|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลุ่มสยามพิวรรธน์ ซุ่มผุดโครงการศูนย์การค้าสองทำเลทอง ดอดประมูลพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย่าน "สวนลุมไนท์ บาซาร์" พื้นที่ 100 ไร่ และบริเวณ รังสิต-ดอนเมือง พื้นที่ 10 ไร่ มั่นใจโครงการใหม่เกิดได้แน่ หลังปีนี้ทุ่มงบ 580 ล้านบาท เน้นบริหารศูนย์การค้าสามศูนย์ย่านสยามสแควร์เสร็จสมบูรณ์ คนแห่เข้าเพิ่ม 20% ก่อนสิ้นปีกวาดรายได้ 855 ล้านบาท
นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 โครงการ โดยในเบื้องต้นได้วางไว้เป็นพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร หรือในบริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขนาด 100 ไร่ ขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมประมูลพื้นที่ดังกล่าว 6-7 ราย
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในพื้นที่บริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ด้วย โดยคาดว่าผลการประมูลจะประกาศในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะมีพันธมิตรหลัก 3 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเดอะมอลล์, เอ็มบีเค และธนชาติเข้าร่วมทุนในโครงการบริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ อย่างไรก็ตามหากกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ได้รับการประมูลพื้นที่ดังกล่าวจริง บริษัทจะนำมาทำเป็นศูนย์การค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทมีความถนัดและเชี่ยวชาญ
"เราเพิ่งเริ่มศึกษาโครงการบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อปี 2547 เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งนี้หากบริษัทประมูลพื้นที่ดังกล่าวได้จริงก็ยังไม่สามารถประเมิณได้ว่าพื้นที่ขนาด 100 ไร่ จะต้องใช้งบลงทุนเท่าไร"
สำหรับโครงการที่บริษัทสนใจอีกโครงการอยู่ทางทิศเหนือ บริเวณย่านรังสิต-ดอนเมือง ซึ่งขณะกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยการตั้งศูนย์การค้าในย่านดังกล่าวนี้ บริษัทต้องการพื้นที่ขนาด 10 ไร่ขึ้นไป สำหรับโครงการนี้บริษัทจะหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนด้วย
ทั้งนี้ โครงการทั้งสองจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องรอให้ในปีนี้บริษัทบริหารพื้นที่บริเวณย่านสยามสแควร์ จำนวนพื้นที่ทั้งหมด 70 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับปรุงในรูปโฉมใหม่โดยได้ทุ่มงบ 400 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม และงบอีก 100 ล้านบาทปรับปรุงสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งคาดว่าหลังจากการปรับโฉมทั้งสองศูนย์จะส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น 20% อีกทั้งยังต้องรอให้สยามพารากอน ซึ่งกำลังจะเปิดปลายปีนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จากนั้นบริษัทจึงจะพิจารณาลงทุนทั้งสองโครงการ
แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก-ศูนย์การค้ายังมีช่องว่าง อีกมากที่จะเติบโต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งจะเข้ามาเสริมรายได้เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจค้าปลีกได้เป็นอย่างดี โดยมองว่าหากแข่งขันหาลูกค้าในประเทศจะไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากนัก ขณะเดียวกันก็มองว่าการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกปีนี้จะมีความรุนแรงต่อเนื่อง และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และหากผู้ประกอบการมีการบริหารงานที่ดี คาดว่าจะส่งผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น
"หลังจากที่บริษัทเปิดสยามพารากอน คาดว่าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ย 35-40% จากจำนวนลูกค้าหมุนเวียนเข้าศูนย์การค้าเฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อวัน ในขณะที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์มีลูกค้าหมุนเวียนเข้าศูนย์ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งทั้งสองศูนย์มีลูกค้าจากต่างประเทศ 35%"
นางชฎาทิพ กล่าวว่า แผนการทำตลาดสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ปีนี้ได้ทุ่มงบการตลาด 80 ล้านบาท โดยเน้นกลยุทธ์แบรนด์ มาร์เกตติ้ง เพื่อสร้างเสริมแบรนด์ของบรรดาผู้เช่าให้แข็งแกร่งและสามารถครองใจกลุ่มเป้าหมาย และยังได้วางแผนการสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุม ทั้งสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการตลาด รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ล่าสุดจับมือร่วมกับบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ ทุ่มงบ 10 ล้านบาทจัดงาน "ช้อป มาราธอน" โดยได้ร่วมมือกับทางร้านค้า 200 แห่ง หรือกว่า 220 แบรนด์ ลดราคาสินค้าสูงสุด 80% ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพื่อกระตุ้นยอดขาย
สำหรับผลประกอบการปีนี้ บริษัทตั้งเป้าไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ 855 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้มีการขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ อีกทั้งยังต้องใช้งบลงทุนเพื่อปรับปรุงสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ส่วนผลประกอบปี 2547 เมื่อเทียบกับ ปี 2546 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 15% โดยรายได้หลักมาจากค่าเช่าร้านค้าภายในสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานสยามทาวเวอร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าเต็มทั้งหมด 100% ทุกอาคาร นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากค่าเช่า สื่อโฆษณา และค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรมส่วนกลาง ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 35% ในปีที่ผ่านมา
|
|
|
|
|