Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2545
The New Arm บัวหลวง             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

New Blood

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
Fortune Magazine Homepage
www.business.com
Far Eastern Economic Review Homepage
Asiamoney Magazine Homepage
The Asset Magazine Homepage
The Economist Magazine Homepage
Business Week Magazine Homepage
Asia Week Magazine Homepage
Banking Technology Online Homepage
The Asian Banker Homepage

   
search resources

ธนาคารกรุงไทย
บัวหลวง, บง.
หลักทรัพย์ บัวหลวง, บมจ.
ชาติศิริ โสภณพนิช
ชอง โท
ปิยะ ซอโสตถิกุล
ชนิดา โสภณพนิช




ธุรกิจหลักทรัพย์ในเมืองไทย เป็นความหวังของคนไทยรุ่นต่างๆ เสมอ อย่างน้อย 3 รุ่นมาแล้ว ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ในยุคก่อตั้งในราวปี 2520 รุ่นที่ 2 เปิดฉากอย่างคึกคัก ในราวปี 2530 และรุ่นล่าสุด ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ หลังวิกฤติการณ์ปี 2540 ภายใต้สถานการณ์แวดล้อม ธุรกิจพลิกโฉมหน้าไปมาก โดยมี 'ฝรั่ง' เข้ามาครอบงำมากกว่ายุคใดๆ

นี่คือ โมเดลใหม่ล่าสุด ของนักค้าหุ้นคนไทยในตลาดหุ้นไทย

บง. และ บล. บัวหลวง ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่นาน ทั้ง 2 บริษัท บริหารงานโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีภารกิจหลักที่ต้องผลักดัน ทั้ง 2 บริษัท ให้กาวขึ้นมามีบทบาทเป็นเครือข่ายทดแทนสถาบันการเงินเดิม ที่แบงก์กรุงเทพได้สูญเสียไปในอนาคต

การเข้าไปอุ้ม บง.ทักษิณธนากิจ บริษัทเงินทุนท้องถิ่น ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ อยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ของธนาคารกรุงเทพ ในปี 2541 หากอยู่ในช่วง ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ประสบกับปัญหา ภาพโดยทั่วไปก็คงเป็นเรื่องปกติ ที่ธนาคารกรุงเทพซึ่งแข็งแรงกว่าจะเข้าไปช่วยบริษัทในเครือ ที่กำลังประสบปัญหาฐานะทางการเงินอย่างหนัก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี

แต่การตัดสินใจเข้าอุ้ม บง.ทักษิณธนากิจของธนาคารกรุงเทพในเวลานั้น เป็นภาพที่สวนทางกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โครงสร้างของระบบสถาบันการเงิน กำลังถูกเขย่าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากการตัด สินใจของรัฐบาลในการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเวลาก่อนหน้านั้นเพียง 1 ปี

วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสถาบันการเงินในเครือเป็นแขนขาจำนวนมาก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ

ธนาคารกรุงเทพ ถูกสภาพแวดล้อม บีบบังคับให้ต้องตัดแขนขาที่เป็นสถาบันการเงินในเครือเหล่านั้นทิ้งไปหลายแห่ง ทั้งที่เป็นบริษัทเงินทุน และบริษัทหลักทรัพย์

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริม กิจ ซึ่งชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ เคยคิดจะสร้างให้เป็นอาณาจักรของสาวิตรี รมยะรูป ลูกสาวคนโต จำเป็นต้องปล่อยให้ทางการสั่งปิด

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นบริษัทของชาตรี ต้อง เปิดทางให้ SOCGEN สถาบันการเงินจาก ฝรั่งเศสเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย ที่เขาเคยคิดจะสร้างให้เป็นอาณาจักรของชาลี โสภณพนิช ลูกชายคนเล็ก ต้องถูกทอนความเป็นเจ้าของ โดย การขายหุ้นส่วนหนึ่งไปให้ธนาคาร ABN Amro จากเนเธอร์แลนด์

ยังไม่รวมถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร ที่ก่อนหน้านี้เป็นฐานที่มั่นของ เชิดชู โสภณพนิช น้องชายคนเล็ก ต้องเปิดทางให้ China Development Corporation สถาบันการเงินจากไต้หวันเข้ามาร่วมทุน

แต่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ธนาคารกรุงเทพกลับกระโดดเข้าไปอุ้ม บง.ทักษิณธนากิจ บริษัทเงินทุนขนาดเล็กที่หลายคนดูแล้วไม่น่าจะมีบทบาทสำคัญกับธนาคารเท่าใดนัก

แม้แต่แบงก์ชาติเอง ก็คงมองเหมือนคนอื่นเช่นกันว่า การที่ธนาคารกรุงเทพขออนุมัติเข้าไปช่วยเหลือบริษัทเงินทุนแห่งนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบกับฐานะการเงินของธนาคาร จึงได้อนุมัติแผนฟื้นฟู ซึ่งธนาคารกรุงเทพจำเป็นต้องนำเงินเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ บง.ทักษิณธนากิจ

คนใกล้ชิดชาตรี โสภณพนิช บอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลที่ธนาคารกรุงเทพ ต้องตัดสินใจเข้าอุ้มบริษัทเงินทุนแห่งนี้ว่ามี 2 ประการ

ประการแรก เป็นความผูกพัน เพราะ บง.ทักษิณธนากิจเป็นบริษัทที่ชิน โสภณพนิช ร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่นตระกูลลีละศิธร ก่อตั้งขึ้นมากับมือ ดังนั้นชาตรี โสภณพนิช จึงไม่ต้องการให้สมบัติที่พ่อสร้างไว้ ต้องสูญหายไป

ประการที่ 2 ในระดับผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพ โดยเฉพาะชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ มองว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ธนาคารกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น การจะเข้าไปช่วยเหลือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในเครือ เช่น บงล.ร่วมเสริมกิจ บงล.สินเอเซีย บล.เอเซีย หรือบงล.กรุงเทพธนาทร จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหา ศาล เพราะปัญหาของแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับ บง.ทักษิณธนากิจ แล้ว แตกต่างกันมาก เพราะ บง.ทักษิณธนากิจเป็นบริษัทขนาดเล็ก ปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีจำนวนน้อย และยังไม่มีปัญหาทางด้านการจัดการ

"ตอนนั้นแบงก์กรุงเทพมองว่า ขณะ ที่ไฟแนนซ์อื่น ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเข้า ไปแก้ปัญหา ก็ต้องว่ากันไปตามระบบ บางแห่งจำเป็นต้องปิด ก็ให้ปิดไป บางแห่งต้องขายให้คนอื่น แต่แบงก์ก็สามารถสร้างฐานขึ้นมาใหม่ได้ โดยใช้ บง.ทักษิณธนากิจ ที่ใช้เงินไม่มากนัก เป็นการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์"

ชาติศิริเอง ได้กล่าวถึงการเข้าไปอุ้ม บง.ทักษิณธนากิจในช่วงนั้น ว่าเป็นโอกาสให้ธนาคารกลับเข้าไปขยายเครือข่ายได้อย่างครบวงจร

ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับ บง.ทักษิณธนากิจ ธนาคารกรุงเทพได้ใช้วิธีให้บริษัทเงินทุนแห่งนี้ลดทุนลงมา 90% จากที่มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เหลือเพียง 20 ล้านบาท แล้วเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 700 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพเป็น ผู้ใส่เงินเพิ่มทุนใหม่ลงไป ทำให้ธนาคารกรุงเทพกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 97% ที่เหลือเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนี ของคนในตระกูลโสภณพนิช และผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย (รายละเอียดดูจากตารางโครงสร้างผู้ถือหุ้น)

คนในวงการไฟแนนซ์ตั้งข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่าการจัดโครงสร้างการถือหุ้นใน บง.ทักษิณธนากิจของธนาคารกรุงเทพครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ธนาคารกรุงเทพเคยปฏิบัติกันมาในอดีต เพราะแต่เดิมหากธนาคารกรุงเทพจะขยายแขนขาออกไปยังสถาบันการเงินใดๆ จะใช้ชื่อธนาคารถือหุ้นในสัดส่วนไม่มากนัก ไม่เกิน 10% ยกเว้นกรณีของ บงล.นิธิภัทรเพียงแห่งเดียว ส่วนที่เหลือจะเป็นการถือโดยโฮลดิ้ง คัมปะนีของชาตรี และน้องๆ ในตระกูลโสภณพนิช

แต่ในการเข้าไปอุ้ม บง.ทักษิณธนากิจครั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพกลับทำสวนทางกัน โดยธนาคารกรุงเทพกลายเป็นหัวหอกในการถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนถึง 97% ส่วนที่เหลือจึงเป็นโฮลดิ้ง คัมปะนีของคนในตระกูล

"แสดงว่าแบงก์กรุงเทพมีความตั้งใจอย่างยิ่งจะเข้าไปฟื้นฟูบริษัทเงินทุนแห่งนี้"

ช่วงแรกของการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บง.ทักษิณธนากิจของธนาคารกรุงเทพ เหมือนเป็นการเข้าไปกวาดล้างทำความสะอาดบ้านใหม่ โดยธนาคารกรุงเทพส่งธรรมนูญ เลากัยกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งรับผิดชอบดูแลกิจการสาขาของธนาคาร มาโดยตลอด เข้าไปนั่งเป็นประธานกรรมการ

จากงบการเงินปี 2540 ของ บง.ทักษิณธนากิจ ก่อนที่ธนาคารกรุงเทพจะเข้าไป อุ้มบริษัทเงินทุนแห่งนี้มีผลประกอบการขาดทุน 72.82 ล้านบาท

ทีมบริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของธรรมนูญ ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถแก้ไขปัญหาในบริษัทเงินทุนแห่งนี้ลงได้หมด โดยผลประกอบการของ บง.ทักษิณธนากิจเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้งในปี 2543 จำนวน 20.52 ล้านบาท

ปี 2543 เป็นปีที่ธนาคารกรุงเทพได้ส่งผู้บริหารเลือดใหม่เข้าไปรับผิดชอบดูแลบริษัท เงินทุนแห่งนี้

ชอง โท รองผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการของ บง.ทักษิณธนากิจ

ชอง โท เป็นชาวจีนสัญชาติมาเลเซีย เข้ามาร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพในปี 2541 นอกจากพื้นฐานการศึกษา ซึ่งจบปริญญาตรีด้านปรัชญา และเศรษฐศาสตร์จากมหา วิทยาลัยชื่อดังของประเทศอังกฤษอย่าง Oxford และปริญญาโทสาขาการจัดการจาก Massachusettes Institute of Technology (MIT) รวมทั้งมีประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่ในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของโลกอย่าง Morgan Stanley มาแล้ว เขายังมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับตระกูลโสภณพนิช

ชอง โท เป็นสามีของชนิดา โสภณ พนิช ลูกสาวคนโตของชัย โสภณพนิช น้อง ต่างมารดาของชาตรี ที่ถูกชิน โสภณพนิช ผู้พ่อมอบหมายให้ดูแลธุรกิจประกันภัย

หากจะนับช่วง 2 ปีแรก เป็นช่วงที่ธนาคารกรุงเทพเข้าไปปัดกวาดบ้านใน บง.ทักษิณธนากิจแล้ว อาจกล่าวได้ว่าช่วงต่อมา เป็นยุคที่ชอง โท ได้เข้ามามีบทบาท ในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัท เงินทุนแห่งนี้

ต้นปี 2544 บง.ทักษิณธนากิจ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนบัวหลวง พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาอยู่ที่อาคารสาทรซิตี้ ทาวเวอร์ กรุงเทพ

พร้อมกับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของ บริษัทใหม่เป็นรูปดอกบัวสีแดง

การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ครั้งนี้มีความหมาย เพราะตราสัญลักษณ์เดิมของ บง.ทักษิณธนากิจ เป็นรูปลูกศรที่วิ่งขนานกับพื้นไปทางขวา แล้ววกลงล่างก่อนจะวิ่งขึ้นข้างบนในลักษณะของสามเหลี่ยมเปิด

ตราสัญลักษณ์รูปลูกศรวิ่งเป็นสามเหลี่ยมเปิดนี้ เป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้กับสถาบันการเงินที่เคยอยู่ในเครือธนาคารกรุงเทพโดยทั่วไป ในยุคที่ชาตรี โสภณพนิช เป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเครดิตฟอง ซิเอร์เอเซีย, บงล.ร่วมเสริมกิจ, บงล.สิน เอเซีย และบล.เอเชีย รวมถึง บง.ทักษิณธนากิจ

โดยภายในกรอบรูปสามเหลี่ยม จะ มีสัญลักษณ์เฉพาะแยกออกมาต่างหาก เพื่อจำแนกว่าเป็นบริษัทใด เช่น บงล.ร่วมเสริมกิจ ที่ชาตรีซื้อกิจการมาจากคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ภายในกรอบลูกศรสามเหลี่ยม เป็นรูปมือ 2 มือที่จับกันในลักษณะของความร่วมมือซึ่งกันและกัน

หรือ บงล.สินเอเซีย ที่ภายในกรอบลูกศรสามเหลี่ยมเป็นรูปนก และบล.เอเชีย ที่ภายในกรอบลูกศร เป็นตัวอักษร AST ซึ่งเป็นชื่อย่อของบริษัท

หากมองโดยรวมแล้ว ตราสัญลักษณ์รูป ลูกศรที่วิ่งเป็นสามเหลี่ยมเปิดของบริษัทเหล่านี้ ล้วนคล้ายคลึงกัน และคนที่เห็นสามารถรู้ได้ทันทีว่านี่คือสถาบันการเงินในเครือธนาคารกรุงเทพ หรือสถาบันการเงินที่ชาตรีเข้าไปมีบทบาทเป็นเจ้าของ

การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์มาเป็นรูปดอกบัวสีแดง แสดงให้เห็นถึงความต้องการสร้างความแปลกแยกออกมาอย่างสิ้นเชิง ระหว่าง บง.บัวหลวง กับสถาบันการเงินอื่นๆ ข้างต้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพเช่นเดียวกัน

เป็นการแสดงออกถึงความแปลกแยกทั้งในด้านความเป็นอิสระในแนวทางการบริหาร ตลอดจนเจเนอเรชั่นของคน

"แบงก์มีนโยบายที่ให้อิสระกับคณะกรรมการของ บง.บัวหลวง ในการทำธุรกิจของเขาเต็มที่" ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ลูกชายคนโต ของชาตรี บอกกับ "ผู้จัดการ"

ในยุคที่ชอง โท เข้ามาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บง.บัวหลวง นอกจากความพยายามในการขยายธุรกิจในรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อแล้ว เขายังมองถึงการขยายธุรกิจออกไปให้ครบวงจร

เขามองว่าการทำธุรกิจเงินทุนเพียงอย่างเดียว จะกลายเป็นข้อจำกัด เพราะฐานของธุรกิจเงินทุนนั้นเล็กกว่าธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น บง.บัวหลวง ควรต้องขยายธุรกิจให้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มฐานรายได้จากค่าธรรมเนียม และเพื่อความคล่องตัวในการให้บริการกับลูกค้า

แต่การขยายบทบาทเข้าไปทำธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจหลักทรัพย์ของไทยกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำสุดขีด อาจกลายเป็นอุปสรรค เพราะในระดับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย อาจมีบางคนที่ไม่เห็นด้วย

"ผมเข้าไปขอคำปรึกษาหมด ทั้งคุณธรรมนูญ คุณชาตรี คุณชาติศิริ หรือแม้แต่คุณโฆษิต (ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ซึ่งทุกคนก็ได้ให้ความกรุณา แทนที่จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ท่านกลับให้คำแนะนำว่าถ้าคิดจะขยายธุรกิจเข้ามาในจุดนี้ ข้อที่ควรจะต้องระมัดระวัง และข้อที่ควรจะทำคืออะไร" ชอง โท เล่า

ปี 2544 เป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดให้มีการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบลอยตัว หลังจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการตัดราคาค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ จากบริษัทสมาชิกที่เกิดขึ้น อย่างรุนแรงในปีก่อนหน้านั้นได้

การลอยตัวค่าคอมมิชชั่นของตลาด หลักทรัพย์เปรียบเสมือนดาบ 2 คมขนาดใหญ่ ที่เข้ามาฟาดฟันธุรกิจหลักทรัพย์ของไทยอย่างรุนแรง

คมแรก ได้เกิดการแข่งขันกันอย่าง หนักระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ หลายบริษัท คิดค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับลูกค้าในอัตรา 0% ทำให้รายได้ของบริษัทหลักทรัพย์ลดต่ำลงไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อ รายได้ของแต่ละบริษัทลดลง หลายบริษัทได้ใช้วิธีการลดคุณภาพในการให้บริการ เช่น การไม่ให้บริการทางด้านข้อมูล และบทวิเคราะห์ เน้นแต่การใช้กลยุทธ์การตลาด เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาซื้อขายหุ้น เพื่อหวังตัวเลขปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น

คมที่ 2 การลดต่ำลงของรายได้ และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หลายราย ต้องถอดใจ หลายคนชะลอการเข้ามาทำธุรกิจในช่วงนี้ โดยกอดใบอนุญาตไว้เฉยๆ ขณะที่หลายคนตัดสินใจขายใบอนุญาตให้กับผู้อื่น

การที่ผู้ใหญ่ในธนาคารกรุงเทพ ไม่คัดค้านการขยายธุรกิจเข้ามาทำธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้ชอง โท มีความมั่นใจมากขึ้น

เดือนสิงหาคม 2544 ขณะที่คนหลายคนกำลังถอดใจกับการทำธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะเป็นช่วงที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นที่มีเข้ามาในแต่ละวันน้อยมาก เฉลี่ยตกประมาณวันละ 3,000-4,000 ล้านบาท

ชอง โท ได้อาศัยจังหวะนี้ เข้าไปเจรจาซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จาก บล.บีโอเอ ซึ่งมีธนาคารเอเชียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเขาสามารถซื้อมาได้ในราคาที่อาจเรียกได้ว่าต่ำที่สุด

ก่อนเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น บล.บีโอเอมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ภายหลังบง.บัวหลวง เจรจาซื้อใบอนุญาตมาได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ก็ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้น เป็น 160 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพได้ส่งชอง โท, ชนิดา โสภณพนิช, ปิยะ ซอโสตถิกุล และปฏิมา ชวลิต เข้าไปเป็นกรรมการ โดยมีชนิดา และปิยะ เป็นกรรมการ 2 คนผู้มีอำนาจลงนาม

ชนิดาขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นพนักงานคนหนึ่งในธนาคารกรุงเทพ เธอคือภรรยาของชอง โท และเป็นลูกพี่ลูกน้องของชาติศิริ โสภณพนิช

ส่วนปิยะ ขณะนั้นก็ทำงานอยู่ในธนาคารกรุงเทพเช่นกัน โดยอยู่ในสายงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้

เขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ จบปริญญา ตรี และโท จาก MIT รวมทั้งปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Harvard และเพิ่งมีอายุงานในธนาคารกรุงเทพเพียง 4 ปี

"ผมเริ่มงานกับแบงก์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของวิกฤติพอดี" ปิยะบอก

แต่เขามีความโดดเด่นที่แตกต่างจากพนักงานธนาคารคนอื่นๆ เพราะเขาเป็นคนที่รู้ลึกซึ้งถึงปัญหาของสถาบันการเงินในเครือ ที่เคยเป็นแขนขาของธนาคารกรุงเทพเป็นอย่างดี เนื่องจากหน้าที่แรกที่ได้รับมอบหมายในฐานะพนักงานธนาคาร คือเข้าไปรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินเหล่านั้น

"ผมต้องทำทุกอย่างหมด ทั้งทำแผนติดต่อประสานงานกับแบงก์ชาติ การเจรจาติดต่อกลุ่มผู้ลงทุนที่สนใจเข้ามาซื้อ หุ้น จนการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ข้อสรุป"

การเข้ามาเป็นกรรมการใน บล. บีโอเอของปิยะ จึงถือได้ว่าเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายเครือข่ายสถาบัน การเงินของธนาคาร เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอยู่ทั้งในการตัดแขนตัดขาเดิมที่มีปัญหาและการสร้างแขนขาขึ้นมาใหม่

ซึ่งเป็นแขนขาที่อาจเรียกได้ว่ามีความบริสุทธิ์ และหมดจด

3 ตุลาคม 2544 บล.บีโอเอ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บล.บัวหลวง และได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของบริษัทใหม่ เป็นรูปดอกบัวสีแดง เช่นเดียวกับ บง.บัวหลวง พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารสาทรซิตี้ ทาวเวอร์

การเริ่มต้นสร้างบริษัทหลักทรัพย์ขึ้นมาใหม่ ในช่วงที่ธุรกิจหลักทรัพย์กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการสร้างฐานลูกค้า

แต่การก่อกำเนิดขึ้นมาของ บล.บัวหลวงในเวลานั้น ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างที่แวดล้อมอยู่จะเป็นใจ

ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ชอง โท เพิ่งประสบความสำเร็จกับการเจรซื้อใบอนุญาตทำธุรกิจหลักทรัพย์มาจากธนาคารเอเชีย เป็นช่วงเดียวกับที่บริษัทเจ.พี.มอร์แกน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บล.เจ.เอฟ.ธนาคม ซึ่งขณะนั้นถือได้ว่าเป็นโบรกเกอร์ที่แอคทีฟมากแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยจะเลิกทำธุรกิจรายย่อย (Retail) และเน้นการทำธุรกิจกับรายใหญ่ (Wholesale) ทดแทน

ชอง โท เห็นเป็นโอกาสอีกครั้ง เขาจึงไปเจรจากับเจ.พี.มอร์แกน เพื่อขอรับซื้อธุรกิจรายย่อยต่อมาจาก บล.เจ.เอฟ.ธนาคม

การเจรจาได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน โดย บล.บัวหลวงได้รับโอนบัญชีลูกค้ารายย่อยกว่า 7,000 บัญชี พร้อมพนักงานที่ดูแลลูกค้าส่วนนี้กว่า 100 คนจาก บล.เจ. เอฟ.ธนาคม พร้อมย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ชั้น 29-32 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่เดิมของ บล.เจ.เอฟ.ธนาคม

พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนของ บล.บัวหลวง ขึ้นเป็น 250 ล้านบาท

ถือเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจหลักทรัพย์อย่างเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนขึ้น หลังจากเริ่มต้นก่อตั้งมาได้เพียง 4 เดือน

การเริ่มต้นเดินหน้าทำธุรกิจอย่างจริงจังของ บล.บัวหลวง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารระหว่างบง.บัวหลวง และ บล.บัวหลวง มีการสลับตำแหน่งกันระหว่างชอง โท และปิยะ โดย ปิยะได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บง.บัวหลวงแทนที่ชอง โท ซึ่งย้ายมาเป็นกรรมการผู้อำนวยการของ บล.บัวหลวง

"ทั้งปิยะ และชอง โท รับรู้นโยบาย จากผู้ใหญ่มาก่อนหน้านั้นหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ บง.บัวหลวงมีแผนจะขยายเข้า ไปทำธุรกิจหลักทรัพย์ ว่าแต่ละคนจะถูก วางตัวไว้อยู่ที่บริษัทใด" คนในธนาคารกรุงเทพเล่า

มีการแต่งตั้งญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการ บล.เจ. เอฟ.ธนาคม ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง มีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่าง ชอง โท กับญาณศักดิ์ โดย ญาณศักดิ์จะดูแลการซื้อขายหุ้นของลูกค้ารายย่อย และธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมที่รับโอนเข้ามาจาก บล.เจ.เอฟ.ธนาคม ส่วนชอง โท จะดูแลงานด้านวาณิชธนกิจ และงานวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ตั้งเพิ่มขึ้น

เดือนธันวาคม 2544 มีการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างคณะกรรมการของ บล. บัวหลวงใหม่อีกครั้ง โดยปิยะ และปฏิมา ชวลิต ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ มีการแต่งตั้งปิยะพันธ์ ทยานิธิ, อุปถัมภ์ สาย แสงจันทร์ และญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ เข้ามาเป็นกรรมการแทน ซึ่งเมื่อรวมกับชนิดา และชอง โท แล้ว คณะกรรมการของ บล.บัวหลวง ชุดใหม่จะมีทั้งสิ้น 5 คน

โครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการ บล.บัวหลวงชุดนี้ บอกนัยถึงความสำคัญที่คนในตระกูลโสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ มีให้กับบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้

ถ้าไม่นับญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ซึ่งถือเป็นมืออาชีพและผู้บริหารเก่าของเจ.เอฟ. ธนาคมแล้ว

ชนิดา และชอง โท คือลูกสาว และลูกเขยของชัย โสภณพณิช

อุปถัมภ์ สายแสงจันทร์ มีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงเทพประกัน ชีวิต ซึ่งเป็นบริษัทที่เชิดชู โสภณพนิช ดูแลอยู่ในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร

ทั้งชัย และเชิดชู เป็นน้องต่างมารดา 2 คนของชาตรี โสภณพนิช ที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีความชำนาญเรื่องตลาดหุ้นมากที่สุด

ส่วนปิยะพันธ์ ทยานิธิ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ดูแลงานด้านการกำกับและตรวจสอบ และเป็นคนที่ชาติศิริ โสภณพนิช ให้ความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นหากจะกล่าวว่าคณะกรรมการของ บล.บัวหลวงชุดนี้ เปรียบเสมือนตัวแทนที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูลโสภณพนิช และชาติศิริส่งเข้ามา เพื่อให้การสนับสนุนด้านแนวคิด และให้คำปรึกษากับคณะผู้บริหาร โดยมีชอง โท เป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้กระบวน การขับเคลื่อนทางธุรกิจ สามารถเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย ก็ไม่น่าจะเกินเลยไปนัก

ทั้ง บง.บัวหลวง และบล.บัวหลวง ถือเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแขนขาของธนาคารกรุงเทพ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในเวลาไม่นาน หลังจากธนาคารกรุงเทพเพิ่งจะสูญเสียสถาบันการเงินหลายแห่งไป ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติ

ทั้ง 2 บริษัทใช้เวลาในการก่อรูปก่อร่างไม่นานนัก สำหรับ บง.บัวหลวงหากนับจากช่วงที่ชอง โท เริ่มเข้าไปบริหาร ก็ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี ส่วน บล.บัวหลวง เพิ่งตั้งได้ไม่ถึงปี

แต่ปัจจุบัน ถือได้ว่าสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง มีความพร้อมแล้วทั้งทางด้าน บุคลากร เทคโนโลยี ที่จะรุกเดินหน้าทำธุรกิจเต็มรูปแบบ

ณ สิ้นปี 2544 บง.บัวหลวงมีฐานสินเชื่อประมาณ 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2543 ซึ่งมีฐานสินเชื่ออยู่เพียง 500 ล้านบาท ถึงกว่า 100% โดยมีผลประกอบการเป็น กำไรจำนวน 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543

ปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้อำนวยการ ตั้งเป้าไว้ว่าจากนี้ไปฐานสินเชื่อของ บง.บัวหลวง ต้องมีการขยายตัวประมาณ 60-70% ต่อปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) และจะก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัท เงินทุนทั้งระบบภายใน 3 ปี

ส่วน บล.บัวหลวง ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น และค่าธรรมเนียม ในการบริหารกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 4,000 ล้านบาท โดยมีบัญชีลูกค้าซื้อขายหุ้นที่แอคทีฟประมาณ 5,600 บัญชี มีส่วนแบ่งตลาด มูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ 5%

ในปีนี้ บล.บัวหลวงกำลังอยู่ในกระบวนการขอเข้าเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ และมีแผนว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้น โดยการร่วมมือทำธุรกิจกันกับ บง.บัวหลวง

ทางด้านบุคลากร ชอง โทได้จัดวางคนที่รับผิดชอบงานด้านต่างๆ ไว้ครบถ้วน โดยญาณศักดิ์จะดูแลการซื้อขายหุ้นของลูกค้า และการบริหารกองทุนส่วนบุคคล มีเผดิมภพ สงเคราะห์ เป็นกำลังหลัก และเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา บง.บัวหลวง ก็เพิ่งแต่งตั้งให้สุเมธ จันทราสุริยารัตน์ ที่เพิ่งย้ายมาจาก บล.เมอร์ ริล ลินช์ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคนใหม่

ส่วนงานด้านวาณิชธนกิจ ที่จะเป็นฐานรายได้สำคัญในอนาคต มีภูมิใจ ขำภโต เป็นผู้รับผิดชอบ

ชอง โท ตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ว่า บล.บัวหลวงต้องมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับใกล้เคียงกันทุกๆ ด้าน โดยทุกธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต จะต้องก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 ได้ภายใน 3 ปี

แม้ในวันนี้ ความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินใหม่ในเครือธนาคารกรุงเทพ ทั้ง 2 แห่ง อาจยังดูไม่มีสีสันเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นการเดินหน้ารุกทางธุรกิจ

"ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต่างคนต่างโตกันไปก่อน" ปิยะเปรียบเทียบ

แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่า ในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้ง 2 คนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 5 เมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นมา บริษัทการเงินซึ่งมีผู้บริหารเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ทั้ง 2 แห่งนี้ จะต้องมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเพียงใด

หากดูจากแบ็กกราวน์ของผู้บริหารของสถาบันการเงินใหม่ทั้ง 2 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นชอง โท ชนิดา โสภณพนิช และปิยะ ซอโสตถิกุล ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง (โปรดอ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ New Blood)

แนวทางการทำธุรกิจของคนเหล่านี้ จึงไม่น่าจะเดินตามรอยของอดีตผู้บริหารสถาบันการเงินหลายแห่ง ที่ต้องถูกทางการสั่งให้ปิดกิจการไปเมื่อหลาย ปีก่อน

สิ่งที่น่าจับตาดูอีกประการหนึ่ง คือตามเงื่อนไขการเข้ามาฟื้นฟูกิจการ บง.ทักษิณธนากิจ ในปี 2541 ก่อนที่เปลี่ยนมาเป็น บง.บัวหลวง ทางการอนุญาตให้ธนาคารกรุงเทพเข้าถือหุ้นใหญ่ถึง 97% ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ดังนั้นภายใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ สัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนแห่งนี้ต้องลดลง

ใครจะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุนแห่งนี้ แทนที่ธนาคารกรุงเทพ?

เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us