ดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรการสกัดการเก็งกำไรของแบงก์ชาติ ส่งผลอัตราขยายตัวภาคอสังหาฯ ลดลง ธปท.เผยข้อมูลปริมาณจดทะเบียนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จลดลงมาก พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่อยู่ในเดือน ต.ค.ลดลงถึง 32.5% ขณะที่มูลค่าซื้อขายที่ดินและจำนวนรายการซื้อขายที่ดินหดตัว 11% แต่ผู้ประกอบการยังคงแข่งขันรุนแรง
รายงานข่าวจากสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่าธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของปี 2547 โดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่สิ้นสุดลง โดยภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ซึ่งพิจารณาจากเครื่องชี้หลายตัว เช่น พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัย และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ พบว่าชะลอตัวลง ส่วนปริมาณการจดทะเบียนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จแล้วก็ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีการโอนอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากก่อนที่มาตรการลดหย่อนภาษีจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2546
สำหรับด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการในปัจจุบันค่อนข้างรุนแรง ซึ่งสะท้อนจากดัชนีราคาขายวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายนที่ขยาย ตัวสูงถึง 11.1% สูงกว่าการขยายตัวของดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 4 ทั้งดัชนีราคาบ้าน เดี่ยวพร้อมที่ดิน และดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ซึ่งขยายตัว 5.5% และ 5.0% ตามลำดับ
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. ประเมินว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความร้อนแรงอันจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเดือนตุลาคมในเขตเทศบาลโดยเฉพาะพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยลดลง 32.5% และจำนวนที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งบ้านจัดสรร บ้านที่สร้างเอง และอาคารชุด ก็ขยายตัวในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายที่ดินและจำนวนรายการซื้อขายที่ดินหดตัว 11% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งการโอนซื้อขายที่ดินเพื่อรับประโยชน์จากการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนซึ่งสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2546
สำหรับเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2547 พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างทั้งประเทศ มีจำนวน 2,020 พันตารางเมตร หรือ 6.5% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม มีพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง 2,233 พันตารางเมตร หรือ 17% ขณะที่ที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สิ้นเดือนพฤศจิกายนมีจำนวน 5,947 หน่วย หรือติดลบ 27.2% เป็นบ้านจัดสรร 3,681 หน่วย แฟลตและอาคารชุด 74 หน่วย บ้านสร้างเอง 2,192 หน่วย เทียบกับเดือนตุลาคมที่จำนวนที่ยู่อาศัยมีจำนวนทั้งสิ้น 7,213 หน่วย หรือขยายตัว 132.6% เป็นบ้านจัดสรร 5,190 หน่วย แฟลตและอาคารชุด 116 หน่วยและบ้านสร้างเอง 2,372 หน่วย
ทางด้านนางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงนั้น มีสาเหตุมาจากมาตรการการส่งสัญญาณลดการเก็งกำไรของ ธปท.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป และการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่มูลค่าโครงการเกิน 100 ล้านบาท ต้องรายงานให้ ธปท. รับทราบ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้างแล้ว ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง
|