ธปท.เผยยอดบัตรเครดิตไตรมาส 4 ปี 47 เพิ่มขึ้นกว่า 5.7 แสนบัตร ดันยอดบัตรเครดิต ณ สิ้นปี 47 อยู่ระดับสูงกว่า 8.8 ล้านบัตร ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท สินเชื่อคงค้างพุ่งเฉียดแสนล้าน แต่ไม่น่าห่วงเพราะอัตราขยายตัวของบัตรเครดิตที่ออกโดยตัวแทนออกบัตรเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงตามการควบคุมของแบงก์ชาติ
รายงานข่าวจากสายนโยบายสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งถึงตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตว่า จำนวนบัตร ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2547 มีทั้งสิ้น 8,804,180 บัตร เพิ่มขึ้นจำนวน 571,842 บัตร เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ที่อยู่ในระดับ 8,232,338 บัตร
ทั้งนี้ จำนวนรวมของบัตรเครดิต ณ ไตรมาส 4 สามารถแบ่งเป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย 3,319,680 บัตร บัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทย 965,434 บัตร และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 4,519,066 บัตร โดยมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 118,456 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมของไตรมาส 4 มีทั้งสิ้น 154,910 ล้านบาท แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 110,449 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ 6,194 ล้านบาท และการเบิกเงินสดล่วงหน้า 38,266 ล้านบาท ส่วนปริมาณการใช้จ่ายรวมในไตรมาส 3 มีทั้งสิ้น 130,670 ล้านบาท แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 97,241 ล้านบาท การใช้จ่ายในต่างประเทศ 5,946 ล้านบาท การเบิกเงินสดล่วงหน้า 27,482 ล้านบาท
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้จ่ายรวมของไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 จำนวน 24,240 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการใช้จ่ายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเบิกเงินสดล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น 10,784 ล้านบาท
สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างในไตรมาส 4 นั้น มีจำนวน 118,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,850 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ที่มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 108,606 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์จำนวน 44,413 ล้านบาท สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทย 23,423 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้างที่ออกโดยบริษัทประกอบกิจการบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) จำนวน 50,619 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตในส่วนที่เป็นนอนแบงก์ จะเห็นว่าบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ได้แก่ บริษัทบัตรกรุงไทย และบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 1,085 บัตร
ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดยตัวแทนออกบัตร ได้แก่ บัตรอิออน บัตรอีซี่ บาย บัตรเฟิร์สช้อยส์ เป็นต้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 จำนวน 141,165 บัตร เทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส ที่ 3 จำนวน 419,956 บัตร ซึ่งแสดงให้เห็นทิศทางการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรที่ชะลอตัวลงไม่ร้อนแรงเหมือนกับช่วงปี 2546-2547 ที่ ธปท.ต้องออกมาตรการมาเพื่อควบคุมจำนวนขยายตัวอย่างร้อนแรง เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน
|