ถ้าต้องการสอบถามบัญชี โอนเงิน ชำระเงิน
เปลี่ยนรหัสเอทีเอ็ม แนะนำสมาชิกใหม่ มีปัญหากับ
อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ณ เวลานั้นรวมไปถึงธุรกรรมด้านอื่นๆ
คุณจะเสียเวลาเดินตรงไปยังสาขาธนาคารหรือไม่
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจระบบธนาคารพาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งในระดับโครงสร้าง
รูปแบบการดำเนินงานและประเภทธุรกรรม ทิศทางการเงินในเรื่องของ invention
มีความทันสมัยมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ธนาคารต้องมีการพัฒนาปรับตัวและเผชิญกับการแข่งขัน
โดยเฉพาะธุรกิจลูกค้ารายย่อย (retail banking)
ธนาคารต่างชาติรุกเข้าสู่สมรภูมิลูกค้ารายย่อยอย่างดุดัน โดยอาศัยเทคโนโลยีให้บริการทางการเงินผ่านทางโทรศัพท์
คอมพิวเตอร์บุคคลและอินเทอร์เน็ต และมีการคาดกันว่าอีกไม่นานเครือข่ายสาขาและขนาดธนาคารมิใช่ข้อจำกัดในการแข่งขันอีกต่อไป
มีแนวโน้มว่าลูกค้าจะใช้บริการผ่านทางระบบเทคโนโลยีมากขึ้น
ธนาคารซิตี้แบงก์ถือเป็นธนาคารต่างชาติแห่งหนึ่งที่พยายามนำนวัตกรรมใหม่ๆ
เข้ามาให้บริการลูกค้า ล่าสุดเสนอ "ซิตี้แบงก์ ออนไลน์" บริการ ธนาคารทางออนไลน์ครบวงจรสำหรับลูกค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบัญชีเงินฝาก
บัตรเครดิต บัญชีสินเชื่อ
การบริการในรูปแบบนี้ธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งกำลังกระตือรือร้นเสนอแก่ลูกค้าตนเองอยู่แล้ว
แต่หากพิจารณาในแง่ online service มีความแตกต่างกันพอสมควรระหว่างซิตี้แบงก์กับคู่แข่ง
"ค่อนข้างต่างกันในแง่ความทันสมัยและง่ายต่อการใช้อย่างมาก" รัตนา หอธัญญโรจน์
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดสาย Liablities/Investment และ Channel Marketing
ธนาคารซิตี้แบงก์บอก "หากเป็นแบงก์อื่นก่อนที่จะใช้บริการได้ต้องเดินไปที่สาขาเพื่อกรอกใบสมัคร
ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย"
ขณะที่ซิตี้แบงก์ ออนไลน์ เพียงแค่เป็นลูกค้าสามารถทำรายการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่ธนาคาร
ไม่ต้องสมัครและเสียค่าธรรมเนียมเพียงใช้หมายเลขบนบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์พร้อมรหัส
4 หลักก็ทำรายการได้ตลอดเวลา อาทิ ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ โอนเงิน ชำระเงิน
สั่งซื้อสมุดเช็ค เปิดบัญชีเงินฝากประจำ สอบถามอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลก
เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
"เป็นกลยุทธ์ของแบงก์อยู่แล้วสำหรับการสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า
ซึ่งพวกเราพยายามที่จะนำเสนอในสิ่งที่แปลกใหม่อยู่เสมอ" รัตนากล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารแห่งนี้จะมีประสบการณ์นานกว่า 16 ปีในการพัฒนาบริการทางอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายทั่วโลก
แต่สำหรับในประเทศไทยในช่วงแรกๆ ของการนำเสนอ "ซิตี้แบงก์ ออนไลน์" กลับมีความลังเลเกี่ยวกับจำนวน
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังไม่แพร่หลายซึ่งอาจจะผลต่อเป้าหมายที่วางเอาไว้
"เมื่อมาดูจำนวนลูกค้ารายย่อยที่อยู่ในมือเราถึง 5 แสนรายก็เพียงพอแล้วที่จะอธิบายได้ว่าเป็นรูปแบบที่ตรงกับความต้องการ"
เธอชี้ "อีกทั้งที่ผ่านมาพวกเขาก็ติดต่อกับธนาคารผ่านช่องทางอื่นโดยไม่ต้องเดินมาที่สำนักงาน"
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าลูกค้าจะพึงพอใจและเข้าใจถึงมูลค่ามากกว่าการคำนึงถึงต้นทุนที่ธนาคารนำเสนอ
ถือเป็นการให้บริการแบบ One-Stop Shopper และในอนาคตมีแนวคิดในการพัฒนาระบบให้เป็นภาษาท้องถิ่น
จากปัจจุบันที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าซิตี้แบงก์ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจภาษาสากลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการเพิ่มความหลากหลายของ
functional เท่านั้น
ขณะที่การให้บริการลูกค้าสถาบันซิตี้แบงก์ได้ปฏิวัติทางระบบอินเทอร์เน็ตภายใต้
"CitiDirect และ CitiConnect" โดยระบบแรกลูกค้าสามารถใช้ติดต่อกับธนาคารผ่านทางอินเทอร์เน็ตจากทุกแห่งทั่วโลก
ทำให้ลูกค้ามีความคล่องตัวและยังสามารถควบคุมการทำธุรกรรมได้มากยิ่งขึ้น
ธนาคารเปิดให้บริการถึง 12 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยใน 85 ประเทศทั่วโลก CitiDirect
สามารถให้ข้อมูลได้รวดเร็วทันต่อเวลา และยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบบัญชีต่างๆ
ของบริษัทต่างๆ ได้ดี
"บริษัทใดที่มีการให้บริการทางเว็บไซต์หรือยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต
และเพิ่มประสบการณ์การธนาคารผ่านบริการระบบนี้ได้" ไมค์ โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฝ่าย
e-Business ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ทางด้านผู้จัดการใหญ่ซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพ เทอเรนซ์ คัดไดร์ เล่าเสริมว่า
"ซิตี้แบงก์ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้นำด้านการบริหารเงินสดและธุรกิจการค้าต่างประเทศ
เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
CitiDirect มีความสำคัญยิ่งต่อศูนย์บริหารเงินของบริษัทข้ามชาติและสถาบันการเงิน
ซึ่งมีสาขาและบริษัทในเครือ ที่ใช้บริการของซิตี้แบงก์ในไทยและเครือข่ายของซิตี้แบงก์ทั่วโลก"
CitiDirect เอื้อประโยชน์ให้ลูกค้าทั้งในประเทศไทยและบริษัทในเครือทั่วโลก
สามารถติดตามดูแลธุรกรรม ตรวจดูรายการในบัญชี สอบถามผ่านออนไลน์ และส่งคำสั่งธุรกรรมออนไลน์ได้
โดยเลือกตามลักษณะการใช้งานของลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถรับรายงานธุรกรรมทางธนาคาร
ได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องรอจนสิ้นวันทำการ
ส่วน CitiConnect คือการให้บริการธุรกรรม ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ทั้งผู้ซื้อ
และผู้ขายบนอินเทอร์เน็ต ติดต่อผ่านเครือ ข่ายที่น่าเชื่อถือของธนาคารซิตี้แบงก์ทั่วโลก
ทำให้ผู้ทำการค้าบนอินเทอร์เน็ตสามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการโดยอัตโนมัติ
"การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีการที่ง่าย และสะดวกสำหรับลูกค้า
เพียง แต่ลูกค้ากดปุ่ม CitiConnect บนเว็บ ระบบการชำระเงินอัตโนมัติของ Citibank
ก็จะทำงานทันที" คาร์ล เบล์ม ผู้อำนวยการฝ่าย e-Business ธนาคารซิตี้แบงก์
สาขากรุงเทพ กล่าว
นั่นหมายความว่าจะทำให้การทำธุรกรรมสมบูรณ์รวมถึงการชำระเงินอัตโนมัติ
ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดค่าใช้จ่าย ค่าแรง รวมถึงต้นทุนและยังขยายขอบเขตของตลาด
โดยอาศัยระบบเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกของธนาคารซิตี้แบงก์ในการชำระเงิน
ธุรกรรม CitiConnect เริ่มขึ้นเมื่อลูกค้าเสร็จสิ้นการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์โดยลูกค้าสามารถเลือกปุ่ม
CitiConnect บนเว็บของผู้ขาย ข้อมูลที่ผ่านการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจจากระบบจะถูกโอนเข้าสู่หน้าจอสำหรับการชำระเงินของ
CitiConnect จากนั้นลูกค้าจะต้องเลือกบัญชีที่จะใช้ชำระค่าสินค้า ทั้งนี้รวมถึงบัญชีในธนาคารพันธมิตรในประเทศ
การชำระเงินจะถูกดำเนินการทันทีโดยระบบของธนาคารตามวิธีที่กำหนด
"เป็นวิวัฒนาการใหม่ของ e-commerce ที่ผสมผสานระบบการชำระเงิน และรายการเรียกเก็บที่มีประสิทธิภาพ
เข้าด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าและพันธมิตรของเราได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น"
บุษกร เปาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินสด ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพ
บอก