การตัดสินใจยกเลิกไม่จ่าย
ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย
กำลังกลายเป็นช่วงเวลา
ที่ยากลำบากอีกครั้งหนึ่งของ บุญชัย เบญจรงคกุล
มีหลายครั้งที่บุญชัย เบญจรงคกุล ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบาก อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ
จนต้องเปิดศึกแตกหัก ยึดอำนาจกลับคืน จากผู้บริหารมืออาชีพ ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่
เพื่อดึงเอาเทเลนอร์ เข้ามากอบกู้สถานการณ์
นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ในการกลับมาทำงาน
แต่ดูเหมือนว่า การเปิดศึกกับองค์ การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ด้วย
การไม่ชำระค่าเชื่อมโยงวงจร 200 บาท ที่กลายเป็นข้อพิพาท ทำให้เกิดความปั่นป่วนกับลูกค้า
3.1 ล้านราย กำลังทำให้ ทศท. และบุญชัยตกอยู่ในภาวะยากลำบาก กว่าครั้งไหนๆ
การตัดสินใจของบุญชัยในครั้งนี้ นับว่าขัดแย้งกับบุคลิกประนีประนอมของเขาอย่างสิ้นเชิง
แทนที่จะต่อรองภายใน แต่เขากลับเลือกเดินชนกับ ทศท. ด้วยการขอ ยกเลิกไม่จ่ายเงินค่าเชื่อมโยงวงจร
เท่ากับแทคเข้าสู่ภาวะหลังพิงฝา
บุญชัยมองว่า แทคนั้นเสียเปรียบเอไอเอสมาตลอด ในเรื่องการที่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงวงจร
เป็นข้อเสียเปรียบในเรื่อง ของต้นทุนทางธุรกิจ
แทคประเมินว่า หากเอไอเอสต้องจ่ายค่าเช่าวงจรให้ ทศท. เช่นเดียวกัน ด้วย
ปริมาณลูกค้า 5 ล้านรายที่มีอยู่ในมือ นั่นหมายความว่า เอไอเอสจะมีต้นทุน
10,000 ล้านบาท เมื่อเอไอเอสไม่มีภาระเหล่านี้ ทำให้มีข้อได้เปรียบทันที
10,000 ล้านบาท และบวกกับภาระที่แทคต้องจ่ายปีละ 5,000 ล้านบาท เท่ากับว่า
เอไอเอสมีเงินทุนที่ใช้จ่ายในการลงทุนสร้างเครือข่ายมากกว่าแทคไม่ต่ำกว่า
15,000 ล้านบาทต่อปี
เป็นข้อได้เปรียบที่เอไอเอสมีมายาวนาน และเป็นสิ่งบุญชัยเชื่อว่าแทค ไม่มีวันเอาชนะเอไอเอสได้เลย
แทคเชื่อว่า กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีผลบังคับ ใช้ตั้งแต่วันที่
17 พฤศจิกายน 2544 ระบุไว้ว่า การเรียกเก็บค่าตอบแทนให้เชื่อมโครงข่าย ต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
เป็นธรรม และเท่าเทียมกันในระหว่างผู้เชื่อมต่อโครงข่าย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่จ่ายค่าเชื่อมโยงวงจร 200 บาทต่อเลขหมาย ในขณะที่เอไอเอสที่ไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโครงข่าย
200 บาท ให้กับ ทศท. จึงกลายเป็นความไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมายดังกล่าว
แต่แทคต้องไม่ลืมว่า การอาศัยข้อกฎหมายที่มีความไม่แน่นอนอยู่สูง ต้องอาศัยการตีความทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ทศท. เองก็คงยอมไม่ได้ ง่ายๆ จากที่ต้องสูญเสียรายได้ 380 ล้านบาท
เป็นใครก็คงยอมไม่ได้ และหาก ทศท. ยอมให้กับแทค ก็ต้องยอมให้กับเอกชนที่เป็นคู่สัญญารายอื่นๆ
ที่โดนเก็บค่าเชื่อมโยงวงจรเหมือนกัน คือ ทีเอ ออเร้นจ์ และดีพีซี นั่นหมายถึงรายได้ที่ต้องสูญหายไปทันที
และยังอาจขยายผลไปยังเอกชนรายอื่นๆ ที่จะหาข้ออ้างไม่จ่ายเงิน เพื่อให้
เกิดความเท่าเทียมกัน เช่น กรณีของเอไอเอส ที่มีการระบุว่า ได้รวมค่าเชื่อมวงจรเชื่อมโยง
ไว้ในส่วนแบ่งรายได้
การตัดสินใจของบุญชัยในสายตาของนักธุรกิจด้วยกันแล้ว จึงนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดทางธุรกิจที่ประเมินค่าไม่ได้
ยิ่งธุรกิจบริการด้วยแล้วความมั่นใจเป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งพูดกันปากต่อปาก
ความเสียหายก็ยิ่งลุกลาม
หลังจากประธานบอร์ด และผู้อำนวยการ ทศท. ได้ออกมาประกาศเอาจริง โดยกำหนดเส้นตายให้แทคจ่ายเงินค่าวงจร
ไม่เช่นนั้นจะตัดวงจรเชื่อมโยงในวันที่ 28 เมษายน 2545 มีเวลาให้ 1 เดือน
แทคเกิดความปั่นป่วนขึ้นทันที
เพราะหาก ทศท. ทำเช่นนั้นจริง นั่นหมายความว่า ลูกค้าของแทค 3 ล้านเลขหมายจะไม่สามารถโทรติดต่อกับเลขหมายอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐานของ ทศท. โทรศัพท์มือถือระบบอื่นๆ ยกเว้นโทรกับภายในโครงข่ายของ
1800 ของแทคด้วยกันเอง
ตามปกติแล้ว แทคจะมียอดลูกค้าใหม่เข้ามาจด ทะเบียนเฉลี่ย 8,000-10,000
เลขหมายต่อวัน เป็นยอดแต่เพราะหลังจากการออกมาประกาศ ยอดจดทะเบียน ของแทคลดลงเหลือเพียง
3,000 เลขหมาย ไม่ว่าเป็นใครก็ตามย่อมวิตก
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม งานนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ คู่แข่งอย่างเอไอเอส
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีเอ ออเร้นจ์
ทางด้านออเร้นจ์เอง นอกจากจะลอยลำไม่เจ็บตัวแล้ว ยังได้รับอานิสงส์จากการกระทำของแทคไปเต็มๆ
หากแทคชนะ ออเร้นจ์จะรับประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงวงจรแล้ว ออเร้นจ์ยังอาศัยโอกาสที่แทคกำลังบอบช้ำอย่างหนัก
จากความไม่มั่นใจของลูกค้า ชิงเปิดตัวบริการออเร้นจ์ ชนิดที่ตั้งใจกวาดลูกค้าเข้าสู่ระบบของตัวเอง
ด้วยการให้ทั้งเครื่องในราคาต่ำกว่าตลาดมากกว่าครึ่ง และบางรุ่นเช่น ซีเมนส์
เอ 45 นั้นเรียกว่าแจกฟรีก็ว่าได้
แทคจึงต้องหันมาแก้ เกมด้วยการปลดล็อก IMEI International Mobile Equipment
Identity หรือการเข้ารหัสโทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือแต่ ละค่ายจะมีการเข้ารหัส
IMEI เอาไว้ ซื้อเครื่องจากระบบไหนก็ต้องใช้กับระบบนั้น ไม่สามารถใช้ข้ามระบบได้
ยกเว้นจะมีการแก้ IMEI ก่อน
ผลจากการปลดล็อก IMEI ผู้ใช้ที่ซื้อเครื่องจากเครือข่ายของจีเอสเอ็มทุกรุ่น
จะสามารถเข้ามาใช้งานระบบของแทคได้เสรี ไม่จำกัดเฉพาะเครื่องลูกข่ายในระบบของดีแทคอีกต่อไป
จะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป
การทำเช่นนี้ เพื่อต้องการต่อกรกับออเร้นจ์โดยตรง เพราะแทคเชื่อว่าด้วยเครือข่ายที่ไม่พร้อม
จะมีลูกค้าที่ซื้อเครื่องราคาถูกจากออเร้นจ์และเปลี่ยนมาใช้ระบบของแทค ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายมากกว่า
หลายคนมองว่า นี่คือ ไพ่ตายของแทค เพราะการปลดล็อก IMEI ใช่ว่า จะทำกันได้ง่ายๆ
เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้จากการขายเครื่องลูกข่าย ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ไปทันที
การกลับมาของบุญชัยอีกครั้งในแทคครั้งนี้ ไม่เหมือนกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เป็นการกลับมาที่ต้องใช้ความพยายาม มากกว่าในอดีตมาก เพราะตลาดโทรศัพท์ มือถือในเวลานี้ไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่
2 ราย ที่ต้องอาศัยทั้งพลังเงินทุน และความซับซ้อนในการแข่งขัน
หลายอย่างที่เริ่มต้นขึ้นมา เพื่อสร้างความพร้อมให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างสำนึกรักบ้านเกิด
ที่บุญชัยตั้งใจว่า จะใช้เป็นจุดแข็งในการสร้างชื่อในทางสังคมให้กับแทค ควบคู่ไปกับการเดินเกมทางธุรกิจ
ที่มีแนวโน้มจะไปได้ดี แต่ต้องอาศัยเวลา และการรอคอย อีกพักใหญ่
ที่มาในการตัดสินใจของบุญชัยในครั้งนี้ก็เช่นกัน ผิดตรงที่ไม่ว่าผลจะลงเอยออกมาอย่างไรก็ตาม
ผู้ที่เสียหายที่สุด ก็คือ แทค
ศึกครั้งนี้จึงใหญ่นักสำหรับ บุญชัย เบญจรงคกุล