|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2548
|
|
แม้ยอดขายจะช้ากว่าที่คาดไว้ กลุ่มผู้บริหาร "ไฟคัส เลน" ก็มั่นใจในตัวสินค้าที่ "แตกต่าง" และกลยุทธ์ผนึกกำลังกับพันธมิตร จะช่วยดันให้ยอดขายไต่เพดานสูงขึ้นเรื่อยๆ
ต้นไฟคัสที่เกาะผนังริมรั้วบ้านของตระกูลโอสถา นุเคราะห์ ในเนื้อที่กว่า 15 ไร่ในซอยสุขุมวิท 44/1 นั้นสะดุดตา สรพจน์ เตชะไกรศรี อย่างมาก การเจรจาขอซื้อที่ดินแปลงตรงข้ามที่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 100 เมตรแต่ติดถนนซอยในพื้นที่ 3 ไร่ จึงเกิดขึ้น
ปลายเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมา การก่อสร้าง ชั้นใต้ดินเต็มพื้นที่ 3 ไร่ ผ่านไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนเมษายน หลังจากนั้นงานก่อสร้าง ชั้นบนก็จะต่อเนื่องเป็นรูปร่างได้ชัดเจนขึ้น
สรพจน์ เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ชินคาร่า เจ้าของโครงการไฟคัส เลน กำลังเร่งงานก่อสร้างอย่างใจจดใจจ่อ เพราะมันหมายถึงความหวังที่จะไต่เพดานยอดขายให้สูงตามขึ้นไปด้วยเช่นกัน ในการแถลงข่าวเปิดโครงการครั้งแรกนั้น เขาเคยกล่าวอย่างมั่นใจในโปรดักส์ของตนเองว่า น่าจะปิดการขายได้ ภายในปี 2547 ด้วยซ้ำไป
"ประชุมผู้บริหารทีไร ผมก็โดนว่าทำไมขายช้า ผมก็อธิบายว่าถ้าเราเป็นคนซื้อเอง ก็ตัดสินใจช้าเหมือนกัน เพราะของมันยังมี แล้วตอนนี้มีตั้งหลายโครงการให้เลือก แต่จะพยายามชี้ความแตกต่างให้ลูกค้าเห็น แล้วมีลูกค้า หลายรายที่กลับมาดูที่เราอีกครั้ง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจ"
สรพจน์หรือที่ผู้ใกล้ชิดมักเรียกว่า "คุณยิ่ง" เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังในวันหนึ่งที่สำนักงานขายของโครงการ ผู้บริหารวัยหนุ่มอายุ 30 ต้นคนนี้มีบุคลิกสบายๆ ในชุดกางเกงและเสื้อเชิ้ตปล่อยชายพับแขนอย่างง่ายๆ
หลังจากโครงการคอนโดหรูบนถนนสุขุมวิท และ ย่านไพร์มแอเรียของเมืองไทยชะงักงันไปช่วงหนึ่ง หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนใจกล้าเปิดตัวโครงการขึ้นมาชิมลางตลาดและสามารถสร้างยอดขายไปได้ค่อนข้างเร็ว
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสายตาของชายหนุ่มที่อยู่ในครอบครัวของนักธุรกิจอย่างเขาตลอดเวลา และมีไอเดีย ที่จะสร้างคอนโดกลางเมืองที่แตกต่างกว่าโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในตลาด
สรพจน์เป็นลูกชายคนกลางของสุเมธ เตชะไกรศรี เจ้าของธุรกิจทางด้านโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กับยุพา เตชะไกรศรี กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท แอลพีเอ็น จำกัด (มหาชน) หลังจากจบระดับมัธยมในเมืองไทยได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ก่อนที่จะกลับมาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ (โปรแกรม อินเตอร์เนชั่นแนล) เอกการเงิน โทการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นนักวิเคราะห์ที่บริษัทคาเธย์ แอสเส็ท แมเนจเม้นท์ และนักวิเคราะห์วิจัยตลาด ที่บริษัทเอ็นเอฟโอ (ประเทศไทย)
นอกจากงานที่บริษัทชินคาร่า เขายังเป็นกรรมการ บริหารบริษัทบ้านกัลปพฤกษ์ของครอบครัวที่มีโครงการบ้านจัดสรรบนถนนศรีนครินทร์อีกด้วย
"โดยส่วนตัวผมชอบเรื่องการตกแต่ง ชอบไปดูตึกสวยๆ ชอบความแปลกใหม่ชอบฟังก์ชันดีๆ และที่สำคัญตอนอยู่เมืองนอกผมก็อยู่คอนโดมาตลอด เลยค่อนข้างคุ้นเคย รู้ว่าคอนโดที่ดีเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนน่าจะเป็นแบบไหน"
การมองหาที่ดินเพื่อทำโครงการคอนโดมิเนียมที่ไม่เหมือนใครเลยเกิดขึ้น
"พอเห็นที่ดินแปลงนี้ปั๊บ ผมชอบเลย เป็นซอยที่มีเสน่ห์มาก ฝั่งตรงข้ามก็ร่มรื่น เพราะเป็นบ้านหลังใหญ่ต้นไม้ครึ้ม ส่วนที่ดินด้านหลังติดแปลงที่ซื้อก็เป็นสวนหย่อม ของตระกูลโอสถานุเคราะห์อีก 4-5 ไร่เหมือนกัน"
สำนักงานขาย "ไฟคัส เลน" อยู่ที่ซอยสุขุมวิท 40 บริเวณที่ดินซึ่งติดกับบ้านหลังใหม่ของประวิทย์ มาลีนนท์ บิดาของวรวรรธน์ หุ้นส่วนคนหนึ่งของโครงการนี้นั่นเอง
การเจรจาขอซื้อที่ดินแปลงนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 2546 ราคาต่อตารางวาประมาณ 1 แสนบาทต้นๆ พร้อมกับตั้งบริษัทชินคาร่า และชักชวนเพื่อนอีก 2 คนคือ ลูกชายของประวิทย์ มาลีนนท์ และสิภูมิ ลูกชาย ของปริญญา นาคฉัตรีย์ เพื่อนสนิทที่เคยเรียนและเช่าบ้านอยู่ด้วยกันเมื่อครั้งเรียนหนังสือที่เมือง Auburn แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความ "แตกต่าง" ของโครงการนี้ตามวิธีคิดของสรพจน์และหุ้นส่วนก็คือไฟคัส เลน ไม่ใช่แค่โครงการที่ "สะดวก" หรือ "ทันสมัย" แต่ยังจะต้อง "อยู่สบาย" และ ยัง "สัมผัสธรรมชาติ" ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนเมืองรุ่นใหม่
Eco-id Design Consultancy บริษัทอาคิเต็คจาก ประเทศสิงคโปร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงอาคาร YMCA เป็นโรงแรม Metropolitan กรุงเทพฯ ถูกคัดเลือก ให้เข้ามาเป็นผู้รังสรรค์ไฟคัส เลน ด้วยแนวการออกแบบ ในสไตล์ Poetic Modernism ที่ทันสมัย และความกลมกลืนของเส้นสายที่เชื่อมต่อแต่ละพื้นที่ถึงกัน ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงส่วนรับรอง เชื่อมต่อไปยังทางเดินหินและสวนน้ำ โดยมีบริษัท Belt Collins International ดูแลด้านภูมิสถาปัตย์
ในพื้นที่ 3 ไร่ มีเพียง 2 อาคาร แต่ละอาคารสูง 7 ชั้น จำนวนทั้งหมดเพียง 70 ยูนิต มีแบบห้อง 5 สไตล์ เริ่มตั้งแต่ 1-3 ห้องนอน และเพนต์เฮาส์ ขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 74-471 ตร.ม. ราคา 5-15 ล้านบาท และเพนต์ เฮาส์ ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป
PIA ของรุจิราภรณ์ หวั่งหลี รับบทบาทในการทำการตกแต่งภายใน Mock up room ที่สรพจน์ยืนยัน ว่าลงทุนไปกว่า 10 ล้านบาท
ชั้นใต้ดินกำหนดให้เป็นที่จอดรถชั้นเดียว และมีลิฟต์โดยสาร 8 ตัว เขาบอกว่า "ผมจะให้ความสำคัญกับโถงลิฟต์ หรือโถงเดินที่ต้องใหญ่ ถึงแม้ไม่ใช่พื้นที่ขาย แต่ต้องยอมทุ่มทุน"
เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ดี เพื่อแบรนด์ชินคาร่าตัวนี้เป็นฐานที่จะต่อยอดไปในการทำโครงการอื่นๆ อีกต่อไป โดยโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ 25-45 ปี มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ชอบชีวิตสะดวกสบายในเมือง และรักธรรมชาติ
แม้ไฟคัส เลน ขายได้ช้ากว่าที่คิดหวังไว้ แต่เขามั่นใจว่าความต้องการยังมีอยู่ และที่สำคัญการตัดสินใจ ทำตลาดร่วมกันกับกลุ่มพันธมิตร "Development by Design" จะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ
|
|
|
|
|