รูปแบบร้านสเต็กโดยทั่วไปที่ผู้บริโภคได้สัมผัส มักจะเป็นของสำเร็จรูปที่ออกมาพร้อมให้ชิม
แต่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง เรื่องของการสรรหามากินก็ดูจะไม่ได้หยุดไปด้วย
หากแต่ยังมีคนนำเข้าแฟรนไชส์สเต็กแนวใหม่ มาให้คนไทยได้สนุกกับการกินสเต็กในแบบที่คุณปรุงด้วยตัวเอง
บนหินภูเขาไฟที่บรรจุความร้อนสูงถึง 400 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่าเป็นการกินสเต็กคลายเครียดกันในยุคนี้ได้ดีเหมือนกัน
ร้านเคน สโตน กริล (Crains Stone Grill) คือที่มาของความสนุกกับการกินสเต็กในยุคนี้
คำว่า สโตน กริล มาจากการเรียนรู้ของมนุษย์โบราณในการปรุงอาหารให้สุก ด้วยการนำเนื้อสัตว์ไปปิ้งย่างบนไฟ
และโดยเฉพาะมนุษย์โบราณของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดและเป็นที่ตั้งบริษัทแม่ของเคน
สโตน กริล เป็นมนุษย์โบราณกลุ่มแรกที่นำก้อนหินเผาไฟร้อนๆ มามีส่วนในการปิ้งย่างเนื้อให้สุก
และเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดที่มาของเคน สโตน กริล
สิ่งเหล่านี้ล้วนคือรูปแบบการกรุงสเต็กที่ร้านเคน สโตน กริลในออสเตรเลีย
ได้นำมาเป็นแบบอย่างโดยการเลือกจุดเด่นจากการใช้หินภูเขาไฟระเบิด ที่สามารถเก็บความร้อนได้ดี
มีความแข็ง และสามารถใช้เวลาในการปรุงอาหารได้นานถึง 1 ชั่วโมง ก่อนที่ความร้อนจะค่อยๆ ระเหยออกไปจนเย็นลงใน 4-6 ชั่วโมงต่อมา ซึ่งต้องนำหินกลับเข้าตู้อบความร้อนเพื่อนำมาใช้ปรุงอาหารได้ใหม่
คุณสมบัติของหินภูเขาไฟ นอกจากความร้อนในตัวหินที่จะทำให้อาหารสุก ยังให้ประโยชน์ในด้านความปลอดภัยในการบริโภค
เพราะไขมันและน้ำจากเนื้อสัตว์ที่จะทำปฏิกิริยากับความร้อน อันจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งมาติดที่เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ย่างบนหินจะไม่ไหม้เกรียม
รวมทั้งน้ำจากเนื้อสัตว์ยังคงสุกกรุ่นอยู่ภายในชิ้นเนื้อ ทำให้รสชาติและความหวานของน้ำในเนื้อสัตว์ยังคงอยู่
โดยไม่สูญหายไปกับขั้นตอนการปรุงเหมือนการปรุงด้วยวิธีอื่น
รสชาติของสเต็ก ร้านเคน สโตน กริล ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะได้สนุกกับการปรุงสเต็กบนหินภูเขาไฟ
ในราคาเริ่มต้นอาหารชุดละ 290 บาทถึง 650 บาท ซึ่งประกอบด้วยเมนูหลัก ซุป
ขนมปัง เค้ก ชา หรือกาแฟ เท่านั้น แต่สเต็กที่ปรุงเองนี้ยังได้รสชาติตามแบบที่คุณเลือกเอง
เช่นเดียวกับการเลือกชนิดของเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อแก แพะ หมู เนื้อ ไก่ และอาหารทะเลต่างๆ
และหากมามองกันในด้านของการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเคน สโตน กริล ลงทุนกับสาขาแรกของร้าน
ที่มุมถนนสุรวงศ์ตัดใหม่ถึง 20 ล้านบาทนั้น กิจจานี และวสุพจน์ ธนพลภัทรา
คู่สามีภรรยา ที่นำแฟรนไชส์นี้เข้ามาโดยติดต่อผ่านทางเคน สโตน กริล ที่ไต้หวัน
เนื่องจากความคุ้นเคยกับทางไต้หวันมากกว่า เปิดเผยว่าเป็นการลงทุนที่ทั้งคู่เชื่อว่าจะไปได้ดี
แม้จะเป็นภาวะในช่วงนี้ก็ตาม
"เรามั่นใจในทำเลของร้าน รสชาติ และจุดเด่นของสินค้า ซึ่งจะเป็นตัวดึงดูดผู้บริโภค
รวมทั้งเรื่องของราคา หากเปรียบเทียบกับราคาสเต็กโดยทั่วไปแล้ว เคน สโตน
กริล จะมีราคาถูกกว่าสเต็กโดยทั่วไปประมาณ 25-30% เมื่อราคาไม่แพง และเรามีจุดเด่น
เชื่อว่าเราน่าจะได้รับการตอบรับด้วยดีจากลูกค้า เพราะจากการเปิดร้านทดลองตลาดมาตั้งแต่วันที่
1 ธันวาคม 2540 ก็มีการตอบรับที่ดี" วสุพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี เคน สโตน กริล แม้จะมีความมั่นใจอยู่พอตัว ถึงขั้นที่เคน สโตน
กริล ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ขายลิขสิทธิ์ เคน สโตน กริล เข้ามาในไทย ได้ขอร่วมหุ้นในการเปิดร้านที่บริษัทจะบริหารเองต่อไปเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของหุ้นชาวไทย
ก็ยังมีการชะลอเรื่องการขยายสาขาของร้านในปีนี้ออกเป็นจาก 2 สาขาเป็นการเปิดเพียงสาขาเดียวที่สุรวงศ์
เพื่อรอดูผลการดำเนินงาน ก่อนวางแผนจะเปิดเพิ่มอีกเพียง 2 สาขาในปี 2541
ที่ย่านสยามสแควร์ และเชียงใหม่
ทั้งนี้แถวสยามสแควร์ ถือเป็นถิ่นธุรกิจเดิมของธุรกิจครอบครัวของวสุพจน์
เนื่องจากก่อนหน้านั้นธุรกิจครอบครัวของเขาคือเจ้าของภัตตาคารแมนดาริน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของฮาร์ดร็อค
คาเฟ่ ถ้าร้านเคน สโตน กริล เป็นที่นิยมของลูกค้าชาวไทย ก็เป็นไปได้ว่าสุพจน์จะกลับมาโด่งดังกับธุรกิจอาหารอีกครั้งในย่านสยามสแควร์ถิ่นเก่าของเขา
แต่ถึงวันนี้ แม้ เคน สโตน กริล จะมีความสนุกสนานให้กับลูกค้ามากเพียงใด
สิ่งที่จะวัดความสำเร็จของร้านได้ก็คือ หากเป้าหมายการคืนทุนของสาขาสุรวงศ์ที่ให้เวลาไว้ที่
6 เดือน ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือจะต้องมีลูกค้าเข้าร้าน 400 คนต่อวัน ซึ่งจะทำให้ร้านมีรายได้ประมาณเดือนละ
3 ล้านบาท จากยอดที่ตั้งไว้เดิม 4.5 ล้านบาท ก็จะถือว่าเคน สโตน กริล เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สอบผ่านในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไทยนี้ไปได้
และนี่ก็จะนำไปสู่เป้าหมายของการขายแฟรนไชส์ ซึ่งผู้สนใจทำธุรกิจร้านอาหารกับเคน
สโตน กริล ที่มีเงินทุนเริ่มแรก 8-10 ล้านบาท ก็จะสามารถติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ของร้านไปบริหารเองได้
ด้วยความมั่นใจจากตัวอย่างที่บริษัททำให้เห็น