บ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี คว้างานก่อสร้างร่วมระบบโครงการก่อสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) มูลค่างานคอนกรีตประมาณ 1,600 ล้านบาท หนุนรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่มูลค่างานในมือขยับไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท โดยมีปูนซีเมนต์นครหลวงป้อนปูนซีเมนต์ผงกว่า 4 แสนตัน ภายใต้ต้นทุนคงที่ แจง 5 แผนงานเร่งด่วนรับมือการขยายตัวขององค์กร จัดสรรงบเกือบ 1,000 ล้านบาท ลงทุนรับแอร์พอร์ต เรลลิงก์และขยายสาขากันยงโฮมสโตร์
นายประทีป ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมเซ็นสัญญารับงานร่วมก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดย CCP เป็นผู้จัดจำหน่ายคอนกรีตให้กับทางโครงการ ซึ่งทางบริษัทฯได้สั่งซื้อซีเมนต์จากบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือปูนกลาง ซึ่งคาดว่าจะใช้ปูนซีเมนต์ผงประมาณ 350,000-400,000 ตัน (หรือ 1 ล้านคิว ราคาเฉลี่ย 1,600 บาทต่อคิว) กำหนดราคาจำหน่ายคงที่จนสิ้นสุดก่อสร้าง
โดยโครงการนี้เป็นซิงเกิลโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุด ในปี 2548 มีมูลค่างาน 13,000 ล้านบาท แต่แบ่งเป็นมูลค่างานของคอนกรีตประมาณ 1,600 ล้านบาท โครงการนี้ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ โดยโครงการนี้ ทางบริษัทฯได้สร้างสาขาโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ (Ready-mix Concrete Plant ) จำนวน 6 แพลนต์ เฉลี่ยลงทุน 1 แพลนต์ประมาณ 12-15 ล้านบาท โดยตั้งอยู่ที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนจังหวัดชลบุรี 2 แพลนต์, ที่มักกะสัน 2 แพลนต์, กรุงเทพกรีฑา 1 แพลนต์,หัวหมาก 1 แพลนต์ และเพิ่มเติมที่ดินแดงอีก 1 แพลนต์
ทั้งนี้ การได้รับงานดังกล่าวทำให้บริษัทมีงานในมือมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่สามารถรับรู้ได้ในปีนี้ของ CCP ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และเมื่อรวมยอดขายปกติระหว่างปีไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท รวมคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทจะสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ระดับ 30-40% เทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานประมาณ 120 ล้านบาท และคาดว่าในปี 48 จะรักษาอัตราเติบโตกำไรขั้นต้นไว้ระดับ 12% ของมูลค่าการขายไว้ได้ สำหรับสัดส่วนโครงการงานในมือขณะนี้จะเป็นงานภาครัฐเกิน 70% และที่เหลือจะเป็นโครงการภาคเอกชน
นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายปฏิบัติการ CCP กล่าวว่าในปีนี้บริษัทและบริษัทชลบุรีกันยง จำกัด หรือแบรนด์ กันยง โฮมสโตร์ เตรียมแผนการลงทุนในการขยายธุรกิจประมาณ 900 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของ CCP ลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งในส่วนแรกจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับรองรับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ที่สนับสนุนเงินกู้ให้กับโครงการดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ขณะที่ในส่วนของชลบุรีกันยงฯจะเตรียมเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ในการพัฒนาสาขาซึ่งจะทยอยลงทุนเป็นช่วงๆ
นายประทีปกล่าวเสริมว่า บริษัทยังมีแผนการลงทุนโครงการในอนาคต แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ 1. การลงทุนก่อสร้างโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จอย่างน้อย 6 แห่ง จากปัจจุบันที่บริษัทมีโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จตั้งกระจายอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยทั้งหมด 20 แห่ง นอกจากนี้ เพื่อรองรับงานก่อสร้างที่ขยายตัวสูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรม บริษัทจึงขยายธุรกิจและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดการขายผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยการลงทุนซื้อรถขนส่งคอนกรีตเพิ่มประมาณ 50 คันซึ่งติดเครื่องโม่ปูนซีเมนต์เฉลี่ย 2.6 ล้านบาทต่อคัน หรือประมาณกว่า 100 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้าง โรงงานผลิตอิฐมวลเบาของบริษัท ออโตเครป แอเรทเต็ด คอนกรีต โปรดัก จำกัด ซึ่งปัจจุบัน CCP ถือหุ้น 75% มีกำลังการผลิตประมาณ 3 ล้านตร.ม. ต่อปี ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการติดตั้งเครื่องจักร โดยบริษัทจะเริ่มทดสอบการผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และจะเริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ของปีนี้
3. การพัฒนาระบบขนส่ง เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายการลงทุนซื้อรถบรรทุกและรถขนส่งคอนกรีตเพิ่มเพื่อขยายงานด้านบริการจัดส่ง ทำให้บริษัทต้องซื้อที่ดินจำนวน 8 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและศูนย์ซ่อมบำรุง 4.จากยอดขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานบ้านบึง 1 ต้องเร่งการผลิตให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้น บริษัทจึงมีเป้าหมายขยายลานผลิตภัณฑ์ ด้วยการซื้อที่ดินบริเวณด้านข้างโรงงานบ้านบึง 1 เพิ่ม จำนวน 60 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 50-60 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ผลิตสินค้าและคลังเก็บสินค้าบริษัท และ 5. การขายแท่นผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตเหล็กแรงดึงของโรงงานบ้านบึง 2 ใช้งบลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท คาดว่าจะขยายโรงงานแล้วเสร็จเดือนมี.ค. 48
นายประทีปกล่าวเสริมว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่มูลค่า 5 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2548-2554 ซึ่งส่วนนี้ได้ทำให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างสบายใจขึ้น อีกทั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศเป็นรัฐบาลชุดเดิมที่กำหนดนโยบายไว้ ทำให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการ
|