|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2548
|
|
พระพุทธรูปองค์นี้คงจะเป็นที่คุ้นตากันดีโดยเฉพาะตามโปสเตอร์ที่ติดโฆษณาอยู่หน้าบริษัทนำเที่ยวที่มีทัวร์ไปญี่ปุ่นหรือไม่ก็ตามหนังสือคู่มือท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นซึ่งมักจะมีภาพของพระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏอยู่แทบทุกเล่ม จนเกือบจะกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นไปเสียแล้ว
คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในนาม Daibutsu ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า "พระพุทธองค์ใหญ่" แต่น้อยคนที่ทราบว่าชื่อจริงของ Daibutsu ที่ Kamakura องค์นี้คือ Amida Nyourai และอันที่จริงแล้ว ยังมี Daibutsu อีกองค์หนึ่งที่มีอายุเก่าแก่กว่าและขนาดใหญ่กว่าที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารของวัด Toudaiji จังหวัด Nara ที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า Nara Daibutsu
แม้ว่า Nara Daibutsu จะเป็นองค์ที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นก็ตาม แต่กลับเป็นที่นิยมน้อยกว่า Daibutsu ที่ Kamakura เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความงดงามทางประติมากรรมและความอลังการขององค์พระที่อยู่กลางธรรมชาติโดยมีภูเขาเป็นฉากหลังเรื่องราวความเป็นมาที่โดดเด่นน่าสนใจ การเดินทางสะดวกรวมไปถึงค่าเข้าวัดที่ถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นที่ราบโอบล้อมด้วยขุนเขาทั้งด้านหลังและด้านข้างอีกทั้งมีด้านหน้าที่หันสู่ทะเล ซึ่งเป็นทำเลที่ถูกต้องตามหลักการของฮวงจุ้ยที่รับมาจากจีนทำให้ Yoritomo Minamoto โชกุนคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เลือกเมือง Kamakura เป็นที่ตั้งกองบัญชาการปกครองประเทศ อันเป็นการเริ่มต้นของสมัย Kamakura (ค.ศ.1180-1333)
ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่พุทธศาสนาได้เผยแผ่มาจากจีนและเกาหลี ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่ยังปรากฏอยู่ในเมือง Kamakura อันบ่งบอก ถึงร่องรอยความเจริญของศาสนาพุทธหลายนิกายวัดวาอารามมากมายสร้างขึ้นตามความศรัทธาของโชกุน หรือผู้มีฐานะในสมัยนั้นตามแต่จะอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายที่ตนนับถือ
แรงบันดาลใจหลังจากการไปร่วมงานบูรณะ Daibutsu ที่เมือง Nara ทำให้โชกุน Yoritomo Minamoto ประสงค์ที่จะสร้าง Daibutsu ในลักษณะเดียวกันที่ Kamakura ตามแบบความเชื่อในลัทธิ Jodo ซึ่งตนให้การอุปถัมภ์อยู่ แต่โชกุนได้เสียชีวิตลงในขณะที่การดำเนินการสร้างเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น
จากนั้น Yoriie Minamoto บุตรชายได้ขึ้นดำรง ตำแหน่งโชกุนแต่กลับถูกครอบงำอำนาจจากตระกูล Hojo จากทางฝ่ายมารดาซึ่งให้การสนับสนุนนิกาย Zen ทำให้การสร้าง Daibutsu ในนิกาย Jodo ต้องมีอันล้มเลิกไป
ต่อมา Inada Notsubone สตรีที่เคยรับใช้ในตำหนักของโชกุน Yoritomo Minamoto ต้องการที่จะสานต่อการสร้าง Daibutsu โดยได้รับความช่วยเหลือ จากหลวงพ่อ Joko ที่ได้ร่วมเดินทางไปทั่วญี่ปุ่น เพื่อรับบริจาคเงินสำหรับใช้ในการสร้าง Daibutsu
ในที่สุดงานสร้าง Kamakura Daibutsu พร้อมวิหาร ตามแบบอย่างจาก Nara ก็เสร็จ สมบูรณ์ ในปี 1243 ซึ่งเดิมที Kamakura Daibutsu องค์แรกนั้นแกะสลักจากไม้มีขนาดความสูงถึง 24 เมตรซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่า Nara Daibutsu (ที่สร้างจากสำริดมีความสูง 14.73 เมตร)
น่าเสียดายที่อีก 4 ปีต่อมาเกิดพายุไต้ฝุ่น พัดผ่าน Kamakura สร้างความเสียหายให้กับ พระวิหารและ Daibutsu ซึ่งตกลงมาแตกหักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ ทำให้ Inada Notsubone และหลวงพ่อ Joko ต้องออกเดินทางอีกครั้งเพื่อบอกบุญสำหรับการสร้าง Daibutsu องค์ใหม่
เมื่อรวบรวมปัจจัยครบหมดแล้วครั้งนี้จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่คงทนถาวรอย่างสำริดเหมือน กับองค์ที่ Nara ถึงกระนั้นก็ตามการหล่อ Daibutsu องค์ใหม่นี้ก็ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง จนกระทั่งได้ช่างฝีมือดี 2 คนชื่อ Tanji Hisatomo และ Goroe-mon Ono มาช่วยหล่อองค์พระได้สำเร็จในปี 1252 และประดิษฐานที่วิหารในวัด Kotoku-in, Kamakura อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
หากเข้าไปดูใกล้ๆ Daibutsu องค์นี้จะเห็นว่ามีเส้นบางๆที่เป็นรอยเชื่อมต่อของโลหะ ที่แนบเนียนทั้ง 8 ชิ้นประกอบขึ้นเป็น Daibutsu ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่มีเทคนิคใดที่สามารถทำเลียนแบบชิ้นงาน ที่ละเอียดเช่นนี้ได้
อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ Daibutsu ที่ Kamakura นี้แตกต่างจากที่ Nara อย่างมีนัยสำคัญ คืออะมิตะพุทธองค์นี้เกิดจากจิตศรัทธาของประชาชนญี่ปุ่นทั่วประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้าง Daibutsu ถึง 2 ครั้งด้วยกันโดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ
ระยะเวลา 153 ปีของสมัย Kamakura ต้องมีอันสิ้นสุดลงเนื่องจากความอ่อนแอของโชกุน และการแทรกแซงจากตระกูล Joho (ซึ่งอุปถัมภ์นิกาย Zen และเคยขัดขวางการสร้าง Daibutsu ตั้งแต่แรก) จากนั้นในปี 1335 ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำ Kamakura อีกครั้ง กองกำลังซามูไรกว่า 500 คนของตระกูล Joho ที่กำลังรบอยู่ในสงครามได้หนีเข้าไปหลบพายุในวิหารของวัด Kotoku-in แต่ในที่สุดพระวิหารไม่สามารถต้านความแรงของพายุได้และพังลงมาทับกองทัพซามูไร ของตระกูล Joho เสียชีวิตทั้งหมดและเหลือไว้เพียง Daibutsu องค์เดียวหลังพายุ
จากนั้นในปี 1368 วิหารที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ก็ถูกพายุพัดพังไปอีก จนสุดท้ายวิหารที่สร้างขึ้นมาทดแทน และบริเวณโดยรอบได้ถูก Tsunami พัดลงทะเลไปในปี 1498 ทำให้ Daibutsu ประทับอยู่กลางแจ้งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งเป็นเหตุให้โลหะที่ใช้หล่อองค์ Daibutsu เกิดปฏิกิริยา oxidation กับอากาศและน้ำฝน/หิมะ (ในลักษณะเดียวกันกับปฏิกิริยาการเกิดสนิมของเหล็ก) จนทำให้กลายเป็นสีเขียวอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน สีดั้งเดิมของ Daibutsu องค์นี้สามารถสังเกตได้จากสี ของโลหะภายในรูหูซึ่งอยู่สูงจนมองเห็นได้ค่อนข้างยาก
แรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โตเกียว ในปี 1923 และ 1960 ทำให้ส่วนฐานขององค์พระได้รับ ความเสียหายบางส่วนและในปี 1961 มีการนำเทคโน โลยีสมัยใหม่มาใช้บูรณะส่วนฐานและคอเพื่อให้องค์พระทนต่อแผ่นดินไหวแรงๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
เห็นได้ชัดว่าแม้แต่ภัยธรรมชาติร้ายแรง อย่างเช่น พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และแม้กระทั่ง Tsunami ที่โหมกระหน่ำเข้ามาหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถทำความเสียหายต่ออะมิตะพุทธองค์นี้แต่อย่างใด มาร่วมกันทำความดีเถอะครับ เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดอีก โดยเฉพาะสถานการณ์ ในโลกปัจจุบัน
สัจธรรมจาก Kamakura Daibutsu สอนให้รู้ว่า ความดีต่างหากที่คงทน
|
|
|
|
|