"งานต่างประเทศชิ้นแรก ดิฉันกับนิวัติไปกันสองคน ที่เมือง Cochin ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยลืมเลย"
เป็นเรื่องเล่าที่ "คลาสสิก" มากใน "PIA" บริษัทอินทีเรียร์ดีไซน์ชื่อดังบริษัทหนึ่งในเมืองไทย และเป็นเสมือน "เชื้อ" ที่คอยเติม "ไฟ" ให้กับทีมงานทุกคน
บ่ายวันหนึ่งบนชั้น 29 อาคารเลครัชดา รุจิราภรณ์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัทพี อินทีเรียร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ หรือ PIA ได้เล่าเรื่องนี้ให้ "ผู้จัดการ" ฟังอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์พิเศษ หลังจากไม่ค่อยยอมเปิดตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อฉบับใดบ่อยนัก โดยมีทีมงานสำคัญอีก 2 คนคือ นิวัติ อ่านเปรื่อง (Associate) และวรพงศ์ ช้างฉัตร (Senior Associate) เข้าร่วมพูดคุยด้วย
"ลูกค้ามาเห็นงานของเราที่โนโวเทล สยาม จึงให้เราออกแบบโรงแรม ใหม่ ตอนนั้นประสบการณ์ก็ยังมีไม่มาก ประกอบกับ brief ที่ได้รับว่าเป็นโรงแรม 2-3 ดาว ไม่ต้องหรูหรา และงบประมาณไม่สูง โดยที่เราไม่รู้ว่าเจ้าของคือ Mr.Oberoi ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่มีโรงแรมทั่วโลก พอออกแบบ mock up เรียบร้อยเขาก็นั่งเครื่องบินเจ็ตมาดูเลยนะ และให้คำตอบเราช้าๆ และชัดๆ ว่า I don't like it.
เพียงเท่านั้นดิฉันก็บอกกับตัวเองว่าเราจะยอมแพ้ตรงนี้ไม่ได้ จึงขอกลับไปแก้ไขแบบใหม่ในเวลา 3 เดือน ทำแบบเป็น Computer Animation ให้เห็นว่าเดินไปจะเห็นอะไรบ้าง เป็น Walk-Through ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เวลาและเงินมาก แต่เรามานั่งทำกันเอง ทำงานกันหนักทั้งวันทั้งคืนเพื่อ ให้เขารู้ว่าเราทำได้ และเมื่องานออกมาก็เป็นที่พอใจของลูกค้า ทำให้เราได้งาน Oberoi chain มาจนถึงปัจจุบัน"
ประสบการณ์ในครั้งนั้นถูกส่งต่อมายังคนรุ่นหลังเพื่อตอกย้ำว่า "อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ" ไม่ยอมแพ้กับความผิดพลาด และความล้มเหลว ต้องมีสติที่จะลุกขึ้นแก้ไขข้อผิดพลาด ปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น การที่ล้มแล้วไม่ลุกขึ้นมาสู้ จะไม่เป็นผลดีต่ออนาคต
ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นในการออกแบบ PIA ต้องศึกษาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับงานและลูกค้าให้มากที่สุด ทั้งยังต้องให้ความสำคัญในด้าน Concept, รายละเอียดของการเขียนแบบ และ Coordination Work ที่ต้องไปด้วยกันทั้งหมดขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ นอกจาก นั้นการเป็นทีมเวิร์กเป็นอีกหลักการหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
กระบวนการสร้างคน และสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการบริหารงานออกแบบให้ได้มาตรฐานสากล ก็เป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของ PIA ในวันนี้
โครงการใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ให้ความสำคัญในการ "ดีไซน์" เพื่อสะท้อนไปถึง positioning และ image ขององค์กรที่เป็นผลงานของ PIA เช่น สำนักงาน ใหญ่ของธนาคารกรุงไทย, ตึก Ture, อาคารมาลีนนท์, โรงแรม Sofitel สีลม, โรงแรม Four Seasons กรุงเทพฯ
Moc up room ในคอนโดมิเนียมราคาแพงบนถนนสุขุมวิท เช่น ไฟคัสเลน, Heritage hip condo, ร้าน Hermes Boutique ในดิ เอ็มโพเรียม, ร้านอาหารญี่ปุ่น Tsunami Royal Princess เชียงใหม่, อนันตรา รีสอร์ท ที่เกาะสมุย, โครงการ "สานติ พูรา" ของสงกรานต์ กระจ่างเนตร์ ที่อำเภอหัวหิน
PIA เป็นบริษัทอินทีเรียร์บริษัทหนึ่งที่มีการบริหารการจัดการอย่างน่าสนใจเพราะเพียงเวลาไม่กี่ปี กลายเป็นบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานถึง 80 คน เป็นทีมงานทางด้านการออกแบบ 60 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีมหลักๆ คือ Hospitality High-end ออกแบบด้านโรงแรม รีสอร์ต มีนิวัติ อ่านเปรื่อง รับผิดชอบส่วน High-end Corporate ออกแบบบริษัท หรือองค์กรใหญ่ๆ ที่มีขั้นตอนมากมายและต้องใช้ความสามารถในการเจรจาอย่างสูง มีวรพงศ์ ช้างฉัตร รับผิดชอบ และสุดท้าย Financial Institutional Project มีอรนาฎ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รับผิดชอบในส่วนนี้
"ที่นี่จะมีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง วิธีเทรนที่ดีที่สุดคือให้เขาเรียนรู้จากสิ่งที่เขาทำ เรียนรู้จากรุ่นพี่ จากประสบการณ์สะสม จนเป็นฐานข้อมูลไปเรื่อยๆ กลายเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จินตนาการเป็นทักษะที่หัดได้ ยิ่งฝึกยิ่งทำ ยิ่งคิดยิ่งได้เยอะ และยิ่งเก่ง"
ภาพหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ขะมักเขม้นกับงานบนโต๊ะทั้งๆ ที่เวลาล่วงเลยไปเกือบจะ 6 โมงเย็นแล้วนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการถูกเคี่ยวกรำเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการสร้างคน รุจิราภรณ์บอกว่าที่นี่ไม่ได้บังคับให้ทำโอที แต่งานที่ต่อเนื่องจนทุกคนต้องทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ
"แม้งานจะหนักแต่ turnover น้อยมาก เด็กทุกคนจะมีความสามารถ เมื่อเรารับเข้ามาเราต้องพยายามหาจุดเด่นของเขา ส่วนมากเราจะดู grade point แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาแล้วจะไปถึง top แต่โดยรวมพื้นฐาน ต้องเป็นคนขยัน พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีทัศนคติที่พร้อมจะพัฒนาตัวเอง"
ความรักในองค์กรส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยแรงจูงใจจากงานที่ทำ ซึ่งจำเป็นต้องสอด คล้องกับผลตอบแทนทั้งด้านจิตใจ และความมั่นคงในวิชาชีพและเพื่อเป็นการตอกย้ำวิธีคิดที่ว่า "Stop asking 'Why' start thinking 'how'"
|