แบงก์ชาติยันธุรกิจบัตรเครดิตยังไม่ร้อนแรงจนส่งผลต่อธุรกิจโดยรวม แม้จะมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นทั้งของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ชี้ต้องจับตาการขยายตัวของสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หวั่นตลาดล่างขยายตัวสูง พร้อมเรียกสถาบันการเงินหารือวันนี้ เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการให้บริการสินเชื่อ การคิดดอกเบี้ย และการคิดค่าธรรมเนียมใหม่
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการตรวจสอบธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงิน ว่า ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติในการขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ ธปท.กำลังติดตามดูในส่วนของการขยายตัวของสินเชื่อบุคคลที่ไม่หลักทรัพย์ค้ำประกันว่ามีอัตราการขยายตัวในลูกค้าตลาดล่างมากเกินไปหรือไม่
"ธปท.ต้องเข้าไปดูสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขยายตัวที่ร้อนแรงเกินไป แต่ไม่ใช่ว่าจะพิจารณาเฉพาะเรื่องสินเชื่อเพียงอย่างเดียว การดูแลจะต้องดูภาพรวมของบัตรเครดิตทั้งหมด" นางธาริษา กล่าว
ด้านนายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าว่า ขณะนี้บัตรเครดิตยังไม่ขยายตัวจนกระทั่งแสดงความร้อนแรงแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ ธปท.เรียกสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) และธนาคารพาณิชย์มาหารือในวันนี้ ( 10 ก.พ.) เป็นการหารือเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์ในการให้บริการสินเชื่อ การคิดดอกเบี้ย และการคิดค่าธรรมเนียมใหม่ ทั้งสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ได้รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิต ณ สิ้น ไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 โดยพบว่ามีบัตรเครดิตทั้งสิ้น 8,232,338 บัตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 211,100 บัตร เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่มีจำนวนบัตร 8,021,238 บัตร
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย 2,915,245 บัตร ออกโดยสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทย 940,277 บัตร และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 4,376,816 ล้านบาท
สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 108,606 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมมีทั้งสิ้น 130,670 ล้านบาท แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 97,241 ล้านบาท การใช้จ่ายในต่างประเทศ 5,946 ล้านบาท การเบิกเงินสดล่วงหน้า 27,482 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 5,018 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2 ที่มียอดคงค้างสินเชื่อ 103,588 ล้านบาท ส่วนปริมาณการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 2,472 ล้านบาท จากสิ้นไตรมาสที่ 2 ที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 128,198 ล้านบาท โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6,245 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีจำนวนลดลง 354 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตในส่วนที่เป็นนอนแบงก์ จะเห็นว่าบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทบัตรกรุงไทย และบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 338,417 บัตร เนื่องจากการที่ ธปท.ออกมากำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ถือบัตร จึงทำให้บัตรเครดิตมีจำนวนลดลง ขณะที่บัตรเครดิตที่ออกโดยตัวแทนออกบัตร เช่น บัตรอิออน บัตรอีซี บาย บัตรเฟิร์สช้อยส์ กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 จำนวน 419,956 บัตร
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงภาพรวมของการให้บริการบัตรเครดิตทั้งระบบจะพบว่าบัตรเครดิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายในต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตมีอัตราลดลง
|