ต้นตอของค่าเชื่อมโยงวงจร 200 บาท เริ่มต้นมาตั้งแต่แทคได้รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) มาตั้งแต่ปี 2533 แต่เนื่องจาก กสท. ไม่สามารถให้จัดสรรเลขหมายโทรศัพท์กับแทคได้โดยตรง
จำเป็นต้องขอเลขหมายจากองค์การโทรศัพท์ฯ อีกครั้งหนึ่ง
เวลานั้น ทศท.จัดสรรเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน เป็นเลขหมาย 7 หลักให้กับแทค
เหมือนกับเลขหมายโทรศัพท์บ้าน
แม้จะมีข้อดีตรงที่มีความสะดวก เพราะไม่ต้องหมุน 01 แต่ข้อเสียของเลขหมาย
7 หลัก จะมีอยู่จำกัด ในช่วงนั้นแทคต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนเลขหมายตลอดเวลา
จนเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถขยายตลาดได้ตามที่ต้องการ จนกระทั่งแทคได้ยื่นขอใช้เลขหมาย
01 เหมือนกับเอไอเอส เนื่องจากเลขหมาย 01 นั้นจะรองรับกับลูกค้าได้จำนวนมาก
แต่กว่าที่ ทศท. จะอนุมัติเลขหมาย 01 ให้แทคก็ต้องมีการเจรจาต่อรองกันอยู่พักใหญ่
และได้ข้อสรุปตรงที่แทคต้องจ่ายค่ายเชื่อมโยงวงจร (access charge) จำนวน
200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนให้กับ ทศท.
"เวลานั้นเราต้องยอม เพราะกฎหมายให้อำนาจ ทศท. และการสื่อสารฯ เต็มที่"
พิทยาพล จันทนสาโร เล่า
ด้วยเหตุนี้สัมปทานโทรศัพท์มือถือภายใต้สังกัดของ กสท. จึงต้องทำตามกติกาเดียวกับแทค
นั่นก็คือ นอกจากต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนดไว้แล้ว ยังต้องจ่ายค่าเชื่อมวงจร
200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนให้กับ ทศท. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีเอสเอ็ม 1800 หรือ
ทีเอ ออเร้นจ์ก็ล้วนแต่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงวงจร 200 บาท
ในขณะที่ข้อตกลงในสัญญาที่ ทศท. ทำไว้กับเอไอเอสไม่ได้กำหนดไว้ เอไอเอสจึงจ่ายเฉพาะค่าสัมปทานให้กับ
ทศท. เพียงอย่างเดียว จนกลายมาเป็นที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกเหนือจากแทคแล้ว ออเร้นจ์ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองแล้วเช่นกัน แต่เป็นการรักษาสิทธิ์ของตัวเองไว้ก่อน
หากแทคฟ้องชนะ ออเร้นจ์จะไม่ต้องจ่าย แต่ออเร้นจ์ก็หาทางหนีทีไล่ไว้ด้วยการประกาศว่าจะยอมจ่ายค่าเชื่อมวงจรให้กับ
ทศท. หากแทคแพ้คดี ทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆ
การคิดอัตราค่าเชื่อมโยงวงจร เป็นอีกประเด็นที่จะต้องมีการเจรจาแก้ไข