|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2548
|
|
การได้เข้ามาทำงานจัดสินค้าอาหารภายในห้างสรรพสินค้าที่อังกฤษ เปิดโอกาสให้ได้สังเกตถึงแหล่งที่มาของผักและผลไม้ต่างๆ ที่วางขายอยู่ที่นี่ และเมื่อนึกถึงนโยบายของประเทศไทยที่เคยประกาศเอาไว้ว่าต้องการจะเป็น "ครัวของโลก" ได้จุดประกายความอยากรู้ว่าตามห้างสรรพสินค้าของที่นี่มีอาหารไทยวางขายอยู่มากน้อยเพียงใด
แหล่งสำรวจตลาดอาหารของอังกฤษนี่ก็ไม่ใกล้ไม่ไกล ซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งใกล้บ้าน คือ Marks & Spencer, Morrisons/Safeway แล้วก็ Tesco แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีก 2 แห่งในเยอรมนี คือ Kaufland กับ Lidl นั้นต้องอาศัยใบบุญเพื่อนให้ไปช่วยหาข้อมูลให้
Tesco นั้นเป็นพี่เบิ้มของอังกฤษ ครองส่วนแบ่งตลาดยอดขายอาหารในอังกฤษถึง 29% เป็นอันดับ 1 สำหรับ Morrisons/Safeway นั้นติดอยู่ที่อันดับ 4 คือ 12.4% (The Retail Bulletin 13 มกราคม 2548) แต่ Marks & Spencer นั้นถึงจะไม่ติด อันดับ แต่ก็ครองใจผู้ซื้อชาวอังกฤษในฐานะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายสินค้าอาหารคุณภาพ ดีและอร่อย ส่วน Kaufland กับ Lidl เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่มีสาขาทั่วเยอรมนี
หลังจากไปสำรวจมาเรียบร้อยแล้วก็ต้องผิดหวัง เพราะสินค้าที่ระบุชัดว่าเป็นสินค้าไทยที่เจอในห้างทั้งสามนั้นมีแค่สองอย่าง คือ ยอดข้าวโพดกับหน่อไม้ฝรั่ง นี่จะเป็น เพราะไทยเราไม่ได้ผลิตอาหารที่คนอังกฤษเขาต้องการหรือเปล่า ก็ไม่น่าจะใช่เสียทั้งหมด เพราะถึงเราจะไม่ได้ผลิตผักที่เขากินกันเป็นประจำ อย่าง brussel sprouts, leeks หรือ artichoke แต่ก็มีอาหารอีกตั้งหลายอย่างที่เราผลิตได้ เช่น ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝัก หัวหอม กระเทียม หรือจะเป็นผลไม้ไทยๆ ที่คนอังกฤษเขาก็เริ่มกินกันแล้ว อย่างมะม่วง หรือมะละกอ เป็นต้น ซึ่งไทยเรามีตั้งหลาย พันธุ์ แต่กลับไม่เห็นสินค้าของไทยมีมาขาย ในห้างทั่วไปของอังกฤษเสียที ผักผลไม้ที่ว่ามานี้ เราถูกประเทศอื่นยึดตลาดอังกฤษไปหมด โดยมีสเปนเป็นคู่แข่งรายสำคัญ (ใครจะคิดเล่าว่าคู่แข่งตัวยงของเราคือประเทศที่จัดอยู่ในอันดับพัฒนาแล้วอย่างสเปน ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง) เพราะสเปนผลิตทั้งกระเทียม ผักกาดขาว ผักขม ผักกาดหอม พริกหวาน ใบโหระพา และมะเขือเทศส่งมาขายอังกฤษ ครองตลาดสินค้าเกษตรที่นี่ไปเสียแล้ว แม้แต่ผักชี ที่ทางเทสโก้เขียนกำกับไว้ว่า "เอาไว้โรยหน้า แกงหอมๆ ของไทย" (เพราะอาหารไทยกำลังรุ่ง) ก็ยังมาจากสเปน!
สับปะรดมาจากคอสตาริกา มะม่วง ที่เขาเอามาขาย ซึ่งก็มีแต่ลูกเบ้อเริ่มสีแดงทั้งนั้น มาจากบราซิลและเปรู ทั้งๆ ที่มะม่วงที่ว่านี้ทั้งเปรี้ยวและไม่หวานเท่าอกร่องหรือน้ำดอกไม้ของเรา ส่วนมะละกอ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เขาขายกัน ก็เป็น ผลผลิตของบราซิลทั้งนั้น อิสราเอลนำหน้า เราส่งออกผักเครื่องเทศฝรั่งมายังอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นโหระพา สะระแหน่ ใบดิล ผักชีฝรั่ง โรสแมรี่ ฯลฯ สำหรับถั่วฝักยาว ถั่วลันเตาที่ไทยเราผลิตได้ ก็ถูกเคนยากับ กัวเตมาลาตัดหน้าครองตลาดไปเสียก่อน ส่วนข้าวโพดฝักนั้นอเมริกากินขาด เพราะ ข้าวโพดเป็นสินค้าส่งออกระดับต้นๆ ของอเมริกา (ดูตารางประกอบ) ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมสินค้าของประเทศต่างๆเหล่านี้เข้าถึงอังกฤษได้ แต่ไทยเรากลับตีตลาดอังกฤษไม่แตกสักที
นี่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราผลิตผักผลไม้ที่คนอังกฤษต้องการไม่ได้ เพราะผักชี ต้นหอม กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ส้ม ฯลฯ เป็นสินค้าที่เราเองก็ปลูก คุณภาพน่าจะดีกว่าอีกหลายประเทศเสียอีก อย่างส้มโอที่เก็บได้เป็นเดือน ทำไมถึงไม่มีใครลองส่งมาขาย เห็นมีแต่ grapefruit ที่ ขายกัน ซึ่งเปรี้ยวและไม่หวานชื่นใจอย่างส้มโอของเรา จะว่าประเทศเราไกลไปหรือก็ไม่น่าจะใช่ เพราะบราซิล เปรู กัวเต มาลา ก็ไกลพอๆ กับเรา เผลอๆ จะไกลกว่าเสียอีก และ ก็ไม่ใช่เพราะว่าเราทำได้แต่อาหารไทยที่คนอังกฤษไม่กินกัน เพราะตรงกันข้ามเสียอีก อาหาร ไทยตอนนี้กำลังเป็นที่โจษจันกันในอังกฤษ ดังแค่ไหนดูจากการที่บริษัทผลิตมันฝรั่งทอดกรอบทั้ง McCoy's และ Walkers ทำมันทอดรสน้ำจิ้มไก่ แบบไทยๆ (Thai Sweet Chilli sauce) ออกมาขายก็แล้วกัน
นอกจากจะมีมันทอดรสน้ำจิ้มไก่แล้ว แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดแดง และแกงเหลืองสำเร็จรูปของไทยที่ใส่เป็นขวด แค่เทลงกระทะแล้วเติมไก่ลงไปก็เสร็จ ก็ยังมีวางขายกันตามซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษกันให้บาดตา ที่ว่าบาดตานี้ก็เพราะสินค้าดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ใช่ของคนไทย ที่เห็นก็มียี่ห้อ Amoy ของจีน, ยี่ห้อ Schwartz ซึ่งแรกเริ่มเป็นบริษัทค้าเครื่องเทศของแคนาดา แต่ถูก McCormick ของอเมริกาซื้อไปในปี 1984 นอกจากนี้ยังมียี่ห้อ Lloyd Grossman ของพ่อครัวชาวอังกฤษ และยี่ห้อ Staag World Foods (www.staagworldfoods.com) กับ BlueDragon (www.bluedragon.com) ซึ่งสองอย่างหลังนี้คิดว่าไม่น่าจะใช่บริษัทไทย แต่เป็นบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมากกว่า เลยตีตราว่า Made in Thailand ได้ ที่ไม่แน่ใจก็เพราะทั้งสองไม่ยอมเขียนประวัติบอกแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของบริษัทไว้ในโฮมเพจของตน
Blue Dragon นั้นอาจเป็นบริษัทของคนจีนในอังกฤษ เพราะทำซอสสำเร็จ รูปสำหรับอาหารจีนออกมาขายเริ่มแรก ก่อนที่จะแตกแขนงไปยังอาหารเอเชียอื่นๆ และเริ่มขายสินค้าอาหารไทยเมื่อปี 1992 นี่เอง ส่วนบริษัทแม่ของ World Foods คือ Asian Asset Group (AAG) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มาเลเซีย ดังนั้นสินค้า World Foods อาจเป็นของบริษัทมาเลเซียก็ได้ เทสโก้เองก็ผลิตแกงไทยๆ สำเร็จรูปยี่ห้อของตัวเองออกมาขายแข่งกับผู้ผลิตรายอื่น แต่เครื่องแกงแม่พลอย หรือยี่ห้อไทยอื่นๆกลับไม่มีขาย นี่ก็เท่ากับเป็นการสูญเสียรายได้ของไทยไปแล้วไม่รู้กี่ร้อยล้านบาท
ไม่ใช่แค่เครื่องแกง อันเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเท่านั้นที่ถูกต่างชาติแย่งตลาดไปได้ ข้าวของเราที่หลายคนภูมิใจกันนักกันหนาว่าเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับประเทศ ก็มีคู่แข่งต่างชาติครอง ตลาดไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคู่ปรับรายสำคัญ ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล อเมริกานี่เอง ไม่ใช่เวียดนามหรือประเทศใกล้บ้านที่หลายคนอาจจะคิด ข้าวไทยของเราหาซื้อตามซูเปอร์ มาร์เก็ตทั่วไปในอังกฤษไม่ได้ จะซื้อได้ก็แต่ในร้านจีนในไชน่าทาวน์เท่านั้น ยกเว้นเทสโก้ที่ขายข้าวหอมของไทยในยี่ห้อเทสโก้ เอง แต่ตั้งราคาข้าวไทยแพงกว่าข้าวบัสมาติ ของอินเดียและข้าวเมล็ดยาวของอเมริกาถึง 2 เท่า ข้าวของอเมริกาครองตลาดอังกฤษ โดยมี Uncle Ben's เป็นยี่ห้อที่วาง ขายกันมากที่สุด ยึดตลาดผู้บริโภคเมืองผู้ดี ที่ไม่คุ้นเคยกับการกินข้าว Uncle Ben's เลยส่งข้าวสำเร็จรูปหลายรูปแบบออกมาล่อใจคนอังกฤษที่หุงข้าวไม่เป็น (ประเภทเอาข้าวในถุงแช่น้ำร้อนแค่นาทีครึ่งก็สุกกินได้)
ส่วนคนที่หุงข้าวเป็นและซื้อข้าวไทยกินกันอยู่ ก็มีแต่คนไทยที่อาศัยในต่างประเทศทั้งนั้น รายได้ที่เข้าประเทศเลยเป็นแบบอัฐยายซื้อขนมยายไป แถมข้าวที่ขายกันในร้านจีน ก็มีแต่ของบริษัทต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น Tilda ของอังกฤษ ซึ่งนำเข้าข้าวทั้งจากไทย อินเดีย อิตาลี และอเมริกา ไปสีและแพ็กขายในนามบริษัทตัวเอง ขายในร้านจีนและซูเปอร์มาร์เก็ต ทั่วไป ทำกำไรเข้าบริษัทไปไม่น้อย ส่วนข้าวยี่ห้อของคนไทยที่ขายในร้านจีนก็เห็นมี Tiger Tiger ของบริษัท Uthai Produce Co. ข้าวยี่ห้อ Green Dragon ของบริษัท Vudhichai Produce Co. (www.vudhichai.co.th) และข้าวของ Global Resources Export Co. แต่ถ้าเป็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว หาข้าวไทยไม่เจอเลย ถ้าไม่ใช่ยี่ห้อของซูเปอร์ฯ เอง ก็เป็นยี่ห้อของบริษัท ต่างชาติอื่นๆ ขั้นตอนการค้าที่ผ่านพ่อค้าคนกลางหลายชั้นขนาด นี้ ทำให้ไทยส่งออกได้แค่สินค้าเกษตรพื้นๆ ไม่แปรรูป มูลค่าเพิ่มน้อย เป็นการสูญเสียรายได้ ที่เราควรจะได้ไปอีกไม่รู้ตั้งเท่าไร
ยอดการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของเราที่พุ่งขึ้น เรื่อยๆ อยู่ทุกปีนั้น ทำให้หลายคนนึกว่าเป็นเพราะเราสามารถไปตีตลาดต่างประเทศ เข้าถึงผู้บริโภคต่างชาติได้แล้ว อย่างคุณลุงผู้ปลูกข้าวหอมที่ร้อยเอ็ดท่านหนึ่ง เคยบอกว่าข้าวหอมของเราดังไปถึงเมืองนอก ขนาดฝรั่งต้องมายกมือไหว้เราเลยทีเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ผู้บริโภคต่างชาติหรอกที่เราเข้าถึง แต่เป็นผู้บริโภคชาวไทยในต่างแดนมากกว่าที่อุดหนุนซื้อสินค้าไทยกัน ไม่ว่าจะเป็นกะปิ น้ำปลาตราปลาหมึก น้ำพริกแม่พลอย เงาะกระป๋อง น้ำปลาหวานตราโลโบ ซีอิ๊ว หยั่นหว่อหยุ่น มาม่า โก๋แก่ นมไวตามิ้ลค์ แลคตาซอย น้ำส้มกรีนสปอต หรือแม้แต่ทุเรียนสด มังคุด ที่ส่งออกมาขายกันดาษดื่นในไชน่าทาวน์ทั่วอังกฤษนั้น กลับไม่มีให้เห็นแม้แต่เงาในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งที่เข้าถึงผู้บริโภคชาวอังกฤษได้มากกว่าร้านของชาวจีนมากนัก ทั้งๆ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งก็มีมุมอาหาร เอเชียสต็อกสินค้าอาหารเอเชียไว้ขายอยู่ มีกะทิกระป๋องขายด้วย แต่กลับเป็นยี่ห้อ Amoy ของจีน และยี่ห้อ Bart (www. bartspices.com) ของอังกฤษไป ไม่ใช่กะทิอร่อยดี (Aroy-D) ของบริษัท Thai AgriFoods Plc. หรือยี่ห้ออื่นๆ ของไทย
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่ารายได้จากการ ส่งออกอาหารของเรา มาจากการที่เราสามารถทำให้ฝรั่งเขาควักกระเป๋าให้เราได้นั้นคงเป็นความเข้าใจผิดเสียแล้ว เราควักกระเป๋าของเราเองมากกว่า ส่วนแบ่งตลาด อาหารไทยในอังกฤษที่คนไทยเองควรจะได้ ก็กลับเป็นว่าโดนประเทศอื่นเขายึดพื้นที่กันหมดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่เหมือนกัน
หลังจากได้ประสานงานกับกองบรรณาธิการนิตยสาร "ผู้จัดการ" ถึงประเด็นเรื่องจากปกฉบับนี้ว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้ส่งสินค้าไก่พร้อมปรุงมาขายให้เทสโก้ในอังกฤษได้ปีเศษแล้ว และมีโครงการจะส่งผลิตภัณฑ์กุ้งมาขายที่นี่ด้วย โดยไก่ที่ว่านี้ใช้ยี่ห้อเทสโก้ แต่ CPF ตั้งใจจะลองเริ่มส่งออกโดยใช้แบรนด์ของตัวเองเสริมเข้ามาด้วยในเร็วๆ นี้
ข้อมูลนี้สร้างความหวังขึ้นมาได้บ้างว่าบริษัทของไทยอาจมีโอกาสเข้ามาเจาะตลาดอาหารของอังกฤษได้เสียที แต่พอไปสืบสินค้าของเทสโก้มา กลับ ไม่พบว่ามีสินค้าไก่ชนิดไหนที่มาจากเมืองไทยเลย ไก่สดที่เขาขายก็มีแต่ของอังกฤษทั้งนั้น ส่วนไก่แช่แข็งของเทสโก้ มีมาจากทั้งฝรั่งเศส (ไก่ทอด Nuggets) เดนมาร์ก (อกไก่แช่แข็ง) หรือมาไกลจากนิวซีแลนด์เลยทีเดียว (ไก่ชิ้นหั่นขนาดลูกเต๋า) นอกนั้นเป็นของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นน่อง ปีก หรือเนื้อไก่สับ พอโทรไปถามฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของเทสโก้ว่าสินค้าไก่มีตัวไหนมาจากเมืองไทยบ้าง ก็ไม่ได้รับคำตอบ ผู้จัดการสาขาที่รับโทรศัพท์บอกว่าแต่ละสาขาอาจจะสต็อกสินค้าต่างประเภทกันไป ที่นิวคาสเซิลเลยอาจไม่มีสินค้าไก่จากเมืองไทยขาย หรือไม่ผู้เขียนก็ไปสำรวจสินค้าผิดล็อก ไม่ได้ไปดูแผนกไก่พร้อมปรุง ซึ่งก็ตรงกับสถิติของทางสหภาพยุโรป ที่บอกว่ากว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าไก่จากไทยที่ส่งมาขายอียูนั้นเป็นสินค้าไก่ที่ปรุงสุกแล้ว (ไม่ใช่ไก่ดิบแช่แข็งที่ไปดูมา) แต่ยังไงๆ ผลการสำรวจนี่ก็น่าเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการของไทยได้ทราบว่า สินค้าไก่ของเรานั้นมีคู่แข่งจากประเทศไหนบ้าง ใครที่ทำธุรกิจส่งออกไก่ อาจจะต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งต่างชาติให้หนักขึ้น
แต่ข่าวดีที่จะนำมาฝากผู้ประกอบการของไทยอย่าง CPF ก็คือ ถ้าจะลองส่งสินค้ามาขายในอังกฤษในแบรนด์ของตัวเองก็มีความเป็นไปได้อยู่มาก เพราะจากการสุ่มตัวอย่างสำรวจความคิดเห็นของคนที่มาชอปปิ้งที่เทสโก้ 10 คน โดยถามเขาว่าสินค้าอาหารถ้าใช้ยี่ห้อไทย ไม่ใช่ของเทสโก้แล้ว เขาจะลองซื้อไหม ปรากฏว่า 9 ใน 10 คนบอกว่าจะลอง ขอให้คุณภาพดีเถอะ บางคนบอกว่าไม่ได้ดูที่ยี่ห้อ หรือดูว่าผลิตมาจากไหน แต่ดูที่ราคา อันไหนลดก็ซื้ออันนั้น นี่ก็อาจจะทำให้ CPF และผู้ส่งออกท่านอื่นๆ ใจชื้นขึ้นมาบ้าง
แต่ก็ต้องอย่าลืมว่านี่เป็น แค่ผู้บริโภคกลุ่มเดียวเท่านั้น เพราะลูกค้าของเทสโก้นั้นเน้นราคามากกว่าสิ่งอื่น ยังมีผู้บริโภคอีกหลายกลุ่มในอังกฤษที่ไม่ได้ดูแค่ราคา แต่ดูไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าตัวไหนจากที่ไหน คนอังกฤษที่มีเงิน มีความรู้ และรักความเป็นธรรมในสังคม ก็อาจจะยอมจ่ายเพิ่มอีกนิดเพื่อซื้อสินค้า fair trade ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ที่เป็นธรรมให้กับชาวไร่ชาวนาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารมายังอังกฤษ สินค้า fair trade นี้มีโอกาสเติบโต ในตลาดอังกฤษอีกมาก
(อ่านเรื่อง Organic food และ fair trade ในคอลัมน์ ริมฝั่งแม่น้ำไทน์ ฉบับนี้ประกอบ)
บางคนที่ตามกระแสรักชาติ ต้องการจะปกป้องชาวนาชาวไร่ของตัวเองที่ล้มละลาย กันไปเยอะ เพราะสู้สินค้านำเข้าที่ต้นทุนถูกกว่าไม่ไหว ก็จะเริ่มหันมาซื้อแต่สินค้าของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นไก่ มันฝรั่ง หัวหอม เห็ด แครอต และเนื้อวัว ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีรูปธงอังกฤษปะไว้ตรงแพ็ก เพื่อบอกให้รู้ว่านี่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ ชาวนาอังกฤษบางคนนำผักผลไม้ของตัวเองมาขายในตลาดโดยตรง ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลางอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ที่กดราคารับซื้อมาก ส่วนลูกค้าบางคนจับจ่ายซื้ออาหารกับร้านขายของชำเล็กๆ ประจำหมู่บ้าน ที่นับวันจะล้มหายตายจากชีวิตของผู้คนอังกฤษกันไปเรื่อยๆ เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ต่างก็เข้ามาครองตลาดกันหมดด้วยโปรโมชั่นลด แลกแจกแถม ทำให้ร้านเล็กๆ สู้ราคาด้วยไม่ไหว กระแสใหม่แห่งการจับจ่ายสินค้าอาหาร ที่ว่านี้อาจเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการส่งออกของผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในอนาคตได้ ก็เป็น เรื่องทีน่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่ง
|
|
|
|
|