|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2548
|
|
MAI เปิดดำเนินการมาแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีผู้ลงทุนมากนัก ปีนี้ MAI เตรียมใช้กลยุทธ์การตลาดดึงคนรุ่นใหม่เข้าเป็นนักลงทุนผ่านทางสื่อและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งจับมือโบรกเกอร์ออกบทวิเคราะห์สนับสนุน
ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์ MAI (Market for Alternative Investment : MAI) จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีอายุเกินกว่าครึ่งทศวรรษ ผ่านมือ ผู้จัดการมาแล้วหลายคน แต่สถานะและบทบาทของตลาด MAI ก็เรียกได้ว่ายังห่างไกลความสำเร็จ ไม่ว่าจะดูจากจำนวน บริษัทที่เข้าจดทะเบียน มูลค่าการซื้อขาย หรือความสนใจของนักลงทุน ยิ่งเมื่อคิดถึง ความคาดหวังจะให้เป็นเหมือนตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง (High Growth) ทั้งหลายก็ดูเหมือนว่า เป้าหมายนั้นจะดูยังห่างไกล
แต่วิเชฐ ตันติวานิช ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI คนล่าสุดที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยืนยันว่า นับจากปีนี้เป็นต้นไปบทบาทและการดำเนินงานของตลาด MAI จะเปลี่ยนไป
การเปลี่ยนไปของตลาด MAI จะเริ่มตั้งแต่การทำงานที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในด้านการหาบริษัทเข้าจดทะเบียนและ ด้านผู้ลงทุน ต่างจากหลายปีที่ผ่านมาที่จะ เน้นหนักอยู่กับการหาบริษัทเข้าจดทะเบียน เป็นหลัก ตลาด MAI ตั้งนโยบายหลักในเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่มด้วยกัน คือผู้ลงทุน สถาบัน ซึ่งก็คือกองทุนในประเทศ ที่ขณะนี้ได้มีการเจรจากับผู้บริหารกองทุนรวม 2-3 แห่งไปบ้างแล้วและคาดว่าเร็วๆ นี้ จะมีการตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap. Fund) มูลค่ากองทุนละ ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในหุ้น ขนาดเล็กทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยและตลาด MAI โดยตั้งความหวังไว้ว่า หากวันหนึ่งที่ตลาด MAI มีหุ้นจดทะเบียนในจำนวนมากพอก็อาจจะเกิดกองทุนที่ลงทุนในหุ้นในตลาด MAI โดยเฉพาะขึ้นก็ได้
กองทุนรวมที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นช่องทางในการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมากนักหรือไม่มีเวลาในการติดตามการลงทุนของตนเอง
ส่วนผู้ลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตลาด MAI ตั้งความหวังเอาไว้ไม่น้อย ได้แก่ นักลงทุนที่มีความรู้ในการวิเคราะห์การลงทุนและต้องการจะลงทุนในธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง อีกทั้งยังเข้าใจถึงความเสี่ยงของ การลงทุนในธุรกิจเหล่านี้
"คนกลุ่มนี้ก็คือ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน คนหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหรือทำงานยังไม่ถึง 10 ปี มีความรู้ เพราะเด็ก สมัยนี้ก็จบปริญญาโทกันเป็นส่วนใหญ่มีเงินลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นของเขาเองหรือของพ่อแม่ให้มา หรือบางคนอาจจะเป็นเจ้าของกิจการที่พ่อแม่ให้มาเป็นมรดก ถ้าเป็นคนกลุ่มหลังนี้เราหวังทั้งให้เขาเอาบริษัทมาเข้าตลาด MAI ด้วยและเป็นผู้ลงทุนด้วย เพราะคาแรกเตอร์ของหุ้นแบบนี้เขาเข้าใจ" วิเชฐกล่าว
เมื่อมุ่งหวังให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้ลงทุน ตลาด MAI จึงต้องทำการตลาดเจาะไปหาคนกลุ่มนี้ โดยเจาะไปในไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น เคเบิลทีวีและศูนย์การค้า
"เราจับกลุ่มคนดูยูบีซี ชอปปิ้งที่สยาม ดิสคัฟเวอรี่ เอ็มโพเรียม คนกลุ่มนี้ consume media อะไรเราก็จะเข้าตรงนั้น เราต้องพยายามหาทางไปออกที่ยูบีซี ถ้าจะจัดกิจกรรมก็ต้องไปสยามหรือเอ็มโพเรียม ที่ที่เขาอยู่กัน"
นอกจากการทำตลาดเจาะกลุ่มผู้ลงทุนแล้ว วิเชฐยังมองเห็นความสำคัญของโบรกเกอร์ที่จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลและบทวิเคราะห์ให้กับผู้ลงทุน โดยในปัจจุบันมีโบรกเกอร์น้อยรายที่ทำบทวิเคราะห์หุ้นในตลาด MAI ซึ่งก็เป็นผลมาจากนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาด MAI ยังมีน้อย แต่เขาวางนโยบายที่จะเพิ่มจำนวน โบรกเกอร์ที่ทำบทวิเคราะห์หุ้นในตลาด MAI ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 5-7 ราย เพื่อให้มีบทวิเคราะห์หุ้น MAI ออกมาอย่างสม่ำเสมอและในหุ้นหนึ่งบริษัทก็มีบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หลายรายเพื่อให้ข้อมูลมีการเปรียบเทียบกันได้ ทั้งนี้ตลาด MAI จะมีงบประมาณช่วยเหลือ โบรกเกอร์เหล่านี้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งการ นำไปออกสื่อและกิจกรรมต่างๆ ที่ตลาด MAI จะจัดขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้โบรกเกอร์เข้าร่วมกับตลาด MAI
ไม่เพียงแต่การหาผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในด้านของซัปพลายหรือบริษัทจดทะเบียนก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดยในปีนี้ตลาด MAI คาดว่าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนอีก 40 บริษัท และคาดว่าภายในปี 2552 จะมีบริษัทจดทะเบียนครบ 500 แห่ง คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 250,000 ล้านบาท ตัวเลข นี้นับว่ามากทีเดียวเมื่อพิจารณาถึงยอดบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2547 ที่ผ่านมา มีจำนวน 23 บริษัท และในปีที่ผ่านมามีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI 14 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานมา
อย่างไรก็ตาม วิเชฐมั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่น่าจะเป็นเรื่องยากจนเกินไป เนื่องจากขณะนี้ตลาด MAI มีทีมงานของตนเอง จากเดิมที่ใช้ทีมงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจาก นี้บริษัทขนาดกลางและเล็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็มีความพร้อมที่จะเข้าระดมทุนมากขึ้นแล้ว และนอกจากการใช้ทีมงานของตลาด MAI ออกไปชักชวนบริษัทที่เป็นเป้าหมายแล้ว ยังจะมีการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. กองทุนร่วมทุนทั้งที่เป็นของเอกชนและของรัฐบาลที่บลจ.วรรณ เป็นผู้บริหาร รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ที่มีลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง แต่ยังมีทุนต่ำ
การใช้เครือข่ายเหล่านี้นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดระยะเวลาในการเข้าจดทะเบียนของบริษัทเหล่านี้ได้อีกด้วย เนื่องจากหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายเหล่านี้ต้องมีการคัดคุณภาพก่อนปล่อยสินเชื่อหรือเข้าร่วมลงทุนอยู่แล้ว รวมทั้งต้องดูแลให้มีระบบต่างๆ ที่เป็นมาตรฐาน ทั้งระบบ บัญชี ระบบการตรวจสอบและกรรมการบริษัท ทำให้กระบวนการในการเข้าจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการออกไปพบกับเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ตลาด MAI พบว่า อุปสรรคหนึ่งที่เอสเอ็มอีพบอยู่ เสมอก็คือ การหาที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้สอบบัญชีที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานได้ยาก เนื่องจากเอสเอ็มอีเหล่านี้มีขนาดเล็ก ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้สอบบัญชีขนาดใหญ่มักไม่ให้ความสนใจ หรือหากจะรับงานก็คิดค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกับลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ตลาด MAI กำลังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาที่ปรึกษาทางการเงินและผู้สอบบัญชีที่มีความสามารถและพร้อมจะรับงานในบริษัท ขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ลดต่ำลงได้
เรื่องภาพลักษณ์ก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของตลาด MAI ที่รอการแก้ไข เนื่องจากผู้ลงทุนมักจะมองว่า บริษัทในตลาด MAI เป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กจึงอาจจะมีคุณภาพด้อยกว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจาก นี้ยังเคยเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว กรณีบริษัท รอยเน็ทที่สร้างความสูญเสียให้กับนักลงทุน ในตลาด MAI จำนวนมากอีกด้วย
วิเชฐยอมรับว่า ขณะนี้ตลาด MAI มีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้เพราะเป็นเพียงปัญหาภาพลักษณ์ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดใน ตลาด MAI และกลุ่มผู้ลงทุนที่ตลาด MAI มุ่งหวังนั้นเข้าใจดีว่า การที่บริษัทในตลาด MAI มีพฤติกรรมไม่ดีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตลาดและบริษัทอื่นทั้งหมด
"ตลาด MAI ให้ความมั่นใจได้ว่ากระบวนการคัดเลือกเข้ามาผ่านมาตรฐานที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้เป็นคนรับประกันว่าจะไม่มีการโกงเกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียน เพราะบริษัทบริหารโดยคนและคนมันโกง แต่ตลาดทำหน้าที่ว่าเมื่อโกงแล้วต้องตรวจเจอและต้องดำเนินการ อย่างรอยเน็ทก็ถูก ดำเนินคดีแล้ว ไม่ใช่ว่าโกงแล้วก็ยังอยู่ได้ ถ้าจับไม่ได้สิ มีปัญหา เพราะบริษัทที่เหลือ มีสิทธิ์เลย แสดงว่าเราจับไม่ได้ ทำงานไม่เป็น"
|
|
|
|
|