ผ่าตัดใหญ่รัฐวิสาหกิจได้ข้อสรุปตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" เป็นเจ้าภาพกลาง คลังถือหุ้น 100% เต็ม มีนายกฯนั่งเป็นประธานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติคุมระดับบน เน้นกำกับด้านการเงิน-ลงทุนสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล พร้อมจัดรัฐวิสาหกิจเป็นคลัสเตอร์ มีซับโฮลดิ้งคอยกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน เชื่อสามารถดัน 2 รัฐวิสาหกิจ "กสท-ทศท" เข้าตลาด Q3 ปีนี้ พร้อมกำชับ 7 รัฐวิสาหกิจ ที่ยังปิดบัญชีไม่ลงเร่งปิดให้ทัน มี.ค.นี้ "สมคิด" เผยวางแผนโรดโชว์ดึงทุนนอกลงทุนเมกะโปรเจกต์
ความพยายามปฏิรูประบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีความชัดเจนขึ้น โดยวานนี้ (16 ก.พ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม CEO รัฐวิสาหกิจ เรื่อง "นโยบายการพัฒนา และการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ" โดยระบุว่า การยกระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศให้แข็งแกร่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญมากในช่วง 4 ปีนี้ เพราะเป็นช่วงที่การเมืองมีความเข้มแข็ง ดังนั้นหากไม่ดำเนินการในช่วง 4 ปี ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำในช่วงต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พบว่า ในปี 2547 รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังกำกับดูแลรวม 60 แห่ง มีทรัพย์สินรวม 5.33 ล้านล้านบาท คิดเป็น 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รายได้รวม 1.76 ล้านล้านบาท หรือ 27% ของจีดีพี รายได้นำส่งรัฐ 57,517 ล้านบาท หรือ 7.5% ของรายรับ กำไรรวมก่อนหักภาษี 199,488 ล้านบาท หนี้สินรวม 4.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนรวม 341,685 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของรายจ่ายลงทุนรวมของภาครัฐ
แต่เมื่อแยกรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 9 แห่งออกไป จะพบว่า ภาพของรัฐวิสาหกิจจำนวน 46 แห่งที่เหลือ มีทรัพย์สินรวม 1.73 ล้านล้านบาท หรือ 68% รายได้รวม 0.81 ล้านล้านบาท หรือ 12.31% ของจีดีพีซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐวิสาหกิจทั้งหมด รายได้นำส่งรัฐ 35,055 ล้านล้านบาท หรือ 4.6%ของรายรับ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของกำไรรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังพบว่า รัฐวิสาหกิจ 46 แห่งดังกล่าว มีผลการดำเนินงานขาดทุน 13 แห่ง เป็นเงิน13,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12 แห่ง เป็นเงิน 11,267 ล้านบาท ในปี 2545 ที่ผ่านมา และใน ภาพรวมรัฐวิสาหกิจยังขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพย์สินเมื่อเทียบกับภาคเอกชน อาทิ อัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROA) ของรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงาน อยู่ที่ 5.1% ขณะที่บริษัทเอกชนอยู่ที่10.4% รัฐวิสาหกิจในสาขาขนส่ง -2% ขณะที่บริษัทเอกชนอยู่ที่ 6.4% เป็นต้น ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างในการพัฒนารัฐวิสาหกิจอีกมาก "อนาคตรัฐวิสาหกิจ 60 แห่ง มีงบลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท แต่ในอีก 4-5 ปีต่อไป นายกรัฐมนตรีบอกชัดว่า การลงทุนถือเป็นเรื่องใหญ่" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือ 1.การใช้งบประมาณในการลงทุนโดยไม่กระทบเสถียรภาพ ของประเทศ 2.การเตรียมความพร้อมในการลงทุนโดยเฉพาะบุคลากรด้านต่างๆ รองรับการปรับตัวที่จะเกิดขึ้น และ 3.การสร้างรายได้เพิ่มของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต่อไปบทบาทของ สคร.จะต้องปรับจากบทบาทผู้คุมกฎเป็นพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยยกระดับรัฐวิสากิจ เรื่องแรก คือ การปรับรูปแบบของรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารจัดการแบบเอกชน หรือในรูปของบริษัทจำกัด จากเดิมที่มีลักษณะเป็นราชการ โดย สคร.จะต้องช่วยผลักดันให้มีการปรับปรุง หรือแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
แผนรวบอำนาจตั้งโฮลดิ้งลงตัว
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญมาก คือ การปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแล โดยมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมามีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ดูแล แต่ที่กำลังคิดกันอยู่ คือ ต่อไปจะมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ และมี สคร.เป็นเลขาและตั้งบรรษัท รัฐวิสาหกิจ (Super state Holding) เป็นหน่วยงาน กลางขึ้นมาดูแลการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะด้านการเงิน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของบรรษัทฯ และบรรษัทจะถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งโดยตรง หรืออาจถือผ่าน คลัสเตอร์รัฐวิสาหกิจแต่ละกลุ่ม (Sub Holding) ก็ได้ ส่วน คณะกรรมการของบรรษัทฯ จะมีคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจฯ เป็นผู้สรรหา ส่วนจะจัดตั้งได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อม และขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนเรื่องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความพร้อมของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยจะยังคงยึดแผนแม่บทเดิม คือ รัฐวิสาหกิจที่ต้องแปรรูปและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะต้องปรับตัวและดำเนินการไปในทิศทางดังกล่าว ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายนี้ได้ แต่เป็นเพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม แต่จากที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บมจ. อสมท เข้าตลาดไปก่อนหน้านี้ จะเป็นตัวอย่างสำหรับรัฐวิสาหกิจ อื่นๆ ต่อไป สำหรับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เชื่อว่าหากเข้าใจก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ไตรมาส 3 ปีนี้ดันกสท.-ทศท.เข้าตลาดหุ้น
นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ ผู้อำนวยการ สศร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มี 2 รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพยฯ คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และบริษัท ทศท คอเปอร์เรชั่น จำกัด เนื่องจากแปรสภาพเป็นบริษัทแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้าตลาดได้ประมาณ ไตรมาส 3-4 ปี 2548 นี้ ส่วนการระดมทุนขึ้นอยู่กับโครงการใช้เงิน โดยจะมีคณะกรรมการและที่ปรึกษาของแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณา สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องรอให้ แปรสภาพก่อน ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่มีนโยบายที่จะแปรสภาพและเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอน
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการรายงานภาพรวมแนวโน้มการทำกำไรในอนาคตของรัฐวิสาหกิจ พบว่าในปี 2550 และ 2551 กำไรของรัฐวิสาหกิจมีทิศทางปรับตัวลดลงจากช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดังนั้นรัฐวิสาหกิจ จะต้องกลับไปพิจารณาประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ใหม่
ทั้งนี้ตัวเลขกำไรของรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 13-15% แต่จากรายงานในปี 2550 และ 2551 อยู่ที่ 8.2% นอกจากนี้ ยังได้กำชับรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่ยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ให้เร่งปิดบัญชีให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2548 นี้
เตรียมโรดโชว์ดึงทุนนอกลงทุนเมกะโปรเจกต์
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า โครงการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า มีตัวเลขวงเงินสำหรับโครงการมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท รวมประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่ง 85% ของวงเงินดังกล่าว เป็นงบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ประมาณ 14-15% มาจากงบลงทุนของส่วนราชการต่างๆ ดังนั้น บทบาทของรัฐวิสาหกิจต้องมีมากขึ้น ทั้งนี้หากแยกเป็นรายสาขา พบว่าการลงทุนในสาขาคมนาคมมีสัดส่วนประมาณ 55%รองลงมาเป็นสาขาพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภค
สำหรับเม็ดเงินลงทุน เบื้องต้นจะนำมาจากงบประมาณ 26% กำไรสะสมจากรัฐวิสาหกิจ 35% เงินกู้และแหล่งเงินอื่นๆ รวม 39% หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท ในส่วนนี้คาดว่าจะกู้จากต่างประเทศ 400,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนนี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับไม่เกิน 45% และหนี้ต่อภาระงบประมาณไม่เกิน 15% กล่าวคือยังอยู่ในกรอบการคลังยั่งยืน
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกล่าวเสริมว่า ปลัดกระทรวงการคลังได้เตรียมตัวเดินทางโรดโชว์ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเนื่องจากการระดมทุนในช่วงต่อไปจำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินจากตลาดทุน ดังนั้นหากนักลงทุนต่างชาติมั่นใจในประเทศไทย ก็จะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทุนไทยมากขึ้นซึ่งจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปได้ดี การระดมทุนเพื่อใช้ในการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ก็จะสามารถไปได้ดีด้วยเช่นกัน
ส่วนจะสามารถเดินทางได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของปลัดกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มได้ประมาณ เดือนเมษายน 2548 หลังจากฟอร์มทีมรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว
"ก่อนหน้านี้มีทีมเดินสายต่างประเทศ พบว่าต่างประเทศเชื่อมั่นว่าเราสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ และเห็นว่าควรจะต้องทำด้วย แต่คำถามของเขา คือ ใครลงทุน และเราจะดูแลเม็ดเงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญ คือเราจะลงทุนอย่างไรให้มีเสถียรภาพในอนาคต" นายสมคิด กล่าว
|