นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร. พิจิตต รัตตกุล
หลายคนพูดถึงผลงานของท่านผู้นี้ว่า ไม่มีงานในโครงการขนาดใหญ่ เหมือนผู้ว่า
2 คนก่อนอย่างจำลอง ศรีเมือง หรือ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่จะเน้นไปยังโครงการขนาดใหญ่
เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงเห็นตัวอย่างได้จากโครงการรถไฟฟ้า
กทม. หรือแม้แต่กระทั่งโครงการบำบัดน้ำเสีย
ที่สำคัญเป็นงานที่เพิ่มรายได้ให้กับ กทม. ส่วน ดร. พิจิตต นั้นเป็นงานด้านสังคมมากกว่า
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ปี Amazing Thailand เพื่อชูบทบาทด้านการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤติ ที่ต้องการเงินตราต่างประเทศเข้ามาจุนเจือ
โครงการของ กทม. ยุคนี้จึงดูเหมือนจะได้รับการขานรับจากคนกรุงมากพอดู
และงานล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากเข้าสู่ช่วงปีท่องเที่ยวไทย 2541
ไม่นานก็คือ โครงการ "สนุกกับถนน…ฟื้นฟูชุมชนพระอาทิตย์" ซึ่งเป็นการเตรียมงานมาล่วงหน้าแยกจากปีอเมซิ่งไทยแลนด์
เพียงแต่มาสอดคล้องกันพอดิบพอดี
เป็นการทำงานต่อเนื่องของกรุงเทพฯ หลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการ "ลานคนเมือง"
ที่กรุงเทพมหานครและข่ายความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไทย (TEDNET)
ทำมาแล้วนับจากต้นปี 2540 ที่ผ่านมา
กทม. เห็นว่าได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และประชาชนอย่างมาก ในการใช้พื้นที่ตามเขตต่างๆ ของ กทม. ให้เกิดประโยชน์ด้านคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
และแหล่งใหม่ที่กำลังจะเป็นไปตามโครงการลานคนเมืองก็คือ บริเวณถนนพระอาทิตย์
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเก่าแก่ด้านประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การยูนิเซฟ
และองค์การเอฟเอโอ อาคารพาณิชย์รูปแบบเก่า ซึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเขตแนวของกำแพงเมืองโบราณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน
เลียบคลองบางลำภู
สำหรับถนนพระอาทิตย์ กทม. มีเป้าหมายหนึ่งที่มุ่งทำให้นโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนเมืองเกิดเป็นจริง
โดยการสร้างกระแส "ถนนวัฒนธรรม" ขึ้นที่ถนนพระอาทิตย์ โดยกิจการที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวทั้งร้านหนังสือ
ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และธุรกิจอื่นๆ ร่วมกับชุมชน ซึ่งต้องการฟื้นฟูเอกลักษณ์
และพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
งานนี้เริ่มในวันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม 2541 ตั้งแต่ 8.00 น. - 24.00 น.
ตลอดแนวถนนพระอาทิตย์โดยนับจากสี่แยกบางลำภู ถึงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
ซึ่งในงานจะประกอบไปด้วย กิจกรรมสำหรับเด็ก งานศิลปะ งานวิชาการและนิทรรศการ
กีฬาการละเล่นพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวที อย่างละครร้อง ลิเก งานออกร้านอาหารที่เป็นของดั้งเดิม
เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ได้มีโครงการนำร่องเพื่อประชาสัมพันธ์ การจัดงานถนนวัฒนธรรมบนถนนพระอาทิตย์ไปแล้ว
เช่น งานรฤกถึงผีเสื้อและดอกไม้ งานฉลองรับขวัญลำพูคืนบางและงานประกวดวาดภาพสถานที่สำคัญบนถนนพระอาทิตย์
นอกเหนือจากนี้ยังมีโครงการ บาทวิถีศิลปะ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่สอดคล้องกับวิถีของชุมชน
ที่เรียกว่า "สร้างเองเสพเอง" โดยให้ชาวชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ได้สร้างงานศิลปะและมีประโยชน์ใช้สอยเป็นสมบัติสาธารณะ
โดยความร่วมมือระหว่างศิลปิน นักศึกษาศิลปะ และชาวบ้าน ทำกระเบื้องปูพื้นทางเท้าบนถนนพระอาทิตย์
เริ่มตั้งแต่บาทวิถีฝั่งตรงข้ามป้อมพระสุเมรุ จากหน้าร้านพิณญอง ไปจนถึงปากทางเข้าตรอกเขียนนิวาสน์
ความยาว 68 เมตร กับบริเวณหน้าโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวน
4 แผ่น และจะเปิดในวันเปิดงานถนนวัฒนธรรม
อีกทั้งยังมีโครงการปรับปรุงสภาพของอาคารห้างร้านบริเวณริมถนนพระอาทิตย์
ด้วยการตกแต่งทาสีใหม่ โดยการสนับสนุนจากบริษัทสี ที โอ เอ ซึ่งให้บริการเต็มที่ทั้งสีน้ำมัน
สีพลาสติก รวมถึงนักออกแบบตกแต่งและสถาปนิกอาสาสมัคร มาช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าของบ้านในบริเวณชุมชนถนนพระอาทิตย์
กรุงเทพมหานครเองนั้น แม้จะเป็นแม่งาน แต่ส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ
และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบางกอกฟอรั่ม มูลนิธิ ไชย้ง ลิ้มทองกุล ร้านหนังสือเล็กๆ และชาวชุมชนพระอาทิตย์ กับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
บริษัทสุราบางยี่ขัน และบริษัท สี ที โอ เอ
บุษกร พิชยาทิพย์ เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ริมถนนพระอาทิตย์ ซึ่งร่วมเป็นกรรมการจัดงานคนหนึ่งกล่าวว่า
งานนี้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนได้ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี และทุกคนก็เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดงานในบริเวณนี้
เพราะถนนพระอาทิตย์เป็นถนนที่มีความน่าสนใจ และมีความเก่าแก่ในเชิงประวัติศาสตร์
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจที่อยู่ในย่านถนนสายนี้มีอย่างมาก อย่างบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา
ก็จะมีบริการพิเศษให้ประชาชนนั่งเรือชมทิวทัศน์ริมฝั่งเจ้าพระยาในช่วงวันเปิดงานด้วย
การร่วมกิจกรรมงานของภาคเอกชน และชุมชน แม้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนเล็กในส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
แต่ความคิดสร้างสรรค์เล็กๆ ก็อาจมีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพของเมืองหลวงให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
และเป็นการช่วยสนับสนุนปีการท่องเที่ยวไทย ในภาวะที่ทุกคนต่างต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลักใหญ่
สำหรับบทบาทของผู้ว่ากรุงเทพฯ คนปัจจุบัน แม้จะแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อครั้งเศรษฐกิจของประเทศกำลังเฟื่องฟู และมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ
มุ่งเข้ามาลงทุนในเมืองหลวงของไทยด้านระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วยอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมหรูหรา
สูงหลายสิบชั้น ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และใจกลางเมือง ทำให้กรุงเทพฯ
ต้องตอบรับการลงทุนครั้งมโหฬาร
สวนทางกับงานครั้งนี้เป็นเพียงโครงการขนาดเล็กของชาวชุมชน ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจากโครงการถนนวัฒนธรรมก็คือ การมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนปีท่องเที่ยวของคนในเมืองหลวงเอง
โดยเฉพาะภาวะที่หลายคนยังไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครได้ และเป็นการปรับตัวของกรุงเทพมหานครอีกครั้ง
หลังภาวะด้านการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เคยวางไว้