สึนามิถล่มประเทศในแถบเอเชียครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไม่เพียงแต่ประเทศผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลให้ดุลอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปนับจากวันนี้
แม้ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความชิ้นนี้ ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิจะยังไม่ประกาศออกมาอย่างชัดเจน แต่คาดการณ์กันว่าจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 160,000 คน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า อาจถึง 300,000 คน เนื่องจากโรคอหิวาต์หลังเหตุการณ์
จำนวนเงินช่วยเหลือทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศที่ประสบภัยอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในการประชุมสุดยอดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซียเพื่อแก้ปัญหาด่วนนี้ องค์การสหประชาชาติได้มอบเงินสดช่วยเหลือทันทีเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (หรือคิดเป็นหนึ่งพันสามร้อยล้านเหรียญออสเตรเลีย)
ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นความเคลื่อนไหวหนึ่งในเหตุการณ์นี้ คือ บทบาทของรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด
จอห์น โฮเวิร์ด ประกาศในการประชุม สุดยอดนี้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะช่วยเหลือเป็นเงินหนึ่งพันล้านเหรียญออสเตรเลียแก่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศประสบภัย โดยเงินช่วยเหลือนี้จะจัดการร่วมกันโดยรัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลออสเตรเลีย
เงินหนึ่งพันล้านเหรียญประกอบด้วย 500 ล้านเหรียญ เป็นเงินให้เปล่าในช่วงห้าปีและอีก 500 ล้านเหรียญ เป็นเงินกู้ปราศจากดอกเบี้ย
เงินบริจาคหนึ่งพันล้านเหรียญออสเตรเลียนี้ ถือเป็นเงินบริจาคในนามรัฐบาลที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเงินบริจาคของรัฐบาลประเทศอื่นๆ ทั่วโลก (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)
มีเหตุผลสำคัญอยู่สองประการที่พอจะอธิบายการเคลื่อนไหวของรัฐบาลออสเตรเลีย ดังนี้
หนึ่ง คือ ความต้องการเป็นผู้นำเอเชียของออสเตรเลีย
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลออสเตรเลีย ในช่วงเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทของนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด ช่วยผลักดันให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแง่ความสัมพันธ์เกี่ยวดองกับประเทศแถบเอเชีย
ท่ามกลางการโห่ร้องสรรเสริญของเหล่าผู้นำในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ไม่มีใครคาดคิดว่า จะได้เห็นการเคลื่อนไหวและนโยบายต่อเอเชียของนายจอห์น โฮเวิร์ด เมื่อครั้งที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 1996 โดยเฉพาะการรับมรดกแนวคิดที่ต่อต้านการอพยพเข้าเมืองของชาวเอเชียในช่วงทศวรรษ 1980
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราติดตามบทบาทของรัฐบาลจอห์น โฮเวิร์ดในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะเห็นแนวทางนโยบายต่อเอเชียที่เปลี่ยนไปที่สำคัญ ได้แก่
- รัฐบาลออสเตรเลียทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับประเทศสิงคโปร์และไทย
- ปรับเปลี่ยนบทบาทในเรื่องที่เกี่ยว ข้องกับประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยทุ่มการช่วยเหลือภาครัฐบาลไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์และการรักษาความปลอดภัยทางการทหาร
- การตกลงในเบื้องต้นกับประเทศมาเลเซีย ภายใต้รัฐบาลใหม่หลังการลงจากอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดในเดือนตุลาคม 2003 ซึ่งมีนโยบายต่อต้านออสเตรเลีย โดยจะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างกัน
- การเป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกนับจากอดีตนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เฟรเซอร์ ที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงที่จะเริ่มต้นเจรจาเพื่อทำเอฟทีเอกับประเทศอาเซียนทั้งสิบในอนาคตอันใกล้
- นำประเทศออสเตรเลียไปสู่การเจรจาเพื่อทำเอฟทีเอกับประเทศจีน
เหตุการณ์สึนามิครั้งนี้เป็นมหันตภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศ 11 ประเทศ รวมถึงผู้คนจาก 51 ประเทศ ไม่ว่ารวยหรือจน ล้วนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
แต่สำหรับหลายๆ ประเทศแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสทองที่จะขยายอิทธิพลในพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถูกผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิมากที่สุด
การทุ่มเงินช่วยเหลือถึงหนึ่งพันล้านเหรียญของออสเตรเลีย จึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะการช่วยเหลือนี้เกี่ยวพันกับการแสดงบารมีในวงการการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะบทบาทต่อประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นการแก่งแย่งของยักษ์ใหญ่หลายๆ ราย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน และอินเดีย
เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ส่งเงินและทหารไปสู่อินโดนีเซีย โดยเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะลบล้างภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนักในหมู่ประเทศมุสลิมในช่วงที่ผ่านมา
จีนและญี่ปุ่น ก็เป็นอีกสองประเทศที่ต้องการจะมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยจีนและญี่ปุ่นต่างแข่งขันกันเพื่อเป็นผู้นำในการจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย
ญี่ปุ่นทุ่มเงินประมาณ 650 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงการปลดหนี้สำหรับประเทศประสบภัย ส่วนจีนเสนอเงินช่วยเหลือประมาณ 100 ล้านเหรียญ แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ติดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้บริจาครายใหญ่ และแสดงถึงความต้องการจะมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศแถบนี้ แต่บทบาทของจีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ไม่สามารถแสดงตัวเป็นผู้นำเอเชียได้อย่างสมศักดิ์ศรี และทำให้นักวิเคราะห์หลายๆ รายต่างชี้ว่า สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น จะยังเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศเอเชียต่อไป และจีนจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
ในขณะที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ประสบภัยอย่างหนักประเทศหนึ่งก็ปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยนักวิเคราะห์เห็นว่า นี่อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตัวเองได้
อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรประมาณการว่า จะต้องใช้เงินมากถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยทั้งหมด
เหตุผลประการที่สอง คือ ความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย กับอินโดนีเซียที่ค่อนข้างหมางเมินในช่วงที่ผ่านมา
เหตุการณ์สึนามิครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลอินโดนีเซียใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจระหว่างสองรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารออสเตรเลียไปปกป้องติมอร์ตะวันออกจากการโจมตีของรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อปี 1999, การวางระเบิดที่เกาะบาหลี และเหตุการณ์ระเบิดที่หน้าสถานทูตออสเตรเลียในกรุงจาการ์ตา เมื่อปีที่ผ่านมา
การทุ่มเงินช่วยเหลือครั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า จะนำไปสู่การร่วมมือกันที่แนบแน่นขึ้นระหว่างสองรัฐบาลในการต่อต้านการก่อการร้าย ในขณะที่การค้าและการลงทุนของประเทศออสเตรเลียในอินโดนีเซียก็จะสามารถเติบโตยั่งยืนต่อไปได้ ภายใต้ข้อสัญญาที่จะให้สิทธิประโยชน์มากมายและมากขึ้นแก่นักลงทุนชาวออสเตรเลีย
ที่เห็นชัดๆ ตอนนี้ก็คือการเคลื่อนไหวของบริษัทสัญชาติออสเตรเลียหลายรายที่ต้องการมีผลประโยชน์ในโครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ในจังหวัดอาเจะห์ ในระยะห้าปีต่อจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า นโยบายต่อเอเชียของรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นการฉกฉวยโอกาสจากเหตุการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยนับเนื่องหลังเหตุการณ์การก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน รัฐบาลจอห์น โฮเวิร์ด ก็ทุ่มทรัพยากรและเงินทองมากมายเพื่อพัฒนาระบบต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกันกับประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงบทบาทความเป็นผู้นำในเหตุการณ์วางระเบิดที่เกาะบาหลีและเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่ม
สำหรับภาคประชาชนของออสเตรเลีย ก็มีการบริจาคอย่างล้นหลามเช่นกัน โดยสภาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า ชาวออสเตรเลียบริจาคเงินมากถึง 12 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อวัน และทำให้ชาวออสเตรเลียติดอันดับแรกๆ ของ โลกของจำนวนเงินบริจาคต่อหัวประชากร
โดยรายงาน ณ วันที่เขียนบทความชิ้นนี้พบว่า กาชาดออสเตรเลีย (Red Cross) ได้รับเงินบริจาค 62 ล้านเหรียญ, เวิลด์ วิชั่น (World Vision) 50.8 ล้านเหรียญ, แคร์ ออสเตรเลีย (Care Australia) 18 ล้านเหรียญ และอ็อกแฟม (Oxfam-Community Aid Abroad) 14 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการบริจาคค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 มกราคม 2005) โทรทัศน์ฟรีทีวีของออสเตรเลียสามช่องร่วมกับเวิลด์ วิชั่น จัดคอนเสิร์ต Australia United-Reach Out to Asia โดยประชาชนออสเตรเลียกว่า 8.6 ล้านคนร่วมชมรายการ และได้รับเงินบริจาคกว่า 15 ล้านเหรียญ โดยรายการนี้ได้แพร่ภาพผ่านสถานี ABC ไปยัง 52 ประเทศและอาณานิคมต่างๆ ด้วย
เช่นเดียวกับที่ผมกำลังนั่งชมคริกเก็ต การกุศลเพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระหว่างทีม ASIA กับทีม The rest of the world โดยถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ช่อง 9 ของออสเตรเลีย ซึ่งบัตรชมการแข่งขันกว่า 20,000 ใบ ขายหมดภายในเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น
ไม่ว่าการบริจาคเงินในส่วนภาครัฐจะแฝงด้วยเป้าหมายอะไรก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า การบริจาคของประชาชนทั่วโลก ทำด้วยใจบริสุทธิ์จริงๆ
อ่ า น เ พิ่ ม เ ติ ม
1. PM plays Asia card to full advantage, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian Financial Review ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 3
2. Tsunami death toll rises as disease fears mount, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian Financial Review ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 3
3. Tsunami : the power plays begin, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian Financial Review ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 16
4. Europe v US : that old tense feeling returns, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian Financial Review ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 17
5. China misses its cue in public relations contest, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian Financial Review ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 18
6. $12m a day in pledges, but falling, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2005
7. Rescue first, then the queue for contracts, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2005 หน้า 7
8. Australia has vital relief role to play, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2004-3 มกราคม 2005 หน้า 3
9. I gave at the office, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian ฉบับวันที่ 8-9 มกราคม 2005 หน้า 27
|