|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2548
|
|
หลังจากเข้าสู่ธุรกิจกุ้งมาเป็นเวลา 18 ปี ถึงวันนี้ธุรกิจกุ้งกำลังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะสร้างอัตราการเติบโตให้กับ CPF มากที่สุดในอนาคต
เพราะความพร้อมในการบวนการผลิตและอุปสรรคในการส่งออกได้คลี่คลายลง
CPF เริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจกุ้งตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โมเดลที่นำมาใช้ในธุรกิจนี้ก็ยังคงเป็นธุรกิจครบวงจร (Vertical Integration) ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจไก่เนื้อมาก่อนแล้ว โดยกระบวนการนี้จะเริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้ง การผลิตแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะฟักลูกกุ้งส่งให้เกษตรกร พัฒนาระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานสากลและนำออกเผยแพร่สู่เกษตรกร สุดท้ายก็รับซื้อผลผลิตเหล่านั้นกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายทั้งที่เป็นแบรนด์ของลูกค้าและของตนเอง
แม้เป้าหมายจะชัดเจนแต่กว่ากระบวนการทั้งหลายจะรองรับและนำพามาถึงจุดนี้ได้กลับต้องใช้เวลาไม่น้อย
สำหรับธุรกิจอาหารกุ้งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ CPF เพราะเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเครืออยู่แล้ว แต่กระบวนการถัดจากนั้น มากลับมีอุปสรรคให้ต้องแก้ไขในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่สายพันธุ์กุ้งกุลาดำที่ยังไม่สามารถ เพาะเลี้ยงขึ้นได้ ต้องอาศัยการจับแม่พันธุ์จากทะเล ทำให้ขาดความสม่ำเสมอและไม่สามารถผลิตเพื่อรองรับระบบอุตสาห-กรรมขนาดใหญ่ได้ แม้จะมีความพยายามจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์กุ้ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบผล อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้คลี่คลายไปแล้วโดยการเปลี่ยนพันธุ์กุ้งจากกุลาดำมาเป็นกุ้งขาวแวนาไมที่สายพันธุ์สามารถเพาะเลี้ยงและพัฒนาต่อได้
ในส่วนของกระบวนการเลี้ยงก็ประสบปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นหลังจากที่เลี้ยงไปได้เพียงไม่กี่ปี จนในที่สุดได้พัฒนามาเป็นวิธีการเลี้ยงในระบบปิดที่ต้องฆ่าเชื้อในน้ำก่อนปล่อยกุ้งลงในบ่อและมีการนำสาหร่ายมาใช้ดูดของเสียที่เกิดขึ้น
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคได้แล้ว คราวนี้เจอปัญหา ตลาดส่งออกสำคัญตั้งแต่ข้อกำหนดเรื่องข้อห้ามสารเคมีตกค้างในตัวกุ้ง ประเดิมที่ญี่ปุ่นและอเมริกา แต่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตกุ้งในประเทศอย่างรุนแรงก็คือ กลุ่มสหภาพยุโรปที่ตั้งข้อกำหนดสารเคมีตกค้าง ในตัวกุ้งต่ำเพียง 0.01 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ข้อกำหนดนี้บีบให้ผู้ประกอบการไทยจำต้องพัฒนาวิธีการเลี้ยงกุ้งปลอดสารเคมีขึ้น
ปัจจุบัน CPF ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดสารเคมี หรือโปรไบโอติก เป็นผลสำเร็จและนำออกเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นนำไปใช้มา 3-4 ปีแล้ว โดยจากการที่ "ผู้จัดการ" ได้เดินทางไปสำรวจกระบวนการผลิตกุ้งครบวงจรของ CPF ในภาคตะวัน ออกพบว่ากระบวนการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อที่ต้องมีรั้วกั้นรอบขอบบ่อ เพื่อกันไม่ให้ปูและสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ลงไปในบ่อได้ ขณะที่ด้านบนก็ยังขึงเส้นเอ็นจนทั่วเพื่อไล่นกไม่ให้โฉบลงในบ่อเลี้ยง น้ำที่จะปล่อยลงบ่อเลี้ยงยังต้องผ่านการฆ่าเชื้อและพักไว้จนมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้ง ลูกกุ้งที่นำมาปล่อยลงบ่อเลี้ยงก็เป็นลูกกุ้งปลอดเชื้อที่เพาะฟักขึ้นภายใต้การควบคุม ในระหว่างการเลี้ยงจะใช้อาหารกุ้งที่ผลิตโดยบริษัทในเครือ CPF เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อีกทั้งยังใช้จุลินทรีย์มาช่วยในการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ในส่วนของคนงานก็จะต้องใส่เสื้อผ้ามิดชิด สวมถุงมือ รองเท้าบู๊ต จุ่มมือและเท้าในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่พื้นที่บริเวณบ่อเลี้ยงทุกครั้ง การฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่พื้นที่ฟาร์มยังรวมไปถึงการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ตัวรถที่จะเข้าสู่บริเวณฟาร์มทุกคันอีกด้วย
น้ำที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งมาแล้วจะไม่ถูกปล่อยทิ้งออกสู่ภายนอก แต่จะนำไปบำบัดเพื่อกำจัดของเสียและเติมออกซิเจน ก่อนที่จะวนนำกลับมาใช้ในการเลี้ยงครั้งต่อๆ ไป
ซึ่งกระบวนการนี้หากเทียบกับขั้นตอนของธุรกิจไก่ ก็เปรียบได้กับการเลี้ยงในระบบปิด ที่จำกัดให้มีสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามาอยู่ในกระบวนการเพาะเลี้ยงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หลังจากที่พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งแบบโปรไบโอติกได้แล้ว CPF พบว่าการจะกระตุ้นให้เกษตรกรนำระบบนี้ไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเกษตรกรต่างก็มีสูตรและความเชื่อในการเลี้ยงกุ้งของตนเอง วิธีที่จะสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นได้จึงต้องอาศัยการทำตัวอย่างให้เห็น ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นจังหวะที่มีบ่อกุ้งถูกทิ้งร้างจากปัญหาโรคระบาดเป็นจำนวนมาก CPF จึงเข้าไปเช่าใช้บ่อกุ้งเหล่านี้ทำเป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรมาพิสูจน์ เมื่อพบว่าการเลี้ยงในระบบปิดและใช้วิธีโปรไบโอติกเช่นนี้สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดและสารเคมีตกค้างได้จริง จำนวนเกษตรกรที่ให้การยอมรับจึงมีเพิ่มขึ้น
กุ้งที่ได้จากการเลี้ยงด้วยวิธีการเช่นนี้จะถูกนำส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูปที่สร้างขึ้นตามมาตรฐานที่ต่างประเทศกำหนด กระบวนการผลิตในโรงงานทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามที่ลูกค้าระบุเอาไว้เช่นกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตจากกระบวนการ integrate ทั้งระบบเช่นนี้จะไม่มีปัญหาในการส่งออก
"โรงงานส่วนขยาย ที่เราได้เริ่มลงทุนสร้างมาเมื่อ 1 ปีก่อน และเริ่มเปิดดำเนินการไปแล้วบางส่วน เพื่อป้อนผลิตภัณฑ์ส่งขายให้กับ Tesco ที่อังกฤษ ทุกขั้นตอนของการก่อสร้างโรงงาน จะต้อง ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจาก Tesco ว่า อยู่ในมาตรฐานที่ Tesco กำหนดไว้" วันชัย ตันจารุพันธ์ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัทแกลง จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อกุ้งที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของ CPF บอก
ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ CPF นำเอาระบบ integrate มาใช้กับธุรกิจกุ้งได้อย่างครบวงจร โดยเชื่อว่าจะมีกำลังการผลิตส่งให้กับโรงงานแปรรูปที่มีอยู่ 3 แห่งคือที่แกลง มหาชัย และระโนด ได้อย่างเพียงพอ
หากเปรียบเทียบตลาดส่งออกสินค้าไก่และกุ้งของไทยจะพบว่า อุปสรรค ในการส่งออกกุ้งมีมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปและอเมริกา ที่เป็นเช่นนี้ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ CPF ให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะนักลงทุนจากกลุ่มสหภาพยุโรปเข้าไปลงทุนเลี้ยงกุ้งในประเทศอาณา นิคมของตนเอง จึงตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากุ้ง จากประเทศอื่นแต่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศ อาณานิคมในการส่งกุ้งเข้าจำหน่ายในยุโรป ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก นโยบายนี้จึงเป็นนักลงทุนของยุโรปนั่นเอง
"ในประเทศมาดากัสการ์จะเป็นนักลงทุนจากฝรั่งเศสเข้าไปทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ถึงขนาดที่ออกเป็นกฎเกณฑ์ว่า ถ้าเป็น คนต่างชาติจะไปลงทุนเรื่องนี้ต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นคนฝรั่งเศสถึงจะทำได้" น.สพ.สุจินต์กล่าว
ส่วนตลาดอเมริกาที่ไทยถูกฟ้องร้องในเรื่องการทุ่มตลาด (Anti-dumping) นั้นเดิมไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้จนกระทั่งเกิดกรณี Clayfish ที่อเมริกาชนะการฟ้องร้องว่าจีนทุ่มตลาดและมีวุฒิสมาชิกเสนอให้นำเงินค่าเสียหายที่ได้มาแบ่งให้กับผู้ลงชื่อร่วมในการฟ้องร้อง หลังจากนั้นมาจึงเกิดการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดูจะเป็นโชคดีของผู้ส่งออกกุ้งของไทย รวมถึง CPF ด้วย จากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจกุ้งของไทย ทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและฟาร์มกุ้ง และได้เกิดข้อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและอเมริกาผ่อนปรนกฎเกณฑ์นำเข้ากุ้งจากไทยด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพลิกฟื้นฐานะได้อีกครั้ง โดยคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
เมื่อถึงวันนั้น CPF จะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากความช่วยเหลือนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ในระยะยาว CPF ได้กำหนดนโยบายเอาไว้ 2 ประการ
ประการแรกคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกต้องแข่งกับผู้ผลิตจากหลายประเทศ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดย่อมมีความได้เปรียบสูงสุด
ประการที่สอง ได้แก่ การตัดคนกลาง เพื่อให้ระยะห่างระหว่าง CPF และผู้บริโภค หดสั้นลงมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าที่ไปถึงมือผู้บริโภคลดต่ำลงและจะสามารถ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น การมุ่งสร้างแบรนด์ CP ก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการ หนึ่งในนโยบายนี้
เมื่อเทคโนโลยีด้านการผลิตมีพร้อม อุปสรรคของการส่งออก ก็เริ่มคลี่คลาย ผู้บริหาร CPF จึงมั่นใจว่า วันนี้ธุรกิจกุ้งพร้อมแล้วที่จะเป็นตัวสร้างการเติบโตให้กับบริษัทต่อไป
"ที่ผ่านมา รายได้จากกุ้งถือเป็นอันดับ 3 รองจากอาหารสัตว์ และไก่ แต่หากถามว่า ธุรกิจใดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงที่สุดหลังจากนี้ไป ก็คือกุ้ง" อดิเรก ศรีประทักษ์ บอก
"ปีที่แล้วกำลังการผลิตจากโรงงานแกลง เราสามารถแปรรูป เนื้อกุ้งได้ 4,100 ตัน แต่ปีนี้หลังโรงงานส่วนขยายเริ่มเปิดดำเนินการ เป้าที่ผู้บริหารจากกรุงเทพฯ ให้กับเรามา เราต้องทำให้ได้ 14,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า" วันชัย ตันจารุพันธ์ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัทแกลงยืนยันตัวเลขกับ "ผู้จัดการ"
|
|
|
|
|