ถึงแม้ภาวะตลาดหุ้นไทยในปีที่ผ่านมา จะไม่คึกคักตามที่เซียนหลายสำนักทำนายเอาไว้ล่วงหน้า แต่กิมเอ็งก็ยังคงรักษาตำแหน่งโบรกเกอร์อันดับ 1 เอาไว้ได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน น่าสนใจว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่มีมากขึ้น โบรกเกอร์รายนี้จะทำอย่างไร เพื่อรักษาตำแหน่งในปีนี้ไว้ได้
ปี 2547 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่ไม่คาดคิดหลายประการ ตั้งแต่ภาวะสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง จนถึงการระบาดรอบสองของไข้หวัดนก ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกดดัชนีหุ้นไทยไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการเข้าซื้อขายของหุ้นใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี ที่ส่วนมากมักจะเกิดอาการหลุดจองสร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุน
"ในเดือนที่ภาวะตลาดซบเซามาร์เก็ตแชร์ของเราจะต่ำกว่าในเดือนที่ตลาดคึกคัก เนื่องจากถ้าภาวะไม่ดีเราก็จะ ไม่กระตุ้นให้ลูกค้าเทรด อันนี้เป็นจรรยาบรรณและทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเรา" มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าว
แม้จะกล่าวเช่นนั้น แต่เมื่อถึงสิ้นปี กิมเอ็งก็เป็นผู้ครองแชมป์โบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อีกครั้งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยตัวเลข 11.71% จากยอดเทรดของลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 50,000 ราย และในจำนวนนี้มีการซื้อขายประมาณ 50% นอกจากลูกค้ารายย่อยแล้ว กลุ่มลูกค้าสถาบันก็เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วน 80% และลูกค้าสถาบันมี 20% ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากในปีก่อนหน้า
ปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่กิมเอ็งครองแชมป์โบรกเกอร์ มีสัดส่วนการตลาดอยู่ 12.70% ปีถัดมารักษาตำแหน่งด้วยยอดส่วนแบ่งตลาด 11.46% และ 11.71% ในปีที่แล้ว
ผู้บริหารกิมเอ็งเชื่อว่าคุณภาพงานวิจัยของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ได้ ในปีนี้ได้วางแผนที่จะทำบทวิจัยในเชิงรุก เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้าง เจ้าหน้าที่การตลาดรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีเจ้าหน้าที่การตลาด 342 คนและปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่การตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 496 คน คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 50% ของพนักงานทั้งบริษัท ที่มีอยู่กว่า 900 คน
ในปีที่ผ่านมากิมเอ็งเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่ ยะลา และในกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง คือ ทาวน์ อิน ทาวน์ และแฟชั่นไอส์แลนด์ รวมมีสาขาทั้งสิ้น 35 สาขา ซึ่งบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการ ระบุว่าปัจจุบันมีผลการดำเนินงานกำไรทุกแห่ง แม้แต่สาขาที่เปิดใหม่รวมทั้งยะลา ที่ถึงแม้จะมีปัญหาความไม่สงบก็ยังมีกำไร และในปีนี้กิมเอ็งยังมองหาสถานที่เปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีกราว 4 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่นเดียวกับการเพิ่มจำนวน เจ้าหน้าที่การตลาดขึ้นอีก 20%
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงานก็มีส่วนช่วยให้กิมเอ็งเพิ่มยอดการซื้อขายได้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งในปีที่ผ่านมาลูกค้าเทรดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกิมเอ็งเป็นสัดส่วน 17% ของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 106,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 55,000 ล้านบาท หากมองในด้านจำนวนบัญชีก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 2,000 บัญชีเป็น 4,700 บัญชี
"ปีที่ผ่านมายอดการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วน 11-12% ของยอดการซื้อขายของบริษัท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี เพียง 6%" โฆษิต บุญเรืองขาว รองกรรมการ ผู้จัดการ สายการตลาดหลักทรัพย์กล่าว
เขาเชื่อว่าในปีนี้อัตราการขยายตัวของการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตจะยังคงมีสูง โดยได้วางเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งจาก 17% ขึ้นเป็น 22% ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นเช่นนั้นก็คือ ความ นิยมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) นั่นเอง
ปัจจุบันผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตหลายรายแข่งขันกันให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ต่ำลง ทำให้ความนิยมในการใช้งานมีมากขึ้น ประกอบกับที่ ผ่านมาการทำตลาดยังอยู่ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลเป็นหลัก แต่ในปีนี้จะมีการขยาย ออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นการเปิดตลาดใหม่ที่จะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นกลุ่มนักลงทุนในจำนวนไม่น้อย ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเอื้อต่อการซื้อขายก็จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา (PDA) ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถดูราคาหุ้นและส่งคำสั่งซื้อขายได้จากนอกสถานที่
สำหรับวาณิชธนกิจซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่สำคัญของบริษัทหลักทรัพย์ แต่ในส่วนของกิมเอ็งกลับยังไม่มีบทบาทมากนัก ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากส่วนนี้ 167 ล้านบาท หรือเพียง 5.21% ของรายได้รวมเท่านั้น โดยกิมเอ็งรับหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินและอันเดอร์ไรต์ให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ใหม่รวม 12 บริษัทและมีส่วนร่วมในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อีก 26 บริษัท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวมกว่า 8,000 ล้านบาท
แต่ในปีนี้กิมเอ็งคาดว่าจะนำหุ้นเข้า จดทะเบียนในทั้งสองตลาดราว 20 บริษัท รวมเป็นมูลค่าระดมทุนไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการเสนอขายหุ้นที่เลื่อนจากปลายปีที่แล้วได้ 2 บริษัทคือ อิตาเลียนไทย ดีเวลอป เมนท์ และบางสะพานบาร์มิล รวมมูลค่าการระดมทุน 5,000 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่เหลือจะกระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งสื่อสารโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ ขนส่ง การเงินและธุรกิจบันเทิง และสันทนาการ
"ปีนี้เราเริ่มต้นได้ดี ตอนนี้มีดีลอยู่แล้ว 20 ดีล ที่ยื่น ก.ล.ต.ไปแล้วมีอยู่ 7 ดีล จะทยอยออกมาต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส" สิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจกล่าว
ผลการดำเนินงานของกิมเอ็งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 3,210.03 ล้าน บาท เป็นรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2,911.37 ล้านบาทและรายได้จากวาณิชธนกิจ 167 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 1,042.66 ล้านบาท หรือหุ้นละ 1.91 บาท
แม้กิมเอ็งจะตั้งเป้าครองแชมป์โบรกเกอร์ในปีนี้อีกครั้ง แต่ภาวะการแข่งขันที่ส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดตัวของโบรกเกอร์หน้าใหม่อย่าง บล.กสิกรไทย ที่ซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จาก บล.แอสเซท พลัส เพื่อเพิ่มบริการให้มากขึ้นตามนโยบายธนาคารครบวงจร ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ในเครือธนาคารอีกหลายแห่งก็มีความพร้อมที่จะเข้าช่วงชิงตลาดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บล.ไทยพาณิชย์ก็ตั้งใจจะฉลองอายุครบ 10 ปีในปีนี้ด้วยยอดส่วนแบ่งการตลาด 5% ซึ่งเป็นตัวเลขเป้าหมายเดียวกันกับของ บล.บัวหลวง ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีกไม่นานนี้ ยังไม่รวมถึงอีกหลายรายที่ต่างก็หมายมั่นปั้นมือที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
เมื่อแต่ละบริษัทล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน การจะรักษาแชมป์ของกิมเอ็งครั้งนี้จึงน่าจะเข้มข้น เร้าใจและน่าติดตามไม่น้อย
|