|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปีนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทย ในที่สุดบริษัทเงินทุน (บง.) เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ "ชัยวัฒน์" ผู้คลุกอยู่ไฟแนนซ์แห่งนี้มาตลอดให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" วางเป้าหมายที่จะปลุกปั้นเอไอจีไฟแนนซ์ให้เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย หรือรีเทลแบงกิ้งอันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 3 ปี 2548
สำหรับบง.เอไอจีไฟแนนซ์ เดิมชื่อ บง.บางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด หรือ "บิ๊ก" เป็น 1 ใน 58 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปรากฏในจำนวนนี้ มี 2 บริษัท ที่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ คือ บง.เกียรตินาคิน และบง.เอไอจีไฟแนนซ์
บง.เอไอจี ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเอไอจี ได้พลิกฟื้นฐานะจากที่ขาดทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ได้กลับมามีกำไรปีแรกในปี 2001 และในปี 2004 มีกำไร 300 กว่าล้านบาท กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ได้รับอนุมัติให้ยกระดับบง.ขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ตามแผนแม่บทสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุน เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะเปิดให้บริการด้านธนาคารพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาส 3/2548 ซึ่งจะเป็นธนาคารที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากกว่าเพราะยังมีโอกาสในการเติบโตที่ดี โดยแต่ละธนาคารจะต้องหาตลาดที่ตนเองถนัดในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยอันดับ 1 และต้องการที่จะติดอันดับ 5 ของสถาบันการเงิน โดยบริษัทจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพในเรื่องของระบบการบริหารงานก่อน และจะมุ่งเน้นในธุรกิจที่บริษัทมีความชำนาญมากกว่า การเน้นเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพราะถ้าบริษัทมีความพร้อมในเรื่องของระบบต่างๆ แล้วก็จะสามารถที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมีคุณภาพ และมีความหลากหลาย
"จากจำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติเป็นรีเทลแบงกิ้ง 4 แห่ง บริษัทถือว่าเป็นบริษัทแรกที่ได้รับอนุมัติเป็นรีเทลแบงก์ นอกจากนี้ก็จะมี บง.ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไทยเคหะ และจีอี ซึ่งในการที่บริษัทเงินทุนแปลงสภาพเป็นแบงก์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องเพราะพนักงานยังไม่มีความรู้ในการปฏิบัติงานของแบงก์ ดังนั้นในช่วงแรกบริษัทจะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการระบบและการวางโครงการที่จะเป็นแบงก์ มากกว่าการออกสินค้า และการขยายสาขา ซึ่งเมื่อบริษัทมีความพร้อมในเรื่องระบบแล้วก็จะสามารถที่จะออกสินค้าต่างๆได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ" นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติให้บริษัทเงินทุนแปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการพิจารณาทั้งด้านปริมาณและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน เช่น ต้องมีเงินกองทุนต่อความเสี่ยงตาม ที่กำหนด มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์ เป็นต้น
ตลอดจนโครงสร้างการจัดการด้านกรรมการและผู้บริหารบริษัท รวมถึงจะเน้นในเรื่องแผนในการดำเนินธุรกิจว่ามีความเหมาะสมในการที่จะทำธุรกิจในการเป็นสถาบันทางการเงิน ระบบบริหารความเสี่ยง
เรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ และแผนงานฉุกเฉิน เช่น การเปิดบริการเป็นธนาคารพาณิชย์วันแรกมีประชาชนมาฝากเงินแล้วเกิดปัญหา ว่าบริษัทมีระบบสำรองในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือไม่
บริษัทเงินทุนที่แปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์ นั้น ธปท.เปิดโอกาสให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นการออกตราสารอนุพันธ์ และค้าเงินตราต่างประเทศ
การที่บริษัทเงินทุนจะสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ จะต้องมีการให้ส่วนต่างกับลูกค้ามากกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่แผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การบริหารการเงิน บริหารสินเชื่อ และการปฏิบัติงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2548 บริษัทตั้งเป้ายอดสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2547 แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 70% สินเชื่อส่วนบุคคล 30% ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตน้อยกว่าปี 2547 ที่เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2546 เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ โดยปี 2547 บริษัทมีกำไร 300 ล้านบาท
"ปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นแบงก์ซึ่งสินเชื่อโต 30% ก็พอใจถึงแม้ในปี 2547 บริษัทจะมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 40%ก็ตามแบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เก่าและใหม่ 80% สินเชื่อส่วนบุคคล 20% เราจะเน้นสินเชื่อบุคคล ซึ่งในส่วนของบัตรเครดิต ก็มีบริษัทในกลุ่มเอไอจีที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เราเชื่อว่าเรื่องการวางระบบเป็นแบงก์รายย่อยเราน่าจะพร้อม เราเป็นบง.ที่เป็นแบงก์ที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์"
ปัจจุบันบริษัทฯมีสินทรัพย์กว่า 20,000 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 300 คน และมีสาขาจำนวน 10 สาขาทั่วประเทศ
|
|
 |
|
|