Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2548
Kitchen of the World VS World as the Kitchen             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

The Way to be kitchen of the World
CPF's Growth Engine
CP เมื่อพ่อครัวออกมายืนหน้าร้าน
Tyson ต้นแบบธุรกิจอาหารครบวงจร
Long Walk to World Kitchen
ภาพสะท้อนยุทธศาสตร์ Kitchen of the World
The World Rival

   
www resources

Nippon Meat Packers Homepage
Itoham Foods Inc. Homepage

   
search resources

Food and Beverage
Nippon Meat Packer Inc.
Itoham Foods Inc.




หากบทบาทของ CPF กำลังสะท้อนภาพความเป็นไปของยุทธศาสตร์ประเทศไทย ที่ต้องการเป็นครัวของโลก ท่วงทำนองและจังหวะก้าวของผู้ประกอบการในญี่ปุ่นกลับกำลังบ่งบอกถึงทิศทางและยุทธศาสตร์ ที่น่าสนใจติดตามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ภายใต้ความจำเป็นที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารมากกว่า 60% ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ Food Self-Sufficiency Policy โดยวางเป้าหมายที่จะให้เกิดการผลิตสินค้าอาหารเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในได้เอง ในสัดส่วนที่มากขึ้นสู่ระดับร้อยละ 45 ภายในปี 2010

แม้นโยบายดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าการขยายตัวของ GDP ถึง 5 เท่า

ขณะที่การขาดแคลนแรงงานและราคาของที่ดินกลายเป็นปัจจัยที่หนุนส่งให้ธุรกิจในภาคการเกษตรและราคาสินค้าอาหารที่ผลิตในญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น จนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ และกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องให้การคุ้มครองภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเหตุผลทั้งในมิติของการเมืองภายใน และบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชนของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อประพฤติกรรมในระดับรากฐานของสังคมด้วย

ข้อจำกัดในการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มผลผลิตสินค้าอาหารภายในประเทศในลักษณะของ Made in Japan ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เกิดปรากฏขึ้นจริงได้อย่างยากลำบาก ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุทธศาสตร์ว่าด้วย Made by Japan ที่สอดประสานกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของญี่ปุ่น

เป็นยุทธศาสตร์ที่ข้ามพ้นข้อจำกัดและกรอบกำหนดในเรื่องพื้นที่การผลิตไปสู่การเน้นย้ำให้เห็นถึงระดับขั้นการพัฒนาของเทคนิควิทยาการและคุณภาพของระบบการผลิต ที่ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้สร้างสรรค์ขึ้น นอกเหนือจากความแข็งแกร่งในตราสินค้า

บรรษัทผู้ประกอบการด้านอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ต่างเคลื่อนย้ายทุนและรุกเข้าไปสร้าง พันธมิตรทางธุรกิจในเกือบทุกภูมิภาคของโลก เพื่อสร้างเครือข่ายการเป็น offshore production facilities หรือการร่วมลงทุนเพื่อแปรรูปสินค้าอาหาร โดยสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเหล่านี้มุ่งเน้นสนองตอบต่อความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ผลผลิตจากหน่วยการผลิตโพ้นทะเลของญี่ปุ่นเหล่านี้ กลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันของอุปทานด้านอาหาร (food supply) เพื่อหล่อเลี้ยงความต้องการบริโภคของญี่ปุ่น อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับศักยภาพในกระบวนการจัดซื้อสินค้าอาหารจากแหล่งต่างๆ อย่าง หลากหลายที่พร้อมรองรับกับวิกฤติการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

บทบาทของบรรษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์รายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 ราย ไม่ว่าจะเป็น Nippon Meat Packers Inc. (NMP : Nippon Ham) ซึ่งได้ขยายการลงทุน ไปสู่แหล่งผลิตในต่างประเทศด้วยการสร้างฟาร์มเลี้ยงโคและสุกร ในออสเตรเลียและสหรัฐ อเมริกา และ Itoham Foods Inc. ที่ได้ลงทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงโคและสุกรในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดูจะเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดมากสำหรับกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกาจากผลของการระบาดของโรควัวบ้า (Mad Cow - BSE : bovine spongiform encephalopathy) นับตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2003 เป็นต้นมา

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอยู่ที่ปริมาณเนื้อวัวนำเข้า ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 60 ของการบริโภคในตลาดเนื้อวัวโดยรวมของญี่ปุ่นนั้น เป็นการนำเข้าจากออสเตรเลียมากถึงร้อยละ 49 และอีกร้อยละ 46 เป็นการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา การประกาศห้ามนำเข้า เนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในอุตสาหกรรมอาหารอย่างหนัก

NMP ได้เพิ่มปริมาณการผลิตเนื้อวัวในออสเตรเลียเพื่อนำเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในสัดส่วน ที่มากขึ้น จากเดิมที่ในปี 2002 การส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่ในระดับร้อยละ 24 ของผลผลิตที่ผลิตได้ มาสู่ร้อยละ 32 ในปี 2003 และคาดว่าจะมากถึงร้อยละ 35-40 ในช่วงปี 2004 (เมษายน 2004-มีนาคม 2005)

ขณะที่ Itoham ซึ่งนับเป็นผู้ประกอบการรายแรกของญี่ปุ่นที่ผลิตและนำเข้าเนื้อวัวสดจากแหล่งผลิตต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่น ภายใต้ตราสินค้า Blue Ribbon Beef และ Rockdale Beef ได้เพิ่มสัดส่วนการนำเข้าเนื้อวัวจากฟาร์มของบริษัทในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากขึ้นเช่นกัน พร้อมกับการขยายสัดส่วนการจำหน่ายเนื้อสุกร Berkshire Pork ในห้วงเวลาวิกฤตินี้ด้วย

การให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์สินค้าให้เกิดขึ้นกับเนื้อสัตว์สดของ Itoham ดังกล่าวเป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเน้นย้ำการเป็นเนื้อวัวที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดภัยจากโรคแล้ว ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Itoham ในฐานะผู้ผลิตไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ดี กระแสความตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัย ทำให้การบริโภคเนื้อวัวมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก (bird flu : avian influenza) ซึ่งทวีความหนักหน่วงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2004 จะติดตามมาด้วยการ ระงับการนำเข้าไก่จากทั้งประเทศไทย จีน และสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

ญี่ปุ่นซึ่งนำเข้าไก่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2003 มากถึง 60,000 ตัน ทั้งจากไทย (18,000 ตัน) จีน (12,000 ตัน) สหรัฐ อเมริกา (6,000 ตัน) และบราซิล (24,000 ตัน) ได้เพิ่มสัดส่วนการนำเข้าจากบราซิลขึ้นจากเดิมอีกร้อยละ 50 เป็น 36,000 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2004 ที่ผ่านมา เพื่อทดแทนและรองรับกับมาตรการระงับการ นำเข้าไก่จากประเทศเสี่ยงภัยจากโรคดังกล่าว โดยมีเครือข่ายการจัดซื้อ (procurement network) ของทั้ง NMP และ Itoham รวมทั้งผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็น กลไกสำคัญ

แม้ NMP และ Itoham จะสามารถ จัดหาเนื้อวัวและไก่จากแหล่งผลิตที่ปลอดภัยจากโรค รวมทั้งการนำเนื้อสุกรมาแทนที่ในฐานะที่เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก สำหรับรองรับความต้องการบริโภค ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ วิกฤติการณ์โรคระบาดในวัวและไก่ในช่วงปี 2004 ได้ทำให้ตลาดเนื้อสัตว์สด (fresh meat market) โดยรวมของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบรรษัทผู้ผลิต และจำหน่ายเนื้อสัตว์สดอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ประพฤติกรรมการบริโภค อาหารของชาวญี่ปุ่นที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นที่ความสะดวกในการบริโภค และการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผู้ประกอบการแต่ละรายอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด

NMP และ Itoham ได้พยายามปรับเปลี่ยนสัดส่วนรายได้ทางธุรกิจจากเดิมผูกพันอยู่กับตลาดเนื้อสัตว์สดในระดับที่มากถึงกว่าร้อยละ 50 ของยอดการจำหน่ายรวม มามุ่งเน้นและให้ความสำคัญ กับธุรกิจ Hams & Sausages และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป (processed foods) มากยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายสายการผลิตไปสู่ธุรกิจอาหารทะเล (marine products) ด้วย

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดผลิตภัณฑ์ Ham & Sausage ซึ่งมีมูลค่าการตลาด มากถึง 6 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.33 แสนล้านบาท มีลักษณะเติบโตเต็มที่ (largely mature) โดยมี NMP เป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดใน segment นี้มากถึง 23.3% ขณะที่ Itoham ครองส่วนแบ่งอีกกว่า 20% การคาดหวังที่จะแสวงหาโอกาสและขยายฐานรายได้จากธุรกิจดังกล่าวให้มากขึ้นจากสภาพปัจจุบัน ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

เข็มมุ่งของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ รวมถึง NMP และ Itoham จึงอยู่ที่การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจแปรรูปอาหาร ทั้งในลักษณะของผลิตภัณฑ์ชนิด ready to cook และ ready to eat ซึ่งนอกจาก จะสอดรับกับวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวกแล้ว กรณีดังกล่าวยังเปิดช่องว่างให้บรรษัท ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ภายใต้แผนบริหารระยะกลาง 3 ปีสำหรับช่วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2004 ถึงมีนาคม 2007 ซึ่งเป็นประหนึ่งพิมพ์เขียว ทางธุรกิจของ Itoham ได้กำหนดเป้าหมาย ที่จะเพิ่มยอดการจำหน่ายรวมในทุกsegment จากระดับ 4.92 แสนล้านเยน (1.9 แสนล้านบาท) ในปี 2004 ไปสู่ระดับ 5.7 แสนล้านเยน (2.2 แสนล้านบาท) หรือ เป็นการเติบโตขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยปีละ 5% เท่านั้น

หากแต่ Itoham วางน้ำหนักที่จะพัฒนาแผนกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปให้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงเฉลี่ยปีละ 10.4% เพื่อให้ยอดการจำหน่ายในหมวดอาหารแปรูปของ Itoham บรรลุสู่ระดับ 1 แสนล้านเยน ภายใน 3 ปี โดยมีสินค้าหลากหลายตั้งแต่ Chicken Nuggets ไล่เรียงไปสู่ Hamburgers และ Pizza ซึ่งถือเป็นความพยายามรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารแปรรูปที่ท้าทายอย่างยิ่ง

Itoham วางยุทธศาสตร์การขยายตัวในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไว้ที่การเป็น kitchen solution โดยเน้นที่การผลิตสินค้าชนิด high value added ด้วยการขยายและยกระดับเครือข่ายการจัดซื้อวัตถุดิบในต่างประเทศเพื่อให้สินค้าของ Itoham มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และมีลักษณะครบวงจรยิ่งขึ้น

แต่ NMP ซึ่งมียอดการจำหน่ายในแต่ละปีรวมกว่า 8 แสนล้านเยน (3.2 แสนล้านบาท) ได้ขยายธุรกิจออกไปไกลมากกว่านั้น เมื่อ NMP อาศัยความแข็งแกร่งของ Marine Foods และ HOKO ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และมีเครือข่ายการจัดซื้อที่มีมากถึง 25 แห่งใน 12 ประเทศ เข้าครอบครองส่วนแบ่งในหมวด ready-made sushi ไว้ได้มากถึง 30% ของตลาดรวม โดยการผลิตและแปรรูปอาหารในหมวดนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแหล่งผลิตโพ้นทะเลของคู่สัญญารับช่วงในแต่ละท้องถิ่น (overseas subcontractors) ภายใต้การควบคุมคุณภาพจาก NMP โดยตรง

รูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจในลักษณะดังกล่าว ทำให้คู่สัญญาและพันธมิตรทางธุรกิจของบรรษัทจากญี่ปุ่นเหล่านี้มีสถานะไม่แตกต่างจากการเป็นเพียง "ผู้รับจ้างผลิต" ตามใบสั่งซื้อที่ได้รับมาเท่านั้น เพราะบริษัทคู่สัญญาโพ้นทะเลเหล่านี้ถูกจำกัดให้ด้อยศักยภาพในการสร้างแบรนด์เพื่อการรุกเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเกือบสิ้นเชิง

ขณะเดียวกันข้อกำหนดด้านคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าอาหาร (HACCP : Hazard Analysis and Critical Control Point) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (JAS : Japan Agricultural Standard) ของญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัย อื่นๆ กลายเป็น Non-Tariff Barrier ที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการกีดกันสินค้านำเข้า แบรนด์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ

กระนั้นก็ดี NMP และ Itoham รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ของญี่ปุ่น มิได้จำกัดบทบาทให้หยุดอยู่เฉพาะการเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงความต้องการบริโภคภายในญี่ปุ่นเท่านั้น หากในทางกลับกันบรรษัท เหล่านี้ได้อาศัยแนวคิด Made by Japan เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและฐานการผลิตโพ้นทะเล ที่มีกระจาย อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเป็นเครื่องมือสำหรับการขยายโอกาสทางธุรกิจในฐานะผู้ส่งออกอาหารเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

แม้ข้อเท็จจริงจากตัวเลขมูลค่าการส่งออก จะบ่งชี้ความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นตลาดหลักสำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอาหารของไทยมาอย่างยาวนาน หากแต่สินค้าจากไทยก็ไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้เกิดเป็นที่ยอมรับของตลาด และสินค้าอาหารจากไทยจำนวนไม่น้อย มีสถานะ เป็นเพียงวัตถุดิบจากแหล่งผลิตราคาถูก ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นนำมาเพิ่มมูลค่า จนยากจะกล่าวว่าความสำเร็จที่สะท้อน ผ่านตัวเลขการส่งออกเหล่านี้ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ห้วงเวลานับจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาของความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเดินทางเข้ามาพิสูจน์ศักยภาพและความสามารถของทั้งผู้ประกอบการและกลไกภาครัฐอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ประเด็นที่น่าสนใจพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ ขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายเพื่อมุ่งหน้าพัฒนา ไปสู่การเป็นครัวของโลก แต่ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นกลับกำลังทำให้พื้นที่อันกว้างใหญ่ของโลกใบนี้เป็นเพียงห้องครัวห้องหนึ่งของพวกเขาเท่านั้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us