สองปีมาแล้วที่มนต์เสน่ห์แห่งงานแสดงรถยนต์ระดับบิ๊กอีกงานหนึ่งของไทย ได้เสื่อมความขลังลง
เป็นความเสื่อม ที่ต่างกาลเวลา ต่างเหตุผลและต่างรูปแบบ
ตั้งแต่วันที่ 1-8 ธันวาคม 2539 ณ เซ็นทรัล พลาซ่า ยังจำได้ว่าภาพผู้คนยืนเพ่งพินิจ
และสัมผัสเหล่ารถยนต์นับร้อยคัน ที่มาจอดเรียงรายอยู่ในงานมหกรรมรถยนต์'
97 นั้น ยังดูเนืองแน่นพอสมควร
แต่ความคึกคักของผู้คนนั้น กลับเป็นเพียงฝ่ายเดียวและมันแย่ตรงที่ว่า รถยนต์ที่พวกเขาเหล่านั้นต่างแห่แหนมาสัมผัส
กลับไร้ซึ่งสีสัน และจินตนาการแห่งอนาคต
การที่มหกรรมรถยนต์' 97เมื่อปลายปีก่อน เกือบเป็นงานช่วยราชการก็เพราะว่าบริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ประเมินว่า
การทุ่มทุนในการจัดงานครั้งนั้นคงไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกันที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น
ประการแรก ปลายปี 2539 เป็นช่วงเวลาที่บริษัทรถยนต์ต่างๆ ไม่มีรถรุ่นใหม่ออกมาเปิดตัว
การสร้างแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงต้นจึงไม่จำเป็นนัก ดังนั้นการดึงลูกค้าหรือสร้างภาพด้วยการนำคอนเซปคาร์หรือรถยนต์แปลกๆ ยิ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนถึงขนาดนั้น
ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2539 เริ่มส่อสัญญาณบางอย่าง แม้จะไม่วิกฤตแต่ก็เริ่มซบเซาแล้ว
จึงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบ้าง และที่สำคัญตลอดเวลา 11 เดือนแรกของปี
2539 บริษัทรถยนต์ต่างได้ยิงแคมเปญการขายออกไปอย่างมากแล้ว
ดังนั้นเมื่อผู้ซื้อมาเจอสภาพของงานที่ไร้ความน่าสนใจทั้งเทคโนโลยี รถยนต์รุ่นใหม่ๆ และเงื่อนไขการขายที่ดึงดูดใจ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคิดไปเองว่า
บริษัทรถยนต์ต่างๆ กำลังเก็บความน่าสนใจอะไรบางอย่างไว้
เพราะหลังจากเดือนธันวาคมไปเพียง 3 เดือน ก็จะได้พบกับเดือนเมษายนแล้ว
ซึ่งเดือนที่ร้อนสุดๆ นี้ มีงานโชว์รถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยรออยู่
มหกรรมรถยนต์' 97 จึงไม่ประสบความสำเร็จด้านชื่อเสียงของงาน และยอดจองรถยนต์มากนัก
ตกต่ำกว่ายอดจองในปี 2538 กว่าครึ่ง แต่กระนั้นยอดจองก็ยังทำได้กว่า 3,000
คัน
ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ มหกรรมรถยนต์ เริ่มมีแนวโน้มว่ากำลังด้อยค่ากว่างานมอเตอ์โชว์
อย่างชัดเจนมากขึ้น ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ผู้อำนวยการบริษัทสื่อสากล จำกัด
ผู้จัดงาน จึงเริ่มมีแนวคิดบางอย่างที่จะกระทำ เพื่อลดความชัดเจนของความต่างนั้น
รวมงานทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว เป็นหัวข้อสำคัญที่ฮือฮามากช่วงหนึ่งเมื่อ
2 ปีก่อน แต่จนแล้วจนรอด การรวมงานโชว์รถที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองงานของเพื่อนสนิท
2 คน คือ ขวัญชัย และปราจิณ เอี่ยมลำเนา ก็ไม่อาจจะลุล่วงไปได้ ซึ่งแม้ใครจะมองว่าง่าย
แต่ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามเมื่อมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งต้องละเอียดหน่อย
อย่างไรก็ตาม ขวัญชัย พยายามดิ้นหาทางอื่นและข่าวก็ออกมาว่า จะย้ายสถานที่จัดงานไปยัง
แฟชั่น ไอส์แลนด์ ริมถนนรามอินทรา
ในช่วงงานมหกรรมรถยนต์' 97 ขวัญชัยได้แจงเหตุผลหลักเมื่อครั้งนั้นว่า เพราะที่จอดรถไม่เพียงพอและพื้นที่จัดงานเริ่มคับแคบ
ส่วนที่ใหม่ จะขยายได้มากกว่า แถมการคมนาคมก็สะดวก อีกทั้งสามารถเจรจากับทุกฝ่ายได้
โดยเฉพาะเจ้าของสถานที่ เข้าใจว่าไม่มีปัญหา ทั้งนี้เพราะขวัญชัยได้ดึงมาร่วมธุรกิจในบางส่วนด้วย
แต่สุดท้าย การย้ายสถานที่ ยังไม่จำเป็น
เพราะผู้จัดงานตั้งนโยบายด้านยอดจองรถในงานมหกรรมรถยนต์' 98 ไว้เพียง 600
คันเท่านั้น
นั่นหมายถึงว่า มหกรรมรถยนต์' 98 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม
2540 ที่ผ่านมา ผู้จัดได้ตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่า ขนาดของงานคงต้องเล็กลง
เพียงแต่ว่ารูปแบบงานจะต้องเน้นความเป็นเทคโนโลยียานยนต์ให้มากขึ้น
จะว่าไปแล้ว มหกรรมรถยนต์' 98 กลับมีดีมาอวดมากกว่าหลายครั้งที่เคยจัดมา
แม้จะไม่มีรถยนต์ต้นแบบให้ยลโฉม แต่ก็มีรถยนต์รุ่นพิเศษมากมายที่น่าสนใจเข้ามาให้เห็นกัน
ไม่ว่าจะเป็น อีวี 1 ของจีเอ็ม มาสด้า MS-X ที่เพิ่งเปิดตัวในงานมหกรรมรถยนต์แฟรงก์เฟิรต์
ฟอร์ด พูมา ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคม
2540 วอลโว่ วี 70 XC ออลวีลไดรฟ์ ครอสส์คันทรีและฮุนได ทิบูรอน TGX ซึ่งเป็น
TOP VERSION ของทิบูรอน
อีกทั้งยังมีรถยนต์ใหม่ที่เปิดตัวไปไม่นานและล่าสุดในงานอีกเกือบทุกยี่ห้อ
ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น
แต่เมื่อจบงานทุกอย่างก็เป็นไปตามความคาดหมาย แม้ว่ายอดจองจะเกินคาดคือได้ประมาณ
1,200 คันก็ตาม
ที่ว่าเป็นไปตามคาดหมายก็คือมหกรรมรถยนต์' 98 มีผู้คนให้ความสนใจไม่คึกคักดังหลายๆ ปีที่ผ่านมา เหตุผลก็คงรู้ๆ กันอยู่ และที่ว่ายอดจองเกินคาดนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเพราะผู้จัดเองได้ตั้งเป้าหมายของงานไว้ต่ำเกินไปในด้านยอดจองรถ
ก็มีอย่างที่ไหนอดีตเคยมียอดจองในงานนี้ครั้งละหลายพันคันถึงขนาด 7 พันคันก็ยังเคย
แล้วมาตั้งเป้าหมายไว้เพียง 600 คัน ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรแล้ว คงเปรียบได้แค่ว่า
คงกลัวแพ้ตั้งแต่งานยังไม่เริ่มเลย
และยอดกว่าพันคันนั้น บริษัทรถยนต์ต่างๆ ก็คิดว่าต่ำกว่าเป้าหมายของตนเองมาก
เพราะมหกรรมรถยนต์ในครั้งนี้เกือบทุกบริษัทต่างแห่มาล้างสต๊อกของตนเองแทบทั้งสิ้น
มีเท่าไรขนมาให้หมด ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการซื้อ การผ่อน ราคา และของแถม
เพราะนี่คือเฮือกสุดท้ายก่อนสิ้นปีเพื่อแก้ไขวิกฤตเฉพาะหน้า เรียกว่า ถ้าให้ฟรีได้คงให้ฟรีกันแล้ว
อาการลดแลกแจกแถมนั้นมีอยู่เกือบทุกอณูของงาน อาทิ โตโยต้า ทุ่มทุนถึง
50 ล้านบาท เล่นเกมชิงโชครถโซลูน่า-ไฮลักซ์รวม 35 คัน พร้อมรับฟรีคูปองมูลค้า
3,500 บาทสำหรับแลกซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ เคมีภัณฑ์ และอะไหล่โตโยต้า ฟรีแฮนด์เด็นโซ่ติดรถยนต์มูลค่า
25,000 บาท และรับส่วนลดอะไหล่ในราคาพิเศษ
ฮอนด้า ฟรี ค่าแรง ค่าอะไหล่ 3 ปีหรือ 50,000 กิโล. เซฟตี้เซ็ตใหม่, ประกันภัยลด
20%, ซื้อชุดตกแต่งลด 20%
มิตซูบิชิ นำ 3 สุดยอดความคุ้มมาเสมอ 1. ฟรีค่าแรงและบริการตรวจเช็คอะไหล่
2. คุ้มครองประกันภัยชั้นหนึ่งฟรี 3. ยืนหยัดราคาเดิม
มาสด้า ปิกอัพ ไฟเตอร์ ราคาพิเศษเพียง 275,000 บาท พร้อมรับข้อเสนอพิเศษผ่อนชำระด้วยเงินดาวน์ต่ำและดอกเบี้ยต่ำกับมาสด้า
ลิสซิ่ง
ไครสเลอร์ ดอกเบี้ย 0% นานถึง 48 เดือนและของแถมในงานอีกเพียบ
เกีย กับแคมเปญ "เกีย ดอกเบี้ยติดลบ" โดยเฉพาะเกียซีเฟียผ่อนเพียงเดือนละ
5,700 บาทเท่านั้น
โรเวอร์ ดีสคัฟเวอร์รี่ ด้วย 4 ข้อเสนอพิเศษสุด คือ 1. ดอกเบี้ย 0% นาน
30 เดือน 2. ประกันภัยชั้น 1 ฟรี 1 ปี 3. ค่าแรงและค่าอะไหล่ จนถึงปี ค.ศ.
2000 4. รับประกันการใช้งาน 2 ปี หรือ 50,000 กม.
จีเอ็ม ขาย โอเปิล แคมโป้ ด้วยข้อเสนอที่ดาวน์เพียง 25% ผ่อน 6,820 x 48
เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเทียบเท่ากับ 0% ถึง 7.28%
ซาบ ทั้งรุ่น 9000 และ 900 ดอกเบี้ย 0% นาน 30 เดือน ประกันภัยชั้นหนึ่งฟรี
1 ปี พร้อมอุปกรณ์แต่งรถ แผงลายไม้วอลนัท เบาะหนัง และ CD Changer
ยังมีอีกหลากหลายรายการ ที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ นำมาเสนอเพื่อหวังล้างสต๊อกให้ได้มากที่สุด
แต่เมื่อจบงาน ตัวเลขก็ได้สะท้อนความสำเร็จอยู่ในตัวแล้ว เพราะแม้ว่าคราวนี้บริษัทรถยนต์จะโหมโปรโมชั่นเต็มที่
แต่ปัญหาในการดึงคนเข้างานกลับไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะอ้างถึงภาวะโดยรวม อย่างใดก็ตาม
แต่ที่สุดก็คือไม่สำเร็จ เมื่อคนเข้างานไม่มากพอ แรงดึงดูดใจก็ย่อมสัมฤทธิ์ผลไม่เต็มที่
มหกรรมรถยนต์ แม้มีความเข้าใจกันว่าจะยังอยู่ได้และเลี้ยงตัวเองได้ เพราะอย่างน้อยค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็คงต้องส่งรถยนต์เข้ามาร่วมแสดง ร่วมจัดบูธ แต่อย่าลืมว่าการเข้ามาร่วมงานนั้นมีทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่บริษัทรถยนต์จะได้รับ
และเรื่องของความเกรงใจ ถ้าวันหนึ่งวันใดน้ำหนักของผลประโยชน์บางเบาลงไปมาก
จะแน่ใจได้อย่างไรว่าความเกรงใจจะอยู่เหนือกว่าได้
แน่นอนว่าวันนี้และอนาคตอีกปีหรือสองปี มหกรรมรถยนต์อาจยังอยู่ได้ และได้รับการตอบรับทั้งจากบริษัทรถยนต์และผู้เข้าชมงาน
แต่ถ้า ขวัญชัย ยังปล่อยให้รูปแบบงานของมหกรรมรถยนต์ ด้อยลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับมอเตอร์โชว์
เมื่อถึงวันนั้น งานแสดงรถยนต์ของไทยอาจเหลือเพียงหนึ่งเดียวอย่างชัดเจน
ยิ่งศักยภาพของผู้ซื้อลดถอยลง การทุ่มเทงบประมาณของบริษัทรถยนต์ลดลงไปมากในช่วงวิกฤติการณ์เช่นนี้
ขวัญชัย ยิ่งต้องเร่งหาทางออกของมหกรรมรถยนต์ให้ได้โดยเร็ว ต้องหนีความซ้ำซาก
จำเจให้พ้น
ไม่เช่นนั้นคงน่าเสียดายที่อาจกลายเป็นเพียงอดีต