นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ถึงแผนการดำเนินงานด้วยการประกาศยกเครื่องธนาคารใหม่ กลางปี 2548 เตรียมปรับโครงสร้างบริหาร แบ่งสายงานรับผิดชอบชัดเจน ลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด พร้อมเตรียมแยกบัญชีลูกค้าภาครัฐและเอกชน เน้นเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมจากฐานลูกค้าที่มากที่สุดในระบบแบงก์ 12 ล้านราย ยันฐานะแกร่งสำรองส่วนเกินเพียงพอ วางเป้าตั้งสำรองให้ได้ 2% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด
มีนโยบายบริหารอย่างไรกับธนาคาร
สิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการ คือการแก้ไขสิ่งที่ได้ทำไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ปัญหาหนี้เสียทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2547 ปีที่แล้ว ได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไข รวมทั้งได้หาวิธีการเพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ดี สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจ การคานอำนาจที่เหมาะสม วิธีแนวทางการพิจารณาบริหารสินเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ทยอยแก้ไขไปบ้างแล้ว ซึ่งหวัง ว่าปัญหาเดิมๆคงจะไม่เกิดขึ้นอีก
เรื่องที่ 2 เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายและสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จากที่ธนาคารได้บริหาร โดยได้มองถึงการตั้งสำรองที่เพียงพอ หรือไม่ เมื่อปีที่ผ่านมาผลประกอบการของธนาคารมีกำไรก่อนการตั้งสำรองสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นธนาคารจึงมีนโยบายที่จะตั้งสำรองไว้จำนวนมาก เตรียมเผื่อไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ธนาคารยังมองไม่เห็นในขณะนี้ ซึ่งเมื่อมีสำรองที่เพียงพอหรือส่วนเกินมากๆจะสามารถป้องกันได้หากเกิดปัญหา ตัวเลขการตั้งสำรองของธนาคารมีส่วนเกินมากกว่า 11,000 ล้านบาท
ธนาคารมองว่าสำรองมีเพียงพอแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทได้มีการตั้งสำรองไว้ในปีที่ผ่านมาเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท และในปีนี้ธนาคารมีนโยบายการตั้งสำรองไว้เดือนละ 300 ล้านบาท โดยจะพยายามทำให้สำรองส่วนเกินสูงระดับ 2% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นถือว่ามีความมั่นคงที่สุด และเมื่อสิ้นปีนี้คงจะสำรองเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็คงจะเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว
ตอนนี้เมื่อธนาคารมีความมั่นคงแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มเข้ามาดูนโยบายการบริหารธุรกิจ ในแผนการดำเนินธุรกิจปี 2548 นี้ สิ่งที่ธนาคารเน้นจะต้องปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และระมัดระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก เลือกสรรเฉพาะสินเชื่อที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ไม่เน้นธุรกิจใดโดยเฉพาะ เปิดกว้างให้กับธุรกิจทุกๆกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูง ธนาคารตั้งใจที่จะเก็บของดีจากทุกๆกลุ่มเข้ามาอยู่ในพอร์ต ดังนั้นในปีนี้จึงตั้งเป้าที่จะขยายสินเชื่อประมาณ 70,000 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งธนาคารมองว่าส่วนต่างดอกเบี้ย (สเปรด) เริ่มดีขึ้น เนื่องจากปีนี้มีตั๋วเงินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ครบดิว ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันเงินฝากที่ธนาคารรับไว้เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้ครบดิวอีกเช่นกันประมาณ 100,000 ล้านบาท ดังนั้นมั่นใจว่าธนาคารจะมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารจะเน้นการหารายได้จากค่าธรรมเนียม ที่จะเร่งให้มีอัตราการเติบโตที่สูงที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตภัณฑ์ เช่น เรื่องของเทรดไฟแนนซ์ การโอนเงิน สิ่งเหล่านี้จะเร่งให้เกิดขึ้นมา แต่ว่าในปีต่อๆไปธนาคารจะต้องมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาด้วย
"ปีนี้อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ในระยะยาวธนาคารต้องการที่จะเป็น Convenient Bank ที่ให้บริการครบวงจร เพราะธนาคารมีขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในประเทศไทยประมาณ 12 ล้านราย ดังนั้นหากสามารถใช้ฐานลูกค้าให้เกิดประโยชน์โดยการนำสินค้าไปขาย จึงน่าจะสามารถทำได้มากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ โดยจะมีการขายสินค้าทุกอย่างผ่านเครือข่ายสาขาที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย"
ปรับโครงสร้างใหม่กลางปีนี้
ในปีนี้ธนาคารจะเริ่มดำเนินการเบื้องต้นก่อน โดยการฝึกอบรมพนักงาน ทำอย่างไรที่จะขายของเป็นจากเดิมที่เป็นพนักงานแบงก์เพียงอย่างเดียว รับฝาก ถอนเงิน ทำอย่างไรที่จะให้ขายของได้ด้วย ซึ่งต้องมีการอบรมผลิตภัณฑ์ใดที่ต้องใช้ใบอนุญาต ธนาคารจะสนับสนุนให้ไปสอบเพื่อได้ใบอนุญาต อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องเตรียมจะเป็นเรื่องของสถานที่ที่ต้องน่าสนใจ เชิญชวนให้คนเข้าไปซื้อของด้วย ซึ่งจะเริ่มทำเหมือนกัน
แต่ในระยะยาวอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดรายได้คือ จะต้องมีความชำนาญทางด้าน Processing เหตุผลเพราะอาศัยความได้เปรียบของธนาคารที่ทำด้านนี้ให้กับรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นธนาคารจะใช้แบบฟอร์มแบบนี้ มาขยายให้กับภาคธุรกิจบ้าง ภาคเอกชนบ้าง ภาคเอสเอ็มอี และต่อไปจะขยับไปให้บริการกับธนาคาร พาณิชย์ต่างประเทศ เพราะธนาคารมีวอลุ่มจากภาครัฐอยู่แล้ว การที่มีวอลุ่มจะสามารถทำสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเสริม ดังนั้นรายได้ที่จะเข้ามาเป็นตัวเสริมจากรายได้ที่ธนาคารมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่ตั้งใจจะทำ
ในเบื้องต้นกลางปีนี้ ธนาคารมีแผนที่จะปรับโครงสร้างโดยจะปรับโครงสร้าง 2 ส่วน คือ ส่วนที่ปรับให้รองรับกับขั้นตอนที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น อีกส่วนหนึ่งก็คือ การปรับโครงสร้างให้สามารถมีการควบคุมที่ดีขึ้น ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยก็มีการจัดโครงสร้างตามภูมิศาสตร์ ซึ่งดูแลกันเป็นภาคเป็นเขตไป คนที่ดูแลควบคุมทุกๆ ด้าน ด้านสินเชื่อ สาขา ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่จะต้องรับผิดชอบหมด ซึ่งจะมีการเปลี่ยนใหม่โดยจะแยกช่องทางการขายออก ที่จะเปลี่ยนให้สาขาเป็นช่องทางการขายที่ชัดเจน ซึ่งจะมีผู้ดูแลขั้นตอนทุกอย่างแยกเป็นหนึ่งแกน และอีกแกนหนึ่งก็จะเป็นสินเชื่อดูแลด้านปฏิบัติการดูแลผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้กระทั่งแบงก์อินชัวรันซ์ ที่จะเข้าเสริม
ดังนั้น สาขาคนที่ดูแลจะดูเรื่องช่องทาง มองว่าทำเลไหนเหมาะสม จะมีการพัฒนาคนอย่างไร ตรงไหนที่ธนาคารยังขาดอยู่ที่ให้บริการ อีกด้านหนึ่งคนที่ดูแลด้านสินเชื่อคุณภาพต้องดี ดูแลความเสี่ยงกันอย่างไร ด้านปฏิบัติการจะต้องดูแลธนาคาร ไม่มีการหลุดจำนอง หรือหลุดจำนอง ไม่ให้ออกมามั่วๆกันไป ดังนั้นความเสี่ยงทางด้านปฏิบัติการก็จะลดลง ทุกอย่างทำเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็มีผู้รับผิดชอบชัดเจน
ธนาคารจะเริ่มดำเนินการอบรม พนักงานและการเตรียมสถานที่ไปพร้อมกัน ทยอยทำไป ผลิตภัณฑ์ทยอยคิด เพื่อที่จะได้ออกมาดีที่สุด แต่แนวคิดของธนาคารเมื่อไม่มีบริษัทในเครือเกี่ยวกับธุรกิจ 100% หากเราสามารถคัดเลือกผลิตภัณฑ์ ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยลูกค้าจะไม่ต้องสรรหาสินค้าทั่วไป เพียงแต่เข้ามาจุดเดียวที่ธนาคารได้คัดเลือก สินค้าที่ดีที่ชอบให้แล้ว ในช่วงแรกจะให้พนักงานซ้อมการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารก่อน เมื่อมีความคล่องตัวแล้ว จึงนำผลิตภัณฑ์อื่นๆเข้ามาเสริม เมื่อถึงจุดนั้นแล้วธนาคารจะมีศักยภาพสูงมาก เพราะฐานลูกค้าของธนาคารมีมากที่สุดในระบบ นอกจากนี้ หากการขายของธนาคารมีประสิทธิภาพจะมีสินค้าวิ่งเข้ามาให้ธนาคารขายเอง ในที่สุดแล้วถ้าเราทำเครือข่ายให้เป็นที่ขายของได้แน่นอนเลย สินค้าจะวิ่งเข้าหาเราแน่นอน
วางเป้าหมายการก้าวเป็น Convenient Bank ไว้กี่ปี
เป้าหมายของธนาคารวางไว้ 3 ปี เริ่มจากปีแรกเทรนเรื่องคน และปีที่ 2 จะซ้อมการขายจากสินค้าของธนาคารก่อน และในปีที่ 3 จะได้เห็นว่าเราได้สินค้าของใครเข้ามาบ้าง โดยจะเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ ทางการเงินก่อน และขั้นตอนต่อไปจะสรรหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้ามาเสริมรายได้ของธนาคาร เพราะธนาคารต้องการที่ให้ลูกค้าเห็นว่า เมื่อมีเงินอยู่แล้วสามารถพึ่งกรุงไทยได้ สามารถทำอะไรก็ได้ที่อยาก ทำ อยากฝากเงินก็เข้ามากรุงไทย ดังนั้นถ้าคิดถึงเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ เรื่องทองๆ จะต้องนึกถึงธนาคารกรุงไทยทันที ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้จัดการหาให้เสร็จตรงกับความต้อง การของลูกค้า หากจะให้ลูกค้าไปเดินสรรหาสิ่งที่ต้องการและดีที่สุดคงจะลำบาก แต่ธนาคารเป็นสถาบันที่ต้องสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดนำมาเสนอและบริการให้กับลูกค้า ทั้งหมดนี้จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้
ในการดำเนินธุรกิจ การแข่งขันจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับฐานลูกค้า ซึ่งธนาคารถือว่ามีฐานที่ใหญ่ที่สุด หากธนาคารมีของดีเสนอให้ลูกค้าไม่จำเป็นที่จะต้องไปสรรหาที่อื่นๆ ธนาคารได้พยายามนำจุดที่ได้เปรียบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ที่แน่นอนในจุดที่ธนาคารขนาดใหญ่อาจจะอุ้ยอ้ายบ้าง ซึ่งก็จะต้องแก้ไขและพัฒนาให้คล่องตัวให้ได้ โดยมองว่าจุดใหญ่จะต้องแก้ไขที่คน
ธนาคารพยายามที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล จุดหนึ่งก็ไม่ควรที่จะลืมธนาคารเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ดังนั้นจะต้องให้บริการภาครัฐให้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันจะต้องบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่ต้องให้บริการกับภาคเองชนได้ด้วย เพราะทุกผลิตภัณฑ์จะขายในกลุ่มลูกค้าเดียวกัน ดังนั้นธนาคารจะต้องสร้างความหลากหลายของลูกค้า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการแยกประเภทลูกค้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ เรื่องที่ระบบข้อมูลจะต้องเร่งดำเนินการ
ขณะนี้ สินค้าของธนาคารต้องยอมรับว่ายังมีไม่ครบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในขณะนี้ถือว่ายังไม่ใช่กับความต้องการของลูกค้าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนากันต่อไปในอนาคต โดยในเริ่มต้นจะต้องสรรหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นแบบให้พนักงานซ้อมการขายก่อน แล้วจึงค่อยๆนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความซับซ้อนเข้ามาขายเพิ่มขึ้น
ในช่วงปลายปีธนาคารจะมีการแยกบัญชีลูกค้าของภาครัฐและเอกชนออกมา เพื่อให้เห็นแนวทางหรือรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และในปีหน้าจึงจะสรรหานำเสนอบริการให้ตรงและครบที่สุด ในปีนี้ธนาคารจะหวังรายได้จากค่าธรรมเนียมได้บ้างแต่อาจจะไม่เต็มที่นัก เพราะในปีนี้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมน้อยมากประมาณ 10% ดังนั้นธนาคารขยายเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าได้เพิ่มขึ้นแล้ว ประมาณ 20% เพราะฐานรายได้ยังน้อยอยู่ แต่ธนาคารมีเป้าหมายที่มากกว่านั้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 50% ซึ่งธนาคารก็หวังว่าจะมีรายได้ตามนั้นอยู่เหมือนกัน
ภาพของ "กรุงไทย" ในระยะต่อไป
ขณะนี้ทุกคนจะมองว่ากรุงไทยเป็นแบงก์รัฐมีความโปร่งใสหรือเปล่า ดังนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากให้แก้ไขใหม่ โดยมองกรุงไทยเป็นแบงก์ที่ดีพึ่งพาได้ มีผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย พนักงานให้บริการที่ดีสามารถให้บริการได้อย่างภาคเอกชน เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ประชาชนก็จะเริ่มเปลี่ยนและเข้ามาใช้บริการกรุงไทยเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในขณะเดียวกันกรุงไทยก็จะต้องทำหน้าที่บริการให้กับภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยทุกอย่างจะต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการของธนาคาร เช่น การปล่อยสินเชื่อจะต้องเข้าสู่การควบคุมความเสี่ยงของธนาคารทุกโครงการ หากออกไปนอกกรอบธนาคารก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ
ในเบื้องต้นธนาคารให้มีการแยกบัญชีออก เช่น การให้บริการสินเชื่อของหน่วยงานรัฐ เช่น สินเชื่อเพื่อฌาปณกิจ สินเชื่อของกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน แต่ปรากฏว่าทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นหนี้เสียน้อยมาก เพราะมีการกำหนดที่ชัดเจน คุณสมบัติอย่างไร ที่จะสามารถเข้ากรอบสินเชื่อได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ธนาคารเมื่อรับโครงการจากรัฐบาลมาแล้ว ก็นำมาปรับโครง สร้างเพื่อให้สอดคล้องและเข้าอยู่ในกรอบของการควบคุมความเสี่ยงของธนาคาร
ว่าง Position การแข่งขันไว้อย่างไร
ธนาคารจะวางไว้ว่าจะอยู่ในตลาดการแข่งขันได้ทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญต่อคุณภาพ ราคาจะต้องแข่งขันได้ เช่นปล่อยสินเชื่อ ราคาของดอกเบี้ยจะไม่สูงกว่าคนอื่น ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ตัดราคาของธนาคารอื่นๆ ด้วย และเรื่องคุณภาพการบริการของธนาคารทุกอย่างจะต้องเทียบเท่ากับคนอื่นๆได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการแก้ไขให้สามารถเป็นไปตามเป้าหมาย สถาบันการเงินอื่นๆ อาจจะมองอย่างคนภายนอกที่กรุงไทยมีต้นทุนที่ต่ำจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อธนาคารได้รับเงินฝากจากภาครัฐที่ต่ำกว่า ธนาคารก็จะใช้ในโครงการของภาครัฐ รวมทั้งการให้บริการของภาครัฐหลายอย่างธนาคารไม่ได้คิดเงิน เช่น การโอนเงิน จ่ายเงินเดือนให้ออกเช็ค สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารได้คืนให้กับภาครัฐ
ในอีกด้านหนึ่งภาคเอกชนธนาคารก็จะมองถึงรายได้พิเศษอีกด้านหนึ่งเช่นกัน โดยขณะนี้ได้จ้างที่ปรึกษาที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ต่างประเทศที่มีความชำนาญมาก่อน โดยจะเสร็จประมาณกลางปีนี้ ที่จะเข้ามาทำระบบของธนาคารต่างประเทศ ที่จะนำรูปแบบมาดัดแปลง หรือพัฒนาให้สามารถเข้ามาใช้กับธนาคารและสถานการณ์ให้ได้
สินเชื่อเมกะโปรเจกต์ ธนาคารจะดูเป็นโครงการปกติ หากมีความเป็นไปได้ก็สามารถปล่อยกู้ได้ แต่สิ่งที่ธนาคารต้องการสนับสนุนมากที่สุดคือ กลุ่มก่อสร้าง ซึ่งมีมูลค่าของโครงการกว่าล้านล้านบาท ดังนั้น ปีหนึ่งเฉลี่ยมีการลงทุนก่อสร้างปีละ 300,000-400,000 ล้านบาท หากธนาคารจับผู้ประกอบการก่อสร้างได้จะเป็นการสร้างรายได้ให้ธนาคารไม่น้อย เพราะกลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้างรายใหญ่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารหมด เชื่อว่า 300,000-400,000 ล้านต่อปีน่าจะแบ่งเค้กกันได้ระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน แต่หากเป็นการปล่อยกู้ให้กับตัวโครงการเองก็จะพิจารณาเป็นโครงการไป จากที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินธนาคารก็ปล่อยกู้ได้
จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้มองว่าสภาพคล่องในระบบน่าจะลดลง และเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาสภาพคล่องได้ลดลงเหลือ 200,000-300,000 ล้านบาท จากเมื่อต้นปี 2547 สภาพคล่องยังล้นระบบประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อสภาพคล่องลดลงต่อเนื่องเชื่อว่าในปีนี้ สภาพคล่องส่วนเกินน่าจะเริ่มหายไปจากระบบอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น คาดว่าประมาณปลายปีนี้จะเห็นดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น ในส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้นสภาพคล่องยังคงมีอยู่ที่ครอบคลุม การขยายสินเชื่อในปีนี้ เพราะจะมีเม็ดเงินจากตั๋วเงินเกือบ 100,000 ล้านบาท ทำให้สามารถขยายสินเชื่อเติบโตกว่า 7%
นโยบายบริษัทในเครือ
กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ว่าจะเดินทางไปไหน คงจะเสร็จภายใน 1-2 เดือน แล้วคงจะวางนโยบายต่อไปได้ หากเดิมตามแผนเดิมไม่ขายหุ้นเลย หรือการนำหุ้นออกไปกระจาย อย่างไหนจะได้ประโยชน์กว่าก็เดินทางนั้น และดูเรื่องการเข้าตลาดฯหากเข้าไปแล้วไม่มีประโยชน์เลย เรากลับเสียประโยชน์ ต้นทุนแพงขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าตลาด ซึ่งจะต้องมีตัวเลขเห็นชัดเจน ในกรณีของบริษัทหลักทรัพย์จัด การกองทุน กรุงไทย จำกัด (KTAM) ตอนนี้กำลังมีปัญหาอยู่ แต่บริษัทที่ตกลงใจไปแล้วคือ บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ที่ไม่เข้าตลาดแน่นอน เพราะธนาคารต้องใช้ 100% การเข้าตลาดไม่เป็นประโยชน์ กำลังศึกษา อยู่การมีผู้ร่วมทุนกับไม่มี อันไหนมีประโยชน์กว่ากัน
|