"ออมสิน" เตรียมหาช่องทางลงทุนใหม่ ชี้เศรษฐกิจดี รัฐไม่จำเป็นต้องต่ออายุพันธบัตร เล็งลงทุนบอนด์เอกชนและเอเชียบอนด์แทน ขณะที่ตั้งเป้าลงทุนทีพีไอ 4 พันล้าน พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ 1.05 แสนล้านบาท เน้นสินเชื่อรายย่อย พัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าสนองนโยบายรัฐ เชื่อเอ็นพีแอลรวมไม่เกิน 4%
นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในปี 2548 ว่า ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนประมาณ 60% ของสินทรัพย์ทั้งหมดนำไปลงทุนที่มีความมั่นคง อาทิ ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล แต่ในอนาคตธนาคารต้องปรับเปลี่ยนช่องทางการลงทุนใหม่ เนื่องจากรัฐบาลมีแนวโน้มออกพันธบัตรน้อยลง และพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนอยู่ใกล้ครบกำหนดแล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนการลงทุนอยู่ คาดว่าจะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรของเอกชนแทน รวมทั้งธนาคารออมสินยังสนใจจะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเอเชีย (เอเชียบอนด์) ด้วย เพราะต่อไปตลาดบอนด์ของเอเชียจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับแผนที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอนั้นจะต้องเข้าไปดูเงื่อนไขการเจรจาทั้งหมดก่อน โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดูแลอยู่ ทั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะลงทุนใน ทีพีไอประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่จะต้องขึ้นอยู่กับสัดส่วนที่กระทรวงการคลังและปตท.จะจัดสรรให้ ส่วนในเรื่องของราคาหุ้นนั้นยังไม่ได้พิจารณา
ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2548 นั้น ธนาคารมีเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อประมาณ 105,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรายย่อย 95,000 ล้านบาท ด้านเงินฝากคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของรายได้รวมทั้งหมด ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะไม่เกิน 4%
นายกรพจน์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและรากหญ้า และต่อยอดเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจะดำเนินการตามโครงการธนาคารกองทุนหมู่บ้านที่ในปีนี้ได้ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 1,000 แห่ง โดยคาดว่าใน 1-2 เดือนจะขยายได้ประมาณ 10 แห่ง นอกจากนี้จะเข้าไปดูในเรื่องของการศึกษาระบบ ICL ที่ให้นักศึกษากู้ยืมเงินเรียนได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ทั้งยังจะดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอีกด้วย
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าในช่วงนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารที่มีอยู่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการดำเนินงานโดยรวมแล้ว ซึ่งในเรื่องของการบริหารสภาพคล่องนั้นก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพอยู่
ด้านผลการดำเนินงานในปี 2547 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 นั้น นายกรพจน์ กล่าวว่า ออมสิน มีกำไรจากการดำเนินการทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท ซึ่งในด้านเงินฝากนั้นมีจำนวน 580,707 ล้านบาทโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 8.50% ซึ่งถือว่าเป็นอันดับ 5 ในระบบธนาคารพาณิชย์ ส่วนด้านสินเชื่อมียอดคงเหลือจำนวน 305,448 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 5% ซึ่งถือเป็นอันดับ 10 ในระบบธนาคารพาณิชย์
สำหรับเอ็นพีแอลนั้น ในส่วนของรายย่อยทั้งหมดมีประมาณ 4-5% ซึ่งหากรวมสินเชื่อตามนโยบายของรัฐด้วยจะทำให้มีเอ็นพีแอลประมาณ 6-7% แต่ภาพรวมแล้วมีอยู่เพียง 2-3% เท่านั้น
|