เวลา 3 เดือนนับจากนี้ไปเพียงพอหรือไม่ที่ค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้
หรืออยู่ในระดับที่นิ่งพอที่จะทำให้การทำธุรกรรมปกติดำเนินไปได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเมื่อค่าเงินนิ่ง
สภาพคล่องในระบบก็จะกระเตื้องดีขึ้นและมีเงินไหลกลับเข้ามาในระบบ
แต่ปัญหาคือในช่วง 3 เดือนนี้ ใครจะสามารถอดทนอยู่รอดได้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว
และไม่เห็นวี่แววว่าจะลดลงได้อย่างไร ในเมื่อแบงก์ชาติยังใช้กลไกนี้เป็นเครื่องมือต่อสู้เรื่องการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ทั้งๆ ที่ได้ประกาศปิดตลาดออฟชอร์ไปนานแล้ว แต่ก็ยังอนุญาตให้มีการออก paper
สกุลบาทไปขายในต่างประเทศได้ ซึ่งก็ทำให้มีเงินตราต่างประเทศผ่านเข้ามาในประเทศ
แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่กำลังต่อสู้อยู่แต่อย่างใด
ดังนั้น หากสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป คาดว่าไม่ต้องรอถึง 3 เดือนกระมัง
คงพอจะทราบแล้วว่าสถานการณ์จะไม่ดีขึ้น!
เรื่องจากปกฉบับนี้ เรานำเสนอเรื่องราวของธุรกิจขนาดย่อม หรือ small business
หรือ home based business ก็อาจเรียกได้ โดยความน่าสนใจของธุรกิจเหล่านี้อยู่ที่เป็นธุรกิจขนาดที่ไม่ใหญ่โตนัก
ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก และที่สำคัญเป็นการส่งสินค้าออกไปขายในตลาดต่างประเทศ
ซึ่งในยามนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศอย่างมาก
แม้ว่ากิจการเหล่านี้บางรายไม่ได้เป็นผู้สร้างโนว์ฮาวที่สำคัญอะไร แต่หน่ออ่อนเล็กๆ เหล่านี้หากแพร่กระจายขยายวงกว้างขึ้น ก็เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยยามยากได้เหมือนกัน
เรามีสกู๊ปข่าวที่น่าสนใจยิ่งมาฝากท่านผู้อ่าน เป็นเรื่องจริงและอาจจะใกล้ตัวท่านหรือบางท่านอาจจะเคยประสบมาแล้ว
"เปิดคัมภีร์ค้าเงินลวงโลก เทคนิคซับซ้อนตุ๋นกันทุกระดับชั้น"
ผลงานของกุสุมา พิเสฎฐศลาศัย - นักข่าวที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน
และเธอได้แหล่งข่าวที่ดียิ่งโดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ
คัมภีร์เล่มนี้ดำรงอยู่มานานกว่า 10 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบางกลุ่ม
และช่องว่างของกฎหมายไทยที่ไม่อาจเอาผิดคนเหล่านี้อย่างรุนแรงได้ เรื่องราวเป็นอย่างไรโปรดอ่านรายละเอียดข้างในค่ะ
นอกจากนี้เรามีสกู๊ปวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2541 "ตะวันจะดับ"
หรือ "อาทิตย์จะอุทัย!?" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยว่า
ผู้ประกอบการรายใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร หากพวกเขายังไม่อาจตัดใจทิ้งฐานที่มั่นในไทยได้
แนวทางการต่อสู้ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น น่าที่จะเป็นแรงเหวี่ยงครั้งสำคัญอีกรอบหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2541 อาจถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ที่มีความน่าสนใจหลายประการ
ไม่ต่างกับยุคเปิดเสรี หรือย้อนไปถึงการบังคับใช้ชิ้นส่วน จำกัดซี่รี่ส์รถและโรงงานประกอบ
เมื่อครั้งอดีต จากนี้เราอาจจะได้เห็นบริษัทแม่เข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทในไทยมากขึ้น
และใครจะขายรถต้องเมดอินไทยแลนด์เท่านั้น ยังมีอีกหลายปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ซึ่งอาจจะนำไทยไปสู่การเป็นประเทศสำคัญรายหนึ่งที่ผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกเป็นหลัก!?
สกู๊ปข่าวอื่นๆ คงมีอยู่อย่างครบครัน ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะพลิกผันอย่างไร
เรา "ผู้จัดการรายเดือน" จะเฝ้าติดตามวิเคราะห์มานำเสนอท่านเป็นประจำทุกๆ ต้นเดือน
พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ
ภัชราพร ช้างแก้ว
บรรณาธิการบริหาร