หลังจากวันที่ 19 เมษายน ซึ่งเจ้าหนี้กว่า 73% ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
(ทีพีไอ) โหวตเลือกให้บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ของทีพีไอ ขณะนี้กระบวนการฟื้นฟูกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร ที่มีมูลหนี้สูงถึง
3.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแห่งนี้ มีความคืบหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ
ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เจ้าหนี้ของทีพีไอ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินถึง 148
ราย กับเจ้าหนี้การค้าอีกจำนวนหนึ่ง จะมีการประชุม เพื่อโหวตว่าจะรับแผนฟื้นฟูกิจการที่เอ็ฟเฟ็คทีฟ
แพลนเนอร์สได้จัดทำเสร็จแล้วหรือไม่
เดิมเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ตั้งใจจะเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อโหวตแผนดังกล่าวในวันที่
28 กรกฎาคม หลังจากได้ส่งร่างแผนการฟื้นฟูกิจการให้กับคณะกรรมการเจ้าหนี้พิจารณาไปแล้ว
ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม แต่การประชุม เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูจำเป็นต้องเลื่อนออกมาอีก
1 เดือน เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องการข้อสรุปเกี่ยวกับตัวเลขมูลหนี้ ที่แท้จริงของทีพีไอก่อน
สำหรับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอครั้งนี้ แอน โทนี่ เจ.นอร์แมน กรรมการผู้จัดการของเอ็ฟเฟ็คทีฟ
แพลนเนอร์ส ได้แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ขั้นตอน คือ
1. การปรับปรุงระบบการเงิน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปัจจุบัน
รวมถึงศักยภาพในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้
ประเด็นนี้ จะเน้นการทำประมาณการกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เพื่อดูว่าจะมีเงินเข้ามาหมุนเวียนมากน้อยเพียงใดในระยะเวลา
3-4 ปีข้างหน้า เพื่อนำเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวมาจัดสรรตามค่าใช้จ่าย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
เช่น เงินลงทุน ภาระดอกเบี้ย และเงินต้น ที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้
2. พิจารณาผลกระทบจากการปรับปรุงระบบการเงิน เพื่อปรับปรุงแผนฟื้นฟูให้สอดคล้องข้อตกลงระหว่างทีพีไอกับเจ้าหนี้
ที่เคยมีบันทึกร่วมกันไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2542
ตามข้อตกลงดังกล่าว มีการคาดการณ์ร่วมกันว่าในช่วง 5 ปี หลังเริ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ทีพีไอจะมีปริมาณเงินสดหมุนเวียนเข้ามา 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินสดหมุนเวียน ที่มาจากภายใน และภายนอกในสัดส่วน ที่
เท่ากันอย่างละ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งแผนที่เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สจัดทำขึ้น ปริมาณเงินสด ที่จะมีเข้ามาในทีพีไอ
มีตัวเลขสอดคล้องกับข้อตกลง ที่ได้เคยทำไว้คือ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"เราให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงาน
การลงทุนขยายงาน โดยกำหนดว่าเม็ดเงิน 2-2.5% ของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
หรือประมาณปีละ 80 ล้านดอลลาร์ จะนำมาใช้ในการขยายการลงทุน"
แอนโทนี่ นอร์แมนกล่าว
3. จัดทำแผนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลล้มละลายกลาง
และ 4. รายงานแผนดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเสนอให้ ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาอนุมัติ
ดังนั้น ในขณะนี้ การทำแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอจึงอยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้าย
เหลือเพียงให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูดังกล่าว
กระบวนการฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ที่แท้จริงจึงเริ่มต้น