เมื่อศิษย์เก่านายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์มาจับธุรกิจที่ใกล้ล้มละลายจะเกิดอะไรขึ้น
และถ้าศิษย์เก่าเวสต์ปอยต์คนนั้นคือ อัลเบิร์ต ดันแลป ล่ะ มันก็ระเบิดกันไปทุกด้านน่ะสิ
อัลเบิร์ต ดันแลป หรือ อัล เลื่อยไฟฟ้า บางทีก็ แรมโบ้สวมสูท เป็นฉายาของนักบริหารผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งแห่งทศวรรษ
90 อัลมักจะถูกเอ่ยอ้างถึงในด้านผู้เชี่ยวชาญการพลิกโฉมฐานะการเงินของบริษัทที่มีอาการเจียนตาย
วิธีที่อัลใช้ในการฟื้นฐานะการเงินของบริษัทประกอบด้วยสิ่งที่นักบริหารทั่วไปรู้จักกันดี
ไม่ว่าจะเป็นตัดทอนค่าใช้จ่าย ตัดส่วนงานที่ไม่ใช่ธุรกิจแกนกลางซ้ำยังเป็นตัวสร้างยอดขาดทุน
เลิกจ้างพนักงานจำนวนมหาศาล เน้นทุ่มโฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าและองค์กร
และเน้นเอาใจผู้ถือหุ้นตลอดจนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเร่งสร้างตัวเลขผลประกอบการ
วิธีดังกล่าวจะแตกต่างแค่เพียงว่าเบื้องหลังการทำงานของอัลนั้น มันคือบุคลิกการบริหารกองร้อย
ที่ซึ่งการตัดสินใจจะต้องรวดเร็วและเฉียบขาด บนนโยบายที่ความปรานีสงสารไม่มีทางจะแผ้วพานเข้ามาได้
และวิธีเหล่านั้นจะพิเศษแค่เพียงว่า ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา บริษัท 10 รายใน
3 ทวีปที่อัลเข้าจับ ทุกบริษัทล้วนสามารถพลิกโฉมฐานะทางการเงินได้อย่างหลังมือเป็นหน้ามือทีเดียว
ผลงานการฟื้นฟูกิจการอันนำชื่อเสียงมาสู่อัลมากที่สุดคือ การบริหารบริษัทสก็อตต์
เพเพอร์
ก่อนอัลจะเข้ามาในเดือนเมษายน 1994 บริษัทแห่งนี้มีตัวเลขขาดทุนปี 1993
สูงถึง 277 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับแบกโครงสร้างต้นทุนที่บวมฉุ มีสหภาพแรงงานซึ่งพูดจาอะไรด้วยไม่ได้เลย
ในขณะที่คณะผู้บริหารขาดโฟกัสและวินัย จึงไม่น่าประหลาดเลยที่ราคาหุ้นของบริษัทไปไม่ถึงไหนเป็นเวลากว่า
7 ปี
ปฏิบัติการฉับพลันของอัลเริ่มทันทีที่เข้าเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานบริษัท
อัลปลดพนักงานไปกว่า 11,000 คน หรือ 35% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดของสก็อตต์ตัดขายทรัพย์สินไป
2,400 ล้านดอลลาร์ สำหรับในด้านสหภาพแรงงาน เมื่อพบว่าไม่สามารถฟันฝ่าเอาชนะวัฒนธรรมเก่าอันแน่นเหนียวของบริษัท
อัลใช้วิธีย้ายสำนักงานใหญ่จากเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไปยังเมืองโบคา
เรตัน มลรัฐฟลอริดาทางตอนใต้สุดของสหรัฐ
หลังจากนั้นมา 20 เดือน ราคาหุ้นของสก็อตต์พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น
200 เปอร์เซนต์จากก่อนยุคของอัล ส่งผลให้ค่าตัวของบริษัทสูงถึง 6,500 ล้านดอลลาร์
และแล้วอัลก็ผนวกกิจการสก็อตต์กับบริษัทคู่แข่งคือ คิมเบอร์ลี่-คล้าก ในเดือนธันวาคม
1995
หลังจากภารกิจสก็อตต์เพเพอร์ประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างงดงาม บิ๊กอัลเริ่มสำรวจหาเกมใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม
ซันบีมคือเป้าหมายที่แสนจะท้าทายฝีมือ
ซันบีมเป็นบริษัทอเมริกันที่เก่าแก่รวม 1 ศตวรรษ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กและผลิตภัณฑ์ใช้ในบ้านหลายหลากประเภท
ตัวเลขผลประกอบการปี 1995 ติดลบอยู่ 230 ล้านดอลลาร์ ส่วนตัวเลขรายได้และมูลค่าหุ้นของบริษัทถดถอยต่อเนื่องมาแล้ว
2 ปี ในวันที่ 18 กรกฎาคม 1996 ราคาหุ้นของบริษัทตกต่ำถึงระดับ 12.50 ดอลลาร์
ในวันรุ่งขึ้น อัลสั่งกวาดซื้อ ณ ราคาดังกล่าวเป็นจำนวน 3 ล้านหุ้น ส่งผลให้ราคา
ณ วันนั้นปิดที่ระดับสูงขึ้น 59%
สูตรท็อปบู้ตทมิฬแบบเดิมของอัลเริ่มการแสดงอีกครั้ง ด้วยการคัดเลือกทีมผู้จัดการใหม่ๆ ซึ่งล้วนเป็นคนคุ้นหน้า คือบรรดาขุนพลคู่ใจศิษย์เก่าสก็อตต์เพเพอร์ ทำสัญญาจ่ายผลตอบแทนแก่ทีมงานตามการขึ้นลงของราคาหุ้น
ตัดค่าใช้จ่ายแบบไม่ปรานี ขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจแกนหลัก และบังคับให้ทีมมาร์เก็ตติ้งต้องยึดมั่นกับแผนยุทธศาสตร์ที่มีโฟกัสชัดเจน
ซึ่งในกรณีของซันบีม หมายความว่าต้องบุกตะลุยขายสินค้าไปยังต่างประเทศ
นอกจากนั้น การทุ่มงบโฆษณาอย่างไม่เสียดมเสียดายเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจอันเฉียบขาด
เฉพาะแค่ไตรมาส 4 ของปี 1996 นั้นเอง อัลเท 12 ล้านดอลลาร์ให้โอกิลวี่แอนด์เมเธอร์อัดแคมเปญ
จนกระทั่งดัชนีวัดความนิยมรู้จักยี่ห้อสินค้าในเครือซันบีมดีดตัวขึ้น 25%
ผลลัพธ์ความสำเร็จเริ่มปรากฏออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ในรูปของการขยายตัวของยอดขายและรายได้
มาในเดือนพฤศจิกายน 1996 ระเบิดสังหารหล่นตูมใส่ภาคการผลิตของบริษัท อัลประกาศโละสายการผลิต
87% ของบรรดาผลิตภัณฑ์ 11,000 ประเภท ปิดโรงงานจาก 26 แห่งเหลือ 8 แห่ง อีกทั้งสั่งเลิกจ้างพนักงาน
6,000 ราย คิดเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งบริษัท
เลือดเย็นคือคำประณามที่อัลได้รับจากสื่อมวลชนและผู้คนทั่วไปอย่างอื้ออึง
แต่ราคาหุ้นของซันบีมพุ่งขึ้นเป็น 29.50 ดอลลาร์ และผลประกอบการไตรมาส 1
ปี 1997 รายงานว่ารายได้ของบริษัทแตะที่ระดับ 20.6 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับยอดรายรับของ
1 ปีก่อนซึ่งทำได้แค่ 6.7 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
คุรุทางบิสซิเนสสกูลหลายสำนักของสหรัฐฯ พากันหยิบสไตล์การบริหารของอัลขึ้นมาวิพากษ์เป็นที่อื้ออึง
เจฟฟรี เฟฟเฟอร์ ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์การแห่งสแตนฟอร์ด แกรดจูเอด
สกูล ออฟ บิสซิเนส เขียนบทความตีพิมพ์ในไฟแนนเชียล ไทม์ส์ ฉบับ 21/11/97
เตือนว่าอย่าให้ความสำเร็จของ อัลเบิร์ต ดันแลป ทำให้แนวการบริหารของเขากลายเป็นมาตรฐานที่ดีของการบริหารจัดการ
เพราะแม้จะเห็นกันอยู่ว่าเขาสามารถพลิกฟื้นฐานะการเงินของบริษัทที่ร่อแร่ใกล้ล้มละลายได้
แต่บริษัทเหล่านั้น 75% ถูกซื้อหรือถูกควบกิจการไปหมดแล้ว
ศ. เฟฟเฟอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ยังน่าสงสัยอยู่ว่า อัลเบิร์ต ดันแลป เป็นนักบริหารจริงล่ะหรือ
หรือว่าเขาจะเป็นแค่พ่อค้าซื้อของเก่ามาปรุงโฉมเพื่อขายต่อ เป็นแค่นักสร้างสภาพคล่องเท่านั้น
บิ๊กอัลเป็นอะไรกันแน่
ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับ 6/12/97 ได้วิเคราะห์ความเป็นอัล ดันแลป ว่า อัลเป็นพวกที่ออกจะต่อต้านนักทฤษฎีการบริหารตลอดจนบรรดานักบริหารด้วยกันเอง
โดยเชื่อว่าการศึกษาที่ได้รับจากเวสต์ปอยต์เป็นการฝึกอบรมในระบบโรงเรียน
ที่เพียงพอแล้วสำหรับการเข้าสู่วงการธุรกิจ อัลดูแคลนลูกเล่นต่างๆ ในวิชาชีพการบริหาร
และประณามผู้บริหารระดับสูงตลอดจนพวกนักหนังสือพิมพ์สายนี้ว่าเป็นพวกขี้เกียจโดยพื้นฐาน
อัลมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อมั่นในความคิดของตน มากกว่าจะสนใจวิชาวิเคราะห์ทัศนะที่ไม่ตรงกับใจของเขา
หรือหยุดสักพักเพื่อปรับความคิดของตนให้เข้ากับข้อเท็จจริงในมือ
คนที่รู้จักอัลมาช้านานเม้าธ์ว่าชายผู้นี้เป็นบุตรของกรรมกรอู่ต่อเรือในนิวเจอร์ซี่
ประโยคติดเรียวปากของเจ้าตัวคือผมทำงานเพื่อพิสูจน์ว่าตัวผมก็มีคุณค่าเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม อัลไม่ถึงกับหลงตัวเอง เพราะเจ้าตัวยอมรับว่าวิธีของตนนั้น
ไม่เหมาะประยุกต์ใช้กับบรรดาบริษัทไฮเทคหรือบริษัทที่เน้นในเรื่องของความรู้
และยังเคยกล่าวด้วยว่าคงไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่สหภาพแรงงาน ตลอดจนกลุ่มต่อต้านการเปลี่ยนแปลงมีพลังอำนาจสูงมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งแวดล้อมของทวีปยุโรป
ดิ อิโคโนมิสต์วิจารณ์ว่า ในแวดวงอุตสาหกรรมที่อัตราการขยายตัวต่ำลงมาก
อัลอาจไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างที่ผ่านมา โดยปกติแล้วบริษัทเหล่านี้ประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป
และมีความซับซ้อนของปัญหาที่หลากหลาย การแก้ไขเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ทั้งความคิด
กลเม็ดผ่อนหนักผ่อนเบา และความสามารถในการชั่งน้ำหนักสภาพการณ์
ดังนั้น ดิ อิโคโนมิสต์จึงเม้าธ์ถึงอัลว่า คุณสมบัติแห่งการไม่สงสัยตัวเอง
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อัลเบิร์ต ดันแลปประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งกับบริษัทย่ำแย่ที่สุดทั้งหลายนี้แหละ
อาจทำให้บุคคลเช่นนี้ประสบความหายนะได้หนักทีเดียวเมื่อต้องรับมือกับบริษัทส่วนใหญ่อื่นๆ