริโภคน้ำพริกในต่างประเทศ จากจำนวนผู้ผลิตน้ำพริกเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่ประมาณ 7-8 รายในประเทศไทย

ระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจน้ำพริกไม่ใช่ธุรกิจที่ทำรายได้สะดุดตามากนักในสายตาของนักลงทุนทั่วไป แต่คงมีไม่กี่คนที่จะรู้ว่าธุรกิจน้ำพริกเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำมากอย่างในช่วงนี้

เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออกน้ำพริกของแม่ศรี ที่ยังสามารถมีการเติบโตอยู่ได้โดยไม่ตกไปตามกระแสเศรษฐกิจแต่อย่างไร ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าบางขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่บ้าง เช่น เรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ เป็นต้น

ประสิทธิ์ นิยมทรัพย์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนน้ำพริกแม่ศรี จำกัด เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ถึงที่มาคร่าวๆ ของน้ำพริกแม่ศรี ซึ่งมีที่มาจากชื่อเล่นของสมศรี มารดาของประสิทธิ์ ผู้คิดทำน้ำพริกออกขายนี้เอง พร้อมทั้งเล่าวิธีการทำตลาดของน้ำพริกแม่ศรีในยุคแรกๆ ว่า

"เราเริ่มจากการมีร้านในตลาด คุณพ่อคุณแม่ทำขายในตลาดนครปฐมแล้วขยายไปกรุงเทพฯ ผมมีพี่สาวทั้งหมด 7 คน พี่สาวที่เรียนธรรมศาสตร์ ก็หิ้วไปฝากขายแถวท่าพระจันทร์ คุณแม่เองก็เป็นคนพาหุรัด ก็เลยรู้จักแล้วไปฝากร้านค้าแถวนั้นขาย ต่อมาก็ขยายส่งไปที่ต่างๆ ในประเทศ โดยลูกค้าจะเป็นคนมารับไปเอง"

เมื่อขายดีขึ้นเรื่อยๆ คือมีรายได้ในช่วงปี 2513-2514 ประมาณ 5-6 พันบาท ซึ่งถือว่ามากในยุคนั้น น้ำพริกแม่ศรีก็ขยายกิจการด้วยการเช่าห้องแถวเพื่อผลิตน้ำพริกเพิ่ม ก่อนจะขยายกิจการมาสร้างโรงงานผลิตน้ำพริกบนเนื้อที่ 6 ไร่ครึ่ง ในปี 2523 ที่ริมถนนเพชรเกษม อ. เมือง จ. นครปฐม หลังจากที่เริ่มมีการส่งออกน้ำพริกไปขายต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2517

สรุปถึงตอนนี้ น้ำพริกแม่ศรีมีช่องทางการจำหน่ายอยู่ 3 แห่ง คือ ร้านแรกที่ตลาดบน ร้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ และโรงงานผลิตเพื่อขายและส่งออกต่างประเทศอีกช่องทางหนึ่ง

ประสิทธิ์ กล่าวว่า การส่งออกครั้งแรกของน้ำพริกแม่ศรี เริ่มจากความคิดที่เห็นนักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจทำน้ำพริกส่งออก ซึ่งขณะนั้นทางบ้านของประสิทธิ์ นอกจากจะมีน้ำพริกแม่ศรีแล้ว ยังมีธุรกิจน้ำอัดลมอยู่ด้วย ก็ได้ตัดสินใจเลิกธุรกิจน้ำอัดลมหันมาทำธุรกิจน้ำพริกเพียงอย่างเดียว

"คุณพ่อผมเป็นคนชอบศึกษา แรกเริ่มทำน้ำอัดลมขายก่อน ก่อนที่จะมีพวกน้ำดำเข้ามาในเมืองไทย พอเริ่มทำน้ำพริกส่งออกเมื่อปี 2527 ก็ทำอย่างเดียว มีเบเกอรี่ขายอีกนิดหน่อยที่ร้านในตลาด" ประสิทธิ์ กล่าว

ปริมาณการส่งออกน้ำพริกครั้งแรกเมื่อปี 2527 มีมูลค่าประมาณ 7 ล้านบาทต่อปี จากการส่งออกผลผลิตน้ำพริก 90% ของผลผลิตทั้งหมด ในรูปของบรรจุภัณฑ์กระป๋องพลาสติก ก่อนจะพัฒนามาเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมและขวดแก้วในปัจจุบัน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ยี่ห้อน้ำพริกแม่ศรี ถือว่าติดตลาดแล้วทั้งในไทยและประเทศต่างๆ ทั้งนี้ประสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเพราะน้ำพริกแม่ศรี เป็นรายแรกที่ทำการส่งออก ทำให้ผู้บริโภคคุ้นลิ้นกับรสชาติมากกว่าน้ำพริกยี่ห้ออื่นซึ่งมีการส่งออกมากขึ้นในช่วงหลัง

"ต้องยอมรับว่าช่วงหลังมีคู่ค้าน้ำพริกมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคู่แข่งกัน เพราะตลาดน้ำพริกเหมือนช่วยกันขยายตลาดมากกว่าแย่งกันขาย บางครั้งเราก็ผลิตให้กันในบางผลิตภัณฑ์ ตลาดที่มีอยู่จะแบ่งประเภทน้ำพริกกันเองในตัว ว่าถ้าเป็นแกงแดงต้องเป็นแม่ศรี ถ้าเป็นเครื่องแกงกระป๋องต้องแม่พลอย หรือน้ำจิ้มไก่กับหน่อไม้ต้องพันท้ายนรสิงห์" ประสิทธิ์ กล่าว

แม้คู่ค้าจะมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์เดิมของแม่ศรีก็ยังคงความนิยมเช่นเดิม และมีการคิดสูตรใหม่ๆ ขึ้นอีกอย่างน้อยปีละ 3 ชนิด เพราะตลาดน้ำพริกเติบโตขึ้นทุกไป จนวันนี้ยอดการส่งออกของน้ำพริกแม่ศรี มีมูลค่าเติบโตมากถึง 80 ล้านบาทในปีล่าสุด

ในปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำพริกส่งออกอยู่ประมาณ 7 ราย อาทิ แม่ศรี แม่พลอย แม่ประนอม พันท้ายนรสิงห์ และเอ็นอาร์ เป็นต้น

บางรายเป็นผู้ผลิตรายใหม่ที่เริ่มทำน้ำพริกส่งออกมาไม่เกิน 3 ปี และว่าจ้างให้แม่ศรีผลิตในบางผลิตภัณฑ์ หรือบางบริษัทก็ตั้งขึ้นเพื่อรับจ้างผลิตภายใต้ยี่ห้อของบริษัทอื่น ประเภทมือปืนรับจ้าง

ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีผลิตภัณฑ์ที่เน้นเป็นที่รู้จักแตกต่างกันไป จึงไม่ทำให้เป็นคู่แข่งและแย่งตลาดกันเองในต่างประเทศ แต่เป็นการเสริมซึ่งกันและกัน

สมัยเริ่มเปิดตลาดน้ำพริกในต่างประเทศ น้ำพริกแม่ศรีเริ่มเปิดตลาดด้วยแกงแดง ซึ่งเป็นน้ำพริกตัวยืนของแม่ศรีมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำพริกในอเมริกาจะใช้แกงแดงของแม่ศรีทั้งหมด เพราะติดกับรสชาติ บางแห่งมีบริษัทมารับไปขาย ช่วงแรกๆ บริษัทที่รับสินค้าแม่ศรีส่งออกคือบริษัทไทยอกริฟู้ด จำกัด และบริษัท ไทยเวิลด์ จำกัด

"การเปิดตลาดน้ำพริก จะเป็นลักษณะที่ว่าใครเข้าไปก่อน คนนั้นก็ยึดหัวหาดได้ก่อน ขั้นตอนการนำสินค้าไปขาย ก็ต้องมีการวิจัยตลาดเอาสินค้าเข้าไปทดลองกับผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างแม่ศรีใช้แกงแดงเปิดตลาดต่างประเทศก่อนใคร ความนิยมและความคุ้นเคยกับผู้บริโภคก็จะมีมากกว่า" ประสิทธิ์ กล่าว

รวมผลิตภัณฑ์น้ำพริกของแม่ศรีและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ หน่อไม้กระป๋อง มีผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกรวม 68 ชนิด มีแกงแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด ตลาดส่งออกหลักๆ ได้แก่อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ฮอลแลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และกำลังจะเปิดตลาดที่ประเทศลาวและประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศล่าสุดในปีนี้

"ที่ลาวมีร้านขายเครื่องไฟฟ้าติดต่อมา ขอเอาไปขาย เราก็งง ตอนหลังเขาถึงอธิบายว่าเขาไปอยู่อเมริกาแล้วกลับมา เหมือนกับคนลาวที่กลับมาประเทศเยอะ แล้วคนเหล่านี้ก็ทำเครื่องแกงไม่เป็นแล้ว เขาก็เลยติดต่อขอเอาเข้าไปขายในประเทศลาว เราก็เลยส่งไปขาย" ประสิทธิ์ กล่าว

สินค้าของแม่ศรีทั้งหมดจะวางขายตามร้านขายของชำของคนแถบเอเชียด้วยกันเอง เพราะจะทำให้ราคาขายขายได้ถูก เช่น น้ำพริกขวดแก้วใหญ่ตกประมาณขวดละ 30 บาท แต่ถ้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ต้นทุนจะสูงขึ้นเป็นราคาประมาณ 36 บาท ทั้งนี้ร้านค้าดังกล่าวจำต้องจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของแม่ศรีเท่านั้น ยกเว้นแต่เป็นสินค้าที่แม่ศรีไม่ได้ผลิตจึงจะมีวางขายได้ เพราะมิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การเป็นผู้จำหน่ายสินค้าของแม่ศรี

"ถึงภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้เราก็มีออร์เดอร์เหมือนเดิม แต่อัตราการเติบโตจะน้อยลงบ้างแต่ก็ยังมีการเติบโต กำไรอาจจะลดลงบ้างแต่ก็ยังได้กำไร อย่างตอนนี้กำไรก็เหลือประมาณ 15% จากก่อนหน้านั้นกำไรประมาณ 30% เพราะการผลิตน้ำพริกต้นทุนสูง ยิ่งปีหน้าสินค้าเกษตรแพงขึ้นกำไรก็คงเพิ่มขึ้นมากไม่ได้ แต่ยังสามารถมีการเติบโตได้บ้าง" ประสิทธิ์ กล่าว

หากมองในแง่ตลาด ถ้าต้นทุนเพิ่ม ผู้ผลิตก็น่าจะเพิ่มราคาสินค้า แต่สำหรับน้ำพริกหรือธุรกิจอาหารอื่น ประสิทธิ์ กล่าวว่า แม้ค่าแรงจะขึ้น ต้นทุนสินค้าเกษตรขึ้น ทุกอย่างขึ้นหมด รวมทั้งยอดขายก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถฉวยโอกาสขึ้นราคาได้ในทันที เพราะนอกจากจะผิดจรรยาบรรณแล้วยังผิดกฎที่ว่าหากจะขึ้นราคาต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน แล้วที่ผ่านมาการขึ้นราคา 3 ปี จะขึ้นราคาหนึ่งครั้ง สำหรับการขึ้นราคาครั้งต่อไปคาดว่าน่าจะเป็นภายในปีนี้

"อีกสาเหตุหนึ่งที่เราไม่ได้กำไรมาก เพราะเราไม่ได้คิดจะฉวยประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์ต่อค่าเงินบาทที่อ่อนตัว เรากะจะเก็บดอลลาร์ไว้เราก็ไม่ทำ แล้วการเจรจาซื้อขายน้ำพริกที่ส่งออก เราก็ตกลงราคากันตามค่าเงินบาท ณ วันที่ซื้อ แม้จะจ่ายกันเป็นดอลลาร์ เรียกว่าเราเอากำไรเท่าเดิมตามค่าเงินบาท เพราะลูกค้าก็รู้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเหมือนกับที่เรารู้ ตอนนี้ราคาน้ำพริกจะตกประมาณ 1 ล้านบาที่ 20 ฟุตคอนเทนเนอร์ คิดมาเป็นดอลลาร์เท่าไรก็เท่านั้น" ประสิทธิ์ กล่าว

ปัจจุบันน้ำพริกแม่ศรีมีกำลังการผลิต 3 ตันต่อวัน ยังเหลือกำลังการผลิตที่สามารถเพิ่มได้อีกเท่าตัว โดยสับเปลี่ยนสินค้าผลิตวันละชนิด และน้ำพริกแม่ศรียังมีแนวโน้มขยายการผลิตเพิ่มอีก โดยจะสร้างโรงงานผลิตที่ประเทศมาเลเซีย แล้วให้บริษัทท้องถิ่นเป็นผู้ทำตลาด ซึ่งจะได้ผลดีในแง่การผลิตจากเรื่องของภาษี และการสนับสนุนด้านภาษีที่ดินและโรงเรือนจากรัฐบาลมาเลเซีย

ประสิทธิ์คาดว่า จะมีการสรุปเรื่องโรงงานในมาเลเซียได้ในปีนี้ แล้วหากทุกอย่างลงเอย จะใช้โรงงานที่มาเลเซียเป็นฐานการส่งออกน้ำพริกแถบเอเชีย รวมทั้งแข่งด้านการค้ากับผู้ผลิตน้ำพริกในแถบสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีตลาดในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม ซึ่งจะมีการขอตราอาหารอิสลามให้ถูกต้อง

สุดท้ายคำแนะนำสำหรับคนที่จะทำน้ำพริกส่งออก ประสิทธิ์กล่าวว่าค่อนข้างยาก เพราะในปีหน้าอเมริกาจะใช้กฎหมายใหม่ ผู้ผลิตอาหารส่งออกจะต้องมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจสอบอาหาร ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนในส่วนนี้เกือบ 3 ล้านบาท นอกเหนือจากการลงทุนในส่วนอื่น

แต่ถ้าเป็นในรูปของธุรกิจน้ำพริกในครัวเรือนขายในประเทศ ใครมีฝีมือก็ลองทำกันดูได้ไม่เสียหาย สิ่งที่พึงระวังก็คือต้นทุนที่สูง และรสชาติที่จะถูกลิ้นผู้บริโภคหรือไม่

เส้นทางเดินของซอฟต์แวร์สู่ตลาดต่างประเทศ

ใครจะรู้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีราคา 3 หมื่นกว่าบาท 1 เครื่องก็สามารถผลิตสินค้าทำเงินมหาศาลให้ได้หากคุณมีสมอง ความคิดสร้างสรรค์ และมีแนวคิดเรื่องการตลาด

เรื่องแบบนี้เคยเกิดกับบิลเกตต์-เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ก็เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งที่เขายังเป็นแค่เด็กนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ด จากวันนั้นจนถึงวันนี้บิล เกตต์ ก็ยังไม่ได้ดีกรีจากมหาวิทยาลัยใด แม้ว่าซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ที่เขาคิดขึ้น จะถูกนำไปใช้งานอยู่บนพีซีหลายร้อยล้านเครื่องทั่วโลกในปัจจุบันก็ตาม

วัฒนา เชียงกูล ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น หากซอฟต์แวร์ด้านการบำรุงรักษาที่เขาและเกรียงไกร ดำรงรัตน์ ผู้จัดการแผนกบำรุงรักษาและไอทีพร้อมทั้งพนักงานอีก 6-7 ในบริษัทโทเท็มส์ ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาประสบความสำเร็จจากการวางจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย

การผลิตซอฟต์แวร์ส่องออกนอกนำเงินดอลลาร์เข้าประเทศ นับเป็นความหวังของบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เพราะเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ อาศัยเพียงเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ไม่กี่ตัว มันสมองที่ใช้คิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้ใช้ ย่อมหมายถึงผลกำไรมหาศาลที่จะตามมา

วัฒนาเล่าว่า ซอฟต์แวร์ด้านบำรุงรักษาที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้น มาจากประสบการณ์ตลอดชีวิตการทำงาน 20 ปีที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านบำรุงรักษามาตั้งแต่สมัยทำงานอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จนกระทั่งออกมาตั้งบริษัทโทเท็มส์เป็นของตัวเอง

ธุรกิจของโทเท็มส์ รับติดตั้งระบบไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรม รับบำรุงรักษาระบบงานภายในองค์กรต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในเรื่องเหล่านี้ วัฒนาจึงได้ติดต่อนำซอฟต์แวร์บำรุงรักษาจากต่างประเทศมาจำหน่ายควบคู่กันไปด้วย

การทำตลาดซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมา 2 ปีแม้จะขายได้ แต่วัฒนาก็พบว่าซอฟต์แวร์ของต่างประเทศมีราคาแพงเกินไป ให้ผลกำไรไม่ดีนัก คุณสมบัติของซอฟต์แวร์นอก ในบางครั้งไม่เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้งานของคนไทยเท่าที่ควร

"ยกตัวอย่าง ซอฟต์แวร์ของต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะเป็นระบบออนไลน์ ใช้งานทีเดียวพร้อมๆ กันหลายคน เชื่อมต่อกับหลายหน่วยงาน แต่ในเมืองไทยนั้น ระบบงานประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากผู้ใช้เพียงคนเดียว หลังจากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันต่างกันตรงนี้ ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับความต้องการ" เกรียงไกรชี้แจง

นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ต่างประเทศมักจะเป็นแพ็กเก็จสำเร็จรูปที่ออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการทำงานเยอะมาก การใช้งานจึงค่อนข้างสลับซับซ้อนต้องเสียค่าจ้างที่ปรึกษา

"พื้นความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ของคนในสหรัฐอเมริกาจะใกล้เคียงกัน การออกแบบจะเหมาะกับคนที่มีพื้นความรู้อยู่แล้ว แต่สำหรับเมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้น พื้นฐานความรู้ของเราไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับคนไทยที่จะใช้ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ"

จากปัญหาเหล่านี้เองทำให้วัฒนาและทีมงานในบริษัทโทเท็มส์ ตัดสินใจพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นเป็นของตัวเอง โดยนำเอาประสบการณ์และข้ออ่อนด้อยของซอฟต์แวร์ต่างประเทศ มาพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์บำรุงรักษาขึ้นมาเอง

"เป้าหมายของการพัฒนาซอฟต์แวร์มี 2 อย่าง จะเอาเทคโนโลยีนำ หรือจะเอาการใช้งานสูงสุดของลูกค้าเป็นตัวนำ ซึ่งเราเลือกเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้วิ่งตามเทคโนโลยี"

เครื่องมือ (TOOL) ที่วัฒนาเลือกมาใช้ในการออกแบบซอฟต์แวร์ จึงเป็นเครื่องมือง่ายๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ โปรแกรมวิช่วลเบสิก ซึ่งเน้นความง่ายในการออกแบบและใช้งาน

แน่นอนว่า ความผิดพลาดมักมาก่อนความสำเร็จ ซอฟต์แวร์บำรุงรักษาเวอร์ชั่นแรกที่พัฒนาขึ้นมานั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร เขาพบว่าเป็นเพราะโปรแกรมเมอร์ต้องการใส่ฟังก์ชั่นต่างๆ ลงไปให้มากที่สุด ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

วัฒนาและทีมงานใช้เวลา 1 ปีเต็มปรับปรุงแก้ไข จนกลายมาเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 นำออกสู่ตลาดด้วยความมั่นใจ

เกรียงไกร เล่าว่า ซอฟต์แวร์ของโทเท็มส์จะมีเฉพาะฟังก์ชั่นที่ลูกค้าต้องการใช้งานจริงๆ เท่านั้น ในจุดนี้เองนอกจากง่ายในการใช้งานแล้ว ยังทำให้ต้นทุนของสินค้าต่ำลงไปด้วยนั่นหมายถึงกำไรที่จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ด้วยราคาที่ต่ำกว่าซอฟต์แวร์ต่างประเทศเท่าตัว และมีจุดเด่นในความง่ายในการใช้งานของลูกค้า ในวันนี้วัฒนามีลูกค้าที่ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ราย ทำรายได้ให้กับเขาไม่น้อย และกำลังถูกนำออกวางจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่วัฒนาเคยนำซอฟต์แวร์ของเขาเข้ามาทำตลาด

"ตอนแรกเขายังไม่สนใจ แต่ตอนหลังพอมาเห็นราคา และระบบการทำงาน ก็เลยติดต่อขอนำกลับไปขายที่มาเลเซีย เวลานี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้ คาดว่าคงไม่เกินปีหน้าคงวางขายได้"

นอกจากบริษัทในมาเลเซียแล้ว บริษัทยูคอมก็ติดต่อจะนำไปทำตลาดในต่างประเทศให้ วัฒนาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่โทเท็มส์ขาดก็คือ ช่องทางการจำหน่าย หากได้พันธมิตรที่มาช่วยในเรื่องการตลาดมาเสริมแล้ว การทำเงินจากการขายซอฟต์แวร์ในต่างประเทศย่อมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ในทัศนะของราเมศร์ ศิลปพรหม กรรมการผู้จัดการ บริษัทซอฟต์สแควร์ 1999 แล้ว ตลาดต่างประเทศก็เหมือนกับการขยายสาขาออกไปต่างจังหวัด

"ความต้องการของลูกค้าไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่ได้แตกต่างกัน สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือความพร้อมในเรื่องของคนที่จะมาดูแลระบบงานให้" ราเมศร์สะท้อนแนวคิด

ซอฟต์สแควร์ 1999 เป็นหนึ่งซอฟต์แวร์เฮาส์ไม่กี่ราย ที่สามารถทำเงินรายได้เข้าประเทศไทยจากธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์

ราเมศร์ตั้งซอฟต์สแควร์ 1999 ขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ลงขันร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน และจากซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กๆ ที่มีเพียงแค่ 3 คน เวลานี้ซอฟต์สแควร์กลายเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีพนักงานกว่า 100 คน ทำธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์ตามคำสั่งของลูกค้า (TAILOR MADE) รับแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ระบบงานเฉพาะด้าน

แม้ทุกวันนี้ซอฟต์สแควร์เป็นเพียงซอฟต์แวร์เฮาส์ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ออกแบบวางระบบคอมพิวเตอร์แบบเบ็ดเสร็จ หรือ ซิสเต็มส์อินทิเกชั่นส์ (เอสไอ) แต่ด้วยขนาดขององค์กร เมื่อบวกกับบัญชีรายชื่อลูกค้า 300 รายในมือ ก็ไม่อาจมองข้ามซอฟต์แวร์เฮาส์รายนี้ไปได้

"คอนเซ็ปต์ของเราคือ ระบบที่ออกแบบจะต้องง่ายต่อการใช้ และที่สำคัญคือ เราใช้ระยะเวลาในการพัฒนาสั้น เพราะเรามีคนอยู่เยอะ ตรงนี้คือสิ่งที่แตกต่างที่ซอฟต์แวร์เฮาส์อื่นๆ ไม่มี" ราเมศร์เล่า

เมื่อกลางปีที่แล้วใบออเดอร์จากห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ จากประเทศฝรั่งเศสมาเปิดสาขาในเมืองไทย ให้ติดตั้งระบบฮาร์ดแอนด์สโตร์ให้สาขาแรกก็ตกมาอยู่ในมือของซอฟต์สแควร์

ราเมศร์เล่าว่า เงื่อนไขที่ซอฟต์สแควร์ได้รับในเวลานั้น คือ การออกแบบและติดตั้งระบบงานฮาร์ด-แอนด์สโตร์ ประกอบไปด้วย ระบบจัดซื้อ ระบบสโตร์ และระบบเงินเดือน ซึ่งระบบทั้งหมดนี้จะต้องสามารถทำงานร่วมกับระบบคิดเงิน ณ จุดขาย (POINT OF SALES) ที่ไอบีเอ็มติดตั้งอยู่แล้ว โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะต้องติดตั้งให้เสร็จทันกำหนดเปิดห้างคาร์ฟูร์สาขาแรกในไทย ซึ่งมีเวลาติดตั้งและทดสอบเพียงแค่ 6 เดือน

"ยอมรับเลยว่าเป็นงานที่ยากเพราะก่อนหน้าที่คาร์ฟูร์จะว่าจ้างเรา เขาจ้างบริษัทฝรั่งแห่งหนึ่งในแคนาดาเป็นคนวางระบบงานนี้ให้ แต่ฝรั่งทำไม่ทันก็เลยมาจ้างเรา เขากะว่าพอฝรั่งทำเสร็จก็จะเอาระบบไปติดตั้งแทนระบบของเรา แต่เขาก็ยังทำไม่เสร็จ"

หลังจากไม่ทำให้เจ้าของงานผิดหวัง ซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กๆ แห่งนี้มีโอกาสสร้างผลงานออกไปยังต่างประเทศ

ซอฟต์สแควร์ได้รับสัญญาว่าจ้างให้ติดตั้งระบบงานฮาร์ดแอนด์สโตร์ ในสาขาของคาร์ฟูร์ในประเทศต่างๆ ในย่านเอเชีย เช่น ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมทั้งสาขาของคาร์ฟูร์ในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลาไม่ช้า ที่จะต้องนำระบบงานของซอฟต์สแควร์เข้าไปติดตั้งด้วย

ราเมศร์เล่าว่า การติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ในต่างประเทศนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากในเมืองไทย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มก็คือ การเขียนภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพิ่มเติมลงไปในระบบควบคู่กับภาษาอังกฤษ

นอกเหนือจากรายได้จากการวางระบบให้กับโครงการที่ได้รับเป็นก้อนใหญ่แล้ว ยังมีรายได้จากค่าจ้างในการดูแล และบำรุงรักษาระบบ ที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปให้บริการ ซึ่งจะเป็นรายได้ประจำที่ทำเงินให้กับบริษัทต่อเนื่องอีกหลายปี รวมแล้วเป็นเงินเกือบล้านดอลลาร์สหรัฐ

"งานติดตั้งระบบ ไม่เหมือนกับการขายซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ขายแล้วก็แล้วกัน แต่จะต้องมีเรื่องดูแลระบบ บำรุงรักษา ก็เป็นรายได้ที่จะได้รับต่อเนื่อง เพราะเราต้องส่งคนไปดูแลระบบงานให้เขาด้วย ซึ่งเขาก็จะคิดค่าจ้างเป็นวัน" ราเมศร์เล่า

เมื่อสามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ราเมศร์ก็เริ่มมองธุรกิจในต่างแดนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ต้นปีนี้เขาจะตั้งบริษัทขึ้นมาอีกแห่งเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะ โดยจะขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้ในช่วง 8 ปีแรก

ผลงานที่ฝากไว้กับคาร์ฟูร์ จึงเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับซอฟต์สแควร์ที่เขาเชื่อว่าหาลูกค้าอื่นๆ ได้ไม่ยากเย็นนัก ราเมศร์เล่าว่าเวลานี้มีลูกค้าที่เป็นซัปพลายเออร์ของคาร์ฟูร์ 2-3 รายที่จะมาเป็นลูกค้า รอเพียงแค่เซ็นสัญญาเท่านั้น

ในทัศนะของราเมศร์แล้ว การขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศของซอฟต์แวร์เฮาส์ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศมีมาก และมีขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตซอฟต์แวร์ประเภทใด และต้องสร้างจุดแข็งของตัวเองให้แตกต่างจากคู่แข่ง

"อย่างของเราเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ที่ผลิตตามคำสั่งของลูกค้า จุดขายของเราคือ เรื่องของกำลังคนที่เรามีอยู่ 100 คน ไม่มีซอฟต์แวร์เฮาส์ในประเทศไหน ไม่ว่าในฮ่องกง หรือสิงคโปร์ที่มีคนมากขนาดนี้ ตรงนี้เองที่เราถือว่าเป็นจุดขายที่พร้อมจะให้บริการกับลูกค้าและติดตั้งได้ทันเวลา" ราเมศร์เล่าให้ฟัง

เช่นเดียวกับ วัฒนา เขาเชื่อว่าฝีมือการพัฒนาซอฟต์แวร์ของคนไทยไม่แพ้ต่างชาติ ขาดแต่ประสบการณ์ทางด้านการทำตลาดเท่านั้นที่แตกต่างกัน

นั่นคือเส้นทางเดินของโทเท็มส์และซอฟต์สแควร์ จุดประกายเล็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจซอฟต์แวร์ ที่ใช้ต้นทุนต่ำ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่ตัว มีเพียงสมองและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ และค่าเงินที่ผันผวนอยู่ในเวลานี้ ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเวลานี้หน่วยงานรัฐบาลก็มีการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ขึ้น ภายใต้โครงการซอฟต์แวร์ปาร์ค แต่ก็ยังต้องให้การสนับสนุนในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุน และการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์จะต้องกำหนดเป้าหมายของตัวเองว่า จะเลือกระหว่างการเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ หรือซอฟต์แวร์แพ็กเกจนั้นจำเป็นต้องอาศัยกลไกการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีช่องทางจำหน่ายกระจายออกไปยังร้านค้าต่างๆ ในขณะที่การทำตลาดของซอฟต์แวร์เฮาส์จะอาศัยผลิตภัณฑ์และตัวองค์กรเป็นตัวนำ

เพราะใครจะรู้ว่าในอนาคต ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของเมืองไทยอาจจะเป็นเหมือนกับบิล เกตต์ เจ้าพ่อซอฟต์แวร์ในเวลานี้ก็เป็นได้

เอ็กซ์ปอร์ตการ์ตูนญี่ปุ่น คนไทยก็ทำได้

ใครจะรู้ว่าตัวการ์ตูนยอดนิยมจากแดนอาทิตย์อุทัยที่โลดแล่นอยู่บนหน้าจอทีวี ขวัญใจคุณหนูๆ ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็น ดร. สลัมป์กับหนูน้อยอาราเร่ เซลเลอร์มูน ลันม่า สแลมดังส์ ดรากอนบอล ส่วนหนึ่งนั้นผลิตมาจากแผนกการ์ตูนเล็กๆ ของบริษัทกันตนา

แม้เป็นเพียงแค่การขายแรงงานให้กับบริษัทญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่าเป็นผลิตผลทางด้านแรงงาน ที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศมาเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปีมาแล้ว ยิ่งในภาวะที่พิษค่าเงินบาทตกต่ำเช่นนี้การทำเงินสกุลต่างประเทศได้ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี

บริษัทกันตนาไม่ได้เป็นเพียงผู้สร้างละครหรือภาพยนตร์ระดับท้องถิ่นของไทยเท่านั้น แต่ยังมีแผนกการ์ตูนแฝงตัวอยู่และทำธุรกิจอย่างเงียบๆ มาตลอด

แผนกการ์ตูนของกันตนาเกิดขึ้นตามประสานักธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง ต้องการหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม แน่นอนว่าการ์ตูนก็เป็นส่วนหนึ่งของความฝันของผู้ผลิตละคร และภาพยนตร์ของเมืองไทย ที่อยากผลิตภาพยนตร์การ์ตูนเป็นของตัวเอง

กันตนาเริ่มต้นแสวงหาความรู้การผลิตการ์ตูนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตการ์ตูนบนจอทีวีรายใหญ่ของโลก โดยส่งคนไปฝึกงานที่บริษัทโตเอะเจ้าของการ์ตูนชื่อดัง เช่น อาราเร่ เซลเลอร์มูน ดรากอนบอล แต่ยังไม่ทันเริ่มผลิตการ์ตูนเป็นของตัวเอง ก็ได้รับว่าจ้างจากบริษัทโตเอะให้ผลิตการ์ตูนให้ในลักษณะเมดทูออร์เดอร์

รูปแบบงานที่กันตนาได้รับว่าจ้างก็คือ บริษัทโตเอะจะกำหนดเนื้อเรื่อง รวมทั้งบุคลิกและท่าทางทั้งหมดของตัวละคร หลังจากนั้นจะส่งภาพต้นแบบมาให้เจ้าหน้าที่ของกันตนาจะลงลายเส้น และระบายสีตัวการ์ตูนในอิริยาบถต่างๆ ตามที่กำหนดมาและส่งกลับไปที่ญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทำลงบนแผ่นฟิล์มบันทึกเสียงอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำออกฉาย

บริษัทโตเอะจะส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการวาด เช่น กระดาษ สี แผ่นใสมาให้ ส่วนกันตนาจะต้องลงทุนจ้างพนักงานประจำมาวาดรูป โดยรายได้ที่รับจากบริษัทโตเอะจะคิดจากชิ้นงาน ภาพการ์ตูนที่ลงลายเส้นและระบายสีเสร็จเรียบร้อยที่อยู่ในรูปของแผ่นใสขนาดเอ 4 ดังนั้นรายได้ที่รับจะขึ้นอยู่กับว่าพนักงานจะสามารถผลิตงานได้มากน้อยเพียงใด

"เงื่อนไขที่สำคัญคือ เวลา เราจะต้องผลิตให้ทันตามที่เขากำหนดเวลามา ในแต่ละเดือนพนักงานคนหนึ่งจะผลิตได้ประมาณ 100 ชิ้นต่อเดือน ส่วนรายได้ที่ทำได้ใน 1 แผ่นจะแบ่งเป็นรายได้ของพนักงาน 30% ที่เหลืออีก 70% จะเป็นของบริษัท" สันุชา ดิษยบุตร ผู้จัดการแผนกการ์ตูน กล่าว

นอกเหนือจากการ์ตูนจากค่ายโตเอะที่โลดแล่นบนจอทีวีแล้ว ภาพยนตร์การ์ตูนขององค์การยูเนสโกที่จะแพร่ภาพไปทั่วเอเชีย ก็ผลิตจากแรงฝีมือของกันตนาด้วย

กระนั้นก็ตาม สันุชา บอกว่า รายได้ที่ได้รับจากการรับจ้างเขียนการ์ตูนในเวลานี้พอแค่เลี้ยงพนักงานในแผนก 25 คน ยังไม่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเท่าใดนัก เพราะงานที่กันตนารับมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการผลิตทั้งหมด ยังต้องมีขั้นตอนการถ่ายทำลงบนแผ่นฟิล์มด้วย

นอกจากนี้ขั้นตอนการผลิตการ์ตูนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากแรงงานคนมาเป็นการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าสี และวัสดุต่างๆ ลง นั่นก็หมายความว่ากันตนาจะต้องเลือกลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อทำธุรกิจต่อ หรือจะยุติเพียงแค่นี้ เพราะงานที่ใช้แรงคนจะหมดลงในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เพราะผู้ผลิตการ์ตูนจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบแล้ว

กันตนาไม่ใช่เป็นรายเดียวที่รับจ้างผลิต แต่ยังมีผู้ประกอบการอื่นๆ ที่รับจ้างวาดการ์ตูนให้กับค่ายหนังในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นค่ายยักษ์อย่าง วอลท์ดิสนีย์ และประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน

กระนั้นก็ตาม ความฝันที่จะผลิตการ์ตูนเป็นของตัวเองก็ยังอยู่ในใจของผู้บริหารกันตนา โดยอาศัยเวลาว่างของพนักงาน เริ่มออกแบบตัวการ์ตูน และวางโครงเรื่องขึ้นมาเองเพื่อหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีภาพยนตร์การ์ตูนเมดอินไทยแลนด์ออกฉาย

นอกจากนี้แผนกคอมพิวเตอร์กราฟิกของกันตนา ซึ่งรับจ้างออกแบบและผลิตงานให้กับวงการโฆษณา เป็นอีกส่วนหนึ่งของกันตนาที่สามารถทำเงินรายได้เข้าประเทศ

ยิ่งในปัจจุบันการผลิตโฆษณาใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเป็นส่วนประกอบของการผลิตด้วยแล้ว ความต้องการงานประเภทนี้ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าการสร้างฉากที่สร้างขึ้นมาเอง

ออร์เดอร์งานที่กันตนาได้รับทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากเอเยนซีในประเทศเท่านั้น แต่มาจากประเทศในแถบบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น กัมพูชา ลาว พม่า ที่มาใช้บริการของกันตนา

แม้ว่ายังทำรายได้ให้ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเงินเข้าประเทศในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้

รองเท้าไทยไปเมืองแฟชั่น ต่อให้เผาจริงก็ยังต้องโต

อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติที่คนไทยที่เคยไปช้อปปิ้งเมืองนอก โดยเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศสจะไปเดินซื้อรองเท้าแฟชั่นตามซูเปอร์สโตร์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต แทนที่จะเป็นร้านแบรนด์เนมหรูๆ

ดังนั้นจึงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารองเท้าแฟชั่นที่ผลิตโดยคนไทย มีวางจำหน่ายอยู่ในไฮเปอร์มาร์เก็ตกว่า 100 แห่ง ในประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศอื่นๆ แถวยุโรปอีก ไม่ว่าจะเป็น นอร์เวย์ สวีเดน และเยอรมนี

"รองเท้าของบริษัท เน้นตลาดลูกค้าระดับกลาง และทำเฉพาะรองเท้าแฟชั่นของผู้หญิงเท่านั้น เพราะเป็นเซกเมนต์หนึ่งของรองเท้าส่งออกที่มีมูลค่าอยู่ในอันดับ 3 ของประเภทรองเท้าทั้งหมดที่มีผู้ผลิตไทยส่งออก" เกรียงไกร การุญงามพรรณ ผู้จัดการ บริษัท ก. เกริกไกร ฟุตแวร์ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกรองเท้าของประเทศไทยมีอยู่เกือบแสนล้านบาทในปีหนึ่งๆ เซกเมนต์การส่งออกแบ่งได้ 3-4 ประเภท ส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือรองเท้ากีฬา รองมาคือรองเท้าผู้ชายและรองเท้าผู้หญิงตามลำดับ และประเภทรองเท้าแตะ

สำหรับรายได้ของบริษัทฯ เกรียงไกร กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกรวมของ บริษัท ก. เกริกไกรในปี 2540 ที่ผ่านมา คาดว่าจะตกประมาณ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2539 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกของบริษัทประมาณ 80 ล้านบาท จากราคารองเท้าโดยเฉลี่ยคู่ละ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับรองเท้าผ้า 10-14 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับรองเท้าหนังแท้และรองเท้าหนังเทียม 6-7 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปี 2540 เป็นผลมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่จำนวนสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูที่แล้ว คือก่อนหน้านี้ประมาณ 5-6 เดือน ลูกค้าในยุโรปบางส่วนย้ายไปสั่งออเดอร์ที่เวียดนาม เพราะได้ราคาถูกจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าของเวียดนาม ผู้ผลิตในเวียดนามยังมีต้นทุนค่าแรงต่ำ มีการสนับสนุนเรื่องภาษีอย่างดี ในขณะที่โรงงานผู้ผลิตรองเท้าของไทยต้องเจอปัญหาดังกล่าว

"ผู้ผลิตรองเท้าแฟชั่นส่งออกตอนนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ปัญหาเรื่องค่าแรงงานก่อนหน้านั้น 2 ปี เป็นปัญหาใหญ่ถึงกับทำให้โรงงานผู้ผลิตในกลุ่มเดียวกันที่มีอยู่กว่า 10 รายต้องปิดตัวไปกว่าครึ่ง บางส่วนปิดเพราะเรื่องของต้นทุนโดยตรงทำให้พาร์ตเนอร์ โดยเฉพาะชาวไต้หวันที่เข้ามาลงทุนเปิดโรงงานแล้วย้ายออกไป บางรายไม่มีออร์เดอร์เลยต้องปิดเหมือนกัน" เกรียงไกร กล่าว

แต่การที่บริษัทฯ เป็นบริษัทหนึ่งที่สามารถอยู่รอดมาได้ดีนั้น เป็นเพราะการดำเนินงานในลักษณะของธุรกิจครอบครัว ซึ่งสามารถคุมเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ และดูแลงานได้ทั่วถึงกว่าบริษัททั่วไป

"และอีกสาเหตุก็เป็นเพราะเราส่งออกสินค้าด้วยตัวเราเอง เรามีแค่เอเยนต์ซึ่งทำงานเหมือนเซลล์ของบริษัทกินค่าคอมมิชชั่น ไม่ได้ผ่านบริษัทการค้า ทำให้กำไรที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ต้องถูกตัดทอนไปที่อื่น"

อย่างไรก็ดีสำหรับปี 2541 ที่พูดกันว่าจะเป็นปีเผาจริง ถึงขั้นที่คาดการณ์กันว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยจะเท่ากับศูนย์หรือติดลบนั้น เกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับบริษัทเขาแล้ว ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นทุกวันนี้ เขาเชื่อว่าบริษัทจะมีอัตราการเติบโตได้อย่างแน่นอน

"เพราะตลาดที่จะมีผลกระทบกับเราโดยตรง คือตลาดยุโรป ไม่ใช่ตลาดในไทย ตอนนี้ตลาดยุโรปก็ยังอยู่ในสภาวะปกติดี แต่เรากลับได้เปรียบตรงที่มีแรงหนุนการเติบโตของบริษัทอีกแรงจากค่าเงินบาท" เกรียงไกร กล่าว

บริษัท ก. เกริกไกรฯ มีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ. สุพรรณบุรี ซึ่งถือว่าอยู่นอกเขตส่งเสริมของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้ขาดสิทธิ์การยกเว้นเรื่องภาษีและเงินสนับสนุน สิ่งที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐมีเพียงการขอคืนภาษีส่งออกบางประเภทเท่านั้น

"ภาษีส่งออกรัฐจะกำหนดประเภทสินค้าที่ส่งออกแล้วบอกว่าเราจะขอคืนภาษีได้เท่าไร อย่างของบริษัทเราได้คืนภาษีประมาณ 1.1% ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลกำไรของสินค้าที่เราต้องใช้สิทธิ์ขอคืนจากรัฐ" เกรียงไกร กล่าวพร้อมพูดถึงกำลังการผลิตว่า

ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรองเท้าเฉลี่ยประมาณ 2,000 คู่ต่อวัน ขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า ถ้าเป็นรองเท้าผ้าจะผลิตได้ถึง 3,000 คู่ แต่ถ้าเป็นหนังจะได้ประมาณ 1,000 คู่ วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตเป็นของในประเทศ มีเพียง 10-20% ที่ต้องนำเข้า คือส่วนประกอบที่ใช้ครอบด้านหน้าของรองเท้า

"สินค้าที่ผลิต เนื่องจากเราผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการตามฤดูกาล คือช่วงฤดูร้อนจะเป็นรองเท้าผ้าหรือหนังบ้างประปราย ในขณะที่ถ้าเป็นฤดูหนาวรูปแบบของรองเท้าส่วนใหญ่จะเป็นหนังประเภทต่างๆ สินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจึงส่งออก 100% หากจะนำมาขายในประเทศก็จะเป็นการผิดจรรยาบรรณ ถ้าลูกค้าเห็นเรานำสินค้ามาวางขายในประเทศด้วยก็อาจจะหมดความเชื่อถือกันได้" เกรียงไกร กล่าว

จากภาวะที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ก็มีผลกระทบต่อบริษัทฯ อีกเรื่องหนึ่งคือ ทำให้เกรียงไกรต้องปรับแผนเดิมของบริษัท ที่ตั้งใจว่าต้นปี 2541 จะเริ่มผลิตรองเท้าในแบรนด์ของบริษัทเองออกขายในประเทศ ต้องระงับไปก่อน แล้วหันมาเน้นที่ส่งออก 100% เหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าน่าจะทำกำไรให้บริษัทได้ดีกว่า

ทั้งนี้เป็นที่เชื่อได้ว่า หลายคนคงจะเห็นด้วยกับความคิดของเกรียงไกร เพราะยามนี้สำหรับคนไทยหากใครคิดจะซื้ออะไร คงไม่มีใครอยากควักกระเป๋าซื้อง่ายๆ อย่างน้อยก็อาจจะตลอดปี 2541 นี้

กองทัพมดซึ่งเป็นธุรกิจขนาดย่อมที่เอ่ยถึงมานี้ อาจเป็นคำตอบให้กับผู้ที่กำลังแสวงหาทางฟื้นตัวอยู่ได้บ้างในยามนี้ ประสบการณ์ของการเป็นลูกจ้างในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู คงสอนบทเรียนจำนวนมากให้แก่ผู้ที่เคยมีความใฝ่ฝันอยากเป็น "entrepreneur หรือผู้ประกอบการรายย่อย" ซึ่งในวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มต้นชีวิตตัวเองใหม่ ด้วยฐานที่เท่าเทียมกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us