อสมท เผยเตรียมนำรูปแบบรายละเอียดโครงการสถานีโทรทัศน์โลกเข้าบอร์ดเดือน มี.ค. เร่งหาพันธมิตร จีบเอเยนซีระดับโลกหลายราย เข้ามาลงทุนร่วม พร้อมถ่ายทอดโนว์ฮาว ด้านธุรกิจวิทยุหวังโต 30% จากคอนเซ็ปต์ใหม่ ผุดทีมอีเวนต์จัดกิจกรรมหารายได้เสริมวิทยุ
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสถานีโทรทัศน์โลก MCOT TV ว่า เตรียมนำเสนอรูปแบบและรายละเอียดโครงการเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) ในเดือนมีนาคมให้พิจารณาอีกครั้ง หลังจากที่บริษัท L.E.K. Consulting ที่อสมทได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาโครงสร้างและรูปแบบมาแล้วไม่นานนี้ และพบว่ามีความเป็นไปได้ทางธุรกิจในตลาดโลก ซึ่งถ้าหากว่าบอร์ดเห็นด้วยก็ต้องนำเสนอตามขั้นตอนให้หน่วยงานระดับสูงต่อไป
ทั้งนี้ในช่วงนี้อสมทจะต้องพยายามเจรจาหากลุ่มพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ ซึ่งมองไว้ว่าจะเป็นบริษัทโฆษณาต่างประเทศ
สำหรับโครงการโมเดิร์นเรดิโอที่เพิ่งเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวานนี้ นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ขณะนี้วางคอนเซ็ปต์ทุกคลื่นทั้ง 6 คลื่น เรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนอีกคลื่นคือ 105.5 ยังเป็นของเอกชนบริหารสัมปทานอยู่ ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ที่เป็นหัวหน้าทีมการเจรจานำคลื่นคืนมาทั้งหมดจากเอกชนที่จะเจรจารายละเอียดต่อไป
นอกจากนั้นแล้วจะมีการตั้งหน่วยงานกิจกรรม หรืออีเวนต์ยูนิต ขึ้นมาสังกัดฝ่ายการตลาดวิทยุ เพื่อรับผิดชอบการจัดกิจกรรมของธุรกิจวิทยุทุกคลื่น ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้จากการจัดอีเวนต์ของแต่ละคลื่นเสริมจากรายได้ของโฆษณาไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต กิจกรรมการตลาด
"เดิมเรามีรายได้จากวิทยุน้อยมาก เพราะไม่ได้ทำเอง โดยเฉลี่ยมีรายได้ 2 ล้านบาทต่อคลื่นต่อเดือน หวังว่าการปรับใหม่ครั้งนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% โดยเฉลี่ย เพราะว่าแต่ละคลื่นไม่เหมือนกัน เพราะบางคลื่นมีฐานรายได้สูง บางคลื่นฐานรายได้ต่ำ ส่วนค่าโฆษณานั้นก็เป็นอัตราเดิมแทบจะไม่ได้ปรับราคาขึ้นเลย ซึ่งธุรกิจทีวีก็คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 30% เหมือนกัน" นายมิ่งขวัญกล่าว
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของอสมท มาจากโทรทัศน์ 60% วิทยุ 12-15% ที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ เช่น พาโนราม่า สำนักข่าวไทย กิจการร่วมดำเนินงานเช่น ช่อง 3 ยูบีซี ซึ่งปีนี้ทั้งโทรทัศน์กับวิทยุจะมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยรายได้ของปีงบประมาณ 2547 (ตุลาคม 2546- กันยายน 2547) มีรายได้ 2,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิ 1,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% ปี 2548 คาดว่าจะมีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท หรือมีการเติบโต 25-30%
นายมิ่งขวัญกล่าวด้วยว่า การดำเนินงานของวิทยุแต่ละคลื่น จะมีการประเมินผลงานทุก 6 เดือน เหมือนกับโทรทัศน์ ซึ่งถ้าหากผลประกอบการรายได้โฆษณาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ละคลื่นไม่ได้รับความนิยม ก็จะพิจารณาโดยให้เวลาอีก 3 เดือน บวก 3 เดือน
โดยคลื่นทั้งหมด 6 คลื่น ที่นำกลับมาบริหารเองทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาคือ 1.คลื่น 95 เอฟเอ็ม เพลงลูกทุ่งมหานคร ราคาสปอต 2,600 บาท ขายแพกเกจโฆษณา 3 แบบ 1.ความถี่ 4 ครั้งต่อวัน ราคา 150,000 บาทต่อเดือน ความถี่ 6 ครั้งต่อวันราคา 200,000 บาทต่อเดือน 3.ความถี่ 8 ครั้งต่อวัน ราคา 250,000 บาทต่อเดือน
2. คลื่น 96.5 คลื่นความคิด เศรษฐกิจ และการเมือง เน้นเนื้อหารายการข่าว เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ราคาสปอต 2,200 บาท 3.คลื่น 97.5 ซีดเอฟเอ็ม เป็นคลื่นเพลงวัยรุ่น มีนายธีรภัทร สัจจกุล เป็นผู้จัดการสถานี มีราคาโฆษณา 2,500 บาท มี 3 แบบ คือ แพกเกจ 1 ราคา 380,000 บาท และแพกเกจ 2 ราคา 400,000 บาท 4. คลื่น 99 เมืองไทยแข็งแรง เน้นรูปแบบการออกกำลังกาย สุขภาพ เป็น ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่ 28 จังหวัด กลุ่มเป้าหมายอายุ 16-55 ปี รูปแบบเปิดเพลงสากล 30% และอีก 70% เป็นสาระด้านกีฬา สุขภาพ ท่องเที่ยว บันเทิง ราคาสปอตโฆษณา 2,400 บาทต่อสปอต 30 วินาทีในกรุงเทพฯ และราคา 5,000 บาทต่อครั้งสปอต 30 วินาที จำนวน 53 สถานี
5. คลื่น 100.5 เป็นรายการข่าว ทุกวัน ทันข่าว ทุกมุมโลก กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ผู้บริหารทั้งรัฐและเอกชน เป็นหลัก ตลอด 24 ชั่วโมง ราคา 2,100 บาทต่อสปอต และ 6. คลื่น 107 เมโทรโพลิส เป็นเพลงสากลยุค ทเวนตี้ เอกตี้ ราคาค่าโฆษณา 2,500 บาทต่อสปอต 30 วินาที
|