ไทยออยล์เงินล้น ควัก 8 พันล้านบาท ลงทุน 3 โครงการ ส่วนขยาย CDU-3 ทุ่นรับน้ำมันกลางทะเล และขยายพาราไซลีนในปีนี้ กระจายความเสี่ยงจากความผันผวนค่าการกลั่นในอนาคต ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 5% มั่นใจสัดส่วนกำไรจากบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 10% พร้อมหารือเอสโซ่สร้าง Synergy ร่วมกัน บอร์ดไทยออยล์ตอบแทนผู้ถือหุ้น ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 1.80 บาท หรือ 25% ของกำไรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการอำนวยการ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยแผนการดำเนินงานในปี 2548 ว่า บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนในปีนี้ 150-200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท โดยจะขยายกำลังการผลิตในธุรกิจปิโตรเลียมและการขนส่งน้ำมันทางทะเล เพื่อกระจายความเสี่ยงจากค่าการกลั่นที่มีความผันผวน ทำให้บริษัทจะรับรู้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทย่อยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปีที่แล้ว 6% ของกำไรรวม และใน 4 ปีข้างหน้าสัดส่วนกำไรจะมาจากบริษัทย่อย 30-40% ของกำไรรวม
ในปีนี้บริษัทจะลงทุนในโครงการเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 (CDU-3) เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 50,000 บาร์เรล/วัน เป็น 2.7 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดประมูลก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส 3/2548 และแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2549 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดเวลาโครงการ 2 ปี รวมทั้งโครงการทำทุ่นรองรับน้ำมันกลางทะเล ซึ่งจะเป็นท่อขนาด 52 นิ้ว ความยาว 16 กม. รองรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 2 ล้านบาร์เรล ใช้เงินลงทุนรวม 2 ปีประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2549
นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีนของบริษัทไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 4.07 แสนตัน/ปีจากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ 3.48 แสนตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จะแล้วเสร็จในปี 2549 หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปลี่ยนสารเร่งปฏิกิริยาตัวใหม่ทำให้มีกำลังการผลิตพาราไซลีนเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นตัน/ปี ทั้งนี้กำลังศึกษาที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนตัน/ปีด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทได้เตรียมเจรจากับโรงกลั่นเอสโซ่ เพื่อที่จะร่วมมือกันในการสั่งซื้อน้ำมันดิบรวมทั้งใช้ JETTY ร่วมกัน เพื่อให้เกิด Synergy ประหยัดต้นทุน เหมือนกับโรงกลั่นเชลล์กับโรงกลั่นคาลเท็กซ์ที่ได้มีการร่วมมือกันก่อนหน้านี้ โดยเมื่อต้นปี 2547 ทางเอสโซ่ได้หารือกับไทยออยล์ในเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากไทยออยล์เตรียมตัวที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ชะลอการเจรจาไปก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ นายปิติกล่าวว่า จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้วที่มีรายได้จากการขาย 184,801 ล้านบาท เป็นรายได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีนของ TPX อีก 6 หมื่นตัน/ปี และรายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ จำกัด (IPT) ที่คาดว่ามี.ค.นี้จะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งเป้าปีนี้ไทยออยล์จะรับรู้กำไรจาก IPT ประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท รวมทั้งจะหันมาขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศเพิ่มมากจากเดิมที่ส่งออกประมาณ 10% ของกำลังการผลิต ซึ่งการขายในประเทศจะสูงกว่าส่งออกที่ต้องมีภาระค่าขนส่งอยู่
ส่วนค่าการกลั่นในปีนี้น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ใกล้เคียงปีที่แล้ว 7.5 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากกำลังการกลั่นในภูมิภาคเอเชียยังตึงตัวอยู่ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่แล้ว คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 30-35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวดปี 2547 ไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 184,801 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 15,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เนื่องจากราคาน้ำมันและกำไรจากการกลั่นน้ำมันขั้นต้น (GRM) ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มจากปี 46 ที่ GRM อยู่ที่ 3.38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้จ่ายเงินปันผลประจำปีหุ้นละ 1.80 บาท หรือคิดเป็น 25% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัทได้พิจารณาจากสถานะการเงินของบริษัท รวมทั้งประเมินการจ่ายปันผลของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นในภูมิภาคนี้เป็นเกณฑ์ โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น ณ ทะเบียนวันที่ 7 เม.ย. 2548
|