ห้วงเวลาของการเปลี่ยนช่วงชั้นในแต่ละปี นอกจากจะก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่นักเรียนนักศึกษา
ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับที่สูงขึ้นแล้ว
สถานศึกษาจากทั่วทุกสารทิศต่างจัดกิจกรรม
เพื่อเปิดตัวสู่การรับรู้และเสนอตัวเป็นทางเลือกในการศึกษาต่ออย่างเอิกเกริก
ความคึกคักในตลาดการให้บริการด้านการศึกษาของไทยในช่วงเวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นภาพสะท้อน
และในหลายกรณีถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นประหนึ่งดัชนีชี้วัดการกระเตื้องขึ้นของระบบเศรษฐกิจ
ที่ตกอยู่ในภาวะชะงักงันมาเนิ่นนาน ขณะที่ความพยายามของสถานศึกษาจากต่างประเทศในการแสวงหาตลาดลูกค้าในประเทศไทย
ให้ภาพในมุมกลับของการแข่งขันที่น่าตื่นตาตื่นใจในธุรกิจนี้
กรณีดังกล่าวเห็นได้จากกิจกรรมในลักษณะของนิทรรศการการศึกษาที่เกิดขึ้น
ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นช่วง "สด ใหม่" หลังการปิดภาคเรียนไม่นาน
ขณะเดียวกันก็เป็นห้วงเวลาที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยกำลังต้องตัดสินใจที่จะเลือก
และกำหนดอนาคตผ่านการสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ท่ามกลางความกังวลใจเกี่ยวกับสถานที่เรียนในปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึง
นิทรรศการการศึกษาออสเตรเลีย ซึ่งจัดโดย IDP Education Australia เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม
ดูจะเป็นกิจกรรมที่เน้นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ด้วยการเล็งผลเลิศไปสู่การสัมภาษณ์และรับสมัครเรียน
ภายใต้ข้อได้เปรียบของค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญมาโดยตลอด
จุดน่าสนใจของงานอยู่ที่การมีเข็มมุ่งอยู่ที่นักเรียนนักศึกษา ที่มีความสนใจจะศึกษาต่อในออสเตรเลียอย่างชัดเจน
ซึ่งทำให้นิทรรศการครั้งนี้ เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขาย ที่ชัดเจนทั้งในมิติของสินค้า
และกลุ่มลูกค้า โดย IDP Education Australia ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดกิจกรรมครั้งนี้
ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่มากประสบการณ์ ควบคู่กับเครือข่ายทาง
การศึกษาภายในออสเตรเลียเอง
หากพิจารณาจากรากฐานของ IDP Education Australia ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1969
ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลีย ในระยะเริ่มแรกบทบาทของ IDP อยู่ที่การเป็นองค์กรกลางในการให้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหา
วิทยาลัยของออสเตรเลียกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ชื่อ (Australian-Asian
Universities' Cooperation Scheme : AAUCS) กระทั่งรัฐบาลออสเตรเลียมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการให้ความ
ช่วยเหลือในช่วงกลางของทศวรรษที่ 1980 AAUCS จึงได้แปรสภาพเป็น Australia
Universities International Development Program และคลี่คลายมาสู่ IDP Education
Australia ในที่สุด โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การส่งเสริมการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียแก่นิสิต
นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจในประเทศต่างๆ ผ่าน 32 สาขา ใน 19 ประเทศทั่วโลก
พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในการศึกษาต่อในออสเตรเลียด้วย
ขณะที่ในช่วงสุดสัปดาห์ต่อมา สมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ (สนต.)
ได้จัดงานนิทรรศการ การศึกษาต่อต่างประเทศ International Education Fair
2002 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แต่ด้วยเหตุที่องค์กรที่จัดงานเป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านแนะแนวการศึกษา
และเป็นตัวแทนสถานศึกษาหลากหลาย ทำให้นิทรรศการครั้งนี้ ขาดจุดดึงดูดชัดเจน
แม้ ว่าจะเป็นนิทรรศการที่อุดมด้วยข้อมูลและเครือข่ายของสถานศึกษากว้างขวางอย่างมากก็ตาม
สมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นองค์กรที่พัฒนาขึ้นมาจาก ชมรมแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ
(The Educational Consultants Group of Thailand : ECT) ประกอบด้วยกลุ่มบุคคล
และองค์กรที่ประกอบการด้านการแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่
10 พฤษภาคม 1990 จากสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งจำนวนเพียง 12 บริษัท และได้เติบโตมีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวม
26 บริษัท พร้อมกับการเปลี่ยนสถานภาพเป็นสมาคมไทยแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ
(Thai International Education Consultants Association : TIECA) โดยได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในวันที่ 11 กันยายน 1997
นิทรรศการการศึกษาที่เกิดขึ้นในลักษณะของมหกรรมทั้งสองสัปดาห์ดังกล่าว
ได้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางในการขยายตลาดการศึกษาต่อต่างประเทศ ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
เมื่อปี 1997 เป็นต้นมา และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับทัศนะการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจากต่างประเทศ
ที่พิจารณาการศึกษาในฐานะที่เป็นสินค้าบริการชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่สถาบันและประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน นิทรรศการการศึกษาต่อในอังกฤษ ซึ่งจัดโดย British Education
Exhibition (Asia) บริษัทในเครือข่ายของ The Euro-Education Group ที่มีจุดเน้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยจากอังกฤษเพียง
20 แห่ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็สะท้อนภาพของ niche market ทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าจะจำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่มก็ตาม
การเกิดขึ้นของสำนักงานแนะแนวการศึกษาที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับกิจกรรมในรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากกันมากนักซึ่งมีแนวโน้มจะทวีจำนวนขึ้น
ได้กลายเป็นแนวทางใหม่ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้ นอกจากจะเกิดจากการเป็นสำนักงานตัวแทนของสถานศึกษาจากต่างประเทศแล้ว
อีกส่วนหนึ่งยังมาจากการคิดค่าบริการในรูปแบบต่างๆ ด้วย
สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากจากปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่ที่นักเรียนไทยจะดำรงสถานะเป็นตลาด
ที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าบริการเหล่านี้ไปได้อย่างยาวนานเพียงใด และสถานศึกษาในประเทศจะปรับตัวขึ้นมาแข่งขันกับสถานศึกษาระดับนานาชาติเหล่านี้อย่างไร