"สุชาติ-วิโรจน์" ประสานเสียงโต้แบงก์ชาติเลือกปฏิบัติ เหตุแจ้งความเอาผิดบิ๊กแบงก์กรุงไทยแค่ 3 คนทั้งๆ ที่บอร์ดบริหารมี 5 คน "วิโรจน์" ยันปล่อยสินเชื่อลูกหนี้ทั้ง 3 กรณีตามขั้นตอน "หม่อมอุ๋ย" อ้างเหตุละเว้นบอร์ด 2 คน เพราะต้องกันเป็นพยานและให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ ส่วนสาเหตุการฟ้องเพราะกลัวถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มั่นใจเก้าอี้ผู้ว่าฯยังอยู่ นายกฯชี้ลูกหนี้ทั้ง 3 รายไม่ใช่หนี้เสีย นักกฎหมายเผยธปท. มีพิรุธไม่ร้องทุกข์ ป.ป.ช.โดยตรง
จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการผู้บริหารและบุคคลภายนอก ข้อหาสร้างความเสียหายให้ธนาคารกรุงไทยนั้น วานนี้ (14 ก.พ.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. ได้รายงานให้ทราบแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นหน้าที่ของธปท.กับกระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกัน เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคารกรุงไทย ที่สำคัญหนี้ดังกล่าวยังไม่ใช่หนี้เสีย (เอ็นพีแอล)
"สินเชื่อที่มีการปล่อยไป ธนาคารกรุงไทยได้กันสำรองไว้แล้ว เชื่อว่ายังไม่ถึงขึ้นเป็นหนี้เสีย เพียงแต่การปล่อยสินเชื่ออาจไม่เหมาะสม" พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวด้วยว่านายวิโรจน์เองก็ได้ฟ้องร้องผู้ว่าฯธปท.ต่อศาลปกครอง ดังนั้นก็ต้องต่อสู้กันตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ทั้งนี้ คดีที่ธปท.แจ้งความดำเนินคดีแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1 ที่เป็นกรรมการและผู้บริหารธนาคารกรุงไทย เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร กับส่วนที่ 2 เป็นบุคคลภายนอก ถูกฟ้องในฐานะที่ร่วมกับเจ้าพนักงานหรือสนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานองค์กรหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535
โดยลูกหนี้ 3 กรณีจาก 12 กรณี ประกอบด้วยลูกหนี้รายที่ 1 เป็นกรณีให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทโกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งไม่อยู่ในฐานะหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้กับธนาคารกรุงไทยได้ โดยให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนสูงถึง 9,900 ล้านบาท และยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการขอสินเชื่อจำนวนประมาณ 3,500 ล้านบาทเศษ เป็น การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัทซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบุคคลที่เป็นพวกพ้องทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
ลูกหนี้รายที่ 2 เป็นกรณีที่มีการขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทแกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1,185 ล้านบาท ซึ่งธนาคารถืออยู่ให้กับบริษัทตัวแทนของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งไม่อยู่ในฐานะหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนธนาคารได้ โดยไม่ได้เรียกให้บริษัทตัวแทนชำระราคาค่าหุ้นทันที แต่ไม่ได้มอบฉันทะให้ไปใช้สิทธิแทนธนาคาร โดยการลงมติเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในการนี้ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้รับชำระราคาค่าหุ้นดังกล่าว
และรายที่ 3 กรณีที่ผู้บริหารและพนักงานธนาคาร ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหารธนาคารทำให้ธนาคารจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกหนี้เกินกว่าที่ควรจ่ายจริง โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคาร ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกคือบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ ได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบเป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาท
โดยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาเฉพาะลูกหนี้รายแรกมีทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร, นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบริหาร, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ, นายไพโรจน์ รัตนะโสภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส, นายประวิทย์ อดีตโต ผู้อำนวยการฝ่าย สินเชื่อ, นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ, นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล หัวหน้าส่วนสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา, นายบัญชา ยินดี, นายไมตรี เหลืองนิมิตรมาศ และน.ส.วราลี บุนนาค
ส่วนอีก 2 คดี มีทั้งสิ้น 10 คน บางรายซ้ำซ้อน ทั้ง 2 หรือ 3 คดี เมื่อนับรวมทั้ง 3 คดี ทำให้ผู้ถูกกล่าวหารวม 21 ราย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการบริหารซึ่งมี 5 คน ถูกดำเนินคดี 3 คน ที่เหลืออีก 2 คน คือนายอุตตม สาวนายน (ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง) และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ (ตัวแทนจากภาคเอกชน) ไม่โดนดำเนินคดี
"ทั้ง 2 คน ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ซึ่งทำให้คดีมีนำหนักมากขึ้น ดังนั้นจึงได้กันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ทาง ธปท.ก็เคยทำมาแล้วในกรณีของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี)และทำให้ชนะในคดีดังกล่าว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. อ้างในการแถลงข่าววานนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ 12 กรณีของธนาคารกรุงไทยก่อนหน้านี้ ธปท.พบว่ามี 3 กรณี ทำให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย แต่ธนาคารได้กันสำรองเผื่อหนี้สูญไว้เพียงพอแล้ว จึงไม่กระทบกับการทำกำไร และฐานะการเงิน ส่วนลูกหนี้ที่เหลืออีก 9 รายที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการอนุมัติหรือการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกจนผิดปกติ แต่ถือเป็นหนี้ด้วยคุณภาพที่ต้องทวงถามต่อไป โดยหนี้ทั้ง 9 รายดังกล่าวมีการกันสำรองเผื่อหนี้สูญไว้เพียงพอแล้วเช่นกัน
ผู้ว่าฯธปท.ระบุว่า โทษของคดีมีทั้งทางอาญาและการฟ้องเพื่อได้เงินคืนจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ โดยห้ามออกนอกประเทศ แต่ในเรื่องการอายัดทรัพย์นั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปให้ปปง.พิจารณาว่าจะอายัดทรัพย์หรือไม่
"อุ๋ย" เพ้อเชื่อเก้าอี้ผู้ว่าฯยังอยู่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ก่อนที่จะได้ดำเนินการฟ้องร้อง ตนได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบก่อนแล้ว ซึ่งนายกฯก็รับฟังเป็นอย่างดี และมั่นใจว่าการดำเนินการครั้งนี้จะไม่มีผลต่อตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. เนื่องจากเป็นการทำตามหน้าที่ ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดก็ต้องดำเนินการ
"ผมทำตามหน้าที่ หากไม่ทำผมก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ได้เพราะจะมีความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และไม่ดูแลความเสียหายของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกรณีการฟ้องร้องนี้ เมื่อหาหลักฐานเสร็จก็ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการประสานงาน ซึ่งอัยการ ตำรวจ ธปท.ผู้เสียหายที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานซึ่งได้เห็นชอบให้ธปท.กลับมาดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์ได้"
ผู้บริหารกรุงไทยลาออก
สำหรับตามขั้นตอนการฟ้องร้อง เริ่มจากธปท.จะต้องไปกล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน และเมื่อสอบสวนเสร็จจะส่งเรื่องต่อให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อกล่าวโทษ จากนั้นก็จะส่งให้สำนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล
โดยวานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร กรุงไทยที่ถูกกล่าวโทษและปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน ได้มีการขอย้ายจากตำแหน่งเกี่ยวกับสินเชื่อ เพื่อเปิดทางให้ธปท.ดำเนินคดีตามขั้นตอน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หากจะมีการฟ้องร้องผู้บริหารที่เป็นข่าวเป็นเรื่องของตัวบุคคล ในขณะที่ธนาคารเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากและสินเชื่อที่เป็นข่าวนั้น เป็นเรื่องเก่าที่ธนาคารได้กันสำรองเผื่อหนี้เสียไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อฐานะของธนาคาร (อ่านรายละเอียดข่าว "อภิศักดิ์" ลั่นปรับใหญ่ ดันกรุงไทยสู้แข่งขัน)
"สุชาติ" ข้องใจ "อุ๋ย" เลือกปฏิบัติ
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรมว.คลังและ พี่ชายร.ท.สุชายกล่าวว่าได้พูดคุยกับร.ท.สุชาย แล้ว และได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยขณะนั้นมี 5 คน แต่คนที่ถูกฟ้องมีเพียงแค่ 3 คน อีก 2 คน กลับไม่โดนฟ้อง จึงอยากถามว่าเหตุใดจึงเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น กรรมการทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
"เรื่องนี้คงไม่มีปัญหาอะไร ฟ้องก็ฟ้อง น้องชายผมก็ยินดีที่จะพิสูจน์ทุกอย่าง และคงไม่เกี่ยวข้องและไม่กระทบกับการเมืองอย่างแน่นอน ส่วนตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลใหม่นั้น ผมยังไม่อยากพูดอะไร เพราะตั้งแต่ลาออกจากรมว.คลัง ก็ยังไม่อยากรับตำแหน่งอะไรอีก และที่ผ่านมาก็เป็นมาหมดแล้ว"
"วิโรจน์" ลั่นถูกกลั่นแกล้ง
นายวิโรจน์กล่าวว่าถือเป็นการเลือกปฏิบัติและการกลั่นแกล้งตนและผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารในช่วงเวลาดังกล่าว มีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อหากมีคณะกรรมการท่านใดไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาการอนุมัติสินเชื่อไม่มีคณะกรรมการท่านใดคัดค้านจึงถือว่าคณะกรรมการทุกท่านให้ความเห็นชอบ
ขั้นตอนต่อจากนี้ทั้งตนและผู้ที่ถูกกล่าวหา จะต้องมาพิจารณาหาข้อกล่าวหาของธปท. ซึ่งตั้งแต่ที่มีข่าวตนเองได้ตั้งทนายเพื่อมาดูข้อกล่าวหาของแบงก์ชาติ เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในรวมถึงการกล่าวหาของแบงก์ชาติในวันนี้ด้วย
"โดยปกติคดีทางธุรกิจถ้ามีความผิดถึงขั้นยอมรับไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารที่หลอกลวงประชาชนหรือการออกผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ในเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่ และการมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างทางการกับผู้ปฏิบัติงานไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่การฟ้องร้องของแบงก์ชาติที่เป็นข่าวไม่เข้าใจว่าทำไมคุณมัชฌิมาเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร"
"เกราะป้องกันตัวเองในขณะนี้ก็คือความจริง ซึ่งเราอาจจะพลาดบ้างก็คือความโง่ของเราที่เราอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สิ่งที่เราทำถือว่าสุดความสามารถ และทำด้วยความสุจริต ซึ่งคิดว่าทุกคนเข้าใจดี"
ขณะที่นายมัชฌิมากล่าวว่า การกล่าวหาดังกล่าวอาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดของ ธปท. เนื่องจากตนไม่ได้เป็นกรรมการในการปล่อยสินเชื่อ แต่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะเป็นคนสนิทของนายวิโรจน์ทำให้เกิดการเข้าใจผิด แต่อย่างไรก็ตามตนเองก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงต่อธปท.
ตร.เตรียมสรุปสำนวนส่งป.ป.ช.
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. กล่าวว่า มอบหมายให้ พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ รัตนาพร ผู้ช่วยผบ.ตร. ฝ่ายกฎหมายและสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน แต่ขณะนี้ พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ อยู่ระหว่างการปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ
พ.ต.อ.ชาญ วัฒนธรรม รองผู้บังคับการ กองคดี รักษาราชการแทน ผู้บังคับการกองคดี (รรท.ผบก.คด.) กล่าวว่า หลังจากที่ ธปท. ร้องทุกข์กล่าวโทษมากองคดีได้รับมอบหมายให้พิจารณากลั่นกรองซึ่งได้สรุปและประมวลผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาและนำเสนอต่อ พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ ไปแล้วโดยมีความเห็นว่าเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าเจ้าพนักงานของรัฐกระทำผิดจึงเห็นควรส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ ทราบว่าขณะนี้ พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไปสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ต่อไปภายใน 30 วัน
"แม้ว่าจะมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับแต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วความผิดมีเพียงฐานเดียวคือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจึงต้องส่งสำนวนคดีทั้งหมดให้ป.ป.ช.พิจารณาเท่านั้น" รองผบก.คด. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรายหนึ่งตั้ง ข้อสังเกตว่าเหตุใด ธปท. จึงต้องส่งเรื่องมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ทราบดีว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งเข้าข่าย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องไปร้องทุกข์ ต่อ ป.ป.ช.การมาร้องทุกข์กับตำรวจทำให้เกิดขั้นตอน ที่ไม่จำเป็นและล่าช้า
พล.ต.ท.อัมรินทร์ เนียมสกุล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวถึงการห้ามผู้ถูกกล่าวหาเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว 15 วัน ว่าขณะนี้ตนยังไม่ทราบ เรื่อง อย่างไรก็ตาม การที่จะห้ามบุคคลใดออกนอกราชอาณาจักรได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น โดยตำรวจไม่มีอำนาจ และหากมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และหากเห็นว่า มีมูลและมีความจำเป็นที่จะต้องห้ามบุคคลที่ถูกกล่าวโทษออกนอกราชอาณาจักรก็จะยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่ง
|