Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2545
The Professional             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในสถานการณ์ที่ไม่ได้สร้างวีรบุรุษ

   
search resources

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กิตติรัตน์ ณ ระนอง




การได้กิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามาเป็นกรรมการและ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นชัยชนะครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ ที่คนจากภาคธุรกิจหลักทรัพย์ สามารถเข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารสูงสุดของตลาดหุ้น

ในความรู้สึกของคนที่คลุกคลีอยู่กับตลาดหุ้นมาช้านาน การเข้ามารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนผ่านตัวบุคคลธรรมดา หรือเป็นการถูกดึงตัวเข้ามาจากเส้นสายทางการเมือง อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

แต่การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของกิตติรัตน์ ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งตลาด หลักทรัพย์ฯ ที่คนในภาคเอกชน ซึ่งก็คือผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งหลาย สามารถ ผลักดันคนจากฝ่ายของตนเอง ให้เข้าไปรับตำแหน่งนี้ได้ ทั้งที่ได้มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2518

ตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น นับจากสุกรี แก้วเจริญ, ณรงค์ จุลชาติ, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, สิริลักษณ์ รัตนากร มาจนถึง มารวย ผดุงสิทธิ์ แม้จะได้รับการยอมรับในด้านงานวิชาการ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลที่ตัวแทนของทางการ ซึ่งนั่งเป็นกรรมการในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้เลือกเข้ามาทั้งสิ้น

และแต่ละคนก็ไม่มีพื้นฐานความรู้ และประสบการณ์ในธุรกิจหลักทรัพย์อย่างจริงจัง

แม้ระยะหลังต่อจาก มารวย ผดุงสิทธิ์ มีการคัดเลือกบุคคลที่มาจากภาคธุรกิจการ เงิน เช่น เสรี จินตนเสรี, สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ และวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ซึ่งมีพื้นฐานความ รู้และประสบการณ์เพิ่มเข้ามาบ้าง แต่การเข้ามาเป็นกรรมการและผู้จัดการของคนเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีที่มาจากการเสนอ โดยฝั่งตัวแทนกรรมการจากภาคธุรกิจ

กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนแรกที่มาจากรายชื่อซึ่งเสนอโดยตัวแทนจากผู้ประกอบ การธุรกิจหลักทรัพย์ ในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และเขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่รู้เรื่องตลาดหุ้นดีที่สุดคนหนึ่ง

"ตลาดหุ้นจะเจริญได้ จะต้องบริหารโดยคนที่รู้เรื่องตลาดหุ้นดีที่สุด" คนในวงการ ธุรกิจหลักทรัพย์บอก

กิตติรัตน์จึงเป็นความหวังให้กับคนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ ว่าจะสามารถนำพา ตลาดหุ้นของไทย ให้เจริญขึ้นไปทัดเทียมกับตลาดที่พัฒนาแล้วในต่างประเทศ

กิตติรัตน์เป็นคนที่เกิด และเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับความคึกคักที่เข้ามาในยุคตลาดหุ้นบูมรอบที่ 2 (2530-2538) หลังจากก่อนหน้านั้น ต้องซบเซามานานในช่วงประสบกับวิกฤติกรณีราชาเงินทุน และไฟแนนซ์ล้ม

เขาเริ่มต้นทำงานเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และฝ่ายต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ในปี 2530 ช่วงที่ดัชนีราคาหุ้นเริ่มไต่ระดับ จาก 250 จุดขึ้นไปถึง 472 จุด ซึ่งถือเป็นคลื่นลูกแรกในยุคเริ่มต้นบูมของตลาดหุ้นรอบใหม่

"ผมเข้าไปเริ่มสร้างทีมงานวิจัย โดย เริ่มจากศูนย์ฐานข้อมูลยุคนั้น ยังไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย ต้องอาศัยไปขอถ่ายเอกสารงานวิจัยที่โบรกเกอร์อื่นเขาเคยทำไว้ก่อน โดยเฉพาะที่ภัทรธนกิจ ซึ่งเขาก็ช่วยเราได้มาก" กิตติรัตน์เล่า

งานวิเคราะห์หุ้น ถือเป็นพื้นฐานหลักของคนที่จะเติบโตขึ้นในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ในยุค 15 ปีที่แล้ว เห็นได้จากผู้จัดการกองทุนชื่อดังในบริษัทหลักทรัพย์ระดับโลกหลายคน ล้วนแต่เคยผ่านงาน การเป็นนักวิเคราะห์หุ้นมาก่อนทั้งสิ้น

เขาใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถทำให้บทวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนในตลาด

ปี 2535 เมื่อดัชนีราคาหุ้นกำลังไต่ระดับให้ขึ้นไปถึง 1,000 จุด ทางการได้เปิดให้ใบอนุญาตจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพิ่มขึ้น หลังจากถูกผูกขาดอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมเพียงเจ้าเดียวมาตลอดเกือบ 20 ปี

บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ได้ร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย และบริษัทพันธมิตรอื่นในเครือ ยื่นขอใบอนุญาตจากทางการ จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ อินเวสเม้นท์ ขึ้น

กิตติรัตน์ถูกทาบทามจากกลุ่มผู้ร่วมทุนให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหม่แห่งนี้ ซึ่งเป็นการเข้าไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ของเขาอีกครั้งหนึ่ง

เขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ อินเวสเม้นท์ อยู่ 3 ปี จากจุดเริ่มต้นที่เลขศูนย์ เขาสามารถขยายวงเงินกองทุนที่ลูกค้าให้ความ เชื่อถือมอบหมายให้บริหารได้สูงขึ้นไปถึง 1.8 หมื่นล้านบาท และเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่มีส่วนแบ่งตลาด อยู่ในระดับต้น

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่ม ผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ต้อง การให้เขาเข้าไปช่วยดูแลการจัดโครงสร้างของบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเซีย ที่เอกธำรงร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งกำลังมีการจัดโครงสร้างการบริหารงานใหม่ เพราะเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทเอเซีย อีควิตี้ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศในย่านเอเชีย ในปี 2538

เขาใช้เวลาในการจัดโครงสร้างการบริหารในบริษัทหลักทรัพย์เอกเอเซียอยู่ 2 ปี เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มลงตัว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าต้องนำบริษัทนี้ มาควบรวมกับบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง

ระหว่างกระบวนการควบรวมกิจการ ของทั้ง 2 บริษัทกำลังดำเนินการอยู่ กลาง ปี 2540 ประเทศไทยก็ต้องประสบกับภาวะวิกฤติเมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท แผนการควบรวมกิจการจึงต้องสะดุด เปลี่ยนเป็นการขายกิจการ

กิตติรัตน์ที่เพิ่งย้ายกลับเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง เพื่อดูแลการควบกิจการ จึงตัดสินใจ ลาออกจากบริษัท

"เรามองว่าในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ควรต้องแสดงสปิริต และเราเองก็เป็นฝ่ายที่ถูกเข้าไปรวม จึงตัดสินใจลาออก"

กิตติรัตน์ลาออกจากตำแหน่งกรรม การผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ใน เดือนตุลาคม 2540 หลังจากประกาศลอย ตัวค่าเงินบาทได้เพียง 3 เดือน

ในช่วง 3 ปีแรกที่ประเทศต้องเผชิญ หน้าอยู่กับวิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่นั้น กิตติรัตน์ได้ตัดสินใจร่วมทุนกับพรรคพวกตั้งบริษัทคาเธ่ย์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์ขึ้น เพื่อทำ หน้าที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทยูนิเวนเจอร์ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และได้ใช้บริษัทแห่งนี้เป็นฐานในการขยายการลงทุน ไปยังโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ

แต่ดูเหมือนเส้นทางชีวิตของกิตติรัตน์ จะต้องวนเวียนอยู่กับงานซึ่งต้องเข้า ไปบุกเบิก หรือเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะระหว่างที่เขากำลังสนุกอยู่กับบทบาทที่ปรึกษา และเวนเจอร์ แคปปิตอล เขาก็ถูกผู้ใหญ่รวมถึงพรรคพวกเก่าที่ยังอยู่ในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ ชักชวนให้กลับเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนที่วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ที่ลาออก

มีบางคนมองกิตติรัตน์ว่าเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงตลาดหุ้น 2 ยุคเข้าด้วยกัน เพราะภายหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน ตลาดหุ้นก็เริ่มส่งสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นมาอย่างชัดเจน

"ชีวิตเปลี่ยนไปมาก เพราะงานในหน้าที่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ มีภาระรับผิดชอบต่อคนส่วนรวมทั้งประเทศ" เขาบอก

ก่อนตัดสินใจเข้ารับตำแหน่ง กิตติรัตน์พยายามทำการบ้านอย่างหนัก โดยศึกษาข้อมูลพัฒนาการของตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทย

เขามองว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศรอบนี้รุนแรงมาก จนทำให้กลไกต่างๆ ที่เคย เป็นตัวขับเคลื่อนอยู่ในตลาดหุ้นต้องหยุดชะงัก การที่จะฟื้นฟูตลาดให้กลับขึ้นมาใหม่ สิ่ง แรกคือต้องพยายามกระตุ้นให้กลไกต่างๆ เหล่านั้นให้เริ่มกลับมาทำงาน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

เป้าหมายของเขา คือพยายามดึงเงินจากกองทุนต่างๆ ที่เคยขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยออกไป ให้นำเงินกลับเข้ามาลงทุนใหม่ เพื่อให้กลไกตัวอื่นๆ ของตลาดเริ่มเดินเครื่อง และสามารถกลับมาเป็นช่องทางในการระดมทุนให้กับภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง

"ที่ผ่านมา เราพูดกันแต่เรื่องของ IPO แต่เราไม่ได้ดูลึกลงไปว่าบริษัทที่จดทะเบียน อยู่ในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา เขาไม่สามารถเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการออกหุ้นทุน เพื่อ ระดมเงินมาใช้ได้ ซึ่งตรงนี้เราต้องเร่งดำเนินการ เพราะในตลาดหุ้นที่มั่นคงแล้ว การระดม ทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในตลาด จะต้องมีความสำคัญมากกว่าการทำ IPO"

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แผนงานในระยะสั้นกิตติรัตน์จึงได้นำทฤษฎี 4 P ซึ่งเป็นหลักวิชาการทางด้านการตลาดมาใช้ในการบริหารงานตลาดหุ้น

P ตัวแรก-Product หมายถึง การพัฒนาสินค้า ซึ่งก็คือ บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขาพยายามเข้าไปช่วยให้คำแนะนำทางด้านการบริหาร โดยเฉพาะ บริษัทที่เพิ่งผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงสนับสนุนการจัดสัมมนาเกี่ยวกับบรรษัทภิบาล เพื่อให้บริษัทเหล่านี้มีคุณภาพ เพิ่มขึ้น

"เราเป็นตลาด ตลาดทุนก็ไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้า ถ้ามีตลาดแล้วไม่มีคนมาเดินซื้อ มันก็มีปัญหา และสินค้าของเราก็ต้องการให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี มีคนเขากล่าวขวัญถึง และคนเขาก็อยากมาซื้อขายกัน"

P ตัวที่ 2-Price หมายถึง ราคา ซึ่งในข้อนี้ เขาพยายามแยกย่อยออกเป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรก-ราคาหุ้น ที่ซื้อขายกัน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเขามองว่าขณะนี้ ฐานของระดับราคาหุ้นโดยรวมจัดว่าต่ำมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจในการจะนำเงินเข้ามาลงทุน

"เมื่อสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีของเราอยู่ที่ 300 จุด มาร์เก็ต แคปของเราอยู่ที่ระดับ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับภูมิภาค ถือว่า ต่ำกว่าที่ควร มาวันนี้ดัชนีแตะ 390 จุด ขึ้นมาเกือบ 30% มันมีความหมายว่าเงิน 4.8 แสนล้านบาท หรือเกือบ 5 แสนล้าน ที่เพิ่มขึ้นมามันเป็นของใคร ก็เป็นของผู้ลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศ การที่ใครจะไปสร้างความรู้สึก หรือความเป็นกรรมสิทธิ์ของความมั่งคั่งที่เพิ่มมา 4.8 แสน ล้านบาท ไม่มีองค์กรไหนในประเทศนี้ทำได้ เงิน 4.8 แสนล้านบาทนั้นใหญ่กว่าธนาคาร หลายแห่ง และมันเป็นสิทธิ์ของเราที่จะจับต้องได้"

ประเด็นที่ 2-ราคาค่าบริการ เขามองว่าการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารยุคก่อน จะสร้างความ เสียหายให้เกิดขึ้นกับระบบ ดังนั้นสิ่งแรกที่เขาตัดสินใจทำหลังเข้ารับตำแหน่ง คือการจัดการกับระบบค่าคอมมิชชั่น โดยกำหนดให้กลับมาอยู่ในอัตราคงที่ที่ระดับ 0.25%

"ของบางอย่างถูกไปก็ไม่ใช่ว่าจะดี เพราะเมื่อค่าคอมฯ ถูก ก็ไม่จูงใจให้บริษัทหลักทรัพย์ทำการวิจัย และประเด็นค่าคอมฯ ยังเชื่อมโยงไปถึงผลประกอบการของบริษัท โบรกเกอร์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะกลายเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุน"

P ตัวที่ 3-Place หมายถึง การเพิ่มช่องทางการเข้าไปให้บริการ เขามองว่าวิกฤติ ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ล้มหายตายจากลงไปหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 30 บริษัท ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ทั้ง ระบบ ก็เหลืออยู่เพียง 30 กว่าบริษัท ดังนั้นเขาจึงพยายามผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เคยเป็นซับโบรกเกอร์ให้เข้ามาเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมด ให้เป็นสมาชิก เพื่อ ให้เกิดความเท่าเทียมกัน และสามารถกระจายการให้บริการกับผู้ลงทุนได้อย่างทั่วถึง

P ตัวที่ 4-Promotion หมายถึง การโฆษณาประชาสัมพันธ์

ส่วนแผนการในระยะยาว เขาเน้นทำตามแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนที่เคยเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว

มีการมองว่าแผนการทำงานในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ของกิตติรัตน์ข้างต้น เป็นแผนการที่สามารถจับต้องได้ เพราะเป็นแผนที่กลั่นออกมาจากสมองของคนที่ผ่านประสบการณ์อยู่ในธุรกิจหลักทรัพย์โดยตรง ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งระดมทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้มาโดยตลอดกว่า 15 ปี

กิตติรัตน์สามารถมองถึงปัญหาลงไปได้ลึก เพราะได้เคยสัมผัสมาก่อน ในฐานะของคนที่เคยทำธุรกิจซื้อขายหุ้น เป็นการมองที่ลึกลงไปกว่าการมองของคนจากทางการ ที่ต้องการเพียงบทบาทของผู้ควบคุมกฎแต่เพียงอย่างเดียว

การเข้ามาเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ของกิตติรัตน์ ในความรู้สึกของคนในวงการธุรกิจหลักทรัพย์ จึงถือได้ว่าเป็นมิติใหม่

มิติซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตลาดหุ้น ให้ ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับระดับ สากล โดยมีภาคเอกชนเป็น ตัวผลักดัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us