
Airbus 380 เป็นชื่อของเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้มีขนาดใหญ่กว่า Boeing 747 มาก จุผู้โดยสารได้ถึง 850 คน วัดความยาวของตัวลำได้ 73 เมตร ความสูง 24 เมตร
โครงการสร้าง Airbus 380 เป็นโครงการร่วมของประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป ประกอบด้วยฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน และอังกฤษ เป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของความร่วมมือในระดับภูมิภาค เป็นการแสดงศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เป็นความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยี
ในเชิงยุทธศาสตร์การค้าและการตลาด ถือว่าเป็นการท้าทายโดยตรงกับบริษัท Boeing ของสหรัฐ อเมริกา ซึ่งผูกขาดการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่มานาน
แต่ในระยะสองปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มว่า Airbus เริ่มขึ้นมาเทียบเท่าและแซงหน้า Boeing ไปแล้ว ดูได้จากข้อมูลบางประการ ในปี 2004 Airbus ผลิตและส่งมอบได้ถึง 320 ลำ ในขณะที่ Boeing ทำได้แค่ 285 ลำ และในปีนี้ Airbus มีเป้าหมายอยู่ที่ 350-360 ลำ
สำหรับโมเดลใหม่ล่าสุด Airbus 380 หรือบางทีก็เรียกกันว่า ปลาวาฬแห่งฟากฟ้า ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 850 คน เป็นเครื่องบินสองชั้น มีความสูงเทียบได้กับตึก 7 ชั้น มีน้ำหนักรวมสูงสุดถึง 560 ตัน ใช้เครื่องยนต์สี่เครื่องของ Rolls-Royce สามารถบินต่อเนื่องได้ถึง 15,000 กิโลเมตร
สำหรับโมเดลพิเศษสำหรับการขนส่งสินค้าเป็น แบบสามชั้น บรรทุกน้ำหนักได้ 152 ตัน และบินตรงต่อเนื่องได้ถึง 10,400 กิโลเมตร เรียกว่ารวมเอาความ เป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและความเป็นที่สุดไว้ในเครื่องบินลำนี้เลยทีเดียว ในราคาเริ่มต้นที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเทียบกับรุ่นที่เป็นที่สุดของ Boeing คือ 747 ที่รองรับผู้โดยสารได้แค่ 416 คน และมีน้ำหนักรวมสูงสุดได้แค่ 412 ตัน ในจุดนี้ถือว่า Airbus ได้ล้ำหน้า ไปมาก นอกจากนี้ Airbus ยังสามารถลดต้นทุนได้ถึง 15% ต่อผู้โดยสารหนึ่งคนเมื่อเทียบกับต้นทุนดังกล่าวของ Boeing 747
ทาง Airbus ได้ย้ำว่า ถึงแม้ว่าสนามบินต่างๆ ปรับปรุงสนามบินบางประการ เพื่อรองรับเจ้านกยักษ์ตัวนี้แต่ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก เพราะว่าเป็นเครื่องบิน ที่กินน้ำมันน้อยที่สุดทั้งยังไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม และยังมีระบบอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะว่าทางบริษัท สายการบินสามารถจัดสรรห้องโดยสารได้ตามต้องการ เครื่องบินรุ่นนี้จะเหมาะกับสนามบินขนาดใหญ่ที่มีการ จราจรทางอากาศที่หนาแน่น และมีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยเฉพาะสนามบินของประเทศแถบเอเชีย
ตอนนี้มี 14 บริษัทสายการบิน ได้สั่งจองมาแล้ว 149 ลำ รวมมูลค่าถึง 40,000 ล้านยูโร
สำหรับโครงการ Airbus 380 นี้ได้ลงทุนไป 10,700 ล้านยูโร ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างสี่ประเทศ นั่นก็คือ แต่ละชิ้นส่วนได้กระจายไปผลิตตามประเทศต่างๆ ดังนี้ ส่วนปีกผลิตที่เมือง Broughton ประเทศอังกฤษ ส่วนหาง ผลิตที่เมือง Puerto Real ประเทศสเปน ตัวจรวดส่วนท้ายผลิตที่เมือง Hamburgo ประเทศเยอรมนี และจรวดส่วนกลาง ห้องนักบินและห้องควบคุม ผลิตที่เมือง St.Nazaire ประเทศฝรั่งเศส แล้วทุกชิ้นส่วน ก็จะถูกมานำประกอบที่โรงงานขนาดมหึมาที่เมือง Toulouse ฝรั่งเศส
สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนขนาดใหญ่จากแหล่งผลิตในประเทศต่างๆ ก็จะใช้เรือ เครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่ รวมทั้งรถบรรทุก ที่ออกแบบเป็นพิเศษ ทั้งนี้ต้องมีการขยายถนนและสะพานในบางพื้นที่เพื่อให้รถบรรทุกเหล่านั้นผ่านไปได้
เพื่อการลดน้ำหนักของตัวลำ ได้เลือกใช้วัสดุน้ำหนักเบาดังนี้ อะลูมิเนียม 60% ไททาเนียม 20% ที่เหลือก็เป็นจำพวกใยแก้วและเรซิ่น
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2005 ได้มีงานเปิดตัวเครื่องบินยักษ์ลำนี้ จัดขึ้นที่เมือง Toulouse ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส จริงๆ แล้วเป็นทั้งงานเปิดตัวและฉลองไปในเวลาเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นการแสดง คุณค่าของความเป็นสหภาพ สหภาพยุโรป ซึ่งมีผลสนับสนุนในการทำประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับแรก ของสหภาพยุโรป ที่จะมีการโหวตในเร็วๆ นี้
ในมุมมองเชิงอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นการทวงความเป็นหนึ่งกลับมาอีกครั้งหนึ่งของทวีปยุโรปจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในการผลิตเครื่องบินโดยสาร ขนาดใหญ่
สำหรับงานเปิดตัวมีผู้มาร่วมงานราว 5,000 คน นำโดยประธานาธิบดีจากสี่ประเทศผู้ร่วมผลิต ประธาน บริษัท Airbus และบริษัทในเครือ รวมทั้งบริษัทสายการบินต่างๆ พร้อมแขกผู้มีเกียรติอีกมากมาย
Zapatero ประธานาธิบดีของสเปน กล่าวว่า "เป็นฝันที่เป็นจริงของยุโรป และเป็นอนุสาวรีย์ทางสติปัญญา" แล้วเน้นย้ำว่า ถ้าปราศจากความร่วมมือ โครงการนี้เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด
ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส Jaques Chirac ย้ำอีกครั้งว่า โครงการ Airbus 380 นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าทวีปยุโรปได้นำหน้าคู่แข่งตลอดกาลอย่างสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อย่างน้อยก็ในเรื่องการผลิตเครื่องบินโดยสาร และเรียกร้องให้ชาวยุโรปได้ร่วมมือกันแบบนี้ในโครงการอื่นๆ อีก เช่น โครงการ ด้านพลังงาน, การขนส่ง และการผลิตยา
งานเปิดตัวดังกล่าวทำให้ชื่อของ Airbus 380 เป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกแค่ช่วงเวลาข้ามคืน
ในส่วนของตัวเครื่องนั้นนอกจากจะมีความโดด เด่นด้านความใหญ่โตแล้ว มีการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาควบคุมการบิน เป็นครั้งแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์เพียงตัวเดียวที่เชื่อมต่อกับดาวเทียมอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำการควบคุมการบินทั้งหมด ทุกข้อมูลการบิน ทุกเหตุการณ์สามารถติดตามและตรวจสอบได้ในเวลาจริง ตลอดเวลา นอกจากนั้นในห้องผู้โดยสารจะมีการจำลองแสงแดดธรรมชาติเพื่อลดอาการ jet-lag
จะมีการทดสอบบินจริงเป็นครั้งแรกในราวเดือนเมษายน จากนั้นต้องใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งปีเพื่อทดลองบินให้ครบ 2,000 ชั่วโมง ตามกำหนดของ การขอใบอนุญาต เพื่อที่จะให้ลูกค้ารายแรก คือ Singapore Airlines สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ทันในเดือนมีนาคม 2006
|