เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ ไม่เพียงแต่พรากชีวิตคนนับพันให้จากไปเพียงเสี้ยวนาทีเท่านั้น แต่ยังได้เพิ่มบทเรียนหน้าใหม่ให้กับวงการสื่อสารของไทย ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว
ระบบการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ในยามที่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิได้ทำลายพื้นที่ของเขตจังหวัดภูเก็ต พังงาและอีกหลายๆ จังหวัดใกล้เคียงในช่วงสายของวันที่ 26 ธันวาคมของปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนนอกพื้นที่ และในพื้นที่ได้สื่อสารระหว่างกันว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของคลื่นยักษ์ในยามที่เส้นทางการเดินทางถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
ด้วยสาเหตุที่ไม่ซับซ้อนมากนัก คลื่นยักษ์ทำลายสายไฟเบอร์ออปติกซึ่งฝังอยู่ใต้ดินจนเกิดความเสียหาย ไม่สามารถใช้เป็นช่องทางของการสื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งคลื่นน้ำยังทำลายอุปกรณ์ พื้นฐานต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารทั้งหมด ตั้งแต่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์ในบ้าน ที่หายวับไปกับตาพร้อมตัวบ้าน โดยที่ใครก็ไม่ทันได้เตรียมการกับเหตุการณ์แบบนี้ไว้
จึงไม่แปลกที่ได้เห็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ได้เพียงไม่กี่วันว่า ปัญหาสำคัญมากที่ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ก็คือ ปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะในวันแรกๆ นอกจากบางสถานที่จะเหมือนโลกมืด ขาดการสื่อสารติดต่อระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง การสั่งการที่ควรจะรวดเร็วกลับล่าช้าอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อบ้านถูกทำลายด้วยคลื่นน้ำสูงท่วมหัว โทรศัพท์พื้นฐานไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนที่รักและคนรู้จักเหมือนอย่างเคย ความสามารถในการ พกพาติดตัวและสื่อสารได้ทุกที่ที่มีสัญญาณ เข้าถึงทำให้โทรศัพท์มือถือมีบทบาทมากที่สุดในยามที่เกิดเหตุดังกล่าว
แต่ด้วยเพราะสถานีฐานของโทรศัพท์มือถือในท้องที่ แม้จะถูกฝังรากของฐานลึกลงไปใต้ดินหลายเมตร แต่อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของสถานีฐานกลับอยู่ไม่สูงอย่างที่คิด ระดับของคลื่นที่สูงหลายเมตรได้ทำลายแผงควบคุม และพัดพาไปกับสายน้ำในวันนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้บางจุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของสถานีฐานจะไม่ถูกน้ำพัดไปด้วย แต่หัวใจสำคัญของระบบโครงข่ายการสื่อสารทั้งหมดก็คือ "ไฟฟ้า" ที่เสียหายทันทีเมื่อคลื่นพัดมา ก็ทำให้การสื่อสารนั้นใช้งานไม่ได้ไปด้วยในทันทีด้วยเช่นกัน แม้แต่ละสถานีฐานซึ่งใช้ส่งสัญญาณหากันนั้นจะมีระบบสำรองไฟเอาไว้ แต่จำนวนชั่วโมงในการสำรองก็ไม่รองรับระยะเวลาจนกว่าจะมีการกู้ระบบไฟฟ้าให้ใช้งานได้ เหมือนกับว่าคลื่นมือถือในครั้งนี้ได้ถูกกลืนหายลงทะเลไปด้วย ในช่วงที่คลื่นถาโถมเข้าฝั่งแล้วดึงทุกอย่างกลับไปด้วยในเวลาเพียงเสี้ยวนาที
สิ่งแรกที่แต่ละค่ายมือถือจะทำได้ก็คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดต้องกู้ระบบการสื่อสารกลับมาอีกครั้ง เพื่อให้การสื่อสารใช้ได้เร็วที่สุดแล้วคอยมองย้อนกลับถึงความเสียหายและวางแผนสำหรับรองรับเหตุการณ์แบบนี้ต่อไป
"ดีแทคมีสถานีฐานใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 17 แห่ง จากทั้งหมดรวมแล้ว 200 กว่าแห่ง ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากการทำลายของน้ำทะเลที่พัดเข้ามาทำลายอุปกรณ์ควบคุมสถานีฐาน, เครื่องปั่นไฟไม่ทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ของเกาะพีพี, หาดป่าตอง และเขาหลัก ซึ่งความเสียหายนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่น" สันติ เมธาวิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจโพสต์เพด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บอกกับ "ผู้จัดการ"
สันติบอกว่าเขาเองก็เพิ่งจะทราบจากวิชัย เบญจรงคกุล ซีอีโอของบริษัทในช่วงสายของวันที่เกิดเหตุ โดยทีมวิศวกรที่ประจำพื้นที่ได้ติดต่อเข้ามารายงานส่วนกลางให้ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นซีอีโอก็ได้เริ่มสั่งการอันดับแรกด้วยการจัดส่งทีมวิศวกรในส่วนกลางลงไปเสริมทีมเพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนักก็คือ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ได้เลย เพราะในความเป็นจริงทีมวิศวกรนั้นอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วบางส่วน แต่ก็ทำงานไม่ได้ เพราะบางพื้นที่เข้าไม่ถึง
ดีแทคสามารถกู้สัญญาณในเขตจังหวัดภูเก็ตให้ใช้งานได้ทันทีในวันนั้น โดยทำการส่งรถ Mobile base station ที่อยู่ในบริเวณจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ลงไปในพื้นที่โดยด่วน ขณะที่เกาะพีพีสามารถกู้คืนได้อีกหนึ่งวันถัดมาโดยใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมงานพร้อมเครื่องปั่นไฟเข้าไปในพื้นที่ ตามมาด้วยพื้นที่ของเขาหลักที่ถือว่าเสียหายมากสุด ดีแทคต้องอาศัยรถเคลื่อนที่ของตนต่อพ่วงเข้ากับรถดาวเทียม D-Sat เพื่อทำการส่งสัญญาณมือถือผ่านดาวเทียมแทนการใช้สายไฟเบอร์ออปติกในแถบนี้ซึ่งเสียหายแทบจะใช้การไม่ได้
แม้จะมีแผนสำรองเอาไว้รองรับความเสียหายอันเนื่องจากภัยพิบัติอยู่แล้วก็ตาม แต่สันติก็ยอมรับว่าเหตุการณ์แบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน การตัดสินใจจากซีอีโอโดยตรง แม้จะทันท่วงทีแต่ความเสียหายของกระแสไฟฟ้าและปัญหาเรื่องการเดินทางก็สร้างความลำบากให้กับดีแทคเป็นอย่างมาก สันติเชื่อว่าดีแทคก็คงต้องประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ยังเชื่อว่าแผนสำรองที่มีอยู่ยังใช้ได้อยู่ แต่ประสบการณ์ที่พบในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาแบบนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่เอไอเอส ซึ่งระบุว่าลูกค้ากว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับความเสียหายใช้เครือข่ายของตนแทบทั้งหมด หากสถานีฐานของเอไอเอสใช้ไม่ได้ นั่นหมายถึงผู้มีมือถือกว่าครึ่งค่อนจะใช้การไม่ได้โดยปริยายด้วยเช่นกัน
แต่สถานีฐานของเอไอเอสกลับเสียหายจากกระแสน้ำเพียงแค่แห่งเดียว เหตุผลเช่นเดียวกันกับดีแทคคือตัวอุปกรณ์ที่ติดกับสถานีฐานถูกพัดพาไปด้วยกับคลื่น แต่ที่เหลือ อีกกว่า 13 แห่งเสียหายจากกระแสไฟฟ้าใช้การไม่ได้ ทำให้สัญญาณโทรศัพท์มือถือในเขตจังหวัดภูเก็ตและพังงาใช้การไม่ได้ การแก้ไขปัญหาแทบจะไม่แตกต่างกันเลย คือการส่งทีมวิศวกรในท้องที่ และจากกรุงเทพฯ เข้าเสริมในพื้นที่ที่เสียหาย เพื่อกู้ระบบคืน
เอไอเอสส่งรถ Mobile base station เข้าไปประจำจุดสำคัญๆ เช่น ศาลาว่าการ จังหวัดภูเก็ต, อำเภอตะกั่วป่า และเขาหลัก ส่วนพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก เอไอเอสอาศัยทหารในพื้นที่ช่วยขนส่งอุปกรณ์ส่งสัญญาณเคลื่อนที่ แทนแรงงานของชาวบ้าน ซึ่งขณะนั้นต่าง เดินทางออกจากพื้นที่เพื่อเอาชีวิตรอด
"เราเองก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราเองก็ต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าก่อนอย่างอื่น กู้ระบบคืนให้ได้เร็วที่สุด และก็ต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาในลักษณะแบบนี้ แม้จะมีแผนสำรองอยู่แล้วก็ตาม" กฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยกับทีมงานระหว่างร่วมงานแถลงข่าวเป็นครั้งแรกของเอไอเอสในช่วงต้นปี หลังงดเว้นกิจกรรมทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิตั้งแต่ปลายปี
ขณะที่บางพื้นที่ที่การสื่อสารยังไม่เสียหายมากนัก กลับเกิดการจราจรของการสื่อสารแน่นขนัด ไม่ต่างอะไรกับรถนับล้านๆ แน่นขนัดอยู่บนถนนไม่กี่เส้น แม้จะเพิ่มถนนเท่าไร แต่รถกลับเพิ่มมากขึ้นจนไม่เพียงพอกับความต้องการ แม้รายการโทรทัศน์ต่างๆ จะประกาศขอความร่วมมือให้ผู้ที่ไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ งดสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือในพื้นที่นั้นๆ แล้วก็ตามที
แต่ด้วยจำนวนของผู้ประสบเหตุนั้นมากมายนับหมื่นรายการติดต่อสื่อสารระหว่างญาติ เพื่อนฝูง หรือคนรู้จักจากต่างถิ่นมา ยังพื้นที่จังหวัดที่เกิดเหตุจึงแน่นหนาเกินกว่าช่วงปกติของช่องสัญญาณที่เตรียมไว้ให้ เอไอเอสเองได้เปิดเผยตัวเลขของอัตราการใช้โทรศัพท์จากเครือข่ายของตนเองในช่วงของวันที่เกิดเหตุว่ามากถึง 33 ล้านครั้งต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีคนใช้เพียง 3 ล้าน ครั้งต่อวันเลยทีเดียว
การแก้ปัญหาเรื่องการสำรองคลื่นมือถือเอาไว้ยามฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตระหนักและให้ความสำคัญในอันดับต่อมา เมื่อเหตุการณ์สงบลง
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. คือหน่วยงานแรกที่ใช้สิทธิ์ในการเป็นผู้ควบคุมและดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศ เรียกประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 100 คน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโทรคมนาคมในภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติเป็นการด่วนในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา
ในงานประชุมได้ข้อสรุปแน่ชัดสองข้อคือ จากเหตุการณ์สึนามิในภาคใต้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าในยามที่เกิดภัยพิบัติส่วนใหญ่การโทรศัพท์เข้าพื้นที่นั้นๆ สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงปกติ ดังนั้นกระบวนการอำนวยความสะดวกเพื่อไม่ให้การโทรศัพท์เข้าพื้นที่มากเกินไป หรือนานเกินไปควรจะชัดเจนกว่านี้ นอกจากนี้การจัดทำสายด่วนหรือสายฉุกเฉินสำหรับบุคคลสำคัญ ทั้งนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมการปกครอง, หน่วยงานราชการ, หน่วยบรรเทาสาธารณภัย และสภากาชาด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขสภาวะฉุกเฉินต่างๆ
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสำรองคลื่นความถี่ ทั้งดาวเทียม, ไฟเบอร์ออปติก, เลขหมายฉุกเฉิน, โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานและมือถือ ก็ไม่ควรจะมองข้ามไปในการเตรียม ความพร้อมในการแก้ไขการสื่อสารเมื่อเกิดภัยพิบัติ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะร่วมกันจัดทำแผนแม่บท โครงข่ายโทรคมนาคมสำรองที่สามารถปฏิบัติงานหรือใช้งานได้ ทันทีกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยยกประเด็นทั้งสองอย่างมาจัดลำดับ ว่าควรจะขอความร่วมมือจากเอกชนและรัฐบาลจากส่วนใดบ้าง
เช่น การขอสำรองเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากภาคเอกชน ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จากทั้งเครือข่ายในช่วงที่จำเป็นโดยกัน ส่วนการใช้ปกติออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันที การขอความร่วมมือทุกค่ายมือถือเพื่อส่งข้อความเอสเอ็มเอสเข้ามือถือกลุ่มผู้ใช้มือถือทั้งหมดเพื่อเตือนภัยก่อนเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า หากมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้แล้ว
หรือแม้แต่การขอใช้สัญญาณดาวเทียมใหม่อย่างไอพีสตาร์ ที่มีกำหนดยิงขึ้นบนฟ้าในปีนี้ เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบการกิจการโทรคมนาคม มาตราที่ 61 ที่เอื้อให้ กทช.สามารถใช้เครือข่ายนี้ได้ในยามที่ฉุกเฉินหรือความมั่นคงของชาติ
การสำรองคลื่นความถี่วิทยุ, โทรทัศน์ ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าโทรศัพท์มือถือ ในการกระจายข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า และประชา สัมพันธ์เหตุการณ์ต่างๆ การสำรองคลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นหรือตัวอุปกรณ์ในยามจำเป็น โดยผ่านการขอความร่วมมือจาก กสช. ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
โดยทั้งหมดจะรวมอยู่ในแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นในอีกสองเดือนข้างหน้า กทช.จะจัดส่งไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที รวมถึงจัดส่งไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบหรือส่งมอบให้แก่ ผู้มีอำนาจตัดสินใจสั่งการทั้งหมด และอาจจะทำการซักซ้อมแผนสำรองระบบโทรคมนาคมได้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2549
แม้ กทช.จะไม่ใช่เจ้าภาพหลักของการแก้ปัญหาด้านการสื่อสารในครั้งนี้อย่างชัดเจน แต่ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการใช้สิทธิ์ของคลื่นต่างๆ ก่อนโยนลูกไปให้เจ้าภาพที่ออกตัวชัดเจนอย่างกระทรวงไอซีที ซึ่งเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ การเป็นเจ้าภาพในการสร้างฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ไอซีทีมิเพียงแต่หวังจะนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการอะไรหลายๆ อย่างกับเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่ยังหวังสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในจังหวัดภูเก็ตดังเช่นเคย พอๆ กับการยืนยันความพร้อมของการจัดตั้ง ICT City ในจังหวัดภูเก็ต อย่างที่เคยหมายมาดไว้ก่อนหน้านี้
ไอซีทีตัดสินใจจัดประชุมครั้งใหญ่ว่าด้วยเรื่องบทบาทไอซีทีในการบริหารจัดการฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อนำมาช่วยในภาวะวิกฤติต่างๆ โดยไอซีทีดึงเอาบุคคลในวงการไอทีจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เช่นเดียวกันกับความหวังในการสร้างสีสันในงานด้วยการเชิญบิล เกตต์ ผู้บริหารของค่ายยักษ์ไมโครซอฟท์เข้าร่วมงานซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ณ จังหวัดภูเก็ต
ขณะที่ใครหลายคนบอกว่าความหวังของการเชิญบิล เกตต์มาร่วมงานออกจะริบหรี่ หากเชิญในนามของกระทรวงไอซีที เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยเคยพยายามอยู่หลายครั้งที่จะเชิญผู้บริหารคนนี้มาเข้าร่วมงานใหญ่ต่างๆ ในประเทศแต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ด้วยเหตุผลที่ไทยเองมีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ และกลายเป็นข้อต่อรองกันมาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับการให้เครดิตกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการให้เป็นศูนย์กลางไอซีทีของเอเชีย ดังนั้นการเดินทางมาเยือนไทยอาจจะกระทบความสัมพันธ์และความหวังที่ว่านี้ไปด้วยในทันที
ข้อสรุปที่ได้ทั้งหมดจะเป็นเช่นไร หลายคนก็หวังว่าท้ายที่สุดแล้ว ระบบการสื่อสารที่ขาดหายไปจากช่วงภัยพิบัติในครั้งนี้ จะได้สร้างบทเรียนสำคัญในการแก้ไขให้กับหน่วยงานทุกแห่ง เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีและรวดเร็วที่สุด
แม้คลื่นสึนามิครั้งนี้จะซัดเข้าฝั่ง ถาโถม และดึงเอาทุกสิ่งกลับลงทะเล แต่เมื่อคลื่นมือถือไม่หาย หลายคนก็หวังว่ามันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่เหลืออีกมากมายเอาไว้ด้วย หากเกิดสิ่งที่ไม่สามารถคาดหมายได้ขึ้นอีกในอนาคต
|