บุญชัย เบญจรงคกุล และอดิศัย โพธารามิก แม้จะทำธุรกิจโทรคมนาคมเหมือนกัน
แต่ก็จัดอยู่ในบริการสื่อสารคนละประเภท ยูคอมของบุญชัยนั้นโตมาจากโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งเป็นบริการเสริม ในขณะที่จัสมินของอดิศัยมีรากฐานมาจากบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน
แต่เวลานี้ทั้งสองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันนัก!
ทั้งยูคอม และจัสมิน และทุนสื่อสารของเมืองไทยเวลานี้ต่างก็เจอกับผลกระทบของพิษค่าเงินบาทเข้าอย่างจัง
เพราะต้องซื้อเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ แต่ละโครงการจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก
งานนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าใครลงทุนไว้มากก็เจ็บตัวหนักกว่าปกติ
ช่วง 2 ปีมานี้ยูคอมยึดนโยบายขยายการลงทุนแบบติดปีก ทั้งในด้านมีเดีย วิทยุ
เคเบิลทีวี การเข้าซื้อหุ้นของธนาคารแหลมทอง แถมยังเข้าไปมีส่วนในสายการบินแห่งชาติสายที่
2 และ ยังเข้าไปเสนอตัวประมูลรถไฟปรับอากาศซื้อกิจการร้านค้าปลีก เอเอ็ม/พีเอ็ม
จะเห็นได้ว่าการลงทุนของยูคอมนั้นไม่ได้มุ่งเน้นที่ธุรกิจเดิม แต่เป็นการเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ เป็นลูกค้าในระดับกว้าง (mass) ทั้งสิ้น
เรื่องนี้บุญชัยเคยให้เหตุผลไว้ก่อนหน้านี้ว่าธุรกิจสื่อสารกำลังเริ่มตกต่ำ
เพราะมีคู่แข่งมากหน้าหลายตาเกินไป และกำลังจะเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน
ยูคอมจึงต้องแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างฐานที่มั่นให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม
ธุรกิจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต
ยูคอมก็เหมือนกับธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทยที่อาศัยเงินกู้มาใช้ลงทุน สองปีที่ผ่านมานี้เวลาของบุญชัยจึงหมดไปกับการออกโรดโชว์
เพื่อระดมเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อนำมาสานฝันที่ว่านี้ และใช้ลงทุนในกิจการโทรศัพท์มือถือ
แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างยูคอมนัก เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ แถมเจอพิษค่าเงินบาทลอยตัว
เงินกู้ก้อนใหญ่จากต่างประเทศกลายเป็นภาระหนักหนาสาหัสขึ้นมาทันที
ผลประกอบการของยูคอมในไตรมาสที่ 3 ยูคอมแบกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททันที
12,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับของแทค บริษัทลูกให้บริการโทรศัพท์มือถืออีก 8,100
ล้านบาท
"ปัญหาใหญ่ของยูคอมในเวลานี้ คือ หนี้สิน เราต้องเร่งหาผู้ร่วมทุนจากต่างชาติมาเสริมสภาพคล่อง
แต่ฝรั่งเองเวลานี้ก็ยังไม่อยากซื้อหุ้นของเรา เพราะอยากให้ราคาถูกลงมากกว่านี้"
ทางออกของยูคอมไม่เพียงแค่ตัดค่าใช้จ่ายองค์กร ลดเงินเดือนผู้บริหาร แต่บุญชัยยังต้องตัดสินใจยกเลิกลงทุนในธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนยาวนานเกิน
4-5 ปีกว่าจะคืนทุนอย่างสายการบินแห่งชาติ และธุรกิจรถไฟฟ้ารอบเมือง
รวมทั้งในบริษัทแทค เจ้าของกิจการโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้กับกลุ่มยูคอม
จะต้องงดการลงทุนออกไป 2 ปีเต็ม
ในภาวะที่ต้องการเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง และต้องใช้หนี้ การขายหุ้นของบริษัทในต่างประเทศจึงเหมือนจะเป็นหนทางเดียวของทุนสื่อสารของไทย
รวมทั้งยูคอม ด้วยเหตุนี้หุ้นในบริษัทเซลส์คอร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารไร้สายในสหรัฐอเมริกา
ที่ยูคอมเคยซื้อเอาไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงถูกนำออกขายในวงเงิน 600 ล้านบาท
เป็นบริษัทแรกๆ ส่วนจะขายบริษัทไหนต่อไปยังไม่เป็นที่เปิดเผย
จะเหลือเพียงธุรกิจธนาคาร และร้านเออ็ม/พีเอ็มที่บุญชัยกล่าวว่า ยังต้องการเก็บเอาไว้เพื่อเป็นแขนขาในการขายโทรศัพท์มือถือ
และสำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกสแบงกิ้ง
"ต้องยอมรับว่าการลงทุนช่วงที่ผ่านมามากเกินไป แต่จะทำอย่างไรได้
เมื่อยูคอมได้โครงการก็ไปกู้เอาเงินมาลงทุน และต่างประเทศเองก็ยินดีที่จะให้กู้"
คำกล่าวของบุญชัยที่เต็มไปด้วยความหมาย ซึ่งได้กลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่บุญชัยกำลังรู้สึกสะท้อนในอยู่ในเวลานี้
ความรู้สึกของบุญชัยในเวลานี้ไม่ได้แตกต่างไปจากอดิศัย โพธารามิก ผู้พลิกฐานะจากนักวิศวะมืออาชีพมาเป็นประธานบริษัทจัสมิน
อินเตอ์เนชั่นแนล และหุ้นส่วนคนสำคัญในโครงการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย
แม้ว่าการลงทุนของจัสมินไม่หวือหวาเท่ากับยูคอม แต่จัสมินยึดคัมภีร์การลงทุนที่ไม่แตกต่างกันนัก
ช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ จัสมินเปิดบริษัทลูกเพิ่มขึ้น 12 แห่ง ทำธุรกิจตั้งแต่โรงงานผลิตอุปกรณ์รองรับโครงการโทรศัพท์
1.1 ล้านเลขหมาย ธุรกิจสื่อสารที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างระบบ
จนกระทั่งร้านค้าโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต
อดิศัย ยังจัดเป็นคนแรกๆ ที่ประกาศยุทธศาสตร์ลงทุนในต่างแดน ทุกวันนี้จัสมินมีกิจการโทรศัพท์มือถือ
เพจเจอร์ และโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียมใน 3 ประเทศคือ อินเดีย ฟิลิปปินส์
อินโดนีเซีย ตามลำดับ
เม็ดเงินจำนวน 14,000 ล้านบาท คือ เงินกู้ยืมที่จัสมินนำมาใช้ในกิจการ
ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินสกุลยูเอส 83% เงินบาท 9% ที่เหลือเป็นเงินสกุลเยน
และดอยช์มาร์ก
ผู้บริหารของจัสมินชี้แจงว่า เงินกู้จากต่างประเทศจำนวน 95% จะเป็นเงินกู้ระยะยาว
อายุเฉลี่ย 6 ปี อีก 5% เป็นเงินกู้ระยะสั้น แต่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จัสมินก็ยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในราว 2,000 ล้านบาท
ดูเหมือนโชคของจัสมินยังดีอยู่บ้าง ที่ยังมีรายได้จากฐานธุรกิจดั้งเดิม
คือ รับเหมาติดตั้งระบบโทรคมนาคมให้กับการสื่อสารฯ และองค์การโทรศัพท์ฯ เคเบิลใยแก้วใต้น้ำ
โครงการโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะ บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม (ISBN) ซึ่งมีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นลูกค้าเจ้าประจำอยู่แล้ว
ซึ่งจัสมินหวังไว้ว่าจะมีรายได้เข้ากระเป๋า 7,500 ล้านบาทในปี 2541
ต้องไม่ลืมว่า จัสมินเองก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ยังขาดทุน เช่น บริษัทเรดิโอโฟน
ให้บริการทรังค์โมบาย ร้านจัสมินสมาร์ทช้อป รวมทั้งในส่วนของบริษัททีทีแอนด์ที
ที่มีปัญหาในเรื่องรายได้จนต้องขอให้องค์การโทรศัพท์ฯ เข้ามาถือหุ้นแทนการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน
ในภาวะเช่นนี้ จัสมินก็ต้องยึดนโยบายเฉือนเนื้อเพื่อรักษาชีวิต โดยยุบบริษัทที่ไม่มีกิจกรรมเช่น
จัสมินเคเบิลแมททีเรียล บริษัทอิริคสันไทยเน็ทเวิร์ค ทำธุรกิจผลิตอุปกรณ์ป้อนโครงการโทรศัพท์
1.1 ล้านเลขหมาย และจัสมินเอ็นเนอยี่ทำธุรกิจพลังงาน
พร้อมกันนี้ ก็ต้องขายหุ้นในบริษัทเจทีโมบายส์ให้บริการโทรศัพท์มือถือในอินเดีย
เพื่อนำดอลลาร์เข้าประเทศมาใช้เสริมสภาพคล่อง และชะลอการลงทุนในธุรกิจทั้งหมดเหลือไว้เฉพาะโครงการต่อเนื่องที่จำเป็น
เช่น ดาวเทียมเอเชียส และโทรศัพท์มือถือในอินเดีย
"ไม่ต้องพูดถึงการลงทุนในปีหน้า เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจในเวลานี้ก็คือสภาพคล่อง
และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท" อดิศัย กล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นกับยูคอม และจัสมินและทุนสื่อสารอื่นๆ จึงสะท้อนสภาพความเป็นจริงของทุนสื่อสารที่เคยเป็นอดีตดาวรุ่งในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี