Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2541








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2541
เมื่อดร.วุฒิพงษ์โบกมือลา..ทริส             
 


   
search resources

ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส, บจก. - TRIS
วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์




ในวันแถลงผลการดำเนินงานของทริสในรอบปี' 40 เมื่อปลายเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะมีหัวข้อที่แถลง 4 หัวข้อ โดย 3 หัวข้อแรกจะเกี่ยวกับงานของทริสที่ทำตลอดระยะเวลา 1 ปี และทิศทางในอนาคต รวมทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนหัวข้อสุดท้ายจะเป็นเรื่องเฉพาะกิจของกรรมการผู้จัดการ

นักข่าวที่นั่งฟังการแถลงผลการดำเนินงานคงมีความรู้สึกที่ไม่ต่างกันนักว่า 3 หัวข้อแรกน่าสนใจกว่า ส่วนเรื่องสุดท้ายที่จะคุยคงเป็นไอเดียทำธุรกิจหรือออกสินค้าใหม่ของทริสเป็นแน่ เพราะเป็นปกติของกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ซึ่งจะมีความคิดใหม่ๆ ทั้งที่ทำได้หรือทำได้ยากออกมาอยู่ตลอดเวลา

แต่หลังจากฟังการแถลงข่าวจนจบแล้ว ความสนใจกลับมุ่งไปที่เรื่องสุดท้ายมากกว่าประเด็นผลการดำเนินงานของทริส นั่นคือประเด็นการลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ ดร. วุฒิพงษ์

แน่นอนว่าทุกคนต้องถามว่าเกิดอะรไขึ้น ทำไมถึงลาออก เพราะจะว่าไปแล้ว ที่ผ่านมาช่วง 4-5 ปีมานี้ ทริสกับดร. วุฒิพงษ์แยกกันไม่ออกทีเดียว

นอกจากข้อความที่ออกจากปากว่า "จริงๆ ขอลาออกตั้งแต่หมดวาระแล้ว แต่ถูกขอให้ช่วยต่อ" และเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ดร. วุฒิพงษ์ได้แจกเอกสารคล้ายกับจดหมายขอบคุณและอำลาความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 เท้าความตั้งแต่ครั้งก่อตั้งทริสขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี' 36 ซึ่งยังขออาศัยพื้นที่ของ IFCT เป็นที่ทำการชั่วคราว จนถึงปัจจุบันที่มีที่ทำการเป็นกิจจะลักษณะ เป็นที่ยอมรับจากคนในวงการธุรกิจในด้านผลงาน และมีชื่อเสียงในวงกว้าง

ในตอนหนึ่งของเอกสารที่ ดร. วุฒิพงษ์ได้เขียนไว้ว่า "เมื่อมีการเริ่มต้นก็ย่อมมีการเลิกรา หลังจากที่ได้พบ ได้เห็น ได้ภูมิใจ ได้เหน็ดเหนื่อย และได้ผ่านเหตุการณ์นานัปการในองค์กรแห่งนี้ ผมพบว่าวาระการบริหารงานที่ทริสก้าวถึงจังหวะอันเหมาะสม แล้วจึงตัดสินใจลาออก" และตามมาด้วยเป้าหมาย 3 เรื่องที่ต้องการจะทำหลังจากลาออกแล้วนั่นคือ

การเขียนหนังสือหรือบทความจากประสบการณ์ที่ได้จากการประเมินองค์กรทั้งสามภาค คือ ราชการ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายเรื่องที่สองคือ จะทำหน้าที่วิจารณ์หรือให้แง่มุมแก่สาธารณะ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อทริส เพราะที่ผ่านมาแม้จะออกตัวว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ก็มักถูกอ้างอิงให้โยงไปผูกกับทริสอยู่ด้วยเสมอ

เรื่องที่สาม จะตั้งองค์กรใหม่เพื่อทำหน้าที่ด้านการประเมิน และจัดอันดับบริการทางสังคมที่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนให้แก่สาธารณชน เช่นการจัดอันดับสถาบันการศึกษา การจัดอันดับโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคและสาธารณชนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้งภายใต้ชื่อ "อิสสรา" ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Institute for Social Service Rating and Accreditation (ISSRA)

จากเป้าหมายทั้ง 3 ข้อที่ให้รายละเอียดอย่างยืดยาวนี้ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าสาเหตุหลักคืออะไร และถ้ามองในตัวทริสเองก็ยังมีงานต้องพัฒนาให้กว้างออกไปอีก ทั้งในเรื่องการจัดอันดับประกันภัย และการทำ Securitization ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์งานเช่นนี้ เหตุผลในเรื่องความอิ่มตัวในงานจึงน่าจะหมดไป

ข้อสมมติฐานอีกประการ โดยปกติเทอมการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของทริส มี 4 ปี แต่ ดร. วุฒิพงษ์เพิ่งได้รับการต่ออายุเป็นวาระที่สองเมื่อเดือนมีนาคมปี' 40 นี้เอง จึงดำรงตำแหน่งในวาระที่สองเพียงปีเดียวเท่านั้น

หลายคนมองว่า ดร. วุฒิพงษ์ อาจถูกแรงกดดันจากกรณีของ บง. เอกธนกิจ หรือ Fin1 ซึ่งก่อนหน้าดีล Fin1 กับ ธ. ไทยทนุจะล้มนั้น เครดิตเรตติ้งของ Fin1 อยู่ที่ A+ แต่หลังจากนั้นจนถึงลดอันดับลง ก็ไม่มีการประกาศออกมาอีกเลย คาดว่าคงอยู่แถวๆ B หรือต่ำกว่านั้น

จากกรณีนี้เองที่ทริสถูกโจมตีค่อนข้างมากในแง่ข้อมูลที่มีอยู่ในมือ น่าจะส่งสัญญาณบอกนักลงทุนหรือประชาชนให้ระวัง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นปิดกิจการ จนมีคนตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเครดิตเรตติ้งจะบอกหรือบ่งความหมายอย่างใดได้บ้าง? หรือประโยชน์จากเครดิตเรตติ้งแท้จริงแล้วคืออะไร?

จากการโจมตีกรณีนี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวว่า "เขาพูดเหมือนกับว่าเราทำอยู่บริษัทเดียวคือ Fin1 เท่านั้นซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่ข้อกล่าวหานี้ก็เป็นภาพหลอนอยู่ในใจเรามาตลอด"

ดังนั้น บางกลุ่มจึงมองว่า อาจจะเป็นเหตุนี้ที่ทำให้ ดร. วุฒิพงษ์ พิจารณาตัวเองและตัดสินใจลาออก

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ากรณีของ Fin1 จะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับเอกชนไทยได้ว่าในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสถูกต้องด้วย มิฉะนั้นเหตุการณ์อย่างนี้ก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ที่สถานภาพของบริษัทย่ำแย่ ในขณะที่ตัวเลขผลประกอบการแสดงออกมาอย่างสวยหรู แต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ซึ่งเบื้องหลังการพิจารณากรณีของ Fin1 ทางคณะกรรมการของทริสได้มีการทบทวนเช่นกัน เมื่อมีความเคลื่อนไหวหรือข่าวลือออกมา "แต่เมื่อเรานำเอกสารที่ได้มาจากทางบริษัทที่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีอะไรผิดปกติตรงข้ามกับยังมีผลกำไรดีขึ้นด้วยซ้ำ" ดร. วุฒิพงษ์กล่าวและเสริมว่า

"เราจึงต้องมานั่งพิจารณาว่าจะเชื่อตามข่าวลือที่เกิดขึ้น หรือจะเชื่อจากเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีเอกชน และจากข้อมูลของฝ่ายกำกับดูแลรัฐ และในที่สุดเราก็ต้องยึดตามหลักการไว้ก่อน คือเอาตามตัวเลขในเอกสาร"

ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลที่ไม่โปร่งใสนั้นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ โดยเฉพาะในกรณีของ Fin1 ซึ่งมีข้อมูลที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แม้แต่บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศรายใหญ่อย่างลีห์แมน บราเธอร์เองก็ยังยอมรับว่า เขาพลาดในกรณีของ Fin1 เช่นกัน แต่เป็นการพลาดหนหนึ่งเท่านั้นในจำนวนลูกค้าหลายรายที่เขาดีลอยู่

ความผิดพลาดจากการทำงานที่ถูกต้อง ตรงตามแนวทางและวิธีการที่วางไว้ จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการลาออกครั้งนี้ ประกอบกับกรณีของ Fin1 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความกดดันจากคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะที่ผ่านมางานแทบทุกงานของทริสมักจะได้รับเสียงสะท้อนกลับ ทั้งในด้านคัดค้านหรือติติงมากกว่าสนับสนุนอยู่เสมอ จนถึงขนาดว่ากรรมการผู้จัดการคนนี้ ออกปากเองว่า "อาจจะดูเหมือนซาดิสต์" เพราะงานทุกงานหรือไอเดียที่ออกมามักจะได้ผลสะท้อนกลับที่แรงเกือบทุกครั้งไป

เมื่อพิจารณาหลายๆ จุดแล้ว ดูเหมือนไม่น่ามีมูลเหตุที่จะมาโยงกับการลาออกได้อีกแล้ว แต่วลีหนึ่งที่ ดร. วุฒิพงษ์พูดอยู่บ่อยๆ รวมทั้งในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย เมื่อพูดถึงบริษัทใหม่ที่จะไปทำก็คือ "ชอบว่ายทวนน้ำ" ซึ่งหมายถึงงานที่ทำมักจะต้องมีเสียงทัดทานอยู่เรื่อยไป รวมถึงงานในบริษัทอันได้แก่ การจัดอันดับสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล

เพราะทันทีที่ 2 โครงการนี้ออกมาไล่ๆ กัน ก็ได้รับเสียงสะท้อน ในทำนองคัดค้านค่อนข้างมากกว่าที่เคยได้รับ เพราะเป็นงานนอกสายงานของธุรกิจหลัก ซึ่งโดยจุดประสงค์การก่อตั้งก็เพื่อพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนเป็นหลัก พองานใหม่เปิดตัวออกมา นอกจากเสียงคัดค้านแล้ว แน่นอนอาจจะมีเสียงปรามาสตามมาด้วย เพราะถือว่าทริสยุ่งไม่เข้าเรื่องหรือไม่ก็ทำนองว่าจะทำได้หรือ?

"ผมออกมาอย่างนี้ก็จะเป็นความสบายใจของทั้งฝ่าย ก.ล.ต. และตัวผมเอง เพราะที่ผ่านมา ก.ล.ต. ในฐานะเป็นฝ่ายกำกับดูแลอาจไม่ค่อยสบายใจนักที่เราออกไปทำนอกข่ายงาน แต่ผมมองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีการจัดอันดับ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานด้านต่างๆ" ดร. วุฒิพงษ์ชี้แจง

มูลเหตุนี้อาจจะเป็นตัวผลักดันสำคัญ นอกเหนือไปจากความสนใจในด้านสังคมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งระยะหลังๆ ตั้งแต่ต้นปี' 40 หลังจบงานแถลงข่าวของทริสแต่ละครั้งถ้ายังมีเวลาคุยกับนักข่าว ดร. วุฒิพงษ์มักจะเสนอความคิดเรื่องการปรับปรุงระบบโปรแกรมการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการสอนในระดับมัธยม เพื่อสร้างคุณภาพเด็กก่อนเข้าสู่ในระดับมหาวิทยาลัย โดยงานดังกล่าวอาจดำเนินการได้โดยการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาทำ และเขายืนยันว่าสามารถจะบริหารให้ได้ทั้งเงินและกล่อง เหมือนที่ทำมาแล้วในทริส

ดังนั้น แนวทางของ "อิสสรา" บริษัทใหม่นี้ก็ไม่ต่างจากแนวคิดข้างต้นนัก เพราะ ดร. วุฒิพงษ์ตั้งใจจะให้เป็นองค์กรที่ไม่หวังกำไรอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามทุนขั้นต้นในการบริหารคาดว่าต้องใช้ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งนั้นก็เริ่มๆ ทาบทามผู้หลักผู้ใหญ่ไว้หลายท่าน เช่น น.พ. ประเวศ วะสี, ศ.น.พ. จรัส สุวรรณเวลา รวมทั้ง สกว. สมาคม สถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิ และหน่วยงาน NGO

ดร. วุฒิพงษ์ คาดว่าการลาออกของเขาจะมีผลอย่างเป็นทางการประมาณต้นเดือนมีนาคมปี' 41 เพราะมีการประชุมผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นจะพักผ่อนก่อนจะเริ่มงานใหม่ในครึ่งปีหลัง ส่วนตอนนี้ก็ต้องมองหาผู้บริหารใหม่ ซึ่งกำหนดอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินไม่น้อยกว่า 10 ปี พูดและเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และที่สำคัญประวัติต้องดีมากๆ ใครสนใจก็สมัครไปได้ที่ทริส

สำหรับทริสนั้น ณ สิ้นปี' 40ทำการจัดอันดับเครดิตแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งธุรกิจเอกชน สถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 10 ราย คิดเป็นมูลค่าตราสารหนี้ที่มีอันดับ 6.25 พันล้านบาท ทั้งนี้ที่มีการเผยแพร่มีเพียง 1 ราย คือ บมจ. ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) และที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก 9 ราย

ด้านการจัดอันดับผลการดำเนินงานทำให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2540 จำนวน 27 แห่ง รวมทั้งจัดอันดับผลการดำเนินงานหน่วยราชการระดับกรมอีก 3 แห่งได้แก่ กรมสรรพากร, กรมทะเบียนการค้า และสำนักงานประกันสังคม

ส่วนผลการดำเนินงานถือว่าในระดับหนึ่ง เพราะในปัจจุบันแม้เศรษฐกิจจะซบเซาแต่ปี' 40 ทริสก็ยังมีรายได้ประมาณ 75.4 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากบริการจัดอันดับเครดิต 33.1% บริการจัดอันดับผลการดำเนินงาน (หน่วยราชการ+รัฐวิสาหกิจ) 56.4% บริการสารสนเทศ 1.6% รายได้ดอกเบี้ยรับ 8.4% และรายได้อื่น 0.5% และคาดว่าจะมีกำไรประมาณ 19.7 ล้านบาท

การยังคงกำไรของทริสนั้นส่วนใหญ่มาจากงานบริการเสริมที่คิดขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่งานจัดเครดิตที่เป็นงานแกนของสำนักงานเพราะงานเครดิตนี้ ณ สิ้นปี' 40 จะมีเพียง 27 รายเท่านั้น ลดจากปี' 39 ค่อนข้างมากเพราะเดิมมีอยู่ถึง 61 ราย

ผลที่ออกมาเช่นนี้ทำให้น่าคิดว่า ไอเดียใหม่ๆ ก็ใช้ได้ดีและมีประโยชน์ได้เสมอ ถ้ารู้จักยอมรับและพัฒนาตัวเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us