ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯ ปรับมุมมองเครดิตเพอร์เฟคฯจากระดับเสถียรภาพลงสู่ระดับลบ เหตุความสามารถทำกำไรต่ำกว่าประมาณการ แต่มีอัตราส่วนหนี้สินสูง ส่วนเครดิตหุ้นกู้คงระดับ BBB(tha) ด้าน "ชายนิด โง้วศิริมณี" ยันฐานบริษัทแข็งแกร่ง พร้อมแจงมียอดรับรู้รายได้ที่จะบันทึกในปี 48 ถึง 700-800 ล้านบาท แค่ 2 เดือนยอดขายแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท หนุนส่วนทุนดีขึ้น คาดหนี้สินสุทธิของเฟอร์เฟคฯ ลดระดับต่ำกว่า 6 เท่า เดินหน้าคุมค่าใช้จ่ายแต่คงคุณภาพงาน หวังเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ
นายชายนิด โง้วศิริมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้พยายามชี้แจงถึงการปรับมุมมองเครดิตของบริษัทจากระดับเสถียรภาพมาเป็นระดับลบ ซึ่งเป็นการรายงานในส่วนของเฉพาะปี 2547 ที่ผ่านมา ขณะที่ในปี 2548 คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการจากที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) มียอดขายถึง 950 ล้านบาท สูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่มียอดรับรู้รายได้ที่จะบันทึกในปีนี้อีก 700-800 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ามีรายได้จากการขายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งว่าปีนี้ยอดขายประมาณการไว้ 7,000 ล้านบาท
"การเปิดโครงการที่ช้าในปีที่ผ่านมาก็อาจจะมีส่วน แต่ควรที่จะพิจารณาว่ารายได้ที่ดีในปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง และผลจากรายได้ที่ขยายตัวขึ้นจะส่งผลให้ระดับหนี้สินสุทธิของบริษัท (EBITDA) มีแนวโน้มลดลงจากระดับ 8.2 เท่าตามที่ฟิทช์กังวล คาดว่าปลายไตรมาสแรก EBITDA จะอยู่ต่ำกว่า 6 เท่า แสดงให้เห็นว่ากระแสเงินมีความคล่องตัว" นายชายนิดกล่าว
ในส่วนอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) บริษัทได้กำหนดนโยบายที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายการขายและบริการให้อยู่ในระดับที่ต่ำลงและต้องลงมาให้ได้ คาดไว้ว่าจะอยู่ระดับ 14-15% ของยอดขาย ขณะที่การควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่จะควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ลดขนาดบ้านหรือวัสดุเพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ตามข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่าอัตรากำไรสุทธิในปี 47 อยู่ที่ 24.62% เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 30.80%
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รายงานถึงแนวโน้มเครดิตของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคฯว่า ได้ปรับมุมมองจากระดับที่มีเสถียรภาพเป็นลบ ขณะเดียวกันฟิทช์ฯประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของหุ้นกู้มีประกัน จำนวนทั้งหมด 3 ชุด อายุ 1.5 ปี 2 ปี และ 2.5 ปี ซึ่งมีมูลค่ารวม 1,550 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เดือนสิงหาคม 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ตามลำดับที่ BBB (tha) โดยการปรับแนวโน้มเครดิตเป็นลบของเพอร์เฟคฯ สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่าที่คาด อันมีผลให้ความยืดหยุ่นทางการเงินลดลง แม้ว่ายอดขายบ้านเดี่ยวของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4,100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาหรือเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดดังกล่าวต่ำกว่าประมาณการของบริษัทที่ระดับ 40% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าในการเปิดโครงการใหม่ในปี 47 แต่โครงการที่เปิดส่วนใหญ่จะอยู่ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ( EBITDA ) ลดลง 775 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อยอดขายรวมลดลง 19% จาก 23% ในปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลจากการเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าโอนบ้าน หลังจากที่มาตรการทางภาษีของรัฐบาลหมดลงเมื่อสิ้นปี 46
ขณะที่การขยายพัฒนาโครงการใหม่ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เอสเตท เพอร์เฟ็คท์ การซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน รวมถึงการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต มีผลให้ระดับหนี้สุทธิของเพอร์เฟคฯเพิ่มเป็น 6,400 ล้านบาท ณ สิ้นปี 47 คิดเป็น 8.2 เท่าของ EBITDA เทียบกับระดับ 4.4 เท่า ณ สิ้นปี 46
"อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเพอร์เฟคฯที่ต้องอิงรายได้เป็นรายโครงการ อาจจะมีผลต่อความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท ถึงแม้ว่าบริษัทยังมีวงเงิน ที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคารระดับ 2,600 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา อันมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทในระยะสั้นได้" บริษัท ฟิทช์ฯระบุ
นอกจากนี้ แม้ว่าบริษัทเพอร์เฟคฯคาดจะมีผลประกอบการที่ดีในปีนี้ อันเป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโครงการที่เปิดขายในปีที่ผ่านมา และจากการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ ซึ่งมีมูลค่ารวม 10,300 ล้านบาท แต่ฟิทช์ฯเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรในอนาคตอาจเกิดความผันผวนได้ โดยมีปัจจัยจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ แนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ระยะเวลาในการขายโครง การที่ยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ฯคาดว่าบริษัทจะพยายามควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน โดยการรักษาสต๊อกบ้านใหม่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดการซื้อที่ดินสำหรับโครงการในอนาคต
|