|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขยับมาอยู่ที่ 2.25% สูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน เหตุน้ำมันขึ้นราคา หวั่นกดดันเงินเฟ้อเกินเป้า "ขุนคลัง" เชื่อไม่กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ ขณะที่นายแบงก์ชี้กระทบดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ คาดไตรมาส 2 แบงก์พาเหรดขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดจะทยอยปรับขึ้นได้ 1-1.5% ตามดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพื่อลดส่วนต่าง
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) 0.25% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 2.00% เป็น 2.25% โดยมีผลทันที เนื่องจากเห็นว่าการที่ราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปีอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่าเป้าหมาย 0-3.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549
จากการปรับดอกเบี้ยอาร์/พี ครั้งนี้ ทำให้ดอกเบี้ยอาร์/พี ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 และตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2547-มีนาคม 2548 ธปท.มีการปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีแล้ว 1% จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรวม 5 ครั้ง
"ธปท.คาดการณ์ว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล สู่การลอยตัวราคาน้ำมันในครึ่งหลังของปี อาจจะกดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวกว่าที่คิดไว้ และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่าเป้าหมาย 0-3.5% ช่วงไตรมาสที่ 3 ในปีหน้า" นางอัจนา กล่าว
นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์ที่เกิดในเขตภาคใต้ ในรอบ 1 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าไม่มีผลกระทบเพิ่มรุนแรงกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้ในครั้งก่อนหน้า ส่วนการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในเดือนมกราคมเนื่องจากการนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้น และนักท่องเที่ยวที่ลดลงเชื่อว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
นางอัจนากล่าวต่อว่า การที่คณะกรรมการฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้ละเลยการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะจากการพิจารณา แม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วง ปลายปี 2547 ที่ผ่านมาและตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะเริ่มชะลอตัวลงจากผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิ ภัยแล้ง และการชะลอตัวของการส่งออก แต่หากมองในภาพรวมจะเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแนวโน้มช่วงขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ในที่สุด แต่การกดเงินเฟ้อไว้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระยะยาว เพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยในระดับนี้ถือว่ากระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยรวมน้อยมาก
"ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ประกอบกับการปรับสู่การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งจะสูงขึ้นอีก ราคาสินค้ายิ่งจะปรับตัวขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็ต้องปรับตัวขึ้นตาม ฉะนั้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี และภาวะตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวอย่างในปัจจุบัน แรงกดดันต่อระดับราคายิ่งเพิ่มขึ้นได้รวดเร็วขึ้น"
ทั้งนี้ ในการที่ ธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าจะยังไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามในทันที เนื่องจากยังมีสภาพคล่องเหลือในระบบค่อนข้างมาก แต่ธปท.ต้องการที่จะส่งสัญญาณถึงประชาชน และภาคธุรกิจที่จะกู้เงินเพิ่มหรือว่าลงทุนในอนาคตว่า วัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจไทยที่กำลังดำเนินอยู่จะมาควบคู่กับวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการศึกษาข้อมูลจึงพบว่าแม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ก็ไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง รวมทั้งดูจำนวนสภาพคล่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ มาพิจารณาเพื่อหาความเหมาะสมในครั้งนี้
ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการนำมาพิจารณา นอกจากนี้ ยังได้นำปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ผลกระทบจากภัยแล้ง และผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มานำคำนวณไว้แล้วว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าใด โดยเฉพาะการที่ราคาน้ำมันดิบได้มีการปรับสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ซึ่งธปท.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดดูไบใหม่
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. เป็นการดูตามความเหมาะสม ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอดีของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
"การปรับอาร์/พี ขึ้น 0.25% ไม่เท่าไหร่ แบงก์ชาติต้องการสกัดกั้นไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูง และฐานะประเทศเราก็ดีมาก นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดูแลเรื่องการนำเข้าเพื่อควบคุมการใช้จ่ายอย่างจริงจังแล้ว คิดว่าทางแบงก์ชาติคงพิจารณาเรื่องอย่างรอบคอบแล้วว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าไหร่"
ด้านนายจำลอง อติกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ของธปท. เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบนโยบาย รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศลง เพราะคาดว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ในวันที่ 23 มีนาคมนี้คงจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก
จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.จะกระทบถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และทั้งปีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะทยอยปรับขึ้นได้ 1-1.5% และดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับขึ้นได้ประมาณ 1.50-2.00%
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเป็นเรื่องที่ดี ที่จะสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจากปัจจุบันยังคงติดลบอยู่เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูง รวมทั้งรัฐบาลเตรียมจะประกาศลอยตัวดีเซล จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.7%
"การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงจะมีมาตรการที่จะกระตุ้นด้านอื่นๆ มาชดเชย ไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากไป เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ การลดภาษีให้กับประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจเองยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้การบริโภคของประชาชนน่าจะดีขึ้น
ด้านสภาพคล่องของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น นายจำลอง กล่าวว่า ธนาคารยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินฝากเข้ามามากกว่าการปล่อยสินเชื่อ โดยมีเงินฝากเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้าน สินเชื่อเพิ่มขึ้น 4-5 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่วนใหญ่เป็นรายย่อยทั่วไป และอาจจะมีบางบริษัทที่เตรียมเงินไว้ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติ
|
|
 |
|
|