|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กบข.เตรียมโยกเงินจาก "กองทุนออมภาคสมัครใจ" ที่คาดว่าหลังจากจัดตั้งภายใน 12 เดือน จะมีเม็ดเงินมูลค่า 3-5 พันล้านบาท ลงทุนในโครงการ "เมกะโปรเจกต์ระบบราง" ที่เตรียมทำ "ซีเคียวรีไทเซชัน" กว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการศึกษาการระดมทุนระบบราง MFC ชี้ชัดรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปซื้อหุ้นคืนจากภาคเอกชน สวนทาง "สุริยะ" ที่จ้องฮุบหุ้น BMCL
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะที่ปรึกษารัฐบาลในการระดมทุนโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 เส้นทาง รวมมูลค่า 4.1 แสนล้านบาท ได้ยื่นเสนอแนวทางการระดมทุนทั้งหมดมายังรัฐบาลแล้ว โดยแผนดังกล่าวเสนอรัฐบาลไม่ให้ซื้อหุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL คืนจากภาคเอกชน เนื่องจากเส้นทางเดินรถไฟใต้ดินทั้ง 7 เส้นทางจะต้องเปิดให้เอกชนสัมปทานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเงินมาซื้อหุ้นคืน
"รัฐบาลมอบหมายให้เอ็มเอฟซีดูภาพใหญ่ว่า เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 7 สาย ควรจะมีผู้ได้รับสัมปทานดำเนินการรายเดียวหรือ 7 ราย แต่ไม่ว่าจะกี่รายก็เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานต่อจากรัฐอีกที เพราะรัฐจะลงทุนในส่วนของอุโมงค์และรางเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นคืนจากเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้ต้องการซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด" แหล่งข่าวกล่าว
นายเจษฎาวัฒน์ เพรียบจริยวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) MFC กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้บริษัทดูแลการระดมเงินในเรื่องการย้ายส่วนราชการ 29 กรมกอง ไปยังบริเวณแจ้งวัฒนะมูลค่าโครงการ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) คือ การนำสัญญาของทั้ง 29 กรมกองมาออกเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการทดสอบตลาดไปแล้ว และพบว่าได้รับความสนใจพอสมควร คาดว่าจะมีการออกหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 โดยออกหลายชุด อายุตั้งแต่ 15-30 ปี
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) MFC กล่าวถึงแนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 เส้นทางว่า มูลค่าโครงการทั้งหมด 4.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระบบฐานรากคือ อุโมงค์และตัวรางรถไฟ มูลค่าลงทุน 2.8 แสนล้านบาท และการดำเนินการด้านหัวรถจักรและรถไฟมูลค่าโครงการ 1.3 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนยื่น สัมปทาน ซึ่งแผนดังกล่าวได้ยื่นเสนอให้กระทรวงการคลังไปแล้วเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน น่าจะสรุปแนวทางการระดมทุนได้
นายพิชิตกล่าวว่า การระดมทุนในส่วนฐานราก 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1. การนำรายได้จากการพัฒนาสินทรัพย์ในอนาคต เช่น สัญญาเช่าพื้นที่ในตัวสถานีมาออกเป็นหลักทรัพย์ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท 2. การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีป้ายรถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร ภาษีน้ำมัน ซึ่งจะนำมาออกเป็นหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Revenue bond มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท 3. รายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าและเส้นทางเดินรถ จากพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะนำมาออกเป็นหลักทรัพย์ มูลค่า 1 แสนล้านบาท และ 4. เงินจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะกำหนดหลังจากรวบรวมรายได้จาก 1-3 แล้ว คาดว่าจะประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. เตรียมจัดตั้งกองทุนออมภาคสมัครใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าหลังการจัดตั้งในช่วง 12 เดือน จะมีเงินออมไหลเข้ากองทุนประมาณ 3-5 พันล้านบาท โดยกองทุนออมภาคสมัครใจจะเปิดทางให้สมาชิกสามารถออมเพิ่มได้จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 3% ของเงินเดือนเพิ่มเป็นไม่เกิน 15% ของอัตราเงินเดือน
"เราสนใจที่จะลงทุนในเมกะโปรเจกต์ระบบรางที่รัฐบาลเตรียมจะทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) และมีอีกหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าเงินออมในระบบน่าจะสามารถรองรับได้ เพราะมีเงินฝากล้นระบบกว่า 5 แสนล้านบาท"
|
|
 |
|
|