MFC เรียกประชุมคณะกรรมการ "กองทุนสึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์" 9 ราย กำหนดหลักเกณฑ์เข้าไปลงทุน เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้น 1,400 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นเข้าลงทุนกิจการที่สินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาท ลดความซ้ำซ้อนการช่วยเหลือของสสว. คาด 3 ก.พ. ได้ข้อสรุปเกณฑ์ช่วยเหลือ
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของกองทุนรวมสึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย ตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ตัวแทนจากธนาคารออมสิน 2 ราย ตัวแทนตลาดหลักทรัพย์ 1 ราย จาก บลจ. เอ็มเอฟซี 1 ราย และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย
โดยคณะกรรมการการลงทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทที่กองทุนจะเข้าไปลงทุน กระบวนการรับเงินและการใช้เงิน รวมทั้งการอนุมัติกรอบกิจการที่ได้มีการคัดเลือกลงทุน ทั้งนี้กองทุนรวมสึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์ จะมีเงินเริ่มต้นที่ 1,400 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากสมาคมธนาคารไทยธนาคาร 700 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 500 ล้านบาทและตลาดหลักทรัพย์ 200 ล้านบาท
เมื่อกองทุนได้มีการลงทุนหมดวงเงินแล้ว ก็จะสามารถเพิ่มวงเงินได้ตามสถานการณ์การลงทุน ซึ่งเงินดังกล่าวจะเข้ากองทุนในวันที่ 14 ก.พ.นี้ และหากมีการใช้เงินกองทุนหมดแล้วก็สามารถที่จะเพิ่มวงเงินได้อีก ซึ่งต้องแล้วแต่สถานการณ์การลงทุน
โดยในเบื้องต้นกองทุนจะเข้าไปลงทุนในกิจการที่มีขนาดมากกว่า 200 ล้านบาท ของสินทรัพย์กิจการก่อนประสบภัย ส่วนกิจการที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 200 ล้านบาท กองทุนของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะให้ความช่วยเหลือแทนเพื่อลดความซ้ำซ้อนในลงทุนช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นคณะกรรมการได้มีกำหนดการลงทุนในแต่ละรายประมาณ 25% ของเงินกองทุนหรือประมาณ 350 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง
"คณะกรรมการในการพิจารณาช่วยเหลือจากภัยคลื่นสึนามิจะแยกออกเป็น 2 ชุด ซึ่งในส่วนกองทุนรวมสึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์ จะช่วยเหลือบริษัทที่มีสินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาท ขึ้นไปซึ่งบริษัทที่มีสินทรัพย์ของกิจการที่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทกองทุนของสำนักงานวิสาหกิจขนาด กลางและขนาดย่อม (สสว.) จะให้ความช่วยเหลือแทนเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ" นายพิชิตกล่าว
สำหรับกองทุนดังกล่าวมีอายุ 10 ปี ซึ่งใน 5 ปีแรก ผู้นำเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าวจะไม่สามารถไถ่ถอนเงินคืนได้ เพราะเป็นกองทุนปิด ซึ่งหากเจ้าของกิจการต้องการที่จะนำกิจการมาลงทุนเอง เพราะธุรกิจมีการฟื้นตัวแล้วก็สามารถ ที่จะซื้อหุ้นคืนได้ในปีที่ 3 แต่จะได้รับเงินในลักษณะที่เป็นเงินปันผล
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองว่าควรที่จะเข้าลงทุน และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว แต่ทางคณะกรรมการมองว่าควรที่จะให้ความช่วยเหลือกระจายเข้าไปในธุรกิจต่าง ๆ ด้วย เช่น ประมง และจะให้ความช่วยเหลือในบริษัทที่ได้รับความสูญเสียจำนวนมากก่อน ในจังหวัดที่ประสบภัยโดยตรงใน 6 จังหวัดภาคใต้ก่อน
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการจะมีการประชุมใน วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 ที่จะสรุปรายละเอียดในการเข้าลงทุน เช่น วงเงินในการเข้าลงทุนแต่ละบริษัท จำนวนเท่าไร ในธุรกิจประเภทใด ซึ่งธนาคารจะมีการนำข้อมูลลูกค้าที่ได้รับความเสียหายเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาการลงทุนด้วย ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการรวมลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ประมาณ 1,000 ราย ซึ่งคาดว่าในเบื้องต้นจะลงทุนได้ประมาณ 30 ราย
|